ธัมมัญญูสูตร ... วันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๙

 
มศพ.
วันที่  29 พ.ค. 2559
หมายเลข  27834
อ่าน  1,065

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๙

ธัมมัญญูสูตร
(ว่าด้วยธรรม ๗ ประการ มีรู้จักธรรม เป็นต้น)

...จาก...

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๒๓๖



[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๒๓๖

๔. ธัมมัญญูสูตร
(ว่าด้วยธรรม ๗ ประการ มีรู้จักธรรม เป็นต้น)

[๖๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๗ ประการ เป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นธัมมัญญู (รู้จักธรรม) ๑ อัตถัญญู (รู้จักอรรถ) ๑ อัตตัญญู (รู้จักตน) ๑ มัตตัญญู (รู้จักประมาณ) ๑ กาลัญญู (รู้จักกาล) ๑ ปริสัญญู (รู้จักบริษัท) ๑ ปุคคลปโรปรัญญู (รู้จักความยิ่งความหย่อนของบุคคล) ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรมคือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ หากภิกษุไม่พึงรู้จักธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นธัมมัญญู แต่เพราะภิกษุรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นธัมมัญญู ด้วยประการฉะนี้.

ก็ ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ หากภิกษุไม่พึงรู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นอัตถัญญู แต่เพราะภิกษุ รู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นอัตถัญญู, ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู ด้วยประการฉะนี้.

ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ ถ้าภิกษุไม่พึงรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ เรา ก็ไม่พึงเรียกว่า เป็นอัตตัญญู แต่เพราะภิกษุรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ ฉะนั้น เรา จึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู, ภิกษุ เป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้.

ก็ ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หากภิกษุไม่พึงรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นมัตตัญญู แต่เพราะภิกษุ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นมัตตัญญู, ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้.

ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้ เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้ เป็นกาลประกอบความเพียร นี้ เป็นกาลหลีกออกเร้น หากภิกษุไม่พึงรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้ เป็นกาลสอบถาม นี้ เป็นการประกอบความเพียร นี้เป็นการหลีกออกเร้น เราไม่พึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น ฉะนั้น เราจึงเรียกว่า เป็นกาลัญญู, ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ด้วยประการฉะนี้.

ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงพูดอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ หากภิกษุ ไม่รู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงพูดอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นปริสัญญู แต่เพราะภิกษุ รู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงพูดอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ ฉะนั้น เราเรียกว่าเป็นปริสัญญู, ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู ด้วยประการฉะนี้.

ก็ภิกษุเป็นบุคคลปโรปรัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ คือ บุคคล ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกหนึ่ง หารู้อรรถรู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ ฉะนี้แล ภิกษุเป็นบุคคลปโรปรัญญู อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า .

จบ ธัมมัญญูสูตรที่ ๔

อรรถกถาธัมมัญญูสูตรที่ ๔

ธัมมัญญูสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า กาลํ ชานาติ ความว่า ย่อมรู้จักกาลอันควรที่มาถึงแล้ว. บทว่า อยํ กาโล อุทฺเทสสฺส ความว่า นี้เป็นเวลาเรียนพระพุทธวจนะ. บทว่า ปริปุจฺฉาย ความว่า เป็นเวลาสอบถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ เหตุและมิใช่เหตุ. บทว่า โยคสฺส ความว่า เพื่อใส่การกระทำในการประกอบความเพียร. บทว่า ปฏิสลฺลานสฺส ความว่า เพื่อความเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่ผู้เดียว. บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ความว่า เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น อันเป็นธรรมสมควร แก่โลกุตตรธรรม ๙. คำว่า เอวํ โข ภิกฺขุ ปุคฺคลปโรปรญฺญู โหติ ความว่า ภิกษุย่อมเป็นผู้สามารถรู้จักความยิ่งและหย่อน คือ ความกล้าแข็งและอ่อนแอของบุคคลทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.

จบ อรรถกถาธัมมัญญูสูตรที่ ๔
.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 29 พ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
© ข้อความโดยสรุป ©
ธัมมัญญูสูตร

(ว่าด้วยธรรม ๗ ประการ มีรู้จักธรรม เป็นต้น)


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระอริยบุคคล ดังนี้ คือ
๑.รู้จักธรรม (เข้าใจธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
๒.รู้จักอรรถ (เข้าใจความหมายของภาษิตซึ่งเป็นคำพูด)
๓.รู้จักตน (รู้ตนเองตามความเป็นจริงว่า มี ศรัทธา ศีล การฟังพระธรรม เป็นต้น มากน้อยเพียงใด)
๔.รู้จักประมาณ (รู้จักประมาณในการับปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค)
๕.รู้จักกาล (รู้จักว่ากาลไหนควรเรียน ควรสอบถาม ควรประกอบความเพียรควรหลีกออกเร้นอยู่)
๖.รู้จักบริษัท (รู้จักประชุมชนต่างๆ พร้อมทั้งระเบียบข้อปฏิบัติในการเข้าไปสู่ประชุมชน นั้นๆ )
๗.รู้จักความยิ่งความหย่อนของบุคคล (รู้จักบุคคลตามเป็นจริง ว่า มีอัธยาศัยความประพฤติเป็นไปอย่างไร)

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

ว่าด้วยลักษณะผู้ทรงธรรมและไม่ทรงธรรม [พระเอกุทานเถระ ]
รู้จักตัวเอง

ไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่รู้จักพระผู้มีพระภาคฯ !
รู้ประมาณในการบริโภค
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Noparat
วันที่ 29 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 30 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 2 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Wisaka
วันที่ 4 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 4 มิ.ย. 2559

สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ