อกุศลวิตก

 
ดรุณี
วันที่  27 มี.ค. 2556
หมายเลข  22691
อ่าน  3,797

อยากทราบว่าธรรมข้อใดที่ช่วยลดละอกุศลวิตกได้บ้างคะ แล้วอยากทราบว่าคนที่เครียดๆ มีเรื่องให้หงุดหงิดใจบ่อยๆ คืออกุศลวิตกใช่หรือเปล่า คนที่กลัวอนาคต กลัวสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่กลัวไปล่วงหน้า คนที่ท้อใจน้อยใจเพราะกลัว คนที่รู้สึกเสียใจกับอดีต เสียใจกับเรื่องที่ตัวเองทำผิดพลาด รู้สึกผิดซ้ำซากจนรู้สึกกลัวจะได้รับผลไม่ดีในอนาคต ก็จัดเป็นอกุศลวิตกใช่หรือเปล่าคะ ธรรมข้อใดช่วยละคลายสิ่งเหล่านี้ได้บ้าง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ อกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว เกิดมากกว่ากุศลด้วย แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว อกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นไปกับด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เป็นต้น ล้วนเป็นอกุศลทั้งนั้น สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ล้วนเป็นอกุศลทั้งนั้น วิตักกะ ก็เป็นอกุศลด้วย ไม่ใช่ว่าจะเป็นอกุศลวิตก เฉพาะในขณะที่วิตกกังวลถึงเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้างเท่านั้น ขณะที่เป็นอกุศล ก็ไม่พ้นไปจากอกุศลวิตกเลย และเป็นความจริงที่ว่า ความวิตกกังวลล่วงหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ และในเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว เป็นอกุศลวิตกของผู้ที่ยังละอกุศลยังไม่ได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาทุกๆ คนก็มีด้วยกันทั้งนั้น บางคนมีมาก บางคนมีน้อยแล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ที่สำคัญที่สุด คือ เข้าใจในความเป็นจริงของธรรม ว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญา เพื่อละ ละความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลาย ดังนั้น การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมทั้งเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้กุศลวิตกเกิดแทนอกุศวิตกได้ เพราะเหตุว่าในขณะที่กุศลเกิด อกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และที่จะเป็นไปเพื่อดับอกุศลวิตก ได้อย่างหมดสิ้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา จนถึงความเป็นพระอริยบุคคล เป็นลำดับขั้นจนถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะดับอกุศลวิตกอย่างอย่างหมดสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ขณะที่ได้มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี แล้ว กุศลธรรมทั้งหลาย ก็ย่อมเจริญขึ้น คล้อยตามความเข้าใจถูกเห็นถูกที่ค่อยเจริญขึ้น ก็เป็นการค่อยๆ ขัดเกลาอกุศลวิตกไปทีละเล็กทีละน้อย

ก็ขอให้ ตั้งใจสะสมกุศล และฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ต่อไป นี้คือ สิ่งที่ประเสริฐสุด สำหรับผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความวิตกกังวล

จะยับยั้งอกุศลวิตกได้อย่างไร

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิตก คือ สภาพธรรมที่ตรึก นึกคิด พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วิตก เป็นดั่งเช่น เท้าของโลก คือ เที่ยวไปในอารมณ์ ในสิ่งต่างๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า ตรึกนึกไปในอารมณ์ต่างๆ มากมาย ดังนั้น คำว่า วิตก โดยภาษาที่เข้าใจกันทางโลก ก็มักหมายถึง วิตกกังวล ความเครียด คือ ความวิตก แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิตกเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท และ เกิดกับอกุศลจิตด้วย ทั้งโลภะ โทสะ ก็เช่นกัน วิตก ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะขณะที่ทุกข์ใจ เครียดหรือกลัว จะเป็นอกุศลวิตก เท่านั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดง ความวิตก ๓ ประการ ดังนี้

๑. กามวิตก

๒. พยาปาทะวิตก

๓. วิหิงสาวิตก

กามวิตก คือ คิดเป็นไปในอารมณ์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสด้วยความติดข้องในสิ่งเหล่านั้น เช่น นึกถึงสิ่งที่ชอบ อาหารที่อร่อย เป็นต้นเหล่านี้ ก็เป็นอกุศลวิตกแล้ว แม้ไม่ได้เครียดอะไรเลย แต่อกุศลจิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้น ก็เป็นอกุศลวิตกแล้วในขณะนั้น ขณะที่ขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจ และเครียด ขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิตก ที่เป็นโทสะ ในขณะนั้น

ซึ่งการจะเกิดอกุศลวิตกของแต่ละคนในรูปแบบไหน ก็ตามการสะสมมาของแต่ละคน แต่ไม่ว่าอย่างไร อกุศลวิตกก็เกิดแล้ว ในขณะนี้ แม้ไม่เครียดเลย ไม่ได้เกิดความไม่สบายใจก็เกิดอกุศลวิตกแล้ว จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม หนทางการละอกุศลวิตก คือ รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะเป็นหนทางการละอกุศลวิตกได้เด็ดขาดจริงๆ เพราะเป็นหนทางการละกิเลสที่ถูกต้อง เพียงแต่ว่า ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่สนใจพระธรรม อบรมปัญญา เมื่อเกิดความเข้าใจพระธรรม ก็เกิดกุศลจิตในขณะนั้น ขณะนั้น ไม่ใช่อกุศลวิตก แต่เป็นกุศลวิตก ที่ตรึก นึกคิด เป็นไปในทางกุศล จึงสามารถกล่าวได้ว่า หากจะละอกุศลวิตก ก็จะต้องเกิดกุศลวิตกแทนอกุศลวิตก

ซึ่งหนทาง ก็คือ อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เพราะโดยมากของปุถุชน ก็นึกคิดเป็นไปในเรื่องกิจการงานต่างๆ เรื่องราวในชีวิตประจำวัน ด้วยจิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลวิตก แม้จะไม่เครียด หรือ ท้อใจ แต่คิดโดยมากก็เป็นอกุศลวิตก เพราฉะนั้น ก็เสพคุ้นกับสิ่งที่ดี ที่จะทำให้ตรึกนึกคิดไปในสิ่งที่ถูกที่ควร ที่ตรงตามความเป็นจริง นั่นคือ การตรึกนึกคิดในพระธรรม ซึ่งจะมีได้อย่างไร ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม ก็จะทำให้มีปัจจัยที่จะทำให้ระลึก ตรึก นึก ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขณะนั้นก็ละอกุศลวิตกไม่ให้เกิดชั่วขณะได้ และ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาพระธรรม ก็ทำให้มีโอกาสปัจจัยที่จะเกิดกุศลจิต ที่เป็นไปในทาน ศีล และ ภาวนา ขณะนั้น อกุศลวิตกก็ไม่เกิดในขณะนั้น ครับ

แต่ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน มากไปด้วยกิเลสที่มีมาก ก็ย่อมจะเกิดอกุศลวิตกได้มากกว่า ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางการละอกุศลวิตกที่ถูกต้อง และหมดสิ้นจริงๆ ซึ่งเป็นหนทางที่ประเสริฐ คือ การเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะเข้าใจว่า แม้อกุศลวิตกที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา การรู้ความจริงเช่นนี้ ย่อมจะละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลที่เป็นความเห็นได้ และ ย่อมละกิเลสเป็นลำดับ โดย เริ่มจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจไปเรื่อยๆ ในหนทางที่ถูกต้อง ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 210

[๑๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วใน สติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตตสมาธิอยู่ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ

ชออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ดรุณี
วันที่ 28 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 26 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 1 ธ.ค. 2560

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ