การบอกบุญของ ภิกษุ ที่ไม่มีไวยาวัจกรดำเนินการ

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  7 ก.พ. 2556
หมายเลข  22455
อ่าน  4,742

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงทุกท่านครับ มีกรณีศึกษา ประมาณดังนี้ครับ

ภิกษุมีการบอกบุญโยม เรื่อง สร้างพระพุทธรูป สร้างกุฎี ศาลา เจดีย์ เมรุ เป็นต้น โดยบางคนนำเงินถวายต่อภิกษุ แต่บางคนเข้าใจว่าเป็นการไม่ควรที่จะถวายกับภิกษุ (ไม่ใช่กิจของภิกษุ) จึงมีความเห็นที่แตกต่าง ขอเรียนสอบถามท่านอาจารย์ ครับ

๑. ถ้ามีการบอกบุญโดยภิกษุ (ไม่มีไวยาวัชกรดำเนินการ) เราควรจะบริจาคเงินนี้หรือไม่

๒. การสร้างพระพุทธรูปเป็นการควรหรือไม่ แคลงใจว่า การบูชาพระพุทธเจ้าควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แต่ถ้าจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อให้คนกราบไหว้ เพื่อระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่มีความชัดเจนว่าควรหรือไม่ควรกระทำอย่างไร ซึ่งจริงแล้วถ้าเจตนาเป็นทางดีก็น่าจะกระทำ เพราะจำได้ว่ากุศุลทุกประการควรเจริญ (อย่างเมื่อไทยเรามีการบอกบุญสร้างพระ สร้างระฆัง สร้างเมรุ สร้างพระราหู สร้างห้องน้ำ ฯลฯ ) แต่สุดท้ายก็มาติดที่ว่า ภิกษุเป็นผู้ดำเนินการเรื่องเงินทองเอง ซึ่งคิดว่าขัดต่อพระวินัยที่ท่านต้องปฏิบัติ แล้วอย่างนี้เราเองที่ต้องการร่วมเจริญกุศลเพราะเห็นบางมุมว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แล้วไม่ชัดเจนด้วยการคาใจ กรณีดังกล่าว ระลึกได้ว่า จะทำก็หวั่นไหว ขณะทำก็หวั่นไหว หลังทำก็หวั่นไหว ไปไปมามา ก็ต้องทำไปด้วยต้องการสะสมการเจริญกุศล และ คิดเข้าข้างตนเองว่า ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเค้า ใจเรามีการสละละทรัพย์ออก เพื่อประ โยชน์ผู้อื่นซึ่งเป็นสิ่งที่เบาใจที่สุด) ขอคำแนะนำ จากอาจารย์ด้วยครับ เพื่อความเบาใจในการเจริญกุศล

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ถ้ามีการบอกบุญโดยภิกษุ (ไม่มีไวยาวัชกรดำเนินการ) เราควรจะบริจาคเงินนี้หรือไม่

เพศบรรพชิต เป็นเพศที่สละชีวิตดังเช่นคฤหัสถ์ทั้งปวงแล้ว ความประพฤติเป็นไปก็ควรเป็นไปตามพระธรรมวินัย และเหมาะสมกับเพศคฤหัสถ์ ดังนั้น การดำเนินการที่เกี่ยวกับเรื่องของเงินและทอง ไม่ควรกับเพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น หากพระภิกษุมาบอกบุญ ไม่ว่าเรื่องอะไร เพื่อเรี่ยไรในเรื่องเงินบริจาค อุบาสกอุบาสิกาที่ดี ก็ไม่ควรกระทำสิ่งเหล่านั้น ให้พระภิกษุอาบัติเพิ่มเติม ในเรื่องการรับเงินทอง และยินดีในเงินทอง ครับ

กุศลที่กระทำ ไม่ควรทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย คือ ทำให้พระต้องอาบัติ กุศลอื่นๆ มีมากมาย ดังนั้น ก็ควรที่จะปฏิเสธ ไม่ทำ ในกรณีที่พระภิกษุเรี่ยไรเงิน บอกบุญในเรื่องต่างๆ ครับ


๒. การสร้างพระพุทธรูปเป็นการควรหรือไม่ แคลงใจว่า การบูชาพระพุทธเจ้า ควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แต่ถ้าจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อให้คนกราบไหว้ เพื่อระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่มีความชัดเจนว่า ควรหรือไม่ควรกระทำอย่างไร ซึ่งจริงแล้วถ้าเจตนาเป็นทางดี ก็น่าจะกระทำ เพราะจำได้ว่า กุศุลทุกประการควรเจริญ (อย่างเมื่อไทยเรามีการบอกบุญสร้างพระ สร้างระฆัง สร้างเมรุ สร้างพระราหู สร้างห้องน้ำ ฯลฯ) แต่สุดท้ายก็มาติดที่ว่า ภิกษุเป็นผู้ดำเนินการเรื่องเงินทองเอง ซึ่งคิดว่าขัดต่อพระวินัยที่ท่านต้องปฏิบัติ แล้วอย่างนี้เราเองที่ต้องการร่วมเจริญกุศล เพราะเห็นบางมุมว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แล้วไม่ชัดเจนด้วยการคาใจ กรณีดังกล่าว ระลึกได้ว่า จะทำก็หวั่นไหว ขณะทำก็หวั่นไหว หลังทำก็หวั่นไหว ไปไปมามา ก็ต้องทำไปด้วยต้องการสะสมการเจริญกุศล และ คิดเข้าข้างตนเองว่า ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเค้า ใจเรามีการสละ ละทรัพย์ออก เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เบาใจที่สุด)

การสร้างพระพุทธรูป ประโยชน์ คือ เพื่อใ้ห้เป็นเครื่องสักการะ น้อมบูชาระลึกถึงพระคุณของพระ พุทธเจ้า แต่ที่สำคัญ โดยมากก็มีพระพุทธรูปกันอยู่แล้วในวัด หากแต่ว่า การสร้างเพื่อมุ่งลาภสักการะ ชื่อเสียง พระใหญ่ที่สุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพื่อลาภสักการะ การสร้างนั้น เริ่มจากจุดประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง และเจตนาที่ผิด การที่พระภิกษุเรี่ยไร หรือ ไวยาวัจรกรก็ตาม ที่เรี่ยไรก็ไม่ควรสร้าง เพราะในเมื่อก็มีพระพุทธรูปอยู่แล้ว การสร้างเกินจำเป็น ด้วยจุดประสงค์ที่ผิด ก็ไม่ควรทำ การทำกุศลก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบในการทำ ส่วนการร่วมบุญในการสร้างเมรุ ระฆัง ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม หากสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว การสร้างมากเกินไปหรือผิดวัตถุประสงค์ก็ไม่ควรร่วมในการบริจาค และ ยิ่งหากพระภิกษุเข้ามาจัดการในเรื่องเิงิน ก็ไม่สมควรโดยประการทั้งปวง ครับ แต่การสร้างพระพุทธรูป และ สิ่งอื่นๆ ในวัดที่ยังขาดแคลน และจำเป็น ควรร่วมบริจาค โดยให้ไวยาวัจรกรจัดการเรื่องเงิน แทนพระภิกษุ แต่หากว่ามีแต่พระภิกษุ ตัวเราเองก็ขอปวารณาว่าจะเป็นคนจัดการร่วมสร้างครั้งนี้ โดยไม่ต้องให้พระร่วมจัดการเรื่องเงิน กุศลก็เจริญขึ้น ที่เป็นผู้ทำ และ ให้ผู้อื่นได้ทำด้วยและพระก็ไม่ต้องจัดการ ก็รักษาท่านด้วย การทำในสิ่งที่จำเป็น และสิ่งใดที่ยังไม่มีพระพุทธรูปเหล่านี้ ควรทำ ควรเจริญ เป็นการรักษาพระวินัยรักษาพระศาสนา เพราะทำถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะไม่ได้หมายความว่า การไม่บริจาคในสิ่งที่ผิดจะผิด แต่การไม่ร่วมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็เท่ากับว่าละสิ่งที่ผิด กลับมาสู่สิ่งที่ถูก และ สำคัญที่สุด คือ สะสมอุปนิสัยความเป็นผู้ตรงของเราเอง เกรงใจในสิ่งที่ควรเกรงใจ คือ ความดี แต่ความไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่ต้องเกรงใจ เพราะไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์กับใครๆ เลย นำมาแต่โทษ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 8 ก.พ. 2556

๑. ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุไม่ควรเอ่ยปากเพื่อได้มาซึ่งปัจจัยทั้งหลาย เพื่อตนเอง แต่ถ้าเป็นเพื่อส่วนรวม เช่น เพื่อเจดีย์ เพื่อสงฆ์ เป็นต้น อาจจะได้ตามสมควร แต่ไม่ควรรับเงินทอง โดยตรง ควรให้คฤหัสถ์ดำเนินการ และคฤหัสถ์ก็ไม่ควรถวายเงินกับพระภิกษุ เพราะจะทำให้ท่านอาบัติฯ

๒. ในสมัยครั้งพุทธกาล ไม่มีการสร้างพระพุทธรูป แต่จะมีการสร้างพระเจดีย์ และการบูชาพระรัตนตรัยสามารถบูชาได้หลายวิธี มีการสละอามิสบูชาบ้าง ปฏิบัติบูชาบ้างตามสมควร อนึ่ง กุศลทุกประการควรเจริญ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นควรทำ และถ้าทำแล้วไม่ขัดกับพระวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้าจะเป็นการดี ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jaturong
วันที่ 8 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การสร้างถาวรวัตถุในทางพระพุทธศาสนา ควรที่จะเป็นภาระหน้าที่ของคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธา ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุ จะเห็นได้จากสมัยพุทธกาล ที่มีการสร้างพระวิหารต่างๆ เพื่อเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธานนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างถวายของคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาทั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากการออกปากขอของพระภิกษุเลย

สำหรับประเด็นเรื่องการสร้างพระพุทธรูป จุดประสงค์ที่แท้จริงควรที่จะเป็นไปเพื่อให้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้พบเห็นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่น เพราะพระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ควรเคารพสักการะบูชา เป็นเครื่องเตือนให้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์ ที่เสด็จอุับัติขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง แล้วจะระลึกถึงพระคุณของพระองค์ได้อย่างไร ถ้าหากว่าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

การที่เข้าใจถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่ไม่มีใครเสมอเหมือนได้นั้น ก็ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เท่านั้นจริงๆ ไม่มีทางอื่นเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 8 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ

มีความเข้าใจมากขึ้น ชัดเจนในการปฏิบัติมากขึ้นครับ คลายสงสัยครับ

อนุโมทนากุศลทุกประการที่ทุกท่านได้เจริญแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 9 ก.พ. 2556

ชัดเจนค่ะ ความรู้สึกส่วนตัวเรื่องการบอกบุญและการรับเงินของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยปัจจุบัน ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน.....

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.พ. 2556

พระมาเรี่ยไรเงินเป็นอาบัติไม่ใช่กิจของสงฆ์ หน้าที่ของพระภิกษุคือศึกษาธรรมะและเจริญวิปัสสนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nopwong
วันที่ 9 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 11 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pheejad
วันที่ 13 ก.พ. 2556

ถ้ากรณีฆราวาสถวายตัวเป็นโยมอุปถาก พระภิกษุสามารถขอบริจาคได้มั้ยครับ!

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 13 ก.พ. 2556

เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ

ขอได้ครับ แต่ไม่ใช่เงิน ต้องเป็นของกัปปิยะ คือ ของที่สมควรกับพระภิกษุ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pheejad
วันที่ 16 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
orawan.c
วันที่ 22 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
หรรษา
วันที่ 4 ก.พ. 2561

ขอนำไปเผยแพร่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ