ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๔

 
khampan.a
วันที่  24 เม.ย. 2559
หมายเลข  27711
อ่าน  2,325

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๔

~ ข้อสำคัญ อยู่ที่ปฏิบัติตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือไม่? นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิด เพราะเหตุว่าทุกท่านก็ปรารถนาผล คือ การรู้ชัดในสภาพธรรมะตามความเป็นจริง เพื่อการละคลายกิเลสดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เป็นลำดับขั้น แต่ถ้าข้อปฏิบัติไม่ตรง ก็ไม่มีโอกาสเลย ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

~ ประโยชน์สูงสุดของการฟัง แม้ในวันนี้ ก็คือได้ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นธรรม เริ่มเข้าใจความเป็นธรรม

~ ขณะใดคำพูดนั้นเป็นไปเพราะอกุศลจิตแล้ว คำพูดเหล่านั้นจะเป็นวจีทุจริต ในทางที่พูดเพราะหวังลาภบ้าง มีไหมคำพูดอย่างนี้? เมื่อหวังลาภ บางครั้งบางขณะก็มีการพูดยกยอ ไม่ใช่การชมด้วยความจริงใจ แต่เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยกิเลส ทำให้มีวาจาที่เป็นไปเพราะหวังในลาภ เป็นการพูดยกยอบ้าง หรือว่าเป็นการพูดผูกพันต่างๆ บ้าง

~ การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นธรรมที่ควรรังเกียจ ควรกลัว ไม่ควรที่จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำเลย ขณะนั้นลักษณะของสภาพธรรมคือหิริและโอตตัปปะ การรังเกียจในการทำทุจริตกรรมจึงเกิดขึ้น นั่นก็ต้องเป็นสติขั้นหนึ่ง คือสติขั้นศีล ที่ทำให้รู้ว่าการที่จะเบียดเบียนสัตว์อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

~ เมื่อปุถุชนยังเป็นคนที่มากด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าพิจารณาดูการกระทำทางกาย ทางวาจาในแต่ละวัน ก็จะตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าหวั่นไหวไปเพราะกิเลสเหล่านั้น แล้วก็กระทำสิ่งที่ไม่ควรทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือด้วยความกลัวภัยบ้างหรือเปล่า

~ สิ่งใดจะเกิดขึ้นย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือขอให้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

~ พระธรรมมีประโยชน์สูงสุดในชีวิตที่จะทำให้คลายทุกข์โทมนัสทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นในกาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในพระธรรมด้วยการศึกษาอย่างละเอียด มิฉะนั้นแล้วก็จะทำให้เข้าใจเผินหรือว่าเข้าใจผิด

~ ถ้าเป็นพระอริยบุคคล คำที่กล่าวจะต้องเหมือนกับคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส และคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายก็ไม่มีการแสดงว่าเป็นคำอื่นเลย เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า พระอริยะและพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กล่าวคำเดียวกัน

~ การที่จะให้พระธรรมที่ได้ฟังเป็นประโยชน์จริงๆ นั้น ต้องด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน และผู้ที่ฟุ้งซ่านนั้นก็จะเป็นผู้ที่ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ คือ จะไม่เป็นผู้ที่ฟังธรรมเลย

~ ผลของการฟังพระธรรมของแต่ละบุคคล ก็ย่อมจะต่างกันไปตามการสะสม ซึ่งความต่างกันนั้น มีตั้งแต่ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งแม้ในสมัยนี้ ก็จะเห็นอัธยาศัยที่ต่างๆ กันของผู้ฟัง ซึ่งทำให้เกิดผลต่างๆ กันด้วย

~ สมัยพุทธกาล ผู้ที่เข้าไปพระวิหารเชตวัน มีใครนำเงินไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือเปล่า? ไม่มี

~ ผู้ที่มีปัญญาไม่ติดในสักการะ แต่ว่าผู้ไม่มีปัญญา ขวนขวายเพียงที่จะได้สักการะ ปรารถนาที่จะได้การไหว้ การบูชาจากคนอื่น โดยที่ไม่รู้ว่า นำความทุกข์มาให้ตั้งแต่เริ่มที่จะต้องทำสิ่งที่คนอื่นจะต้องกราบไหว้บูชา ก็เป็นความยากลำบากทั้งนั้นทีเดียว เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีปัญญานั้นจะไม่ติดแม้ในการกราบไหว้ การบูชาของคนอื่น

~ พระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรมของพระองค์ จะต้องพิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างนั้นจะไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แม้แต่เรื่องที่เข้าใจว่า เล็กๆ น้อยๆ คือ เรื่องกุศล ก็ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า เป็นกุศลหรือเปล่า หรือเข้าใจว่าเป็นกุศล แต่ว่าความจริงไม่ใช่กุศล?

~ การฟังธรรม ใส่สีอะไรก็ได้ ไม่เกี่ยวกับสีอีกเหมือนกัน แต่ว่าบางคนก็อาจจะอบรมมาสะสมมาที่จะพอใจในสีหนึ่งสีใด ก็เป็นฉันทะเป็นอัธยาศัย แต่ว่าไม่ใช่สีจะทำให้ดับกิเลส แต่ต้องเป็นปัญญา การพิจารณาอบรมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน พุทธบริษัทก็มีทั้งที่เป็นบรรพชิต และเป็นคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น สะสมมาอย่างไร สภาพธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยอย่างไร ก็พิจารณาเพื่อที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล



~ เวลาที่มีทุกขเวทนาเกิด แล้วก็เป็นทุกข์เดือดร้อนใจ ให้ทราบได้ว่า เพิ่มทุกข์ให้กับตนเอง เหมือนกับถูกลูกศรดอกที่ ๑ ทางกาย แล้วก็ยังไม่พอ ยังจะต้องถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ที่แผลเก่านั้นอีกซ้ำลงไป เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากทุกข์กายแล้วก็ยังมีทุกข์ใจด้วย

~ แต่ละคนก็จะตรวจสอบความมั่นคงในความเข้าใจธรรม ในเหตุในผลได้ว่า เวลาใดที่ทุกขเวทนาเกิด ทำอะไร? ถ้าคร่ำครวญโศกเศร้า หรือว่าถือเป็นเหตุที่จะต้องทำอกุศลกรรมเพราะทุกขเวทนานั้น ก็แสดงว่า บุคคลนั้นเวลาทุกข์เกิด ก็ทำอกุศลกรรม แต่บางคนไม่เป็นอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์ ความเดือดร้อนสักเท่าไร มีความมั่นคงในการที่จะทำกุศลกรรม ยังถือเป็นเหตุที่จะต้องทำกุศลด้วย แม้ว่ากำลังมีความทุกข์ นั่นก็เป็นลักษณะหนึ่ง

~ ถ้าไม่รีบขัดเกลาบรรเทาในชาตินี้ ในชาติต่อๆ ไป ก็จะเพิ่มความเป็นบุคคลที่หนาแน่นด้วยอกุศลมากยิ่งขึ้นอีกทุกชาติไป แทนที่จะคิดถึงอานิสงส์หรือผลที่จะได้รับ ก็ควรที่จะคิดถึงว่า อกุศลมากจนเกินกว่าที่จะดับได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่จะละอกุศลนั้นได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ในวันหนึ่ง

~ อบรมเจริญเมตตา คือ เป็นผู้ที่มีเมตตาในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จากคนที่เคยชัง ความชังนั้นจะต้องลดน้อยลง มีความเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ ก็จะต้องระลึกได้ว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิด ขณะนั้นก็ไม่มีเมตตา ปราศจากเมตตา ถ้าสติเกิดระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ เป็นผู้ที่มีปกติมีเมตตา ในขณะนั้นเมตตาต่อคนรอบข้าง ย่อมมากขึ้น ขยายกว้างไกลออกไป


~ เขาตายแล้วเราร้องไห้
มีประโยชน์กับเขาหรือเปล่า? เขาไม่ต้องการน้ำตา ไม่ต้องการให้ใครมาเสียใจโศกเศร้า แต่เขาดีใจด้วย ถ้าเราทำดี


~ ประโยชน์สูงสุด คือ ได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้แล้ว ได้เข้าใจธรรมและได้ทำดี
เพราะเหตุว่า ประมาทไม่ได้เลย ขณะไหนไม่ดี ขณะนั้นเป็นอกุศล


~ ตราบใดที่ยังมีกิเลส
ต้องเป็นอย่างนี้ (คือ ทำอกุศลกรรม และเกิดในอบายภูมิ) เขาเป็นได้ เราเป็นไม่ได้หรือ ถ้ากิเลสยังมีอยู่และยังมีมากๆ เหมือนเขา? ก็เห็นภัยของอกุศลและเห็นประโยชน์ของการที่จะละอกุศล


~ ไม่มีใครอีกเลยที่จะให้เข้าใจความจริงได้
นอกจากแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจัา
ซึ่งได้ฟังด้วยความละเอียดรอบคอบ


~ ความเห็นผิดอันตราย เพราะไม่ทำให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์.



ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๓

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
peem
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Boonyavee
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 24 เม.ย. 2559

เคยจดที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์เคยกล่าวไว้ค่ะ

"สิ่งที่ไม่ดีจะเก็บไว้ทำไม"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pakati58
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนา สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
swanjariya
วันที่ 25 เม.ย. 2559

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 25 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 25 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Noparat
วันที่ 25 เม.ย. 2559

~ สิ่งใดจะเกิดขึ้นย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือขอให้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
siraya
วันที่ 25 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 25 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 25 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
pat_jesty
วันที่ 25 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pulit
วันที่ 25 เม.ย. 2559

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
rrebs10576
วันที่ 25 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
tuijin
วันที่ 26 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 27 เม.ย. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ