การอุทิศส่วนกุศล

 
franky_friday
วันที่  10 ม.ค. 2556
หมายเลข  22310
อ่าน  4,853

โดยปกติ ภายหลังจากที่ได้ทำกุศลหรือความดีในลักษณะต่างๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน ถือศีล หรือฟังธรรมะ ก็จะมีการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นได้อนุโมทนา ดังกล่าวนี้ หากผู้กระทำกุศลลืมอุทิศ หรือมีเหตุให้ไม่สามารถอุทิศส่วนกุศลได้ในขณะนั้น จะสามารถอุทิศส่วนกุศลให้ในเวลาที่นึกขึ้นได้ หรือในวันต่อๆ มาได้หรือไม่คะ และถ้าหากกระทำความดีแล้วไม่ได้อุทิศส่วนกุศล การกระทำความดีนี้จะเป็นประโยชน์กับใครได้บ้างนอกจากตัวผู้กระทำเอง

กราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การอุทิศส่วนกุศลเป็นบุญประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้น โดยเมื่อมีการทำบุญประเภทต่างๆ แล้วก็มีจิตคิดให้ผู้อื่นรับรู้บุญที่ได้ทำมาเพื่อให้สัตว์นั้นได้อนุโมทนา ดังนั้น การอุทิศส่วนกุศลจึงเป็นเรื่องของจิต ที่มีเจตนาให้ผู้อื่นรู้ในบุญที่ตนได้กระทำ ครับ

ซึ่งกุศลทุกๆ ประการที่ได้ทำสามารถอุทิศได้ ซึ่งกุศลของผู้ที่ได้ทำไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก จึงไม่สามารถจะยกบุญของตนเองไปให้ผู้อื่น เพราะบุญของใครก็ของคนนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นปัญหา หากว่าลืมอุทิศหลังจากที่เพิ่งได้ทำบุญ ก็สามารถอุทิศภายหลังได้เมื่อนึกขึ้นได้ เพราะการอุทิศส่วนกุศลก็เป็นการบอกบุญให้ญาติรับรู้ ที่เกิดเป็นเปรตหรือเทวดาได้รับรู้ และญาติเกิดจิตอนุโมทนา คือเกิดกุศลจิตของตนเอง อนุโมทนาในกุศลที่เราได้ทำครับ

เพราะฉะนั้น การอนุโมทนาของญาติ ก็ต้องเป็นกุศลของญาติเอง ไม่ใช่การนำบุญของตนไปให้ญาติ เพราะว่าบุญของเราเองก็เกิดดับไปแล้ว แม้เพิ่งอุทิศเดี๋ยวนั้น บุญที่เราได้ทำก็ดับไปแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่จะอุทิศภายหลัง ซึ่งหากมีการอุทิศภายหลังหลายวัน และญาติเกิดจิตอนุโมทนาก็ได้รับส่วนบุญ

ส่วนบุญนี้ ไม่ใช่มาจากการยกบุญของเราไปให้ เหมือนสิ่งของที่มอบให้ แต่ส่วนบุญที่ได้รับ อาศัยบุญที่เราได้ทำ ทำให้ญาติเกิดกุศลจิตของตนเอง จึงได้รับส่วนบุญของจิตที่ตนเองที่เกิดกุศลจิต ครับ

และจากคำถามที่ว่า

ถ้าหากกระทำความดีแล้วไม่ได้อุทิศส่วนกุศล การกระทำความดีนี้จะเป็นประโยชน์กับใครได้บ้างนอกจากตัวผู้กระทำเอง

- ความดี ย่อมเป็นประโยชน์กับตนเอง คือนำความสุขมาให้และสะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป แม้จะไม่ได้อุทิศบุญให้ แต่กุศลของผู้ประพฤติดี แม้จะไม่อุทิศ ย่อมเป็นประโยชน์กับตนแล้ว ก็ย่อมเป็นประโยชน์กับคนรอบข้าง สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

ผู้ที่รักษาตน ชื่อว่า รักษาผู้อื่น เปรียบเหมือน ผู้เล่นกายกรรม มีคนสองคน อีกคนยืนขี่คออยู่บนคอของอีกคน คนที่อยู่ข้างล่าง หากยืนดี ก็ย่อมรักษาผู้ที่ขี่คอด้วย ดังนั้นการรักษาตนเอง ชื่อว่ารักษาผู้อื่น คือผู้ที่เมตตา มีขันติ มีกุศลธรรม ย่อมรักษาผู้ที่อยู่รอบข้างที่จะไม่ทำกาย วาจาที่ไม่ดีกับผู้อื่น ก็ไม่เป็นโทษกับคนรอบข้างและมีจิตที่ดี ทำกาย วาจาที่ดีกับผู้อื่น ก็ทำให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากกาย วาจาที่ดี ที่เป็นกุศลธรรมนั้นด้วย และที่สำคัญที่สุด ความดีที่ได้ทำ แม้ไม่ได้อุทิศ แต่เมื่อมีคนเห็นหรือมีผู้อื่นรับรู้ ก็เกิดจิตอนุโมทนาในความดีที่เราได้ทำ ก็เป็นประโยชน์กับผู้อื่น คือเกิดกุศลจิตกับผู้อื่นได้ และอีกประการหนึ่ง ความดีที่ตนทำ ก็เป็นแบบอย่างที่ดีกับคนรอบข้าง ทำให้น้อมประพฤติปฏฺิบัติตามด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลอุปการะเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ใช่อกุศลธรรม กุศลซึ่งเป็นความดีในชีวิตประจำวันสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งในเรื่องของทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นประโยชน์ของกุศลมากน้อยแค่ไหน การอุทิศส่วนกุศลก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

จุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศล ก็เพื่อให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้ กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นตอนไหนก็ตาม ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ ดังนั้น ทั้งการอุทิศส่วนกุศลและการอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ ล้วนเป็นกุศลทั้งนั้น ควรที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน

กุศลธรรมทุกประเภท ความดีทุกประการ ไม่ใช่เฉพาะการอุทิศส่วนกุศลเท่านั้น ยังมีกุศลในส่วนที่เป็นการให้ทาน การรักษาศีล การฟังพระธรรม เป็นต้น เมื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตามได้จริงๆ แล้ว จะไม่เป็นภัยใดๆ เลย ไม่เป็นภัยทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น มีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าจะพิจารณาในนัยตรงกันข้ามจะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ที่จะเป็นประโยชน์ก็เฉพาะสภาพธรรมฝ่ายดี เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
panasda
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
franky_friday
วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 12 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 16 ม.ค. 2556

หลังจากทำกุศลแล้ว ลืมอุทิศส่วนกุศล นึกได้ตอนไหน ก็อุทิศส่วนกุศลตอนนั้น ไม่จำกัด การอุทิศส่วนกุศลเป็นบุญประเภทหนึ่งในบุญ ๑๐ อย่างค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 18 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ทำดีทูเดย์
วันที่ 22 ม.ค. 2556
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 20 ก.ย. 2563

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

ขอน้อมอุทิศกุศล ที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติให้แก่ บรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง ผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้ง เทพเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลาย ขอจงมีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในกุศลนี้ด้วยเทอญ

กราบขอบพระคุณ ในธรรมทานทุกประการด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 2 ม.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ