เมื่อตัณหาดับ อวิชชาดับด้วยไหม

 
sumek
วันที่  26 มี.ค. 2558
หมายเลข  26385
อ่าน  955

กราบสวัสดีครับอาจารย์ที่เคารพ

อยากทราบว่า เมื่อตัณหาดับ อวิชชาดับด้วยหรือไหมครับ เพราะเหตุใด

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้อง ดังนั้นความเป็นจริง ตัณหา ก็คือ โลภะนั่นเองครับ ดังนั้น โลภะ จึงมีชื่อหลายอย่าง เช่น กามฉันทะ ตัณหา ราคะ เป็นต้น นั่นก็คือ ลักษณะของกิเลสที่เป็นโลภะทั้งสิ้นครับ เพราะฉะนั้นเมื่อตัณหาก็คือโลภะ ตัวตัณหาเองก็จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลสด้วยครับ เพราะในกิเลส 10 ประการมีโลภะ เป็นประการแรก และในเมื่อตัณหาก็คือโลภะนั่นเอง ตัณหาจึงเป็นกิเลส ประเภทหนึ่งครับ ดังนั้นถ้าพูดถึงกิเลส ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะ ตัณหาหรือโลภะเท่านั้นครับ เพราะกิเลสมีหลายประการ และบางนัย กิเลสก็หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหมดเลย เพราะอกุศลทำให้จิตเศร้าหมอง ดังนั้น ตัณหา จึงเป็นส่วนหนึ่งของกิเลสครับ แต่กิเลส ไม่ใช่ตัณหา เพราะกิเลสมีมากครับ ถ้ากล่าวว่าตัณหาคำเดียว ก็แสดงว่ามุ่งหมายถึง โลภะ ความติดข้องเท่านั้น แต่ถ้าใช้คำว่ากิเลสคำเดียว หมายถึงอกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะ โลภะ หรือ ตัณหาเท่านั้นครับ

อวิชชา (ความไม่รู้) โมหะ (ความเขลา ความหลง) และความไม่รู้ ทั้ง ๓ คำ กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงที่เป็นอกุศลธรรม เป็นรากเหง้าของสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เป็นสภาพธรรมที่ทำให้หมู่สัตว์ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น และเป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกชนิดเป็นความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ดังนั้น ถ้าดับตัณหา หรือ โลภะหมด ก็ดับอวิชชาด้วย เพราะ เป็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลส ที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันอยู่แล้ว และ เมื่อดับอวิชชาหมด ก็ดับโลภะ ตัณหาหมดเช่นกันครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังมีตัณหา ความติดข้องต้องการ นั่นหมายความว่า ยังเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากกิเลส ซึ่งจะต้องเป็นทุกข์อีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะดับตัณหา หรือ โลภะได้อย่างเด็ดขาดนั้น ต้องเป็นพระอรหันต์ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ยังมีตัณหา จึงยังไม่พ้นไปจากทุกข์ ยังไม่พ้นจากกิเลส แต่เมื่อใดที่ดับตัณหาได้หมดสิ้น กิเลสที่อยู่ในฐานะเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ความไม่สงบแห่งจิต และ อวิชชา (ความไม่รู้) เป็นต้น ก็เป็นอันถูกดับด้วย

ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้น ต้องปัญญาเท่านั้นจึงจะละได้ แล้วปัญญาจะมาจากไหน จะเจริญขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ซึ่งทุกคนจะต้องเริ่มตั้งแต่ในขณะนี้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 27 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 19 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ