บางสิ่งที่ขาดหายไป

 
azide
วันที่  31 ส.ค. 2557
หมายเลข  25437
อ่าน  1,327

เมื่อฟังธรรมะจากรายการแล้ว ผมรู้สึกว่าละเอียด ชัดเจน ตามหลักธรรมมาก อาจารย์จะเน้นให้ฟังธรรมมากๆ และค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กละน้อย ทุกอย่างบังคับไม่ได้ ผมคิดว่าการฟังธรรมมากๆ เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ สำหรับจุดสูงสุด มันมีบางสิ่งที่ขาดหายไป นั่นคือการศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น พระอาจารย์มั่น และรูปอื่นอีกมากมาย ถ้าท่านใดรู้สึกแบบผมควรหันมาศึกษากับพระป่า ควบคู่ไปด้วย จะสามารถตอบโจทย์ในใจได้ครบ100%


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปริยัติ ปริ (รอบ) + ยตฺติ (ศึกษา , เล่าเรียน) ระเบียบคำอันควรศึกษาโดยรอบ หมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระไตรปิฏก (รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายต่างๆ เพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

ปฏิบัติ ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง)

การถึงเฉพาะ หมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้อง ได้แก่ ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีงามเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะ

การปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติพร้อมสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย และไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัติ นอกจากสติสัมปชัญญะและโสภณธรรมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม จะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องและละความยึดถือความเป็นตัวตนได้ในที่สุด

ปฏิเวธ ปฏิ (ตลอด) + วิธ (การแทง)

การแทงตลอด หมายถึง การตรัสรู้ธรรม บรรลุมรรคผล นิพพาน ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาปริยัติและปฏิบัติที่ถูกต้อง

ก่อนอื่นต้องรู้ว่าปริยัติคืออะไร ปฏิบัติคืออะไร เสียก่อน ปริยัติคือการศึกษาคําสอน (พระธรรม) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการอ่าน, ฟัง หรือสนทนาธรรม การศึกษาเพื่อให้เกิดเป็นความเข้าใจ (ปัญญา) ของผู้ศึกษาเอง เพราะเป็นการสอบถามจากทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจุดประสงค์ของการศึกษา ก็คือ เพื่อความเข้าใจในธรรมที่ได้สนทนา (หรืออ่าน, ฟัง) ซึ่งความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นที่ละเล็กละน้อยประกอบกับการนึกคิดพิจารณาในเรื่องธรรมะอยู่เนืองๆ เป็นเวลานานมากๆ ๆ (จิรกาลภาวนา) เหมือนการจับด้ามมีดกว่าที่จะเห็นการสึกได้ก็สามารถถึงเฉพาะ (ปฏิ+ปัตติ) สภาพธรรมโดยสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเราเรียกว่า "การปฏิบัติ" ดังนั้นจึงไม่ใช่ "เรา" ที่จะไปปฏิบัติ

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการปฏิบัติ คือ การที่เราจะต้องทํากิจกรรมอะไรสักอย่าง เช่น นั่งหลับตา (นั่งสมาธิ) ฯลฯ ดังนั้นที่ถูก คือยังไม่ควรคิดถึงการปฏิบัติหรือเมื่อไรสติปัฎฐานจะเกิด แต่ควรสนใจศึกษาเพื่อความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลําดับแรกที่ควรศึกษาให้เข้าใจถูก คือ การรู้ความจริงว่า "ทุกอย่างเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา"

ถ้าหากว่าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่มีทางที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นในขั้นต่อไปที่เป็นขั้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนถึงขั้นประจักษ์แจ้งความจริงดับกิเลสตามลำดับขั้นได้เลย ถ้าหากว่าไม่ต้องเรียนปริยัติ ให้ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาเพื่อที่จะได้รู้ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงไม่ต้องมีก็ได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม แล้วทรงแสดงให้ผู้อื่นได้รู้ตามความเป็นจริง ทรงแสดงพระธรรมตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ก็เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะธรรมไม่ง่ายและไม่สามารถคิดธรรมเอาเองได้

พระอริยสงฆ์สาวกในอดีตเริ่มตั้งแต่พระอัญญาโกญฑัญญะ เป็นต้น ล้วนเป็นผู้ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วทั้งนั้น

ถ้ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว ก็จะไม่ว่างเว้นจากการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ดำเนินตามหนทางที่พระอริยสงฆ์สาวกดำเนินแล้ว ซึ่งเป็นหนทางเดียวและเป็นหนทางเดิมคือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เพราะมีปริยัติที่ถูกต้อง ปฏิปัตติคือการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติและปัญญาจึงมีได้ และเพราะมีปฏิปัตติที่ถูกต้อง ปฏิเวธ จึงมีได้ ซึ่งจะต้องมีรากฐานสำคัญตั้งแต่ในขั้นปริยัติ คือ การรอบรู้ในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

สิ่งที่ขาดหายไปที่แท้จริง

ดังนั้น สิ่งที่ขาดหายไปไม่ใช่การปฏิบัติตามบุคคลใด บุคคลหนึ่ง แต่สิ่งที่ขาดหายไป ดั่งเช่น สมัยพุทธกาล ประพฤติกัน คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ และ ขาดความเข้าใจขั้นการฟังที่ถูกต้อง จึงสำคัญว่าการปฏิบัติเป็นสิ่งอื่นไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ขาดหายไป จึงเป็นความเข้าใจ คือ ปัญญาในขั้นการฟัง ย่อมจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตรงตามพระพุทธศาสนา เพราะพระอริยสาวกในอดีตมากมายที่บรรลุคุณธรรม มีท่านพระปัญจวัคคีย์ นางวิสาขาอุบาสิกา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ล้วนแล้วแต่บรรลุจากการฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง โดยไม่ได้ไปทำปฏิบัติที่เข้าใจผิดกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ขาดหายไป จึงไม่ใช่การประพฤติตามบุคคลใดที่สำคัญว่าเป็นการปฏิบัติ แต่สิ่งที่ขาดหายไป คือ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียด รอบคอบ และเคารพในพระธรรม ครับ ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ทำไมบ้านธัมมะ ไม่มีการยกย่องคำสอน พระอาจารย์มั่น หลวงตาบัว หลวงพ่อชา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะ ความติดข้องต้องการและความเห็นผิดให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือรู้นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดทังหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่สอนให้คนไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องป้องกันความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง พระธรรมย่อมจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้มีความมั่นคงในความเป็นจริง มั่นคงในความถูกต้อง ไม่หวั่นไหวคล้อยตามในสิ่งที่ผิด ไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระองค์เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ ซึ่งกว่าจะได้ทรงตรัสรู้นั้น พระองค์ต้องอาศัยการสะสมพระบารมีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ย่อมไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง ซึ่งมีจริงในขณะนี้ และการที่จะรู้ธรรม ก็รู้ในขณะนี้ แต่ก็ต้องมีเหตุที่จะให้รู้ นั่นก็คือ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kullawat
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Rajatoon
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ผมเข้าใจว่า การบำเพ็ญสมถภาวนา เป็นไปเพื่อการข่มนิวรณ์ โดยอำนาจของวิขัมภนปหาน แต่ถ้าจะถึงขั้นประหารนิวรณ์ให้ราบคาบ (เป็นสมุจเฉทปหาน) .. เชื่อมั่นว่า การฟังธรรมะให้เข้าใจเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การพิจารณาให้เห็นจริงตามสภาวะที่ปรากฏได้ต้องอาศัยสติที่มีกำลังมาก ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ถูกผิดอย่างไร ช่วยชี้แนะด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ท่านมีความเห็นที่ถูกต้องแล้วครับ สมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ และสมถภาวนาก็ไม่ใช่เหตุให้เกิดการเจริญวิปัสสนา แต่การเจริญวิปัสสนาจะมีได้ เพราะอาศัยการฟังศึกษาพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง โดยเฉพาะในเรื่องสภาพธรรม ซึ่งเป็นหนทางเดียวในการดับกิเลสครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
azide
วันที่ 1 ก.ย. 2557

พระป่าส่วนใหญ่ก็ศึกษาปริยัติกันมาก่อน พระไตรปิฏกที่เราศึกษากันเป็นอย่างดี สืบทอดมาได้ถึงปัจจุบันก็เพราะพระผู้ปฏิบัติถูกเหล่านี้ คงเป็นเพราะท่านมีธุระทางโลกน้อย เมื่อเปรียบกับคนปกติ ท่านไม่ต้องฟุ้งซ่านกับอาชีพ เสื้อผ้าหน้าผม ลูกเมีย ที่อยู่อาศัย > กิจของท่านคือการถึงที่สุดแห่งธรรมเท่านั้น เราก็น่าจะศึกษาผลงานของท่าน ส่วนสมถภาวนาท่านทำเพื่อพักผ่อนเมื่อสังขารท่านอ่อนล้า (หลวงตามหาบัวท่านก็เคยติดสมาธิ) ผลของสมถภาวนา ไม่สามารถดับกิเลสได้ก็จริง แต่ท่านเปรียบเหมือนทำน้ำที่ขุ่นให้ใส ตกตะกอนนอนก้นอยู่ ตะกอนมิได้ไปไหน แต่น้ำที่ใสนำไปใช้ประโยชน์ดีกว่าน้ำขุ่น (อาจจะทำให้จับขณะปัจจุบันได้ดีขึ้นมาก) เมื่อเรายังอยู่ในขั้นหยาบกันอยู่ การนั่งหลับตาก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร น่าจะดีกว่าการนั่งทั่วไป แต่ถ้าท่านอยู่ขั้นสูงตลอดเวลาแล้ว ก็คงไม่ต้องนั่งหลับตาหรือจะนั่งก็ได้ ในความละเอียดไม่มีอะไรบังคับได้ แล้วแต่เหตุ ในการนั่งหลับตาก็จะมีอะไรบังคับเล่า เพราะการนั่งสมาธิกับการฟังอยู่ในขั้นหยาบพอๆ กัน (ผมมีความรู้ทางธรรมน้อยมาก จึงมีความเห็นอย่างนี้ ขอให้ช่วยแนะนำด้วย)

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านสองกระทู้นี้ครับ มีประโยชน์มากๆ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

ทำไมบ้านธัมมะ ไม่มีการยกย่องคำสอน พระอาจารย์มั่น หลวงตาบัว หลวงพ่อชา

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
มกร
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
j.jim
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Rajatoon
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ คุณ paderm ที่ช่วยชี้แนะ และคุณ azide ที่หยิบยกประเด็นที่สำคัญขึ้นมาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
orawan.c
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
azide
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยแนะนำ 1.คนธรรมดาอย่างผมถ้านั่ง ยืน เดิน นอน สมาธิ จะให้โทษอย่างไรบ้าง

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

หากทำบางสิ่ง แล้วปัญญาไม่เจริญขึ้น ที่รู้ความจริง แม้ในสภาพธรรมในขณะนี้ ได้แต่ความนิ่ง สิ่งที่ได้คือความไม่รู้ และทำให้ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะเพิ่มกิเลส สังสารวัฏฏ์ก็ยาวนาน ไม่มีที่สิ้นสุดครับ อันเกิดจากการทำในหนทางที่ผิดครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
azide
วันที่ 2 ก.ย. 2557

อย่าเบื่อกันก่อนนะครับ นึกว่าผมเป็นตัวแทนคนธรรมดาที่เริ่มสนใจธรรม อะไรคือเหตุที่รู้ความจริงในสภาพธรรมในขณะนี้ เมื่อจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก และความรู้จริงดับกิเลสได้อย่าไร

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
namarupa
วันที่ 3 ก.ย. 2557

บางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไป..คือการศึกษาพระธรรมคำสอนด้วยความเผิน

และขาดการพิจารณา..ไตร่ตรองโดยละเอียด...

จุดสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ต้องศึกษากับพระป่าสายอะไรๆ

แต่ต้องมีความตรงต่อพระธรรม...

ไม่คิดเอง...คิดเองเมื่อไร....วิบัติเมื่อนั้น

เพราะพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง

ทรงตรัสไว้ดีแล้ว...ไม่ใช่คำของผู้อื่น

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
namarupa
วันที่ 3 ก.ย. 2557

ปัญญาจะเข้าใจใน.."ลักษณะ"..เท่านั้น..ไม่ใช่อื่น

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
azide
วันที่ 4 ก.ย. 2557

ขอขอบพระคุณที่ช่วยกันแสดงความคิดเห็น สำหรับบางท่านที่ครบถ้วนอยู่แล้วไม่รู้สึกขาดอะไรก็ดีอยู่แล้วครับ อาจเป็นเพราะความรู้ผมยังน้อยจึงมีความคิดที่ต่าง บรรดาพระอาจารย์ทั้งหลายท่านยึดมั่นพระธรรม และวินัยของพระพุทธองค์อย่างสูงสุดอยู่แล้ว สิ่งที่ท่านได้เปรียบคือ พระพุทธองค์ทรงกำหนดพระวินัยมาให้ ท่านจึงมีความวุ่นวายน้อยกว่าพวกเรา สะดวกในการปฏิบัติ การที่เราจะมาสนใจการปฏิบัติของท่านผมคิดว่าไม่น่าจะผิดอะไร หลวงตามหาบัว ท่านก็เรียนปริยัติมาก่อน แต่พอปฏิบัติท่านว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ ท่านยังเปรียบเทียบการบรรลุธรรมคล้ายการจะมีบ้าน ก่อนอื่นต้องศึกษาแบบแผนบ้านก่อน (ปริยัติ) เมื่อศึกษาดีแล้วก็ลงมือทำตามแบบ (ปฏิบัติ) ทำก็ไม่ได้ทำบ้าน แต่เป็นการปักเข็ม ตั้งเสา ก่ออิฐ ติดขื่อ ติดแป มุงหลังคา เมื่อเสร็จธุระทุกอย่างแล้วก็จะได้บ้านมาเอง เมื่อได้บ้านแล้วแบบแผนก็ไม่ต้องใช้อีก ส่วนการนั่งสมาธิในระดับคนธรรมดาอย่างผมแล้ว ไม่ใช้สิ่งเลวร้ายอะไรการนอนหลับน่าจะแย่กว่าเสียอีก ใช้เป็นการพักผ่อนก็ได้ หลวงตาพระมหาบัวเคยว่า โพรงของตะกวดมีทางเข้าออกอยู่ 6 ทาง การที่เราจะจับตะกวดให้ได้ เราจะต้องปิดเสีย 5 ทาง ขอขอบคุณที่เข้ามาพูดคุยกัน สบายๆ ครับไม่ต้องเครียด

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
fouron
วันที่ 7 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
สิริพรรณ
วันที่ 23 ก.ย. 2557

พระสงฆ์วัดป่า หรือวัดบ้าน ที่ท่านปฏิบัติอยู่เพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็กราบอนุโมทนาในปฎิปทา ท่านสะสมอะไรๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยในอดีตชาติ เราก็ไม่รู้เหตุนั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันไป แต่ที่ไม่ควรสูญเสียเวลาในชาตินี้ที่ยังมีคำสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าคือศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจในสัจจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ การเดินทางตามสัมมามรรค ตามรอยบาทพระศาสดา คือสิ่งสำคัญและมีค่าที่สุดในชีวิต พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีหลายภพชาติไม่ได้เพื่อหลุดพ้นเพียงพระองค์เอง มิฉะนั้นคงไม่ใช้เวลาถึงกว่า 16 อสงไขย แต่พระพุทธองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาที่มีต่อเหล่าเวไนยสัตว์ ฉนั่้น พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประเสริฐสูงสุดในภพทั้งปวง และเมื่อพระพุทธองค์จะปรินิพพาน ก็ได้ตรัสว่า พระธรรมเป็นตัวแทนของพระองค์ ดังพุทธโอษฐ์ที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้น เห็นเรา ตถาคต " พระธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราควรศึกษา เมื่อศึกษา แล้วก็จะเข้าใจ ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริง ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
ประสาน
วันที่ 23 พ.ย. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 26 พ.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ