วิปลาส 3

 
nattawan
วันที่  11 พ.ค. 2557
หมายเลข  24841
อ่าน  8,530

กรุณาอธิบายและยกตัวอย่าง จิตวิปลาส สัญญาวิปลาสและทิฎฐิวิปลาส ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

(วิปัลลาส) ความคลาดเคลื่อน , ความตรงกันข้าม , ความผันแปร หมายถึง ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงด้วยอาการ ๓ ที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น คือสัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปปลาส ๑ วิปลาส ๓ นี้เป็นไปในอาการ ๔ คือ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

จึงกลายเป็นวิปลาส ๑๒ อย่าง คือ

๑. สัญญาวิปลาส จำผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๒. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๓. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๔. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันจึงละได้

๕. จิตตวิปลาส คิดผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๖. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๗. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๘. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

๙. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่ารูปเป็นงาม พระโสดาบันละได้

๑๐. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระโสดาบันละได้

๑๑. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันละได้

๑๒. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

ส่วน สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส คืออย่างไรนั้น อธิบายโดยละเอียดในกระทู้เหล่านี้ ครับ เชิญคลิก

วิปลาสกถา

สัญญาวิปลาส มีกำลังอ่อนกว่า วิปลาสทั้งหมด

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๑)

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๒)

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๓)

ความแตกต่างของวิปลาส

พระโสดาบันและพระสกทาคามีละวิปลาสได้ ๘ ประเภท คือสัญญาวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑ ในธรรมที่เที่ยง ๑ จิตตวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑ ในธรรมที่เที่ยง ๑ และทิฎฐิวิปลาสในอาการทั้ง ๔

พระอนาคามีละวิปลาสได้อีก ๒ คือ สัญญาวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑และจิตตวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑ พระอรหันต์ละวิปลาสที่เหลือทั้งหมดอีก ๒ คือ สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในเวทนาที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๒

อกุศลจิตทุกดวงเป็นจิตตวิปลาสอย่างหนึ่งในอาการ ๔ สัญญาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เป็นสัญญาวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฎฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐิวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละวิปลาสทั้ง ๔ แต่ไม่ควรเจาะจงละวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะว่าทุกท่านที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลย่อมมีวิปลาสครบทั้ง ๔ ขณะที่สติปัฎฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยความเป็นอนัตตา เพราะความเข้าใจจากการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง จึงเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติ ฯ เกิดขึ้น ขณะนั้นย่อมเป็นสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ และความเข้าใจสภาพธรรมที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมค่อยๆ ละคลายวิปลาสนั้นๆ จนกว่าจะละได้เด็ดขาดเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

วิปัลลาสกถา [ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค]

วิปัลลาสสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ชุดเทปวิทยุ ครั้งที่ 1902

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปลาส ต้องเป็นเฉพาะในขณะที่จิตเป็นอกุศลเท่านั้น ในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ย่อมเป็นผู้ถูกกิเลสมารกลุ้มรุมจิตใจทำให้จิตใจเศร้าหมองอยู่เป็นประจำซึ่งไม่ใช่เฉพาะวันนี้ ชาตินี้เท่านั้น เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วน อกุศลจิตจึงเกิดขึ้นเป็นไปมาก ขณะที่วิปลาส จึงมีมาก เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว การที่จะดับกิเลสให้หมดไปนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงต้องเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรม เพื่อสะสมปัญญาต่อไป เพราะเหตุว่ากิเลสที่มีมาก ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับได้ และปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย นั่นเอง ที่สำคัญ จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส ดับวิปลาสได้ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 11 พ.ค. 2557

วิปลาส คือ อกุศลทั้งหมดที่จำ คิด คลาดเคลื่อนตามความเป็นจริง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 12 พ.ค. 2557

,,, ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ