คนที่ทำความดีอย่างเดียวโดยไม่ศึกษาธรรมจะเป็นอย่างไร

 
papon
วันที่  25 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24237
อ่าน  2,067

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

กระผมได้พยายามโพสข้อความธรรมะในกระดานสนทนาและประโยคบางประโยคไปให้เพื่อเตือนสติเพื่อนกลับโดนโพสกลับมาว่าเขาก็ศึกษาพระธรรมจากพระอาจารย์ท่านอื่นมา ๑๐ กว่าปี โดยปฏิบัติเลยโดยบอกว่ามีพระอรหันต์ให้กราบไหว้โดยไม่ศึกษาปริยัติ ทำให้กระผมมานั่งคิดว่าเหมือนท่านอาจารย์บรรยายในการฟังวันนี้เกี่ยวกับอุปมาเหมือนเรือผูกตอไว้ในกระแสน้ำเชี่ยวและตอของสังสารวัฏฏ์ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยชี้แนะในพระสูตรที่เกี่ยวกับทั้งสองอุปมา ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสูตรเกี่ยวกับ ตอของวัฏฏะ ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 389

อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร

(ข้อความบางตอน)

ในนิยตมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นั้น บางคนดิ่งลงสู่ทัศนะเดียว บางคน ๒ ทัศนะ บางคน ๓ ทัศนะก็มี เมื่อดิ่งลงไปในทัศนะเดียวก็ดี ใน ๒๓ ทัศนะก็ดี ย่อมเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ห้ามทางสวรรค์และห้ามทางนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์แม้ในภพที่ติดต่อกันนั้น จะกล่าวไปไยถึงนิพพานเล่า สัตว์นี้ชื่อว่าเป็น ตอวัฏฏะ เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน โดยมากคนมีทิฏฐิเห็นปานนี้ ออกจากภพไม่ได้

เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เห็นประจักษ์หวังความเจริญ พึงเว้นอกัลยาณปุถุชนให้ห่างไกล เหมือนคนเว้นห่าง งูมีพิษร้ายฉะนั้น

พระสูตรเกี่ยวกับ อุปมาเหมือนเรือผูกตอไว้ในกระแสน้ำเชี่ยว

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 578

บทว่า อสมฺปชาโน ความว่า ไม่มีปัญญา คือ เว้นจากการกำหนดขันธ์เป็นต้น

บทว่า อสมาหิโต ความว่า หยุดนิ่งอยู่ไม่ได้ เหมือนเรือที่ผูกไว้ที่กระแสน้ำเชี่ยว

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 689

อนึ่ง กระแสของแม่น้ำไหลไปอยู่ โดยความเป็นห้วงมหรรณพ ชื่อว่าข้ามได้โดยยาก เพราะ (ผู้จะข้าม) ต้องอาศัยชายฉลาด เพื่อผูกแพหรือต่อเรือและเพื่อนำส่ง สร้างอัธยาศัย (ความตั้งใจ) เพื่อจะไปฝั่งนอกแล้ว ทำความพยายามที่เกิดจากอัธยาศัยนั้น จึงข้ามไปได้ไม่ใช่คนพอดีพอร้าย ก็ข้ามไปได้ฉันใด แม้กระแสตัณหาที่เป็นเหมือนห้วงน้ำคือกาม และห้วงน้ำคือภพก็ฉันนั้นชื่อว่าข้ามได้ยาก เพราะผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน เพื่อจะบำเพ็ญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ต้องตั้งอัธยาศัย (ตั้งใจ) ไว้ว่า เราจักบรรลุอรหัตผลแล้วอาศัยกัลยาณมิตร ลงเรือคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ทำความพยายามโดยชอบจึงจะข้ามได้ ไม่ใช่คนพอดีพอร้ายก็ข้ามได้ ควรเข้าใจ ความที่ตัณหา เป็นเสมือนกระแสของแม่น้ำ โดยอาการ ๔ อย่าง คือ โดยการหลั่งไหลออกไปตามลำดับ ๑ โดยการไหลทะยอยกันไปไม่ขาด ๑ โดยการให้จมลง ๑ โดยข้ามได้ยาก ๑ ดังที่พรรณนามานี้

@ ชีวิตของแต่ละคน เปรียบเสมือนเรือที่ผูกอยู่บนหลักในท่ามกลางน้ำอันมีกระแสเชียว (เชี่ยว เพราะกิเลส ถูกพัดพาไปด้วยกิเลส ขึ้นอยู่กับว่าใครจะอาศัยหลักที่มั่นคงคือ คุณความดีเป็นเครื่องประคับประคองมากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจพระธรรม)

อ้างอิงจากกระทู้

ท่านอาจารย์สุจินต์ ไปสนทนาธรรมที่เดอะวินเทจ เขาใหญ่ ๑๓-๑๔ ส.ค.

ซึ่งประเด็น เรื่อง คนที่ทำความดีไม่ศึกษาพระธรรม จะเป็นอย่างไรนั้น ที่พึ่งที่ทำให้ปลอดภัยจาก กิเลส จากอกุศลกรรม คือ ความดี ประการต่างๆ เป็นที่พึ่ง ที่จะทำให้ได้รับสิ่งที่ดีๆ ประการต่างๆ และพ้นจากความทุกข์ใจชั่วขณะนั้นและ พ้นจากการเกิดในอบาย ตราบเท่าที่กรรมดีให้ผล แต่ ความดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ตราบใดที่ไม่ใช่ความดีที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะ ปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นธรรมที่ละกิเลส ละภัยประการต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เพราะ สามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้น ไม่มีการเกิดอีก ก็ไม่ต้องได้รัทุกข์ ภัย และไม่ต้องแสวงหาที่พึ่ง อีก เพราะ พ้นภัยประการทั้งปวงแล้ว ซึ่ง ปัญญาจะมีได้อย่างไร หากไม่ได้ศึกษาพระธรรม ดังนั้น ทำดี แต่ไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่สามารถละกิเลสได้ และ ยังต้องเป็นทุกข์เกิดร่ำไป ไม่มีที่สิ้นสุด ดั่งคำที่ท่านอาจารย์สุจินต์ พูดไว้น่าคิดว่า ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ เพราะ ดีของปุถุชน ก็ยังหวั่นไหว เพราะ ไม่ใช่ความดีที่มีกำลังที่จะถึงการดับกิเลสได้ ดีสูงสุด คือ ผู้ที่ไม่มีกิเลส ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ครับ และ ที่น่าพิจารณา คือ ความดี ที่ประเสริฐ และ บริสุทธิ์ คือ ดีด้วยปัญญา ที่เกิดจาก การศึกษาพระธรรม เพราะปัญญาทีเกิดขึ้น จะค่อยๆ ละกิเลส ที่เป็นการสมมติว่าเป็นคนชั่วไปทีละน้อย จนถึง ดับกิเลสที่สุด ละ ความชั่วได้หมดสิ้น ครับ การศึกษาพระธรรม จึงเป็นการค่อยๆ เป็นคนดี ทีละน้อย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้ตนเองยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น คือ ตกไปสู่อบายภูมิ ยากที่ข้ามพ้นได้ ทั้งหมด ล้วนสืบเนื่องมาจากความเห็นผิด ทั้งนั้น ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรม ที่อันตรายและมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อ ละคลายความเห็นที่ผิด ที่ไม่ตรง ได้ในที่สุด เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่า โอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้นได้ในที่สุด

ทำดี และศึกษาพระธรรม

-ต้องทำดี สะสมบารมีพร้อมด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ จึงจะสามารถขัดเกลากิเลสอกุศลซึ่งเป็นสิ่งสกปกเน่าเหม็น ได้

-แม้จะหนาแน่นไปด้วยอกุศล แต่ก็ยังดีที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นกัลยาณปุถุชน (ปุถุชนที่ดี) จนกว่าจะข้ามพ้นความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นอริยบุคคล

-เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ดีแล้ว ถ้าได้ฟังได้ศึกษาต่อไป ก็ยิ่งดียิ่งขึ้น

-เมื่อวานได้ฟังแล้ว วันนี้ได้ฟังอีก พรุ่งนี้จะได้ฟังไหม วันต่อๆ ไปจะได้ฟังไหมควรอย่างยิ่งที่จะฟังพระธรรมตลอดชีวิต จนกว่าจะจากโลกนี้ไป

- ทำดีได้ ทำเลย เดี๋ยวนี้ เพราะโอกาสหน้าอาจจะไม่มีก็ได้

อ้างอิงจาก ...

เก็บเล็กผสมน้อย...สนทนาธรรมที่เดอะวินเทจ เขาใหญ่ [จบ]

เป็นความจริงที่ว่า ไม่มีบุคคใดที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย ไม่มีบุคคลใดที่จะหนีความตายไปได้ เกิดมาแล้ว ต้องตายทุกคน จักต้องตายอย่างแน่แท้ เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ไม่ช้าก็เร็ว และไม่มีใครทราบได้ว่า ความตายจะมาถึงเมื่อใด เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าชีวิตจะดำรงอยู่อีกยาวนานเท่าใด จะตายเมื่อใด จะตายที่ไหน จะตายด้วยโรคอะไร และ ตายแล้วจะไปไหน เพราะฉะนั้นเด็กอาจตายก่อนคนแก่ หรือคนที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจตายก่อนคนป่วยก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายภพแล้วภพเล่า วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น

เมื่อนึกถึงความตายซึ่งเป็นสัจจธรรมที่ทุกคนจะต้องประสบ ก็ไม่ควรประมาท ไม่ใช่นึกถึงแล้วเกิดความกลัว แต่ควรเป็นที่ตั้งแห่งการเจริญกุศลทุกประการในชีวิตประจำวัน ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาต่อไป เพราะเหตุว่าเป็นการยากมากที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และในขณะนี้พระสัทธรรมยังดำรงอยู่ อีกทั้งยังมีโอกาสได้พบกับกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา ที่แสดงพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นผู้ส่องแสงสว่างในที่มืด บอกหนทางที่ควรเดินให้ จึงไม่ควรปล่อยขณะอันมีค่าเหล่านี้ให้ล่วงเลยไป

ไหนๆ ก็ต้องตายอยู่แล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะได้ประพฤติตนเป็นคนดี (เป็นคนดียิ่งขึ้น) ด้วยการทำดี และฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ มีธรรมะเป็นเกาะ (หมายถึงมีธรรมที่เป็นที่พึ่งดุจเกาะที่อยู่กลางมหาสมุทร เป็นที่พึ่งที่ทำให้ไม่จมในมหาสมุทรคือกิเลสทั้งหลาย ได้แก่ ปัญญา ที่เข้าใจความจริง เพราะฉะนั้น ปัญญา จึงเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง) และ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง สะสมความเข้าใจพระธรรมไปในภพชาติต่อๆ ไป จึงจะเป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ในชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 26 ธ.ค. 2556

ความดีที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่มั่นคง ก็กลับมาไม่ดีอีกได้ แต่ ถ้า ทำดีและศึกษาพระธรรม ความดีย่อมมั่นคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 26 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ดรุณี
วันที่ 27 ธ.ค. 2556

ดิฉันมีความเห็นว่า การฟังก็ไม่ได้ต่างจากการอ่าน แล้วแต่ความถนัดของคน ว่าพอใจที่จะอ่านหรือจะฟังมากกว่ากัน สำคัญที่ความถูกต้อง ไม่บิดเบือนคำสอน ไม่คิดเอาตามกิเลสตนเองและหากผู้ใดกล่าวว่า ธรรมะ ไม่จำเป็นต้องศึกษาแล้วเขาจะสอนธรรมะทำไม ในเมื่อการเข้าใจคำสอน คือ การศึกษาหากผู้ใดกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องมีตำรับตำราสำหรับอ่านแล้วเขาจะทำหนังสืออะไรออกมาทำไม แล้วการอ่านต่างจากการฟังตรงไหนหากผู้ใดกล่าวว่า ธรรมะ ศึกษาได้จากจิต โดยไม่ต้องศึกษาจากตำราใดๆ แล้วเขาแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกกิเลสตนเองหลอก

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 27 ธ.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ