มูลรากของมิจฉาทิฏฐิคือความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงใช่หรือไม่อย่างไรครับ

 
papon
วันที่  20 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24209
อ่าน  1,896

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

มูลรากของมิจฉาทิฏฐิคือความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงใช่หรือไม่อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มิจฉาทิฎฐิ คือ ความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ อกุศลเป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์โดยประการทั้งปวง ความเห็นผิด ก็ไม่ดี เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ด้วย ในพระไตรปิฎก มีการเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากาย วาจา ใจ ที่คล้อยตามความเห็นผิดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลธรรม นำมาซึ่งทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนกับ เมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี เท่านั้น

ความเห็นผิดทุกประเภทดับได้ เมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความส่วนจากคำถามที่ว่า ความเห็นผิดมีมูลราก เหตุ เกิดจากอะไร ก็เกิดจากความไม่รู้ คือ อวิชชา เป็นสำคัญ ครับอวิชชา ความไม่รู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมหมายถึง เพราะ มีอวิชชา ความไม่รู้ ย่อมทำให้อกุศลประการต่างๆ เจริญด้วย ซึ่งขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าประเภทใด จะต้องมีโมหเจตสิก หรือ อวิชชา ความไม่รู้เกิดร่วมด้วยเสมอ จึงเป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย และ เพราะมีอวิชชา ตามนัยปฏิจจสมุปบาท ย่อมเป็นปัจจัยให้มีการทำกรรม ที่เรียกว่า สังขาร เมื่อทำกรรม ก็ทำให้มีการเกิด (วิญญาณ) และ ก็มีนามรูป คือ มีรูปร่างกาย จิตใจ และก็ทำให้ได้รับทุกข์ประการต่างๆ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ (ความโศกเศร้า) เป็นต้น เพราะฉะนั้นอวิชชา ความไม่รู้ จึงนำมาซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ด้วย คือ ทุกข์เพราะ มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ทุกข์คือการเกิด และ ทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา คือความเศร้าโศกเสียใจ ครับ ซึ่ง เพราะอวิชชา ความไม่รู้มี กิเลสต่างๆ จึงมีด้วย ครับ

๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมเกิด มีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะสะสมความไม่รู้มานานแสนนาน และเพราะยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดซึ่งยังดับไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้ความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งหลากหลายมากตามการสะสมของแต่ละบุคคล ในขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีเฉพาะความเห็นผิดเพียงอย่างเดียว ยังมีอกุศลเจตสิกประการอื่นๆ มี โลภะ (ความติดข้อง) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศล) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านความไม่สงบแห่งจิต) อวิชชา (ความไม่รู้) เป็นต้นเกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้และความเห็นผิดตลอดจนอกุศลธรรมประการอื่นๆ จนกว่าจะถูกดับหมดสิ้นไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

อวิชชา ความไม่รู้ ทำให้เกิดกิเลสทุกประการ รวมทั้งความเห็นผิดด้วย และอกุศลที่สะสมมาก็ทำให้เกิดความเห็นผิด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ก.ไก่
วันที่ 24 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ