กายลหุตา..เกี่ยวกับกายไหมคะ

 
ดวงทิพย์
วันที่  21 ต.ค. 2556
หมายเลข  23890
อ่าน  1,229

กายลหุตา จิตตลหุตา เป็นโสภณสาธารณะเจตสิก (19) ดูความหมายแล้วคล้ายกันมากค่ะ แต่ก็เป็นคนละเจตสิกกัน ทรงใช้คำว่า กาย ว่า จิต แต่คำอธิบายไม่เกี่ยวกับกายเลย แต่ถ้าความเข้าใจเองจะเข้าใจว่าเป็นสภาพกายเบา จิตเบา เข้าใจแบบนี้ผิดหรือถูกคะ (รวมถึงโสภณสาธารณเจตสิกอื่นที่มีคำว่า กาย ว่า จิต ด้วยค่ะ)

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะใดที่จิตดีงามเกิดขึ้น จะต้องมี กายลหุตาเจตสิก และ จิตตลหุตาเจตสิกเสมอ กายลหุตา เป็นเจตสิกกธรรมที่เบา ทำให้กาย (คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เบา ไม่หนักเหมือนกับอกุศล

จิตตลหุตา เป็นเจตสิกธรรมที่ทำให้จิตที่ตนเกิดร่วมด้วย เบา กายลหุตา คือ ความเบาแห่งกาย คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเบา จิตตลหุตา คือ ความเบาแห่งจิต ดังนั้น เมื่อใดที่กายลหุตาเกิดขึ้น ก็ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเบา ก็ทำให้ไม่ชักช้าในการที่จะเป็นกุศลเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม และเมื่อใด จิตตลหุตาเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วยเบาและทำให้จิตไม่ชักช้าในการทีจะเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศลซึ่งหนัก ครับ ดังนั้น แม้ใช้คำว่า กาย แต่ไม่ได้หมายถึง กาย รูปร่างกายก็ได้ เพราะ คำว่า กาย อีกนัยหนึ่ง หมายถึง การประชุมกันของสภาพธรรม ครับ

กาย หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงแต่คำว่ากาย ไม่ได้หมายถึง ร่างกายของเราเท่านั้น แต่หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่งก็ได้ ดังนั้นคำว่า กาย คือการประชุม รวมกัน กาย มี 2 อย่างคือ นามกายและรูปกาย นามกายคือการประชุมกัน รวมกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งก็ได้แก่ขันธ์ 4 มี เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ส่วนรูปกาย ก็คือสภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นรูปธรรม มี ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี เป็นต้น อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยที่เป็นรูปธรรม เป็นรูปกายคือ การประชุมของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 116

กาย ในคำว่า กาโย มี ๒ คือ นามกาย ๑ รูปกาย ๑ นามกาย เป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย และท่านกล่าวจิตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย รูปกายเป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ รูป ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ลมอัสสาสปัสสาสะ นิมิต และท่านกล่าวว่า กายสังขารที่เนื่องกัน นี้เป็นรูปกาย

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์เพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ผู้ถาม แล้วนามกาย

สุ. นามกายไม่ใช่รูปใดๆ เลยทั้งสิ้น เป็นธาตุเป็นสิ่งที่มีจริง แต่เป็นธาตุรู้ ทันทีที่ธาตุรู้เกิดขึ้น ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้โดยที่ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้รู้หรือว่าไม่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย เช่นขณะนี้นามกายคือจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และถ้าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่รูปเดียวกันด้วย เพราะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมทั้งหมดต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด จะไม่อาศัยรูปเกิดไม่ได้เลย สำหรับนามกายก็คือจิตและเจตสิก

ผู้ถาม แต่ว่าเป็นสภาพนามที่แตกต่างจากรูป

สุ. พอได้ยินคำว่า “กาย” เราเคยคิดว่าเป็นรูป พอได้ยินคำว่า “นามกาย” ก็เอาความคิดนั้นติดตามมา เพราะว่านามก็คงมีกายแบบรูปที่เป็นรูปกาย แต่ไม่ใช่ นี่คือการที่จะต้องเข้าใจความหมายของคำในภาษาบาลี เพราะเหตุว่า “กาย” หมายถึงประชุมหรือที่ประชุม เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจะมีสภาพธรรมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าอย่างเดียวแล้วจะไปประชุมอะไรที่ไหน เพราะฉะนั้นนามกายก็คือจิตและเจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกัน ประชุมที่นี่ก็คือว่าแยกกันไม่ได้เลย เกิดพร้อมกัน และก็ดับพร้อมกัน และก็เป็นสภาพที่รู้อารมณ์เดียวกันเพราะว่าเกิดพร้อมกันและเป็นสภาพรู้ด้วย ต่อไปนี้ก็คงจะไม่งงกับคำว่า “กาย” ถ้าเข้าใจความหมายว่า “ประชุม” “ที่ประชุม”

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

กายลหุตา - จิตตลหุตา -- โสภณสาธารณเจตสิก

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม และมีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตประจำวันเลย อยู่กับธรรมตลอด มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตลอด แต่ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ จนกว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวงเพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอ่ย่างๆ โดยไม่ปะปนกัน

กายลหุตา กับ จิตตลหุตา เป็นเจตสิกธรรมที่ดีงาม เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ความเป็นจริงของสภาพธรรมจะไม่ปะปนกัน เป็นจริงแต่ละหนึ่ง ตามความเป็นจริง มีกิจหน้าที่ต่างกัน เพราะกายลหุตา เป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยเบา ส่วน จิตตลหุตา เป็นเจตสิกธรรมที่ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วย เบา ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีสัตว์ บุคคลตัวตนเลย ารฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ย่อมจะเป็นไปเพื่่อขัดเกลาความไม่รู้ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 ต.ค. 2556

กายลหุตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกอื่นเบา ขณะที่ช่วยเหลือผู้อื่น ขณะนั้น

เบาด้วยกุศลจิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 22 ต.ค. 2556

thank you very much kaa

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 24 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ