ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ศรีลังกาและอินเดีย ๑๖ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ [ตอนที่ ๕ สิกิริยา-พระเขี้ยวแก้ว]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  30 พ.ย. 2558
หมายเลข  27273
อ่าน  1,997

วันที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางมายังเมืองฮาบารานา และเป็นวันสุดท้ายของการพักผ่อนในรีสอร์ทแสนสวยและเงียบสงบแห่งนี้ เมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้า ก็พบกับอากาศเย็นสบาย มีหมอกบางๆ ปกคลุมไปทั่วบริเวณ เดินจากที่พักไปยังห้องอาหารเช้า พบกับภาพบรรยากาศยามเช้าที่สดชื่น ต้นไม้ใบไม้ดูเขียวสดเพราะมีฝนปรอยยามค่ำคืน พื้นดินชอุ่มน้ำ ทางเดินสีอิฐที่เปียกชื้น ไอดินกลิ่นหญ้า เป็นบรรยากาศแสนสุข ซึ่งเกิดมีและหมดไป และไม่กลับมาอีก

แม้ว่าจะมองไม่เห็นภูเขาสิกิริยาที่พวกเราจะเดินทางไปวันนี้เนื่องจากมีหมอกยามเช้าบดบังอยู่ แต่ก็เป็นความสวยงาม สดชื่นยามเช้าอีกแบบหนึ่ง ที่ตราตรึงใจผู้มาเยือน ผลของกุศลกรรม ทำให้ได้เห็นดี ได้กลิ่นดี และกำลังจะได้ลิ้มรสอาหารเช้า ซึ่งหวังว่าจะดี แต่ยังไม่รู้จนกว่าจะได้ลิ้มรสที่คาดหวัง ว่าจะเป็นอย่างที่หวัง หรือจะผิดหวัง ทุกสิ่งล้วนเป็นปกติเพราะเกิดแล้วในขณะนั้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่หวัง นอกจากเหตุปัจจัยอันบุคคลได้กระทำแล้ว และให้ผลในขณะนั้น โดยความเป็นปกติและเป็นอนัตตา อันบุคคลที่ศึกษาและเข้าใจพระธรรม ย่อมรู้เอง เห็นเอง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในขณะนั้น เพราะ "เกิดแล้วเป็นปกติ"

ตามกำหนดการในช่วงเช้าของวันนี้ จะเป็นการเดินทางไปยังสิกิริยา ซึ่งเป็นพระราชวังบนยอดเขา แม้จะไม่มีประวัติที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศศรีลังกาที่ผู้ที่สนใจควรจะได้ไปเยี่ยมชม แต่แม้กระนั้น เนื่องจากเป็นพระราชวังบนยอดเขาที่สูงชัน ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสุขภาพร่างกาย จึงไม่เหมาะที่จะเดินทางไป ซึ่งก็สามารถอยู่ร่วมสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์และคณะวิทยากร และท่านที่สนใจที่จะฟังการสนทนาธรรมโดยไม่ต้องการไปเที่ยว ณ โรงแรมที่พักตลอดช่วงเช้าของวันนี้ หลังการรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว

ในตอนที่ ๕ นี้ จะขออนุญาตนำข้อความการสนทนาธรรมในช่วงเช้าของวันนี้ มาประกอบกับภาพของการเดินทางไปชมสิกิริยา พระราชวังบนยอดเขา ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจที่จะลงภาพที่ได้บันทึกมาโดยละเอียด เพื่อทุกท่านที่ไม่มีโอกาสไปได้ชม รวมถึงภาพการเดินทางของท่านอาจารย์และคณะฯ เดินทางออกจากฮาบารานาไปยังเมืองแคนดี้ เพื่อกราบสักการะพระเขี้ยวแก้ว ณ วัดศรีดัลลามัลกาวะ ในตอนค่ำ โดยคณะของเราจะพักค้างคืนที่โรงแรม Cinnamon Citadel Kandy ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Mahaweli ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม ท่ามกลางหุบเขาในเมืองแคนดี้ ความการสนทนาที่นำมานี้ เป็นการสนทนาเรื่องสติ และ สติปัฏฐาน ที่มีความละเอียดลึกซึ้งครั้งหนึ่ง สำหรับท่านที่สนใจไม่ควรพลาดอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ อ่านและพิจารณาโดยละเอียดครับ

ก่อนที่ทุกท่านจะได้ชมภาพและความธรรมะที่จะนำมาเสนอ จะขออนุญาตนำประวัติของสิกิริยา มาให้ทุกท่านได้ทราบเพียงสั้นๆ พอสังเขปดังนี้ครับ

ภูเขาสิกิริยา (Sigiriya Rock) มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๗๗ พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ได้เสด็จประพาสบริเวณนี้ และตั้งชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า "สีหคีรี" แปลว่าภูเขาราชสีห์หรือสิงโต พ.ศ. ๔๔๐ พระเจ้าปุลหัตถะ ทรงสร้างป้อมเชิงเทิน และศาลาโรงธรรมเอาไว้ จนถึงสมัยพระเจ้าพาหิยะ ราชโอรสของพระเจ้าปุลหัตถะ ทรงสร้างโรงทานสำหรับพระภิกษุขึ้นเพิ่มเติม สมัยพระเจ้ากัสสปะ ใน พ.ศ. ๑๐๒๐ หลังจากที่เจ้าชายกัสสปะ ราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นสามัญชน ได้ทรงจับพระราชบิดา คือ พระเจ้าธาตุเสน ขังคุกแล้วโบกปูนปิดทับทั้งๆ ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เนื่องจากทรงอยากที่จะขึ้นครองราชโดยเร็ว ทำให้เจ้าชายโมคคัลลาน์ รัชทายาทซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระราชินีต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์ และไม่ทรงโปรดที่จะครองราชย์อยู่ที่อนุราธปุระ จึงทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่สิกิริยา ซึ่งใช้เวลาการสร้างนานถึง ๗ ปี ใช้เงินไปประมาณ ๗๐ ล้านเหรียญทอง

พระเจ้ากัสสปะครองราชย์อยู่นาน ๑๘ ปี ก็ถูกเจ้าชายโมคคัลลาน์ พระอนุชาต่างมารดา ยกทัพมาจากประเทศอินเดีย เพื่อมาชิงราชบัลลังก์คืน ทรงล้อมสีหคีรีไว้แน่นหนา พระเจ้ากัสสปะไม่มีทางสู้ จึงตัดสินพระทัยปลิดชีพพระองค์เองในพระราชวังบนภูเขาแห่งนี้ พระราชวังแห่งนี้จึงเป็นอนุสรณ์สถานของคนบาป ลูกซึ่งฆ่าพ่อเพื่อชิงราชบัลลังก์

คุณหมอกล้าณรงค์ กราบท่านอาจารย์สุจินต์และท่านวิทยากรทุกท่านครับ ผมชื่อกล้าณรงค์ จะขออนุญาตกราบเรียนถามท่านอาจารย์ กุศลทุกประการ ไม่ทราบว่าเป็นปัจจัย หรือว่า เกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญา หรือการเกิดขึ้นของสติปัฏฐาน อย่างไร? ถ้าเกี่ยวข้องกัน จำเป็นต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่? และถ้าเกี่ยวข้องกัน อกุศลที่เกิดขึ้น เป็นตัวกั้น หรือเป็นตัวขัดขวางการอบรมเจริญสติปัญญาหรือการเกิดขึ้นของสติปัฏฐานอย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์ ก็หลายคำถาม ก็ขอสนทนาด้วยนะคะ ก่อนฟังพระธรรม ทำกุศลอะไรบ้าง? หรือว่า มีกุศลอะไรบ้าง?

คุณหมอกล้าณรงค์ ก่อนฟังพระธรรม กุศลที่เกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นการสะสมที่ผ่านมาครับ

ท่านอาจารย์ กุศลมีหลายประเภท ใช่ไหม? กุศลอะไรบ้าง? สักหนึ่งก็ได้

คุณหมอกล้าณรงค์ กุศลก็แบ่งออกเป็น ที่ประกอบด้วยปัญญา กับ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ครับ

ท่านอาจารย์ แต่ "ก่อน" ฟังพระธรรม ต้องเข้าใจนะคะ เราพูดถึงธรรมะ ต้องละเอียด ไม่รู้จักพระธรรมเลย ไม่เคยฟังพระธรรมเลย ก่อนฟังพระธรรม ก็มีกุศลใช่ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ถามถึงประกอบหรือไม่ประกอบ ต้องไปตามคำถามสั้นๆ ตรงๆ "ก่อนฟังพระธรรม" ไม่เคยได้ฟังธรรมะเลย ก็มีกุศล ใช่ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ มีครับ

ท่านอาจารย์ กุศลอะไร? อะไรก็ได้ สักหนึ่ง

คุณหมอกล้าณรงค์ เช่น ทาน ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ "ทาน" ได้ยินคำว่า "ทาน" ต้องรู้ว่า หมายความว่าอะไร เพราะเหตุว่า ถ้าเราไม่รู้ เรา "คิดเอง" ตลอด ทาน คือ การให้ ให้จริงๆ คือ ให้เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ถ้าหวัง เหมือนการซื้อขายไหม? เอานี่ไป เอานั่นมา ให้ไป แล้วก็บอก เอาบุญมา อย่างนั้นก็ไม่ใช่กุศล ใช่ไหม?

ถ้าเป็นกุศลจริงๆ หมายความว่า เป็นสภาพของจิตที่ผ่องใส ขณะนั้น ไม่มีโลภะ ความติดข้อง จึงสามารถที่จะสละสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ ขณะนั้นไม่มีโทสะ ไม่มีความเดือดร้อนใจหรือโกรธเคืองผู้รับ เพราะว่า บางคน โกรธคนนี้ ไม่ให้คนนี้ นั่งกันหลายคน ให้คนอื่นที่ไม่โกรธก็ได้

เพราะฉะนั้น กุศลจริงๆ ก็เป็นสภาพของจิตซึ่งผ่องใส ประกอบด้วยโสภณเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท ซึ่งขณะนี้ กำลังมี ก็ไม่รู้ การฟังธรรมะ จึงต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่ากุศลก่อนที่จะได้ฟังธรรมะ มี แต่ว่ากุศลนั้น จะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ครับ

ท่านอาจารย์ ไม่!!! ไม่ว่าจะเป็น กุศลขั้นทาน หรือกุศลขั้นศีล คนที่มีจิตที่ไม่มีความโลภ ติดข้องในสมบัติ แล้วก็ช่วยเหลือคนอื่น เราก็ได้ยินเศรษฐี มหาเศรษฐี แบ่งสมบัติไว้ให้ลูกหลานหมด ส่วนที่เหลือ ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นหมด นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพของจิตแต่ละหนึ่งที่สะสมมา บางคนก็รักษาศีล ด้วยการสมาทาน แต่ก็ไม่ได้เข้าใจว่า "สมาทาน" คือ อะไร?

เพราะเหตุว่า "สมาทาน" ไม่ใช่ภาษาไทย แต่ "สมาทาน" คือ ขณะนั้น คิดที่จะประพฤติอย่างนั้น เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ต้องไปกล่าวภาษาบาลี เพราะเหตุว่า การกล่าวโดยไม่เข้าใจ มีมาก แต่ถ้ารู้ว่า ไม่ใช้คำว่าสมาทาน แต่เกิดจิตคิดจะไม่ฆ่าสัตว์ คิดได้ไหม? เวลาที่เห็นเหตุการณ์บางอย่าง แล้วก็ทำให้การรู้สึกที่ว่า จะไม่ฆ่าแน่ๆ ทำให้คนอื่นเขาลำบากเดือดร้อน ขณะนั้นก็คือความตั้งใจ ซึ่งเป็นสมาทาน บางคนก็สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ก็แล้วแต่ แต่ว่า ไม่รู้ว่า ขณะนั้น "ไม่ใช่เขา" และไม่รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นเพียงธรรมะแต่ละหนึ่ง

เพราะฉะนั้น แม้ทาน แม้ศีล ก่อนจะมีการเข้าใจธรรมะ ไม่เป็นทางที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ทำไป กี่ชาติ ก็ทำไป ทั้งทาน ทั้งศีล แต่ก็ไม่ได้ฟังธรรม ไม่เข้าใจเลย ทานและศีลนั้นๆ ไม่สามารถที่จะทำให้ดับกิเลส ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมะได้ จึงต่างกัน!!!

แต่เมื่อได้เข้าใจธรรมะแล้ว ไม่มีเรา แต่มีกุศลธรรม มีอกุศลธรรม ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง เห็นโทษของอกุศล ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า จะต้องมีผลซึ่งไม่น่าพอใจ และไม่ใช่การที่จะรู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง เพราะอกุศลทั้งหมด มีอวิชชาเป็นเหตุ ความไม่รู้เป็นเหตุ

เพราะฉะนั้น อกุศล ซึ่งมีอวิชชาเป็นเหตุ จะทำให้เข้าใจธรรมะไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่รู้ความจริง จึงบำเพ็ญกุศล เป็นบารมี เพื่อที่จะรู้ว่า เพราะขณะนั้นที่กุศลเกิด อกุศลเกิดไม่ได้ ขณะจิตที่เป็นอกุศล ก็น้อยลง ไม่เป็นเครื่องกั้น เพราะเหตุว่า อกุศลทั้งหมด ไม่เข้าใจธรรมะ แต่กุศลทั้งหมด ค่อยๆ ขัดเกลา ความตระหนี่ เช่น ทาน สามารถที่จะสละวัตถุภายนอก แล้วแต่ว่าบุคคลนั้น สามารถจะสละวัตถุภายใน อาจจะเป็นไต หรืออาจจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ ใช่ไหม? ก็แล้วแต่กำลังของกุศลขณะนั้น เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถที่จะสละได้วันหนึ่ง ก็สามารถสละความเป็นเรา ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน พราะว่า กว่าจะมีกำลังถึงขั้นที่จะละ ดับความเป็นตัวตนได้ ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยการขัดเกลากิเลส ด้วยการบำเพ็ญกุศล เป็นบารมี ทุกโอกาสที่จะเป็นได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะละกิเลส

แต่คนที่ไม่เข้าใจธรรมะเลย ให้ทาน รักษาศีล ก็ไม่ได้ละกิเลส หวังสวรรค์บ้าง หวังทรัพย์สมบัติบ้าง หวังอะไรต่างๆ บ้าง

อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ เสริมของคุณหมอด้วยนะครับ ท่านอาจารย์ครับ บารมีก็คือ กุศลธรรมที่จะทำให้ข้ามพ้นฝั่งของกิเลสไปถึงฝั่งของการหมดกิเลส ท่านก็ไม่ได้แสดงเฉพาะปัญญา มีตั้งแต่ทาน ศีล แต่ว่าบารมีทั้งหลาย ก็ต้องอาศัยปัญญาด้วย

ทีนี้ ก็อาจจะมีความคิดของบางคน อย่างที่คุณหมอกล่าวว่า มาศึกษาพระธรรมอย่างพวกเรานี่ ก็ดูเหมือนจะสนใจศึกษาปริยัติ แล้วก็เหมือนจะไม่ใส่ใจในเรื่องทาน เรื่องศีล ท่านอาจารย์ครับ ถ้ามีปัญญา แล้วปัญญาจะปรุงแต่งให้เป็นกุศลทุกประการ อย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรมะ "ให้" หมดเลย ขอทานก็ให้ ขอทานมีเงินล้าน มากกว่าผู้ให้ (หัวเราะกันครืน) แล้วก็ อะไรก็ได้ ให้หมด!!! แต่ว่า เมื่อฟังธรรมะแล้ว ควรให้อะไร? ปัญญาถูกต้องขึ้น ใช่ไหม? ไม่ใช่ว่าไม่ให้ แต่รู้ว่า ให้อะไรที่มีประโยชน์มาก

ถ้าให้ไปทำความเห็นผิดต่างๆ ให้ไหม? หรือว่า ซองกฐินก็ได้ ชัดเจน ไม่รู้ว่าสร้างอะไรบ้าง? ใช่ไหม? คิดว่าให้หมดเลย!! ไปสร้างสำนักปฏิบัติ ให้ไหม? ทำให้ละเลยหรือเปล่า? อย่างนั้น แต่สามารถที่จะมีความถูกต้อง ที่จะให้กุศลทั้งหลาย เป็นไปในความถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการบ่อนทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ถ้าเป็นการที่จะทำให้เป็นประโยชน์ ก็แล้วแต่บุคคลนั้น ว่าเห็นประโยชน์ จะสร้างเมรุเผาศพ เห็นประโยชน์ ให้ก็ได้ แต่ว่า เงินนั้นไปไหน หรืออะไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้ ที่เราใช้ภาษาชาวบ้าน สุ่มสี่สุ่มห้า แต่ปัญญา จะทำให้ใช้เงินอย่างเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น แล้วก็เป็นผลจริงๆ ที่ผู้นั้น ได้รับประโยชน์

มีคนหนึ่ง ในซอยมูลนิธิฯตอนเย็นๆ เขาก็มาสีซอ คนก็ให้ เสร็จแล้ว เขาก็ไปกินเหล้าพร้อมเพื่อนฝูงทุกวัน ให้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ขออนุญาตอีกนิดหนึ่งครับ ในส่วนของอกุศล คำถามคือ อกุศล กั้นต่อการเจริญสติปัฏฐานอย่างไรครับ?

ท่านอาจารย์ อกุศลเกิดจากอะไรคะ?

คุณหมอกล้าณรงค์ จากความไม่รู้ครับ

ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ จะทำให้รู้ ได้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ได้ครับ ตัวอย่างจากการสังเกตในชีวิตประจำวัน ในบางวัน ในบางขณะ ที่เกิดโลภะขึ้นในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ทำให้สิ่งที่ตามมาก็คือ สติปัฏฐานหรือความเข้าใจในธรรมะ ไม่เกิดขึ้น

ท่านอาจารย์ สติ คือ อะไร?

คุณหมอกล้าณรงค์ สติเป็นโสภณธรรมครับ

ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตอะไรบ้าง? เมื่อไหร่?

คุณหมอกล้าณรงค์ เกิดกับกุศลจิตเท่านั้น

ท่านอาจารย์ เกิดกับกุศลจิตทุกประเภทใช่ไหม? ขณะที่ให้ทาน ทานจริงๆ ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ เกิดร่วมด้วยครับ

ท่านอาจารย์ แล้ว "รู้ลักษณะ" ของสติ ในขณะที่กำลังให้ทานหรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่รู้ครับ

ท่านอาจารย์ ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา รู้ไม่ได้เลย ปัญญาต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้นด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เกิดกับสติ ที่ใช้คำว่าสติปัฏฐาน...ในขณะไหน?

คุณหมอกล้าณรงค์ อืมมม์..กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อนครับ

ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้เข้าใจเลยค่ะ (คุณหมอและทุกคนหัวเราะกันครืน) เพราะเหตุว่า จริงๆ แล้ว การสนทนาอย่างกันเอง ฐานะของกัลยาณมิตร หวังดีที่สุด คือ ให้ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ใครก็ตามที่เป็นเพื่อนแท้ เพื่อนจริง จะไม่ให้สิ่งที่ผิด แต่ว่า ให้สนทนาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นมงคลนะคะ การสนทนาธรรมตามกาล

เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรที่คุณหมอสงสัย ถาม หรือใครก็ได้ สงสัย แม้เรื่องหนึ่งเรื่องใด เพื่อความชัดเจน เพื่อความถูกต้อง แม้แต่ดิฉันเอง ก็ขอถามเพื่อที่จะได้ฟังคำตอบ เพื่อจะได้ความชัดเจน ไม่อย่างนั้น ไม่มีประโยชน์เลย พบกัน ไม่ใช่กัลยาณมิตร จะไม่มีประโยชน์เลย แต่พบกันแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดก็คือว่า เป็นเพื่อนที่ดี ให้สิ่งที่ดี ด้วยความหวังดี ด้วยความจริงใจ ไม่ให้ผิด

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณหมอต้องการความเข้าใจ ไม่ใช่คิดเอง เราก็สนทนากันได้ เพราะเหตุว่า "สติ" คนไทยก็ใช้มาก แต่ไม่ได้เข้าใจ ใช้ไปเอง เช่น เดินดีๆ นะ เดินไม่ดีเดี๋ยวหกล้ม ไม่มีสติ ก็พูดกันไปหลายคำ วันนี้อารมณ์ดีไหม? บอกว่าอารมณ์ดี แต่ไม่รู้ว่า "อารมณ์" คือ อะไร?

อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ พอตื่นขึ้นมา ก็มีเห็น มีได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ฟังเรื่องราวต่างๆ ถ้าเป็นสิ่งที่ดี วันนั้นก็ตอบเขาได้ว่า วันนี้อารมณ์ดี ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี กลิ่นก็ไม่ดี รสก็ไม่ดี เจ็บตรงนั้น ตรงนี้ อารมณ์ก็ไม่ดี ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เราพูดถึงอารมณ์ปลายเหตุตามที่เราไม่ได้เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจแล้ว หนึ่งขณะจิต จิตเกิดขึ้น เป็น "ธาตุรู้" ต้องมี "สิ่งที่ถูกรู้" รวมเรียกว่า "อารมณ์" ไม่ว่าอะไรทั้งหมด นิพพานก็เป็นอารมณ์ ในขณะที่จิต รู้แจ้งนิพพาน

เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้น ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ แต่ละหนึ่งจิต จิตหนึ่ง จะมีสองอารมณ์ไม่ได้ ทั้งเห็นทั้งได้ยินพร้อมกัน ไม่ได้!!! "สิ่งที่ปรากฏทางตา" เดี๋ยวนี้ที่จิตเห็น "เป็นอารมณ์" เฉพาะ "เสียง" ที่จิตได้ยินที่ปรากฏขณะนั้น "เป็นอารมณ์"

เพราะฉะนั้น การพูดถึงธรรมะ ขอให้เข้าใจเป็นคำๆ ให้ถูกต้อง เพราะว่าต้องสอดคล้องต้องกัน เปลี่ยนไม่ได้ ไม่ว่าจะในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก "อารัมณะ" คือ "สิ่งที่จิตรู้"

ถ้าจะพูดถึง "สติ" ก็ต้องเข้าใจว่า สติเป็นธรรมะฝ่ายดี ถ้าทำอาหารเก่งมาก ไม่ไหม้ ทอดไข่ไม่ไหม้ จะบอกว่ามีสติไหม? คะ? มีสติไหม? กำลังทอดไข่ เจียวไข่ไม่ไหม้ หอมอร่อยดี ขณะนั้นมีสติหรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ใช่สติเจตสิกครับ

ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่เป็นสติเจตสิก?

คุณหมอกล้าณรงค์ เมื่อกุศลเกิดขึ้น

ท่านอาจารย์ เช่น...

คุณหมอกล้าณรงค์ ทาน ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ "ทาน" ขณะที่ให้ ต้องให้จริงๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่เขา ไม่คำนึงว่า เขาจะตอบแทนหรือไม่ ไม่ผูกพันในฐานะผู้ให้ ไม่ใช่ให้แล้ว วันหนึ่งต้องมาทำอย่างที่ฉันบอกให้ทำ อย่างนั้นไม่ใช่ นั่นไม่ใช่ "ทาน" ทานจริงๆ ก็มีสติเจตสิกระลึกเป็นไปในทาน เพราะว่า เรามีของที่จะให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นไม่น้อยเหมือนกัน แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่ให้ ใช่ไหม ทั้งๆ ที่เก็บไว้ทำไมก็ไม่รู้ ไม่ได้ใช้เลย แต่พอสติเกิด ระลึกเป็นไปในการให้ การให้จึงเกิดขึ้น ขณะนั้นจึงไม่ใช่เรา!!! แต่เป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีที่ใช้คำว่า โสภณเจตสิก ขณะนั้นก็แล้วแต่ว่า จะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นผู้ที่ตรง แต่ว่า สติต้องมีแน่ และสติจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่อีก? จะได้รู้จักสติ ก่อนสติปัฏฐาน เพราะว่า สติก็ต้องมีหลายขั้น สติที่เป็นไปในทานเท่านั้น ไม่ใช่สติปัฏฐานแน่นอน!!!

(วัดอรุวิหาร - Aluvihara Temple หรือที่เรียกกันว่า อโรคาวิหาร สถานที่สอนพระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกที่จารึกในใบลาน ในอดีต)

คุณหมอกล้าณรงค์ สติปัฏฐาน ก็คือ สติที่เกิดขึ้นกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เช่นขณะที่เกิดวิปัสสนาญาณ

ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไร? ขณะนั้น

คุณหมอกล้าณรงค์ ปัญญารู้สภาพตามความเป็นจริงครับ

ท่านอาจารย์ อะไร? จิตเกิดขึ้นหนึ่ง รู้หนึ่ง เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ปัญญารู้อะไร?

คุณหมอกล้าณรงค์ ปัญญารู้รูปธรรม นามธรรม

ท่านอาจารย์ รูปอะไรคะ? ต้องชัดเจน เพราะทีละหนึ่ง จะรู้รูปทั้งหมดไม่ได้ นามทั้งหมดไม่ได้

คุณหมอกล้าณรงค์ ยกตัวอย่างเช่น รูปเห็นในขณะนี้ ครับ

ท่านอาจารย์ ขอโทษนะคะ พูดซ้ำอีกทีค่ะ

คุณหมอกล้าณรงค์ ยกตัวอย่างเช่น ปัญญา รู้ รูปเห็น ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ท่านอาจารย์ "รูปเห็น" มีไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ รูปเห็น มีครับ

ท่านอาจารย์ มีหรือคะ? รูปเห็น? คุณหมอพูด รูปเห็น หรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ แล้ว "รูปเห็น" มีไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ มีครับ

ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไรคะ? รูปเห็น??

คุณหมอกล้าณรงค์ รูปเห็น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา

ท่านอาจารย์ ปรากฏกับจิตหรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ ปรากฏกับจิตครับ

ท่านอาจารย์ ปรากฏกับจิตอะไร?

คุณหมอกล้าณรงค์ ปรากฏกับ "จิตเห็น" ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น "จิตเห็น" เกิดขึ้นเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ปัญญาเข้าใจอะไร?

คุณหมอกล้าณรงค์ ปัญญาเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา เป็นรูป

ท่านอาจารย์ ชื่อรูปหรือคะ?

คุณหมอกล้าณรงค์ ปัญญาเข้าใจว่า เป็นรูปและนามธรรมที่เกิดขึ้น

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รูปเป็นอย่างไรคะ? ทางตา

คุณหมอกล้าณรงค์ รูปทางตา ก็เป็นสิ่งที่ไม่รู้ เป็นสิ่งที่ปรากฏกับจิตเห็น ครับ

ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นการ "จำ" หรือเปล่าคะ?

คุณหมอกล้าณรงค์ เป็นการจำ ครับ

ท่านอาจารย์ แต่ความจริง ลึกซึ้งกว่านั้นมาก เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เป็นธรรมะเดียว สิ่งเดียวที่มีจริง ในบรรดาสิ่งที่มีจริงทั้งหมดที่ปรากฏให้เห็นได้ "จิต" ปรากฏให้เห็น ไม่ได้ "เจตสิก" ปรากฏให้เห็น ไม่ได้ "เสียง" ปรากฏให้เห็น ไม่ได้ "แข็ง" ปรากฏให้เห็น ไม่ได้ มีแต่เพียงธาตุ ธรรมะหนึ่ง สิ่งที่มีจริง เป็นธรรมะ หรือจะใช้คำว่า "ธาตุ" ก็ได้ หมายความว่า มีลักษณะเฉพาะตน เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่น ไม่ได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตา เปลี่ยนให้เป็นอื่นไม่ได้ ต้องฟังละเอียดนะคะ "สิ่งที่ปรากฏทางตา" เปลี่ยนให้เป็นอื่น ไม่ได้!! เป็น "คน" ได้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์ เป็นเก้าอี้ได้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ กำลังเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ กำลังเข้าใจความจริง

ท่านอาจารย์ กำลังเข้าใจ โดย "จำ" หรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ โดยการประจักษ์...โดยการระลึก...โดยการ...ระลึกตรงสภาพที่กำลังปรากฏ ครับ

ท่านอาจารย์ ระลึก...เป็นอนัตตา หรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ เป็นอนัตตา ครับ

ท่านอาจารย์ ใครทำให้เกิดระลึกในขณะนี้ ได้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานจะเกิดเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ตรงตามที่ได้พูด ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น คือ อะไร?

คุณหมอกล้าณรงค์ คือ ความเข้าใจ ครับ

ท่านอาจารย์ เข้าใจขั้นไหน?

คุณหมอกล้าณรงค์ ขั้นฟังหรือขั้นศึกษา ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วันนี้ กำลังมีสติที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ หรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ มีขั้นเข้าใจ ขั้นศึกษา ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน คนละระดับขั้น

คุณหมอกล้าณรงค์ ครับเข้าใจครับ

ท่านอาจารย์ คนละขั้นนะคะ คุณหมอ ไม่ใช่จากขั้นปริยัติ จะไปสู่ขั้นปฏิปัตติโดยเร็ว เพราะว่าคำว่า ปริยัติ หมายความถึง ฟังพระพุทธพจน์แค่นี้ไม่พอ รอบรู้ในพระพุทธพจน์ รอบรู้ที่นี่ ไม่ได้หมายความว่า รอบรู้ทั้ง ๓ ปิฎก แต่รอบรู้ในคำที่ได้ฟัง "ทีละคำ" เช่นคำว่า "อนัตตา" ต้องรู้ลักษณะของสติ จึงจะรู้ว่า เป็นสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฏฐานหรือไม่ หรือว่าไม่ใช่ เป็นแต่เพียงจำและเข้าใจ เพราะฉะนั้น คนที่ได้ศึกษาธรรมะเข้าใจ มีความรอบรู้ในแต่ละคำ สอดคล้องกันหมดทั้ง ๓ ปิฎก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำว่า ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ , สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เพราะว่า ถ้าไม่มีการฟังพระพุทธพจน์จนกระทั่ง มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ด้วยการละความเป็นเรา จะไม่มีสัจจญาณ แต่ถ้ามีสัจจญาณ คือ ไม่ใช่เราที่กำลังฟัง และขณะที่เข้าใจ ก็ไม่ใช่เราด้วย ทั้งหมดเป็นธรรมะ

เพราะฉะนั้น ไม่หวังว่าสติจะเกิดเมื่อไหร่ เพราะขณะนี้ อกุศลเกิดแล้ว ถ้าไม่ฟังธรรมะจริงๆ ไม่รู้เลยว่า ทันทีที่เห็น จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ทำกิจเห็น ดับ ต่อจากนั้นอีก ๓ ขณะจิต อกุศลเกิดเลย เร็วแค่ไหน?

การที่จะไปดับ ไปละอกุศล ต้องเป็นปัญญาที่ละความเป็นตน!!! ด้วยความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ที่เป็นปริยัติ จนกระทั่งเป็นสัจจญาณ เมื่อเป็นสัจจญาณ และมีความเข้าใจ ละคลายความเป็นตัวตน เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะเกิด รู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น จึงจะเป็นสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น เวลานี้ ไม่ใช่ว่า ทั้งเห็น ทั้งได้ยินด้วย ทั้งอ่อน ทั้งแข็งด้วย แต่เป็นขณะที่สภาพธรรมะเกิดขึ้น รู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขอยกตัวอย่าง "แข็ง" ขณะนี้ กำลังสัมผัส "แข็ง" หรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ สัมผัสแข็ง ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีสภาพ "รู้แข็ง"?

คุณหมอกล้าณรงค์ มีสภาพ "รู้แข็ง" ด้วย

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ "แข็ง"?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ใช่ "แข็ง" ครับ

ท่านอาจารย์ แล้วก็ "แข็ง" เป็น "แข็ง" ไม่ใช่สภาพที่ "รู้แข็ง" ขณะก่อนที่เคยสัมผัสแข็ง ทั้งวันเลย เมื่อเช้านี้ กับ ขณะที่กำลังรู้เฉพาะแข็ง ต่างกันไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ ต่างกันครับ

ท่านอาจารย์ ต่างกัน นะคะ เพราะฉะนั้น "รู้เฉพาะแข็ง" มีความเข้าใจในแข็งนั้น หรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ มีความเข้าใจใน "แข็ง" ครับ

ท่านอาจารย์ เข้าใจว่า??

คุณหมอกล้าณรงค์ ว่าไม่ใช่เรา ครับ

ท่านอาจารย์ ถ้าพูดเป็นคำ ก็ไม่ถูกต้อง แต่เป็นการ "รู้" ธาตุที่แข็ง ตรงตามที่ได้ฟัง ซึ่งต่างกับขณะที่ เวลานี้ทุกคนก็มีแข็งกำลังปรากฏ แต่แล้วแต่ว่า ปัญญาของใคร มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด ไปพยายามทำ แต่เมื่อเกิดแล้ว เห็นความเป็นอนัตตา ว่า ก็แข็งธรรมดา เหมือนที่เคยแข็ง แต่ขณะนั้น "แข็งปรากฏดี" หมายความว่า เพราะสติรู้ในความเป็นธาตุหรือในความเป็นลักษณะของธรรมะหนึ่ง เฉพาะขณะนั้น แล้วก็ดับไป

แต่นี่ขณะนั้นไม่ใช่ "การประจักษ์ลักษณะการเกิดดับ" ยังไม่ถึงระดับนั้น!! เพียงแต่ "เริ่มที่จะเข้าใจความต่าง" ของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับ ขณะที่เพียงเข้าใจเรื่องของสติสัมปชัญญะ ทั้งหมด เป็นอนัตตา คุณหมอต้องไปที่ไหนหรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ ต้องกลับประเทศไทยครับ (หัวเราะกันครืน)

ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้ สามารถที่จะ "รู้แข็ง" ได้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ สามารถจะรู้แข็งได้

ท่านอาจารย์ ที่ประเทศไทย สามารถ "รู้แข็ง" ได้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ สามารถรู้ได้ครับ

ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงประเทศไทย "รู้แข็ง" ได้ไหม?

คุณหมอกล้าณรงค์ รู้แข็งได้ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่า มีแข็งแน่นอน ใช่ไหม? แล้วแต่ว่า สติสัมปชัญญะจะเกิดหรือเปล่า? ต้องเลือกสถานที่หรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ ไม่ต้องเลือกสถานที่ ครับ

ท่านอาจารย์ ต้องเลือกสิ่งที่สติจะเกิดหรือเปล่า?

คุณหมอกล้าณรงค์ เลือกไม่ได้ ครับ!!!

ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ต้องมีความมั่นคง ที่เป็นสัจจญาณว่า เป็นอนัตตาทั้งหมด ถ้ามีความคิดว่า ต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใด จึงจะรู้ได้ ถูกหรือผิด?

คุณหมอกล้าณรงค์ ผิดครับ

ท่านอาจารย์ ถ้าคิดว่าจะต้องรู้เฉพาะสิ่งนั้น สิ่งนี้ เช่น ลมหายใจเท่านั้น ถูกหรือผิด?

คุณหมอกล้าณรงค์ ผิดครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น!!

คุณหมอกล้าณรงค์ ท่านอาจารย์ครับ ขออนุญาต สุดท้ายครับ ก็คือ หลังจากที่ได้ฟังการตอบคำถามมาทั้งหมด ก็บังเอิญนึกถึง คำขวัญของมูลนิธิฯ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เคยได้ยินว่ามีการตอบคำถามนี้มาแล้ว ที่ว่า "ทำความดี และ ศึกษาพระธรรม" โดยความเข้าใจส่วนตัวผม การทำความดี ก็เป็นผลมาจากการศึกษาพระธรรม เมื่อเกิดปัญญาแล้ว ผลที่ตามมา ก็คือ การทำความดีหรือกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

ถ้าอย่างนั้น คำขวัญ ไม่ใช่คือ การศึกษาพระธรรมเท่านั้นหรือครับ? เพราะว่า การทำความดี ไม่มีตัวเราไปทำ มีแค่ศึกษาพระธรรม และ ผลที่ตามมาก็คือ การทำความดี

ท่านอาจารย์ ค่ะ ถูกต้องค่ะ ไม่ใช่ทำดี โดยไม่ศึกษาพระธรรม และ ไม่ใช่ ศึกษาพระธรรม โดยไม่ทำความดี

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ย. 2558

ไพเราะทั้งธรรมและภาพที่นำมาซึ่งความปลื้มปิติในการเจริญกุศล บูชาพระพุทธเจ้า ณ กาลครั้งหนึ่ง ครับ

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 พ.ย. 2558

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jirat wen
วันที่ 30 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 30 พ.ย. 2558

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 พ.ย. 2558

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้ อีกครั้ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Boonyavee
วันที่ 30 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ปวีร์
วันที่ 1 ธ.ค. 2558

สาธุ สาธุ สาธุ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
napachant
วันที่ 1 ธ.ค. 2558

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจิตต์ บริหารวนเขตต์...ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณวันชัย ภู่งาม ในกุศลทุกๆ ประการด้วยค่ะ

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

"ทุกๆ คำที่ท่านอาจารย์บรรยายมีลักษณะของสภาพธรรมให้พิจารณาไตร่ตรองตาม มีประโยชน์มากค่ะ"

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 3 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
thilda
วันที่ 6 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ