การทำสมาธิ

 
montiralai
วันที่  8 ก.ย. 2559
หมายเลข  28175
อ่าน  1,058

คนเราถ้าทำสมาธินานๆ แล้ว เราสามารถถอดจิตของเราให้เหาะเหินเดินอากาศได้ไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การนั่งสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจ ก็ปฏิบัติผิด ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นได้เลย เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่รู้ความจริง จึงมีความประพฤติปฏิบัติที่ผิดตามความเห็นที่ผิด ปฏิบัติธรรมนั้น สำคัญคือความเข้าใจ และเป็นชีวิตปกติ

จะเห็นได้จริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิดให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน
สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป ไม่มีใครบังคับให้สมาธิเกิดหรือไม่เกิดได้ เพราะทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น ไม่ปราศจากสมาธิเลย
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา แสดงถึงมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นไปกับอกุศลแล้ว เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด ถ้าเป็นไปกับกุศล เป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นสัมมาสมาธิ

ซึ่ง สภาพธรรมทั้หลายเป็นอนัตตา รวมทั้งสมาธิก็เป็นอนัตตาด้วย ครับ

ตัวอย่างคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เกี่ยวกับสมาธิ

ส. สมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นคงที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้นเอง ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตและเกิดกับจิตทุกๆ ขณะด้วย แม้ขณะนี้ก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แต่เวลาที่ปรากฏอาการของสมาธิ หมายความว่า จิตขณะนั้นรู้อารมณ์นานๆ จนกระทั่งปรากฏลักษณะที่ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้น เช่น คนที่กำลังตั้งใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งใจอย่างมากที่จะไม่ให้ผิด ขณะนั้นจะเห็นลักษณะอาการของสมาธิได้
เพราะฉะนั้น สมาธิมีทั้งที่เป็นมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยขณะใด ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เช่น ขณะที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ขณะนั้นก็มีสมาธิ อ่านรู้เรื่อง และเข้าใจเรื่อง พิจารณาเรื่องที่กำลังอ่านด้วย แต่ขณะนั้นไม่มีปัญญา ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ
ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน สภาพที่ตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ยังคงตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งนั้น ขณะที่เดินเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นั่งเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นอนเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่ยืนเป็นสมาธิก็ได้ แต่สมาธิไม่ใช่ปัญญา
เพราะฉะนั้น ถ้าใครกำลังตั้งใจทำอะไร จดจ่อ ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า ลักษณะอาการของสมาธิปรากฏ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็ตาม.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ปฏิบัติผิดแน่นอน, ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่า เป็นธรรม ดังนั้น การตั้งต้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อกล่าวถึง สมาธิ ก็ควรที่จะได้เข้าใจในคำดังกล่าวนี้ก่อนว่า คือ อะไร? สมาธิ มีจริงๆ เป็นธรรม เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะ เพราะเป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่ใช่ว่าพอได้ยินคำว่าสมาธิจะเป็นธรรมที่ดีเท่านั้น เนื่องจากว่าสมาธิที่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล จะดีไม่ได้ ก็ต้องเป็นอกุศลสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด

ธรรม ไม่ได้มีเฉพาะสมาธิเท่านั้น มีมากมายทีเดียว ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งหมดนั้นควรที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.ย. 2559

ผู้ที่ได้ฌาน หรือ อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ ฯลฯ แต่ถอดจิตไม่ได้ เพราะจิตต้องอาศัยวัตถุรูปเป็นที่เกิด และที่สำคัญเรื่องของฌานเป็นสิ่งที่ไกลตัว สิ่งที่สำคัญคือขณะนี้เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม เพียงรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรายังยากเลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 9 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 11 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Tommy9
วันที่ 18 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ