กราบเรียนถามข้อสงสัย 3 ข้อครับ

 
นิรมิต
วันที่  20 ก.พ. 2556
หมายเลข  22520
อ่าน  1,237

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีความสงสัยใคร่จะเรียนถามดังต่อไปนี้ครับ เป็นประเด็นแยกๆ กัน แต่จะตั้งหลายกระทู้ก็เกรงจะดันกระทู้อื่นๆ ตกไป จึงขออนุญาตรวมไว้ในกระทู้นี้นะครับ

1.มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องความรักตนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ไม่มีผู้ใดจะรักใครยิ่งกว่าตน สัตว์ย่อมรักตนมากที่สุด โดยนัยยะนี้ ท่านหมายเอาด้วยลักษณะอย่างไรครับ เพราะยกตัวอย่างเช่น บิดามารดาก็รักลูกมากกว่าตน ยอมตายได้เพื่อลูก ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อลูกได้ หรือบางท่านอาจจะเป็นผู้มีเมตตาจิตมาก ก็รักผู้อื่นมากกว่าตน มีอะไรก็ให้ได้หมด หรือมีโลภมูลจิต ติดข้องในผู้นั้นๆ มาก ทำทุกอย่างเพื่อผู้นั้น แม้ต้องตายแม้ต้องทำบาปเพื่อผู้นั้นก็ยอม

2.คำว่า จิตส่งออกนอก จิตส่งเข้าใน โดยทั่วไปที่เข้าใจกัน เข้าใจกันว่าอย่างไรหรือครับ? แล้วเป็นคำอธิบายที่สามารถลงรอยกับคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ในนัยยะใดบ้างหรือไม่ครับ? อย่างไร?

3.พระอรหันต์และพระอริยะบุคคลทั้งหลาย มีปรกติไม่ล่วงศีล ๕ และไม่กระทำอกุศลกรรมอันมีผลให้ไปอบายทั้งปวง ในกรณีที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระกระทำอิทธิปาฏิหารย์เพื่อทรมานนาคราช ก็เพื่อประสงค์จะยังศรัทธาให้เกิด จะยังประโยชน์ให้เกิดแก่นาคราชนั้น ก็เป็นการกระทำด้วยมหากิริยาจิตที่ย่อมประกอบด้วยโสภณธรรม อกุศลใดๆ ย่อมเจือปนไม่ได้ เพราะดับเป็นสมุจเฉทหมดสิ้นแล้วใช่ไหมครับ

ในกรณีอย่างนี้ พระอรหันต์ทั้งหลาย อาจจะมีการกระทำ ล่วงศีล ๕ ได้หรือไม่ แต่ล่วงด้วยเจตนายังประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้อื่น เช่น บุคคลนี้จักบรรลุธรรมได้ ต้องอาศัยการล่อลวง การโกหกก่อน ภายหลังจึงจะฟังธรรม เกิดประโยชน์ ก็เลยมีการกล่าวโกหกด้วยเจตนา ยังประโยชน์ให้เกิดกับบุคคลนั้นด้วยมหากิริยาจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ไม่ใช่ด้วยอกุศลจิตตั้งใจจะล่วงมุสาวาท หรือบุคคลนี้จักเกิดประโยชน์หากจะต้องดื่มสุราก่อน ก็มีการกล่าวบอกให้ท่านจงดื่มสุรา อะไรทำนองนี้ แต่ไม่ใช่ด้วยเจตนาอันเป็นอกุศล แต่เพราะปราถนาประโยชน์ให้เกิด และด้วยมหากิริยาจิต ซึ่งไม่มีอกุศลเจือปนเลย (เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปุถุชนหรือพระอริยเจ้าขั้นต่ำลงมา ยังไม่ได้มีจิตเป็นมหากิริยา ก็อาจจะมีอกุศลแทรกขั้นได้ทุกกาล) จะมีเกิดขึ้นได้หรือไม่ในกรณีอย่างนี้ แต่ถ้ามีได้ ปุถุชนธรรมดาก็ไม่พึงกระทำตามใช่ไหม เพราะเหตุว่าอกุศลยังมาก ย่อมมีบางขณะทำให้อกุศลเกิดแทรก ก็จะกลายเป็นการล่วงอกุศลกรรมบถได้โดยง่าย ต่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มีจิตเป็นมหากิริยาแล้ว ประกอบด้วยโสภณธรรม หมดสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวง หรือหากไม่ใช่ ในข้อนี้จะพิจารณาโดยละเอียดอย่างไรจึงจะสมควรครับ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตอบคำถามข้อที่ 1.

สัจจะ ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไม่เปลี่ยนแปลง ตามที่พระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในมัลลิกาสูตร ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ถามพระนางมัลลิกาว่า มีใครที่เธอรักมากที่สุด พระนางมัลลิกาก็ทูลว่า ตัวหม่อมฉันเองที่เป็นที่รักที่สุด พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้า ทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบพระพุทธเจ้าตรัสว่า

ใครๆ ตรวจตราด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ ไม่เลย สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น

จากพระพุทธพจน์ แสดงถึง ภาวะความเป็นปุถุชนที่หนาด้วยกิเลส ที่มีความรักตนโดยนัยที่เป็นโลภะ ไม่ใช่ด้วยเมตตา ที่รักด้วยโลภะ ที่อยากได้ความสุข ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข พบกับสิ่งที่ดีต่างๆ ด้วยอำนาจโลภะกับตนเองมากที่สุด ซึ่งอรรถกถามัลลิกาสูตรก็อธิบายเพิ่มเติมครับว่า แย้งว่า มีคนอื่นที่รักมากกว่าตนไม่ใช่หรือ เช่น บุตร ธิดา ข้อความเป็นดังนี้ ครับ

..ก็สัตวโลกทั้งหมดนี้ รักคนอื่นก็เพื่อประโยชน์ตนเองเท่านั้น แม้เมื่อ ปรารถนาบุตร ก็ปรารถนาว่า บุตรนี้จักเลี้ยงดูเราในยามแก่ เมื่อปรารถนาธิดา ก็ปรารถนาว่า ตระกูลของเราจักเจริญขึ้น เมื่อปรารถนาภริยา ก็ปรารถนาว่า จักบำเรอเท้าเรา เมื่อปรารถนาแม้คนอื่น จะเป็นญาติมิตรหรือพวกพ้อง ก็ปรารถนาเนื่องด้วยกิจนั้นๆ ดังนั้น ชาวโลกเป็นผู้เห็นแต่ประโยชน์ตนเท่านั้น จึงรักคนอื่น

จากข้อความนี้แสดงชัดเจนครับว่า ที่รักคนอื่นด้วยโลภะ ก็เพราะปรารถนาที่จะได้รับสิ่งต่างๆ จากผู้อื่น และแม้จะกล่าวว่าไม่ได้ปรารถนาจากผู้อื่น แต่ความละเอียดของโลภะ ก็ลึกลงไป เพียงแค่อยากให้อยู่เป็นเพื่อน ให้ดีต่อกัน แม้เพียงเล็กน้อย และละเอียดที่สุด คือ เพราะติดในเวทนาที่เป็นความสุข โสมนัส จึงกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อผู้อื่นด้วย เพื่อความสุขโสมนัส สมดังปฏิจจสมุปบาทที่ว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา โลภะ ครับ

ดังนั้น ผู้ที่รักตน โดยนัยนี้ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นผู้ที่รักตนด้วยโลภะ ไม่อยากให้ตนเองได้รับความทุกข์ อยากได้ความสุข เราคนเดียวหรือที่รักตน ไม่อยากได้รับสิ่งที่ดี และ อยากได้รับสิ่งที่ดี คนอื่นก็เช่นกัน ที่รักตนเองที่สุด เมื่อคนอื่นก็รักสุข เกลียดทุกข์เช่นเดียวกับตนเอง ก็ไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่ควรนำสิ่งที่ไม่ดีไปให้คนอื่น ควรที่จะนำสิ่งที่ดีๆ ไปให้คนอื่น ดังที่ตนก็ปรารถนาเช่นกัน

ประโยชน์ของพระพุทธพจน์นี้ เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ที่จะทำความดีกับผู้อื่นโดยคิดพิจารณาเปรียบเทียบกับความรักตนของตนเอง ครับ

ส่วน อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่รักตน คือ ต้องการความสุข ความปลอดภัย ได้รับสิ่งที่ดีๆ หากแต่ว่า เป็นผู้ประพฤติทางกาย วาจา และใจไม่ดี ก็ชื่อว่า ไม่รักตน แม้ปากจะกล่าวว่ารักตน เพราะทำเหตุที่ไม่ดีที่จะทำให้ตนเดือดร้อน ครับ แต่ ผู้ที่ประพฤติกาย วาจาและใจดี แม้จะบอกว่าไม่รักตนก็ตาม แต่ก็ชื่อว่ารักตน เพราะประพฤติในสิ่งที่จะทำให้ได้สิ่งที่ดี ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ปิยสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ตอบคำถามข้อที 2.

จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นและดับไป จิตไม่สามารถเดินทางได้ เพราะเพียงเกิดขึ้นและดับไป จิตจึงไม่สามารถส่งออกนอก จิตส่งเข้าใน ได้เลย จิตเกิดขึ้นที่ใดดับที่นั่น ครับ ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง จิตที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้น จิตกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิด พร้อมสติและปัญญา ที่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยไม่มีตัวจิตไปส่งออกนอก เข้ามาข้างใน เพียงแต่เป็นตัวรู้ในสภาพธรรมที่กำลังเป็นอารมณ์ในขณะนั้นเท่านั้นครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ตอบคำถามข้อที่ 3.

ถูกต้อง ครับ พระอรหันต์ ไม่มีเจตนาเบียดเบียนเลย เพราะ ไม่มีเชื้อ คือ อกุศลที่จะคิดไม่ดีต่อไป แต่ด้วยเจตนาที่หวังดี เป็นสำคัญ ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระอรหันต์ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น ไม่มีเหตุที่ท่านจะทำด้วยอกุศลจิต และ ไม่มีเหตุที่จะล่วงศีล ๕ เพื่อที่จะเกื้อกูลสัตวอื่น เพราะดับอกุศลจิตหมดสิ้น การล่วงศีล ๕ ก็ล่วงด้วยอกุศลจิตที่มีอยู่ แต่การล่วงศีล ๕ ดับหมด ตั้งแต่เมื่อเป็นพระโสดาบัน ไม่ต้องกล่าวถึงพระอรหันต์ การเกื้อกูลของท่าน จึงเป็นอุบาย ที่พูดโน้มน้าวให้คิด แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะโกหก พูดไม่จริงแต่ประการใด

ส่วนปุถุชนที่ยังหนาด้วยกิเลส ก็เป็นไปตามกิเลส ที่ยังจะทำผิดศีล ๕ ได้ การช่วยเหลือ ก็อาจเกิดจากการกระทำที่ไม่ดีก็ได้ ก็เป็นธรมดาของปุถุชน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จะรักตนให้เป็นอกุศลมากๆ หรือจะรักตนให้มีกุศล ให้มีปัญญาเกิดมากๆ

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๗๐

- รักตนที่เป็นอกุศลก็มี เป็นไปกับด้วยโลภะความติดข้องต้องการ ทำอะไรทุกอย่างก็เพื่อตัวเอง และ ยังมีการรักตนที่เป็นการแสดงถึงภาวะที่เป็นกุศลด้วยการสะสมแต่สิ่งที่ดี ไม่กระทำอกุศลกรรมที่จะเป็นเหตุให้ตนเองเท่านั้นได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งในขณะที่ทำและในขณะที่ให้ผล พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หลากหลายนัย ก็เพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง

----------------------------------

จิตมีจริงๆ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย ไม่ขาว ไม่ดำ ไม่เปรี้ยว ไม่หวาน ไม่แข็ง ไม่อ่อน จิตเกิดขึ้นเมื่อใด ก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นอารมณ์เมื่อนั้น

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๗๒

-จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่มีรูปร่าง สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตอาศัยรูปเป็นที่เกิด ไม่ได้เกิดนอกรูปเลย แต่ถ้าในภูมิที่มีแต่นามธรรมแล้ว จิตอาศัยเจตสิกธรรมเกิดขึ้น เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน จิตหลากหลายมาก เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี หลายหลายเพราะอารมณ์ หลากหลายเพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งไม่มีการส่งออกนอก ไม่มีการรับเข้าใน จิตเพียงเกิดขึ้นตามที่เกิดของตน รู้อารมณ์ กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไปเท่านั้นจริงๆ

----------------------------------

เวลาที่ล่วงศีลแล้ว จิตใจเดือดร้อนกระวนกระวาย อาจจะทำให้คิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ล่วงศีล จิตใจก็กระสับกระส่าย แต่ผู้ที่สามารถจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และน้อมประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ศีลของท่านจะสมบูรณ์ คือ เป็นผู้ที่ไม่ล่วงศีล ๕ ก็จะไม่เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมบถ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๓

-พระอริยบุคคลทุกระดับขั้น เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสที่ตนเองดับได้แล้ว ไม่หวนกลับมาหากิเลสที่ดับได้แล้วเลย ซึ่งมีความห่างไกลกันมากกับผู้ที่เป็นปุถุชนหนาแน่นไปด้วยกิเลสมากไปด้วยโทษ พระโสดาบันมีศีล ๕ ที่บริบูรณ์ ไม่ล่วงศีลเพราะได้ดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปอบายได้แล้ว และถ้ารู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือ วิบาก กับ กิริยา การกระทำอะไรต่างๆ ของท่านที่เป็นสิ่งที่ดีประการต่างๆ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นในลักษณะต่างๆ แสดงธรรม ช่วยให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นต้นนั้น เป็นด้วยมหากิริยาจิต ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า และเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้วไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 20 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ อยากจะขอเรียนถามเพิ่มเติมในข้อสุดท้ายครับ

ยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่าเหตุไรในเมื่อศีลท่านบริสุทธิ์แล้ว อกุศลทั้งหมดดับสิ้นแล้ว แต่ยังมีการเบียดเบียน แม้จะด้วยมหากิริยาจิต คือการเบียดเบียนนาคราชเพื่อประสงค์ประโยชน์ให้เกิดก็ดี หรือการที่มีวาสนาติดคำพูดว่า คนถ่อย ของท่านพระอรหันต์เถระท่านหนึ่ง (กระผมจำชื่อท่านไม่ได้) แต่ก็กระทำด้วยมหากิริยาจิต ยังมีได้แต่ไม่สามารถกระทำการล่วงศีล ๕ ด้วยมหากิริยาจิตได้ คือ ไม่ใช้คำว่าล่วงศีล ๕ ก็ได้ แต่เป็นการกระทำด้วยมหากิริยาจิต ประสงค์ประโยชน์ให้เกิด แต่การกระทำนั้น ถ้าเป็นชาวปุถุชนก็คือการล่วงศีล หรือ ก็มีขอบเขตที่กระทำได้-ไม่ได้ คือ บางการกระทำ แม้ไม่ถึงการล่วงศีล แต่ในปุถุชนเมื่อกระทำ ก็ล้วนกระทำด้วยอกุศลจิต เช่น การเบียดเบียนทำร้าย ในกรณีที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะทรมานนาคราช คือ มองด้วยการกระทำ ก็ชื่อว่าเป็นอกุศลกรรม เพราะมีการทำร้าย ซึ่งเมื่อกระทำกรรมอย่างเดียวกันนั้น ด้วยอกุศลจิต ก็เป็นการล่วงอกุศลกรรมบถแน่นอน เพราะการทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยอกุศลจิตย่อมมีผลเป็นอกุศลวิบากสำหรับปุถุชน แต่เพราะเป็นพระอรหันต์กระทำด้วยจิตที่เป็นมหากิริยาประกอบด้วยโสภณธรรม จึงมิใช่การกระทำอกุศลกรรม เมื่อขอบเขตกว้างขึ้นมาหน่อย ก็คือเอาบัญญัติศีล ๕ ออกไป การกระทำของปุถุชนเมื่อกระทำกรรมที่บัญญัติไว้ว่าเป็นศีล ๕ ก็ด้วยอกุศลกรรม ก็เลยมีผลเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเช่นนั้นพระอรหันต์เอง เมื่อพิจารณาโดยทำนองนี้ เมื่อกระทำกรรมอันบัญญัติว่าศีล ๕ เหมือนกัน แต่ทำด้วยมหากิริยาจิต ประสงค์ประโยชน์เกื้อกูล ก็คือไม่ได้กระทำด้วยอกุศลจิต เพราะเหตุว่ากรรมนั้นจะสำเร็จมีผลเป็นอกุศลกรรมก็ด้วยการกระทำด้วยอกุศลจิต แต่นี้ท่านก็ไม่ได้ล่วงการกระทำอันบัญญัติว่าศีล ๕ ด้วยอกุศล แต่ด้วยมหากิริยา ข้อนั้นเหตุไรจึงมีไม่ได้ครับ?

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 20 ก.พ. 2556

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

หากได้อ่านข้อความในพระไตรปิฎก สำหรับการใช้คำว่า ทรมานนาคราชของพระมหาโมคคัลลานะ นั้น หมายถึง ทรมานให้หมดพยศ คือ หมดมานะ หมดอกุศลความดื้อในขณะนั้น ซึ่ง นาคราชมีฤทธิ์มาก นาคราชแสดงฤทธิ์อย่างไร ท่านก็แสดงฤทธิ์อย่างนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ท่านก็มีฤทธิ์ และ ท่านก็แสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า ทำให้นาคราชยอมรับ และ หันมานับถือพระรัตนตรัย การกระทำของท่าน จึงไม่มีการเบียดเบียนเลย ดังนั้น การใช้คำว่า ทรมาน จึงไม่ได้หมายถึง การทรมานให้นาคราชเจ็บปวดด้วยเจตนาทำร้าย แต่มุ่งหมายถึงทรมานให้เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล ด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ แต่ไม่ใช่ด้วยการเบียดเบียน ครับ

[เล่มที่ 53] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔- หน้าที่ 476

ในบัดนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่ารัฏฐปาละ นาคราชชื่อว่านันโทปนันทะนี้โกรธพวกเธอ จึงเอาขนดหางวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบ เอาพังพานปิดข้างบน กระทำให้มืดมิดอยู่. รัฏฐปาละทูลว่า ข้าพระองค์ขอทรมานนาคราชตนนั้นพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต. ลำดับนั้นแลภิกษุแม้ทั้งหมดก็ลุกขึ้นโดยลำดับ คือ ท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุล พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต.

ในที่สุด พระมหาโมคคัลลานะเถระกราบทูลว่า ข้าพระองค์ ขอทรมานนาคราชนั้น พระ เจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า โมคคัลลานะ เธอจงทรมาน.

พระเถระเปลี่ยนอัตภาพนิรมิตเป็นรูปนาคราชใหญ่ เอาขนดหางวงรอบนันโทปนันทนาค ราช ๑๔ รอบ วางพังพานของตนลงบนยอดพังพานของนันโทปนันทนาคราช แล้วกดเข้ากับเขาสิเนรุ. นาคราชบังหวนควัน. พระเถระกล่าวว่า จะมีแต่ควันในร่างกายของท่านเท่านั้นก็หามิได้ ......

-จากสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า นาคราชโกรธอยู่ พระพุทธเจ้า ก็ยังตรัสบอกให้ทรมานนาคราช พระองค์ไม่ได้มุ่งหมายให้เบียดเบียนนาคราช แต่คำว่า ทรมาน คือ ให้เปลี่ยนจากอกุศล คือ ความโกรธ เป็นกุศลแทน ด้วย วิธีการแสดงฤทธิ์ให้นาคราชยอมแพ้ ครับ

--------------------------------------------

และข้อความต่อมาในพระสูตร

[เล่มที่ 53] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 478

นาคราชคิดว่า เราไม่สามารถเพื่อจะทำแม้ขุมขนของสมณะนี้ให้ไหวได้ด้วยลมจมูก สมณะนั้นมีฤทธิ์มาก, พระเถระจึงละอัตภาพนิรมิตรูปครุฑ แสดงลมครุฑไลติดตามนาคราชไป, นาคราชจึงละอัตภาพนั้น นิรมิตรูปมาณพน้อยแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมขอถึงท่านเป็นสรณะ ไหว้เท้าพระเถระ, พระเถระกล่าวว่านันทะ พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ท่านจงมา พวกเราจักได้ไป. ท่านทรมานนาคราชทำให้หมดพยศแล้วได้พาไปยังสำนักของพระศาสดา. นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านจงเป็นสุขเถิดนาคราช ดังนี้แล้ว อันหมู่ภิกษุห้อมล้อม ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี.

-จากข้อความนี้ แสดงถึงการทรมานนาคราชให้หมดพยศ คือ หมดอกุศล เปลี่ยนเป็นกุศล มานับถือพระรัตนตรัย ซึ่ง ด้วยวิธีการแสดงฤทธิ์ของพระมหาโมคคัลลานะ จนนาคราชทำอะไรไม่ไ่ด้ จึงหมดพยศ ยอมแพ้ และเปลี่ยนจิตเป็นกุศล ครับ

นี่คือ ความหมายของการทรมาน ที่ไม่ใช่การมีเจตนาเบียดเบียนทางกาย แต่เปลี่ยนจากอกุศล เป็น กุศล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 20 ก.พ. 2556

อ้อ พอจะเข้าใจแล้วครับ ขออนุโมทนา และกราบขอบพระคุณ อ.เผดิม เป็นอย่างสูงครับ

เมื่อเช่นนั้น โดยสรุปก็คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่กระทำทุจริตทาง กาย วาจา ใจ อันจะนำโทษให้ผู้อื่นโดยแท้จริง หรืออันจะทำประโยชน์ผู้อื่นให้ล่วงไป หากแม้มีจิตเมตตาประสงค์จะช่วย ก็จะต้องเลือกช่วยในทางที่ไม่มีการเบียดเบียนผู้ใดจริงๆ คือ ไม่มีการกระทำทุจริตทั้งหลาย คือถ้าแม้จะช่วยได้ แต่ต้องล่วงทุจริตธรรม ท่านก็ไม่กระทำ ก็จะหาวิธีอื่น หากไม่มี ก็คือ ชื่อว่าเป็นตามกรรม ก็จักวางอุเบกขา ก็จะไม่พึงช่วย แม้หนทางมี แต่ต้องล่วงทุจริตกรรม อย่างนั้นหรือเปล่าครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ถูกต้อง ครับ ขออนุโมทนาในความเห็นถูก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
j.jim
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Thanapolb
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค

เคยได้ยินพระบางท่านกล่าวคำว่า "อย่าส่งจิตส่งออกนอก..." มาเช่นกัน ถ้าท่านเข้าใจดีว่าจิตไม่เดินทาง เพียงเกิด รู้อารมณ์ และดับ แต่ท่านจะสื่อให้ผู้ฟังเข้าใจในเชิงอรรถ หมายถึง อย่าไปคิดถึงเรื่องราวนอกกาย อย่างนี้ยังถือว่าท่านยังเข้าใจถูกเรื่องจิตอยู่ไหมครับ (ไม่ถามว่า ขณะนั้นท่านเข้าใจผิดไหมนะ เพราะคงไม่มีใครรู้จิตของคนอื่นขณะนั้น) หรือควรเลี่ยงคำนี้ เพราะผู้ที่รู้ เข้าใจเรื่องจิตดี ก็ไม่ควรใช้คำนี้ เพราะอาจสื่อให้เห็นว่าอาจยังเข้าใจสภาพธรรมะคลาดเคลื่อนได้

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
khampan.a
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตเรียนเสริม ในส่วนของพยัญชนะ "ทรมาน" ครับ

คำว่า ทรมาน ในประเด็นที่สนทนานี้ ที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะทรมานนาคราชนั้น อ. ผเดิมก็ได้อธิบายอย่างละเอียดแล้วว่า ไม่ได้หมายถึงการทรมานให้นาคราชเจ็บปวด ด้วยเจตนาทำร้าย แต่มุ่งหมายถึง ทรมานให้เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล ด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ แต่ ไม่ใช่ด้วยการเบียดเบียน ซึ่งก็ตรงกับคำที่ท่านใช้จริงๆ จากข้อความในอรรถกถาภาษาบาลี คือ ทเมหิ (มาจากรากศัพท์ว่า ทมะ แปลว่า การฝึก การทำให้หมดซึ่งการเสพในสิ่งที่ผิดคืออกุศล) ไม่ใช่การทำร้าย เบียดเบียน โดยประการทั้งปวง

และขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในประเด็นความคิดเห็นที่ 11 ว่า ความเป็นจริงของธรรมไม่เคยเปลี่ยน เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรม ก็จะกล่าวคล้อยตามพระพุทธพจน์ตามความเป็นจริงว่า ธรรมไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน เมื่อศึกษาแล้วจะเห็นถึงความหลากหลายของพยัญชนะ และข้ออุปมาต่างๆ ที่แสดงถึงความจริงของจิต ก็เพื่อเข้าใจจิตตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ที่ดีที่สุดแล้ว คือ กล่าวตามพระพุทธพจน์ ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ อ.คำปั่น และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
jaturong
วันที่ 22 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
รากไม้
วันที่ 23 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ