การปฏิรูปพระภิกษุผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมและพระวินัย ... กฎหมายเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

 
มศพ.
วันที่  8 ส.ค. 2559
หมายเลข  28054
อ่าน  9,454

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา 174/1 เจริญนคร 78 ดาวคะนอง
ธนบุรี กทม. 10600 โทร. 02 468 0239

2 สิงหาคม 2559

เรื่อง ขอความอนุเคราะห์พิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อความมั่นคง
ของพระพุทธศาสนา

กราบเรียน ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย ข้อมูลสรุปเหตุผลและความจำเป็นในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย
ที่เกี่ยวข้อง

พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ความจริง แล้วทรงแสดงความจริงให้พุทธบริษัทได้ฟังได้ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เจริญกุศล ขัดเกลากิเลสของตนเอง คล้อยตามพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง พุทธบริษัทผู้ซึ่งได้ฟังพระธรรมของพระองค์มี ๒ เพศที่แตกต่างกัน คือ เพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต โดยที่คฤหัสถ์เป็นผู้อยู่ครองเรือนศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในเพศผู้อยู่ครองเรือน แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษของการอยู่ครองเรือนว่าเป็นที่หลั่งไหลมาของกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงสละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่างทุกประการ เพื่อเข้าสู่เพศที่สูงยิ่ง อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ในเพศบรรพชิต ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรม และน้อมประพฤติตาม พระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง นี้คือ เพศที่แตกต่างกันระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิต

ในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่าพระภิกษุได้ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติอย่างมาก เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ขาดความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรับเงินรับทอง และการแสวงหาทรัพย์สมบัติต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำไปสู่ความพอกพูนซึ่งกิเลสให้มากยิ่งขึ้นต่อไป ไม่นำมาซึ่งความสงบในจิตใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้อย่างชัดเจนว่า ภิกษุในธรรมวินัยรับเงินทองไม่ได้ ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้ภิกษุรับเงินทอง แสวงหาเงินทอง ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม เพราะก่อนที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ต้องสละสิ่งเหล่านั้นแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อสละแล้ว จะกลับมารับอีกไม่ได้

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์หลักที่จะส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่น นอกจากจะมีการเผยแพร่พระธรรมวินัยตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของ มูลนิธิฯแล้ว กฎหมายของบ้านเมืองก็มีส่วนสำคัญที่จะได้ช่วยส่งเสริมให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงต่อไปได้ด้วย ดังนั้น จึงขอโอกาสนำเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1622 และมาตรา 1623 ที่เกี่ยวกับพระภิกษุโดยตรง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในประเด็นการรับทรัพย์สินเงินทองของพระภิกษุ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ เพราะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง ตามรายละเอียดที่แนบมาพร้อมนี้

โดยที่ประเทศไทยมีสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลัก เพื่อความมั่นคงสถาพรของประเทศ หากสถาบันใดสถาบันหนึ่งทรุดโทรมเสื่อมทรามไป ความมั่นคงของประเทศย่อมสั่นคลอนไปด้วย และเนื่องจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่เลื่อมใสศรัทธามั่นคงอยู่ในพระพุทธศาสนามาช้านาน ปัญหาความมั่นคงของพระพุทธศาสนา จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะปล่อยปละละเลยเห็นเป็นเรื่อง “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” มิได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่าน มา ณ ที่นี้ด้วย

ขอแสดงความนับถือ


(นายจรัญ ภักดีธนากุล)
กรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา


กฎหมายเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
" ประเด็นทรัพย์สมบัติของพระภิกษุ "

ในทางโลก ทรัพย์สมบัติอันได้แก่สิ่งที่สมมติบัญญัติกันไว้ว่าเป็นทรัพย์สิน เงินทองสิ่งของที่มีค่ามีราคาทุกชนิดย่อมเป็นสิ่งที่ผู้คนมุ่งมาดปรารถนา อยากได้มาครอบครองเป็นของตน เมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องมีภาระในการดูแล รักษา หวงกัน และบริหารจัดการ แต่ในทาง พุทธธรรม ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านั้นหาได้มีคุณค่าควรแก่การยื้อแย่งแสวงหาเหมือนอย่างในทางโลกไม่ จะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ก็เพียงแค่ให้ได้อาศัยใช้สอยในการดำเนินชีวิตให้พอเป็นไปได้เพื่อการศึกษาปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญงอกงามทางจิตและปัญญา อันเป็นหนทางสู่สันติสุขอย่างยั่งยืนทั้งของปัจเจกบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติและของสังคมส่วนรวม

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงทรัพย์สมบัติในทางธรรมเอาไว้ ในชื่อว่า “อริยทรัพย์” ซึ่งมุ่งหมายถึง ทรัพย์สมบัติที่ประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติในทางโลกประกอบด้วยคุณสมบัติทางจิตวิญญาณอันล้ำค่า ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา[1] อันบรรดาพุทธศาสนิกชนพึงสั่งสมอบรมให้เกิดมีขึ้นและเจริญงอกงามขึ้นในจิตของแต่ละบุคคลยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติในทางโลก

สำหรับพระภิกษุผู้อยู่ในเพศบรรพชิตผู้เป็นหลักในพุทธบริษัททั้งสี่ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อันจะเป็นปัจจัยช่วยจรรโลงรักษาพระศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไปเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังได้ตลอดพุทธกาลนั้น ย่อมจะต้องหนักแน่นมั่นคงในการสรรสร้างและสั่งสม “อริยทรัพย์” ทั้งเจ็ดประการให้เพิ่มพูนชัดเจนยิ่งๆ ขึ้น เพื่อป้องกันความเศร้าหมองแก่พระภิกษุ[2] และเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่อุบาสก อุบาสิกาได้เจริญรอยตาม ควบคู่ไปกับการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและครอบครัวเพื่อให้ได้ดุลยภาพแห่งชีวิตของชาวพุทธ

ผู้ที่สมัครใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตอันสูงส่งในพระพุทธศาสนาเท่ากับได้ประกาศเจตนาที่จะสละเพศของผู้ครองเรือน เสมือนได้ตายจากฆราวาสวิสัย มาเกิดใหม่เป็น “ศากยบุตร” ผู้แสวงหาโมกขธรรม ดำเนินตามพระธรรมวินัย และสืบทอดต่อไปในภายหลัง สละสิ้นแล้วซึ่งทรัพย์สิน เงิน ทอง ของมีค่า และลาภสักการะทั้งหลายในทางโลก[3] หันมาบำเพ็ญเพียรภาวนาให้เกิด “อริยทรัพย์” จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ได้ชื่อว่าเป็น “อริยสาวก” ในพระธรรมวินัยไปตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้แล กฎหมายจึงได้เอื้อเฟื้อแก่สถานะและภารกิจของพระภิกษุในพุทธศาสนาไว้ว่า

พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้
เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ... [4]

บทกฎหมายส่วนนี้สอดคล้องและเอื้อเฟื้อแก่ “พระธรรมวินัย” ก็จริง แต่ก็ยังมีช่องโหว่ช่องว่างหรือ “รูรั่ว” ให้หลบเลี่ยงได้อยู่ในวรรคสองว่า “แต่พระภิกษุนั้นอาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้” ทำให้มีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้แก่พระภิกษุ ทำให้พระภิกษุต้องมีภาระเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติในทางโลก สามารถฟ้องร้องแย่งชิงทรัพย์สมบัติเหล่านั้นกับชาวบ้านได้ เสียหายแก่ “สถานะ” และ “ภารกิจ” ของภิกษุสงฆ์อย่างรุนแรง ทั้งเมื่อชนะคดีได้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นมาแล้วก็จะยิ่งขัดแย้งต่อสถานะของพระภิกษุและพระธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น เพราะในพระพุทธศาสนาไม่อาจมี “ภิกษุมหาศาล” หรือ “ภิกษุเศรษฐี”ได้ ทั้งยังมี พระพุทธวัจนะเป็นหลักใหญ่ไว้ด้วยว่า “ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง” ดังปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ สิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ว่า “อนึ่ง ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็น นิสสัคคิยปาจิตตีย์ [5]

การที่กฎหมายเปิดช่องให้พระภิกษุมีทรัพย์สินเงินทอง เพ็ชร นิล จินดา ไร่ นา อาคาร รถยนต์ พันธบัตร ใบหุ้น หรือของมีค่าอื่นใดในทางโลกได้ ย่อมไม่เป็นการเกื้อกูลต่อ พระธรรมวินัยได้อย่างแท้จริง น่าจะต้องตรองกันให้ดีอีกวาระหนึ่งว่า ควรที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายบทนี้ให้บรรลุผลสมดังบุพเจตนาที่จะเกื้อกูลแก่พระศาสนาให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่? กล่าวโดยเฉพาะก็คือ ยกเลิกความในวรรคสองเสีย และแก้ไขความในวรรคหนึ่งให้ห้ามไปถึงการเรียกร้องในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมเสียด้วยก็จะเป็นประโยชน์ที่จะดำรง พระศาสนาให้ยั่งยืนต่อไปหรือไม่? เมื่อพิจารณาเห็นว่าชอบว่าควร บทบัญญัติกฎหมายบทนี้ก็จะเหลือเพียงวรรคเดียวมีข้อความดังนี้

มาตรา ๑๖๒๒ พระภิกษุจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกไม่ได้ ไม่ว่าในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔

อนึ่ง กฎหมายไทยปัจจุบัน ยังมีบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะส่งเสริมให้พระภิกษุหมดห่วงหมดกังวลกับทรัพย์สมบัติในทางโลกไว้อีกบทหนึ่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการสั่งสม “อริยทรัพย์”และการศึกษาปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยได้ดียิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วยว่า

ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม [6]

อย่างไรก็ตาม บทกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงเปิดช่องว่างให้พระภิกษุมีทรัพย์สมบัติและสะสมทรัพย์สมบัติทางโลกได้อยู่ดี จนกว่าพระภิกษุนั้นมรณภาพ ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นจึงจะตกเป็นสมบัติของวัด ซึ่งก็ไม่พ้นต้องเป็นภาระแก่พระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสอยู่นั่นเอง เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๗ (๑) บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาและจัดการดูแลศาสนสมบัติของวัด [7]

ดังนั้น จึงมีข้อเสนออีกประการหนึ่งว่า เพื่อเป็นการเอื้อเฟื้อและสอดคล้องแก่พระธรรมวินัย ควรจะได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๓ ให้พระภิกษุเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้เฉพาะอัฐบริขาร คือ ของใช้ส่วนตัวที่พระภิกษุมีได้ตามพระธรรมวินัย ทรัพย์สินอื่นนอกจากนั้นให้ตกเป็นของแผ่นดินในทำนองเดียวกับทรัพย์มรดกของผู้ที่ไม่มีทายาท แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ของผู้ให้หรือของพระภิกษุ ถ้าหากมี ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินนั้นก่อนที่จะตกเป็นของแผ่นดิน โดยมีข้อความ ดังนี้

มาตรา ๑๖๒๓ ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาไม่ว่าโดยทางใดในระหว่างเวลาที่อยู่ใน สมณเพศ ให้ตกเป็นสมบัติของแผ่นดินทันที เว้นแต่บริขารที่อาจมีได้ตามพระธรรมวินัย และไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ของผู้ให้หรือของพระภิกษุผู้ได้มา ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินนั้น

การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ๒ มาตราดังกล่าวมานี้ ในเบื้องแรกอาจทำความเข้าใจได้ยาก และดูจะเป็นการจำกัดตัดสิทธิทางทรัพย์สินของพระภิกษุอย่างมาก จนอาจมีประเด็นว่าขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ด้วย แต่ถ้าได้ศึกษาถึงความมั่นคงสถาพรของพระพุทธศาสนาและความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างสถาบันศาสนากับความมั่นคงของชาติและสันติสุขของประชาชนให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่าการปล่อยปละละเลยให้พระภิกษุเรียก รับ เสาะแสวง และสะสมทรัพย์สินเงินทอง อันเป็นทรัพย์สมบัติของชาวโลกได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น นอกจากเป็นการขัดแย้งต่อพระธรรมวินัยแล้ว ยังเป็นเหตุทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในพระศาสนา และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเป็นการลิดรอนประโยชน์ที่แท้จริงคือพระธรรมวินัยที่ประชาชนพึงได้รับจากพระพุทธศาสนาอีกด้วย.

หลักฐานอ้างอิง

[1] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เล่ม ๔ หน้า ๑๑

[2] พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ หน้า ๕๓๓

[3] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๖

[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๒:
พระภิกษุจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้

[5] ต้องสละทรัพย์สมบัตินั้นตามพระธรรมวินัยก่อน จึงจะแสดงอาบัติได้

[6] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๓

[7] พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๗: เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ดังนี้
(๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
(๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีอยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
(๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
(๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล


...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 8 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

  ข้าพเจ้า (นายคำปั่น อักษรวิลัย สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. เลขที่ ๑๗) เห็นด้วยอย่างยิ่ง สำหรับกรณีที่จะมีกฏหมายบ้านเมืองที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ช่วยในการรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นต่อไป  และเกื้อกูลต่อพระภิกษุให้ไม่ประพฤติผิดในพระธรรมและพระวินัย เพราะความเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย แล้วสละทุกสิ่งทุกอย่าง  สละทรัพย์สมบัติ  สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่าง  มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งคือเพศบรรพชิต  เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง  จะเห็นได้ว่า ก่อนบวชเป็นพระภิกษุ ท่านเหล่านั้นสละสิ่งเหล่านี้ แล้ว จึงบวช  ดังนั้น  เมื่อบวชแล้ว จะกลับมารับสิ่งเหล่านี้อีกได้อย่างไร ถ้าใครรับ  ก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กฏหมายในมาตราที่กล่าวถึงนี้ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย และ เกื้อกูลต่อพระภิกษุ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 8 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Boonyavee
วันที่ 8 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Noparat
วันที่ 9 ส.ค. 2559

เห็นด้วยอย่างยิ่ง สำหรับกรณีที่จะมีกฏหมายบ้านเมืองที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ช่วยในการรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นต่อไป  และเกื้อกูลต่อพระภิกษุไม่ให้ประพฤติผิดในพระธรรมและพระวินัย

   ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 9 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้าพเจ้า นายธนพล บุญปลูก สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. เลขที่ 99 เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 9 ส.ค. 2559

เห็นด้วยค่ะ ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chaiyakit
วันที่ 15 ส.ค. 2559

กราบสาธุๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนา สาธุ ค่ะ  

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Patchanon
วันที่ 16 ส.ค. 2559

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
swanjariya
วันที่ 16 ส.ค. 2559

สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการปรับปรุงกฏหมายตามที่เสนอ เพื่อเกื้อกูลพระภิกษุผู้ไม่รักษาพระธรรมวินัยไม่ให้ประพฤติผิดพระธรรมวินัย เมื่อไม่สามารถรับเงินทองและทรัพย์สินมาเป็นของตนได้ก็คงตระหนักว่าไม่มีประโยชน์ที่จะรับ

และคฤหัสถ์ที่ทราบว่าทรัพย์ที่ตนบริจาคแก่พระภิกษุนั้นตกเป็นของแผ่นดินก็คงไม่ปรารถนาที่จะบริจาคทรัพย์นั้นอันจะเป็นเหตุให้พระภิกษุผู้ไม่สำนึกให้ในการกระทำผิดพระวินัยต้องไปสู่ทุคติ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
มานิสาโข่งเขียว
วันที่ 16 ส.ค. 2559

เห็นด้วยคะเพื่อรักษาพระธรรมวินัย

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 17 ส.ค. 2559

เห็นด้วยอย่างยิ่งจะได้ไม่เข้าใจผิดว่ามาบวชเพื่อรับเงินทองโดยไม่ละอายในความเป็นภิกษุ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
kanchana.c
วันที่ 19 ส.ค. 2559

ดิฉัน พลอากาศตรีหญิง กาญจนา เชื้อทอง สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๒๗๕ เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ เพราะพระวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุประพฤติปฏิบัติตามนั้นด้วยพระสัพพัญญุตญาณและพระมหากรุณาอย่างยิ่งเพื่อป้องกันภิกษุที่ยังมีกิเลสอยู่ให้พ้นจากภัยในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป โดยเฉพาะเรื่องการรับและยินดีในเงินและทอง ถ้าพระภิกษุรับเงินและทอง สะสมเงินและทอง ย่อมเป็นภัยแก่ชีวิตในชาตินี้ คือ จากโจรภัย  เมื่อมีเงินแล้วยังทำให้ประพฤติปฏิบัติไม่สมควรแก่สมณเพศ เป็นที่ติเตียนจากสาธุชน เช่น กดเงินจากตู้เอทีเอ็ม สั่งอาหารในภัตตาคารฉันเอง ยืนเข้าคิวซื้อของเหมือนชาวบ้าน สะสมรถหรู สะสมที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ และยังทำให้ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระวินัยและไม่มีความละอายคิดว่า การบวชเป็นอาชีพที่สบายและสามารถหาเงินได้โดยง่าย  จึงมีทั้งคนบวชเพื่อหาเงินและคนไม่ได้บวชแต่ปลอมเป็นพระ และที่สำคัญที่สุด การรับและยินดีในเงินและทองยังเป็นภัยในชาติต่อๆ ไป คือ ภัยในอบายภูมิ เพราะเป็นอาบัติ ผิดกับการปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุที่จะประพฤติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้

 ท่านอาจารย์กล่าวว่า แม้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ถ้าผู้ศึกษาพระธรรมวินัยเข้าใจแล้วไม่ทำ แล้วใครจะทำ ถ้าไม่ร่วมมือกันก็เป็นไปไม่ได้เลย แต่เพื่อรักษาพระธรรมวินัยซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริสุทธิ์ หมดจดจากมลทินทั้งหลาย และด้วยเมตตาจิตป้องกันผู้ไม่รู้จากอบายภูมิ จึงต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ไว้เป็นมรดกสู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
สืบต่อพุทธ
วันที่ 22 ส.ค. 2559

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

ตอนนี้พระวินัยเราย่อหย่อนมากครับ

ไม่อยากให้ย่อหย่อนเหมือนประเทศเพื่อนบ้านครับ

การสะสมเงินทองเป็นบ่อเกิดปัญหาเช่นปัจจุบันมากมายครับ

แต่สิ่งที่ผมอยากให้เสนอ ควรมีกฎหมายสนับสนุนให้มีเวยวัจกรและมัคทายกที่ดีซื่อสัตย์

จัดหาสิ่งของตามประสงค์ที่สมควรกับพระเณรให้เพียงพอกับทุกวัด เพราะถ้าเราไม่ให้พระท่านรับเงินทอง

ก็ควรหาบุคคลหรือวิธีการสนับสนุนให้ท่านสะดวกสบายตามพระวินัยด้วยครับ

และอยากให้ถ้ามีกฎหมายตัวนี้ อยากให้เคร่งครัดเอาจริง เด็ดขาดด้วยครับ

อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
drsomluck
วันที่ 8 ก.ย. 2559

สาธุๆ ๆ   สังคมไทยควรมีส่วนดูแลปกป้องพระพุทธศาสนาจากอลัชชี พระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวว่าบ้านไหนลูกชายไม่เก่ง ไม่ดี ไม่แข็งแรงหรือป่วยให้ส่งมาบวชพระเผื่อพระธรรมจะช่วยขัดเกลาเป็นคนดีมีคนกราบไหว้ 

ควรสนับสนุนยกย่องพระภิกษุที่มีวัตรปฏิบัติดีงาม

มหาเถรสมาคมควรปฏิรูปการตรวจสอบไม่ว่าโดยสงฆ์หรือฆราวาส เคารพกฎหมาย 

ให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามน่านับถือเลื่อมใสแก่ประชาชน

เนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ก็จะได้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
Avitathata
วันที่ 8 ก.ย. 2559

เห็นด้วยอย่างยิ่งและขออนุโมทนาค่ะ. เพื่อที่ศาสนาพุทธจะเจริญรุ่งเรืองงดงามสืบต่อไปอีกยาวนานค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
thilda
วันที่ 29 ก.ย. 2559

ขออนุโมทนากับการเสนอกฎหมายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
แสวงรวยสูงเนิน
วันที่ 16 ม.ค. 2560

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
ประสาน
วันที่ 19 ม.ค. 2560

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ กฎหมายบ้านเมืองไม่ควรใหญ่กว่าพระธรรมวินั่ย อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
j.jim
วันที่ 20 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
orawan.c
วันที่ 7 ก.พ. 2560

เห็นด้วยค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
wirat.k
วันที่ 10 ก.พ. 2560

เห็นด้วยอย่ายยิ่งครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
วิสิทธิ์
วันที่ 21 ก.พ. 2560

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
ดอกโมกข์
วันที่ 22 ต.ค. 2560

เห็นด้วยๆ ครับพระพุทธศาสนาจะมั่นคงหลักพระวินัยต้องเข้มครับ. เมื่อวินัยเข้มแสงธรรมก็สว่างจ้ากลางใจคนครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ