สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล

 
Tommy9
วันที่  4 มี.ค. 2558
หมายเลข  26267
อ่าน  4,720

เพราะคนส่วนใหญ่ชอบนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คิดว่าจะช่วยเหลือตนได้ จึงต้องพี่ง ต้องบนบานสิ่งเหล่านั้น หากสำเร็จต้องมาแก้บนและยิ่งเชื่อเข้าไปอีก ผมจีงอยากทราบว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การจะได้รับสิ่งที่ดี ได้รับผลของกรรมที่ดี ต้องมีเหตุ ดังนั้นเหตุที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่เป็นผลของกรรมดี ได้รับการช่วยเหลือ เป็นต้น เพราะกรรมดีที่เป็นกุศลกรรมที่ได้ทำมา ให้ผลนั่นเองครับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือดลบันดาล ให้เราได้รับสิ่งที่ดี หากไม่มีกรรมดีที่ทำมาแล้ว ก็จะไม่มีทางได้รับสิ่งที่ดีได้เลย เพราะการช่วยเหลือหรือการได้รับสิ่งที่ดี ที่เป็นผลของกรรมดี เหตุจะต้องตรงกับผลคือเกิดจากการกระทำที่ดีนั่นเองที่เป็นเหตุครับ

ดังนั้น สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถที่จะมีใคร มีสัตว์ บุคคล บันดาลให้ ไม่มี เพราะมีแต่ สภาพธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก และรูปที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ บุคคล เมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล ก็ไม่มีใครบันดาลและไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัตว์ บุคคลด้วย เพราะฉะนั้น ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ที่เป็นไปตามสัจจะ ความจริง ศักดิ์สิทธิ์ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ทำดีก็ย่อมได้รับผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว การได้รับการช่วยเหลือ ได้รับสิ่งที่ดี ก็เพราะการทำดีเป็นปัจจัยนั่นเองครับ ดังนั้น กรรมต่างหากที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะแม้เทวดา พรหมที่คิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่พ้นไปจากกรรม และตัวเทวดาเองและพรหมเอง ก็ต้องได้รับผลของกรรมที่ตัวเองทำมา ไม่สามารถบันดาลให้ตัวเองไม่ตาย ได้รับผลของกรรมดีได้ตลอด เพราะเป็นไปอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของกรรม ไม่ใช่เพราะของตัวเองครับ จึงไม่ใช่พรหมลิขิต ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัตว์ บุคคล แต่เป็นกรรมลิขิต คือ สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม ครับ

คำว่า ศักดิ์สิทธิ์ โดยทั่วไปหมายถึง สิ่งน่าควรศรัทธา น่าเชื่อถือ และนำมาซึ่งสิ่งที่ควรได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีใช้คำนี้เช่นกันครับ

แสดงโดย ใช้กับความเห็นผิดที่มีคนบูชา จอมปลวก ต้นไม้ ที่สำคัญว่า ศักดิ์สิทธิ์ คือ น่าเลื่อมใส น่าเคารพ และจะนำสิ่งที่ดีๆ มาให้ เพราะในความเป็นจริง ต้นไม้ จอมปลวก ไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำมาซึ่งความเลื่อมใส น่าศรัทธา และจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีๆ ที่ได้ตามปรารถนา ครับ นี่คือ การแสดงโดยนัย ความศักดิ์สิทธิ์ประการหนึ่ง ที่ใช้ในความเห็นผิดในพระไตรปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 436

เหมือนอย่างที่ว่า จอมปลวก พระเจดีย์ และต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น คนบางพวกบูชาด้วยดอกไม้ของหอม ธูปและผ้า เป็นต้น

------------------------------------------------------------

อีกนัยหนึ่ง แสดงคำว่า ศักดิ์สิทธิ์ไว้ ที่หมายถึง การที่ควรเคารพ น่าเชื่อถือ น่าเลื่อมใส ดังเช่น เทพธิดา ผู้มีฤทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นผู้ที่ควรเคารพในคุณความดีที่ได้ทำให้เกิดเป็นเทวดา แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลอะไรมาให้ เพราะฉะนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ในพระไตรปิฎก จึงมุ่งหมายถึง สิ่งที่ควรเคารพ น่าเลื่อมใส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะมากไปด้วยความไม่รู้ สะสมความเห็นผิดไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นผู้ไม่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จึงทำให้มีการยึดถืออย่างอื่นเป็นที่พึ่ง ถือมงคลตื่นข่าว โดยยึดถือผิดว่าสิ่งที่ตนเองยึดถือนั้น จะเป็นที่พึ่งช่วยให้เกิดในสิ่งที่ดี ให้พ้นภัยอันตรายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจะเป็นที่พึ่งไม่ได้เลย นอกจากจะเพิ่มความไม่รู้ เพิ่มความเห็นผิด และ กิเลสประการต่างๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ที่ยังมีการเชื่อถืออย่างนั้น ก็เพราะไม่ได้เข้าใจความจริง ถ้าเข้าใจว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ไม่มีสิ่งใดที่จะดลบันดาลทำให้สิ่งที่ดีหรือไม่ดี เกิดขึ้นกับตนเองได้ นอกจากเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้วเท่านั้นถึงคราวให้ผล ก็จะทำให้ไม่ไปงมงายในสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสทั้งหลาย มีความเห็นผิด และความไม่รู้ เป็นต้น

แต่ละคนมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน คนที่เห็นผิด งมงาย ไม่ได้มีเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้เท่านั้น เป็นมาแล้วทุกยุคทุกสมัย แต่เราจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่จะเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาต่อไป และไม่ประมาทในการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน กล่าวโดยสรุปได้ว่า ควรที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมกุศล ต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แต้ม
วันที่ 4 มี.ค. 2558

ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ทีช่วยอธิบาย ผมขอแสดงความคิดเห็นเท่าที่ปัญญาของผมมีดังนี้ครับ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “เราไม่สามารถได้สิ่งที่ต้องการด้วยการอ้อนวอนขอ เพราะถ้าการอ้อนวอนขอได้จริงๆ ในโลกนี้จะต้องไม่มีคนผิดหวัง” มีคำถาม 2 ข้อ คือ ผู้ที่มีความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อ้อนวอนขอหรือบนบานต่างๆ จะมีชีวิตที่สมหวังหรือไม่? และผู้ที่ไม่มีความศรัทธาในสิ่งดังกล่าวและไม่ได้อ้อนวอนขอจะมีชีวิตที่ตกอับจริงหรือ? พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกว่า "มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว ย่อมยึดถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตน; นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้" พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกหลายประการที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ และทำอย่างไรจะได้ตามสิ่งที่เราต้องการ ต้องฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรมเนืองๆ ครับจะได้มีปัญญาเพิ่มขึ้นตามลำดับครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 5 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Tommy9
วันที่ 5 มี.ค. 2558

กระผมเข้าใจแล้วครับ ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ขอขอบพระคุณที่กรุณาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 6 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 6 มี.ค. 2558

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยตรัสบอกให้พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่พึ่งที่แท้จริงคือ กุศลกรรมของตัวเอง ทุกๆ คนมีกรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็มาจากกรรมดีที่เคยกระทำไว้มาก่อน คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่เคยทำไว้ มั่นคงในกรรมและผลของกรรม

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

ชีวิตคฤหัสถ์ [ความมั่นคงในกรรมและผลของกรรม]

...ขออนุโมทนาค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 6 มี.ค. 2558

พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องของเหตุและผล เพราะทุกอย่างมาจากเหตุปัจจัย ใครจะได้อะไร เสียอะไร ก็มาจากกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ และทรงแสดงธรรมเน้นเรื่องของปัญญาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 31 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ