อโหสิกรรม

 
แต้ม
วันที่  22 ก.ค. 2559
หมายเลข  28008
อ่าน  1,243

ผมขอเรียนถาม ความหมายของคำว่า อโหสิกรรม ครับ เพราะ ผู้คนส่วนใหญ่เวลาไปทำบุญ ก็จะมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือเจ้ากรรมนายเวร เพื่อที่เขาจะได้อโหสิกรรมแก่เรา ถ้าเป็นดังนั้น ก็แสดงว่า กรรมที่เราเคยทำกับใคร ถ้าเขาอโหสิกรรม ก็หมายความว่า เราจะไม่ได้รับกรรมนั้นสิครับ เป็นเรื่องที่เข้าใจกันถูกหรือเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ก.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจ้ากรรมนายเวร ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ไม่มีใครเป็นเจ้ากรรมนายเวร ครับ เวลานี้ใครมองเห็นเจ้ากรรมนายเวรบ้าง ฟังดูเสมือนว่า ทุกคนมีเจ้ากรรมนายเวร แต่ตามความเป็นจริงนั้น ทุกคนเป็นทายาทของกรรมของตนเอง กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ผลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลดีที่กำลังได้รับความสุข ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่ใช่บุคคลอื่นบันดาลให้ แต่กุศลที่ผู้นั้นได้กระทำแล้วในอดีต เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสสิ่งที่ดีๆ ฉะนั้น เมื่อกุศลให้ผล ก็ทำให้ได้รับความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ฉันนั้น ถ้าถูกคนอื่นทำร้าย ก็อาจจะคิดว่าเพราะคนนั้นทำ แต่ถ้าไม่ได้ถูกใครทำร้ายเลย เวลาตกบันได หรือเจ็บป่วยต่างๆ นั้น ใครทำให้ ขณะที่ถูกก้อนหินหล่นใส่ ก้อนหินเป็นเจ้ากรรมนายเวรเราหรือไม่ ขณะที่เกิดที่เป็นผลของกรรม มีเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้เกิดหรือไม่ หรือว่า เพราะกรรมของเราเองที่ทำไว้ จึงทำให้เกิด ฉะนั้น แต่ละคนจึงมีกรรมของตนเองเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ฉะนั้น เรื่องเจ้ากรรมนายเวร จึงเป็นเรื่องรับฟังต่อๆ กันมาโดยไม่รู้ว่าใครเคยเห็นเจ้ากรรมนายเวรที่ไหน เมื่อไหร่ เพียงแต่นึกว่า มีบุคคลที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนต่างๆ แต่ความจริงนั้น ทุกคนมีกรรมเป็นของของตนเอง ครับ

อโหสิกรรม อโหสิ (ได้มีแล้ว) + กมฺม (เจตนาซึ่งเป็นผู้กระทำ)

กรรมที่ได้มีแล้ว , กรรมที่เลิกให้ผล หมายถึง กุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมที่ได้มีแล้ว แต่ไม่มีโอกาสให้ผล เพราะล่วงเลยเวลาที่จะให้ผล หรือ ถูกกรรมอื่นตัดรอนจนไม่สามารถให้ผลได้อีก เช่น เจตนาในชวนจิตดวงที่ ๑ ให้ผล ในชาติปัจจุบัน เมื่อไม่มีโอกาสให้ผลก็เป็นอโหสิกรรม หรือ โลกุตรกุศลกรรม ตัดรอนอกุศลกรรม ที่จะให้ผลไปเกิดในอบายภูมิ ทำให้เป็นอโหสิกรรม หรือ เมื่ออรหัตตมัคคจิตเกิดขึ้น เป็นโลกุตรกุศลที่ตัดรอนกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต ทำให้เป็น อโหสิกรรม ไม่ให้ผลในภพชาติต่อไปเพราะพระอรหันต์เมื่อปรินิพานแล้วไม่มีการเกิดอีก กรรมที่กระทำมาแล้วทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์จึงเป็นอโหสิกรรม ครับ

กรรม คือ การกระทำ, กรรม มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ผลจึงต่างกัน กล่าวคือ กรรมดีให้ผลที่ดี ทำให้มีความสุข ส่วนกรรมชั่วให้ผลที่ไม่ดี ทำให้มีความทุกข์ เมื่อทำกรรมสำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรรมในชาตินี้หรือกรรมในชาติก่อนๆ ที่ผ่านมา เมื่อถึงคราวให้ผลย่อมให้ผลตามฐานะของกรรมนั้นๆ ไม่มีใครสามารถลบล้างกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้วได้ แต่มีหนทางที่เป็นไปเพื่อการสิ้นกรรมทั้งหมดได้ นั่นก็คือการอบรมเจริญปัญญาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ดับขันธ์ปรินิพพาน (ตาย) ไม่ต้องเกิดอีก เมื่อไม่เกิด จึงไม่มีการได้รับผลของกรรมใดๆ อีกเลย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจ้ากรรมนายเวรไม่มี เพราะสัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน เมื่อเหตุมีแล้ว วิบากจึงเกิดขึ้นได้ วิบาก เป็นผลของกรรม มาจากกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่พ้นไปจากการกระทำกรรม และการได้รับผลของกรรม ถึงแม้จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ถ้ายังไม่ดับขันธปรินิพพาน กรรมในอดีตก็ยังมีโอกาสให้ผลได้ จนกว่าจะถึงกาลที่ปรินิพพาน เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่ต้องมีการกระทำกรรมและการได้รับผลของกรรมอีกต่อไป ดังนั้น ถ้ายังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ย่อมไม่พ้นจากการกระทำกรรม ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และไม่พ้นไปจากการได้รับผลของกรรมในชีวิตประจำวันในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนา ตามสมควรแก่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต การอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไป เพื่อสิ้นกรรมและสิ้นการได้รับผลของกรรม ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แต้ม
วันที่ 22 ก.ค. 2559

แสดงว่าทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ มักจะใช้คำว่า อโหสิกรรม แทนการยกโทษให้หรือการให้อภัย ซึ่งมันเป็นความหมายที่แตกต่างกัน แม้แต่พระสงฆ์เองก็ไม่ได้อธิบาย ความหมายของคำว่า อโหสิกรรม ให้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วครับ ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 23 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Noparat
วันที่ 23 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wirat.k
วันที่ 24 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Woranan
วันที่ 26 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
daris
วันที่ 27 ก.ค. 2559

ละเอียดลึกซึ้งมากครับ กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Sottipa
วันที่ 28 ก.ค. 2559

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wannee.s
วันที่ 30 ก.ค. 2559

เจ้ากรรมนายเวรไม่มี มีแต่กรรมที่ตนเองทำเป็นของๆ ตน เช่น ทำดีหรือทำชั่วเป็นก็เป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้นค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ