คน

 
อรรถวาที
วันที่  24 ต.ค. 2555
หมายเลข  21954
อ่าน  1,389

ทำไมคนในโลกนี้ ไม่เหมือนกัน การกระทำของเขา ก็แตกต่างกันออกไป ผมขอยกเป็นตัวอย่าง คนบางคนทำผิดไม่มีใครรู้ เลยไม่เป็นเรื่องใหญ่เลยสักนิด แต่บางคนตรงกันข้ามครับ ความผิดน้อยนิดรู้กันหมดเมือง ก็ในเมื่อ มันไม่ร้ายแรง แล้วทำไม เรื่องมันถึงทำให้คนนินทาคนๆ นั้นได้ล่ะครับ เมื่อทำผิดด้วยกันแล้ว ทิ้งให้อีกคนรับคนเดียวมันถูกต้องแล้วเหรอครับ ผมเห็นเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเองครับ แล้วทำไมผลกรรมมันถึงส่งผลช้าครับ

เวลาที่มีความรักเกิดขึ้นควรทำอย่างไรครับ เพื่อไม่ให้เราหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้คนมองเรา จมปรักแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง แล้วทีนี้ หากว่าเรากลัวความตายขึ้นมา ควรทำอย่างไรครับ ช่วยให้ความกระจ่าง แก่ผมด้วยนะครับ ผมยังอ่อนต่อโลกมาก ประสบการณ์ก็ยังไม่มีเลย สักเท่าไร หากมี คำแนะนำดีๆ ผมจักขอบพระคุณมากครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

ทำไมคนในโลกนี้ ไม่เหมือนกัน การกระทำของเขา ก็แตกต่างกันออกไป สิ่งที่สมมติว่า เป็นสัตว์โลก เป็นคน เป็นสัตว์ เพราะ อาศัย จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นประชุมกัน จึงสมมติว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่แตกต่างกันไป ก็เพราะ ความแตกต่างกันของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการสะสมกับส่วนที่เป็นผลของกรรรม

ส่วนที่เป็นการสะสมของจิต เจตสิกที่แตกต่างกัน ทำให้มีความแตกต่างในอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ครับ บางคนมีอุปนิสัยชอบทำบุญให้ทาน เพราะ อาศัยการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เป็นกุศลในการให้ทานในอดีตบ่อยๆ ก็ทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยเช่นนี้ บางคน มีอุปนิสัยตระหนี่ เพราะ เกิดจิตที่ไม่ให้บ่อยๆ ในอดีตที่ผ่านมา บางคน มีอุปนิสัยชอบฟังธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพราะในอดีต สะสมที่จะเกิดกุศลจิตในความเข้าใจพระธรรมบ่อยๆ บางคนมีอุปนิสัยมักโกรธ เพราะ เกิดอกุศลจิค คือ ความโกรธบ่อยๆ นี่คือความแตกต่างกันของอุปนิสัย ครับ

ความแตกต่างอีกประการหนึ่ง คือ ความแตกต่างในการได้รับผลของกรรม เพราะอาศัยความวิจิตรที่แตกต่างในการทำกรรมที่แตกต่างกันไปตามความละเอียดประณีตของกุศลและอกุศลกรรม ทำให้ได้รับวิบากคือผลของกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งวิบากที่เป็นผลของกรรม คือ ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ก็เกิดจากผลของ กุศลกรรม เป็นวิบากที่ดี

แต่หากได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็เกิดจากผลของกรรมที่ไม่ดี เกิดจากอกุศลกรรม ดังนั้น การได้รับวิบาก มีการ เห็น ได้ยิน ที่แตกต่างกันไป เพราะ ความแตกต่างกันของแต่ละคนที่ทำกุศลและอกุศลมาแตกต่างกัน ครับ

เพราะฉะนั้น ที่อธิบายความแตกต่างกัน ๒ อย่าง ของสัตว์โลกนี้ เพื่อกลับมาสู่คำถาม ที่ถามว่า

ผมขอยกเป็นตัวอย่าง คนบางคน ทำผิดไม่มีใครรู้ เลยไม่เป็นเรื่องใหญ่ เลยสักนิด แต่บางคน ตรงกันข้ามครับ ความผิดน้อยนิด รู้กันหมดเมือง ก็ในมื่อ มันไม่ร้ายแรง แล้วทำไม เรื่องมันถึงทำให้คนนินทา คนๆ นั้นได้ล่ะครับ เมื่อทำผิดด้วยกัน แล้วทิ้งให้อีกคน รับคนเดียว มันถูกต้องแล้วเหรอครับ ผมเห็นเหตุการณ์นี้ ด้วยตัวเองครับ แล้วทำไม ผลกรรมมันถึงส่งผลช้าครับ


- จากคำถามนี้ การที่คนรู้ทั้งเมือง ก็หมายถึง มีการว่า ติ นินทา ทำให้ ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี นั่นแสดงว่า การได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี อันเกิดจากการว่าร้ายนั้น ขณะนั้น จะต้องเป็น ผลของอกุศลกรรมในอดีตที่ได้ทำ เป็นสำคัญ ครับ

เพราะ ตามที่ผู้ถาม ได้กล่าวไว้ว่า บางคนทำผิด แต่ไม่เป็นเรื่องใหญ่ หรือ อาจจะกล่าวได้ว่า ถูกด่าว่า จากคนอื่นมากมาย แต่ ทำไมบางคน ทำผิดเหมือนกันแต่กลับถูกด่าว่ากันทั้งเมือง นี่แสดงให้เห็นถึงความต่างกันแล้ว ไม่ใช่ ความต่างกันของการสะสมประการแรก แต่เป็นความต่างกันของ กุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่ทำให้เกิด วิบาก (ผลของกรรม) ที่แตกต่างกัน อันเป็นความแตกต่างประการที่สอง ที่ได้อธิบายมาข้างต้น ครับ เพราะ อกุศลกรรมในอดีตที่มีกำลังเป็นปัจจัย ทำให้เมื่อทำผิด ก็ทำให้ได้ยินคำด่า ว่าร้าย ทั้งเมือง และ แม้ไม่ได้ทำผิดเลย แต่ก็กลับถูกด่า ว่าร้าย คนรู้ทั้งเมือง แต่รู้ด้วยความเข้าใจผิดก็ได้ และทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดีบ่อยๆ ขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็เป็นผลของอกุศลกรรมในอดีตที่ได้ทำมา ให้ผล มีการ กล่าวตู่ ว่าร้ายคนอื่นในอดีตชาติ ก็ทำให้ตนเองก็ถูกว่าร้ายในปัจจุบันได้ แม้จะทำผิด หรือ ไม่ทำผิดก็ตาม

ดังตัวอย่างที่พระพุทธเจ้า ถูกชาวเมืองทั้งเมืองด่าว่าร้าย จนพระอานนท์ทนไม่ไหว จะหนีไปที่อื่น พระพุทธเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า แล้วถ้าเมืองอื่นเขาว่าเราอีก จะทำอย่างไร พระอานนท์ทูลว่า ก็หนีไปเมืองอื่น เป็นอันว่าหนีไปไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เรื่องเกิดที่ใด พึงให้สงบระงับ ณ ที่นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสบุรพกรรม คือกรรมในอดีตที่ พระพุทธองค์เกิดเป็นฤาษีไปด่า ว่าร้าย ฤาษีผู้ปฏิบัติชอบ เหล่าสาวกของพระโพธิสัตว์ ก็ด่าว่าตามด้วย ด้วยเศษของกรรม จึงทำให้ถูกชาวเมืองด่า ว่าร้ายทั้งเมือง แม้เป็นพระพุทธเจ้า ด้วยคำที่ไม่จริง นี่แสดงถึงสัจจธรรมว่า เมื่อกรรมให้ผล ก็ย่อมไม่เลือกเลยว่าจะให้กับใคร ไม่เกรงกลัวว่า เป็นใคร เพราะ กรรมย่อมยุติธรรมเสมอ แม้คนที่ทำผิดในขณะนี้ แต่ไม่ถูกว่า เพราะ กรรม คือ อกุศลกรรมในอดีต ยังไม่ให้ผล แต่ แม้คนที่ทำผิดเล็กน้อย หรือ จะไม่ทำผิด แต่ถูกคนอื่นด่าว่า กันมากมาย เพราะ อกุศลกรรมในอดีตให้ผล เพราะฉะนั้น การกระทำอกุศลกรรมกับการไม่ทำอกุศลกรรม จึงทำให้เกิดผลแตกต่างกัน ครับ

ส่วนกรรมจะส่งผลช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และไม่มีใครรู้ว่ากรรมใดให้ผล ครับ เพราะ ต้องเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2555

เวลาที่มีความรักเกิดขึ้นควรทำอย่างไรครับ เพื่อไม่ให้เราหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้คนมองเราจมปรักแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง


- พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก แม้แต่การละกิเลส หากไม่มีความเห็นถูก ไม่มีปัญญาก็ละไม่ได้ ดังนั้น ความรัก โลภะ เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ไม่มีใคร หรือ คนอื่นห้ามได้ เพราะเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม กิเลสมีโลภะ ที่สมมติเรียกว่า ความรักก็เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นไปตามการสะสมและหน้าที่ของธรรม ที่เป็นไป

ดังนั้น ถ้ากิเลสเกิด ความรักเกิด ก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้วว่าเป็นธรรมดา เข้าใจแม้ในขั้นการฟังว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป การเข้าใจในขั้นการคิด พิจารณาขั้นการฟังเช่นนี้ ย่อมเป็นหนทางที่ถูก ที่จะเข้าใจกิเลสมากขึ้น แม้ยังละไม่ได้ แต่เข้าใจถูก อันจะนำไปสู่หนทาง การละกิเลสได้จริง

ดังนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและ ก็อยู่กับกิเลสด้วยความเข้าใจ เกิดกุศลจิตและเกิดอกุศลจิตที่มากเป็นธรรมดา ด้วยความเข้าใจ ก็ไม่เดือดร้อนกับกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะ เข้าใจว่าเป็นธรรมดาที่ต้องเกิด ส่วน คนอื่นจะมองอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องของคนอื่น เพราะต่างคนก็ต่างมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ทุกคนก็สามารถเกิดกิเลสได้เหมือนกันทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าใครหรือบุคคลใด จะเกิดกิเลสลักษณะเช่นนี้ อย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจถูก ในกิเลสที่เกิดขึ้น ก็ไม่เดือดร้อนที่จะบังคับไม่ให้เกิด เพราะเกิดแล้ว บังคับไม่ได้ เพียงแต่ว่า ในชีวิตประจำวัน ก็ศึกษาพระธรรม ควบคู่กับกิเลสที่เกิดขึ้น ก็จะเกิดความคิดที่ดี ที่ถูกต้องบ้าง ก็เป็นสาระ เป็นประโยชน์กับชีวิต ที่เต็มไปด้วยกิเลสแล้วครับ

คำถามที่ว่า

แล้วทีนี้หากว่าเรากลัวความตายขึ้นมาควรทำอย่างไรครับ

- โดยนัยเดียวกัน ความกลัวตาย เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาของปุถุชน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม รักอะไร ก็คงไม่เท่าชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้น เมื่อความกลัวเกิดขึ้น ที่เป็นอกุศล คือ โทสะ แทนที่จะไปบังคับ ก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว ว่าเป็นธรรมดาของปุถุชนและยังไม่ใช่วิสัยที่จะไปละความกลัวตายได้ เพราะ ยังเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลส

ดูเหมือนว่า จะเป็นคำแนะนำที่ไม่ให้ทำอะไรเลย แต่ในความเป็นจริง การเข้าใจสิ่งที่เกิดแล้ว ตามความเป็นจริง แม้แต่ความกลัวตาย ก็ได้ชื่อว่า เป็นการเห็นถูกตามความเป็นจริง และ ขณะที่เข้าใจถูก ในขณะจิตนั้น ไม่ได้กลัวตาย แต่กำลังเข้าใจถูก ครับ

เพราะ หนทางที่ผิด คือ หนทางที่จะทำ จะละกิเลส ทั้งๆ ที่เรายังไม่รู้จักกิเลสและไม่มีปัญญาที่จะละกิเลส การละกิเลส จึงไม่ใช่การ จะทำ แต่เป็น การรู้จักกิเลสด้วยปัญญา โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะทำให้มีปัญญา ความเห็นถูก

แม้แต่ กิเลสที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การจะละกิเลส จึงจะต้องเป็นผู้รู้จักกิเลส ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม อาศัยการอบรมปัญญา ปัญญาที่เจริญมากขึ้น ย่อมคิดถูกขึ้น ก็ไม่กลัวตาย ในขณะที่คิดถูก และขณะที่กลัวตายเกิดขึ้น ก็เป็นธรรม เพราะเข้าใจความจริงของกิเลส ก็ไม่เป็นกิเลสซ้อนกิเลส ที่จะไปเดือดร้อนกับกิเลส ก็จะทำให้เป็นผู้มั่นคงในการอบรมปัญญาว่า กิเลสมีจริง ควรรู้ว่าเป็น ธรรม ไม่ใช่เราครับ สบาย สบายด้วยการศึกษาพระธรรม สบายเพราะความเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา มีแต่ธรรมเป็นไป

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกชีวิต เป็นการเกิดขึ้นของสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) ซึ่งไม่มีใครจะสามารถยับยั้งได้เลย ในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า กิเลสหรืออกุศลธรรม เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของกิเลสและอกุศลธรรมนั้นๆ อยู่ตลอดเวลาที่วิบากจิตหรือกุศลจิตไม่เกิดขึ้น นี้คือความจริง แสดงให้เห็นเลยว่า ปุถุชน มักจะตกไปจากกุศลจริงๆ ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นกิเลสระดับขั้นต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

ขณะที่จิตเป็นกุศล เท่านั้น ซึ่งคั่นกิเลสในชีวิตประจำวัน ชั่วครั้งชั่วขณะ กล่าวคือ ขณะที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต หรือ เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเกิดน้อยมากในชีวิตประจำวัน

ตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันตามการสะสม ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ถ้าสะสมมาไม่ดี ก็คิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งในขณะนั้น ก็เบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป แต่ถ้าสะสมมาดี ก็จะคิดในทางที่ถูกที่ควร น้อมประพฤติในสิ่งที่ดี คิดที่จะมีเมตตา เห็นใจคนอื่นซึ่งเป็นผู้ที่มีกิเลสด้วยกัน คิดเกื้อกูลกันและกัน และเห็นใครทำดี ก็ชื่นชมสรรเสริญ เป็นต้น

บุคคลผู้ที่เป็นปุถุชน เป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส มีกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างมากมาย เมื่อได้เหตุ ได้ปัจจัย ก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นทันที เป็นอกุศลทันที อกุศลเป็นธรรม เกิดกับใครก็เป็นอกุศล ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ แต่เพราะมีความยึดถือในความเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ มีความยึดถือว่าเป็นบุคคล คนนั้นคนนี้ ที่ทำไม่ดี ตัวเราเองจึงเกิดอกุศลจิตในเพราะอกุศลของบุคคลอื่น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเห็นใจ สงสาร เข้าใจในอกุศลของบุคคลอื่น เพราะขณะนั้น เขากำลังสร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตัวเขาเอง

ดังนั้น จึงควรพิจารณาตนเองได้ว่า สมควรหรือไม่ที่จิตของเราจะเป็นอกุศล เพราะอกุศลของบุคคลอื่น? ควรที่จะได้คิดอยู่เสมอว่า เกิดมาแล้วต้องตาย แต่ก่อนตาย ควรสะสมอะไรไว้ ระหว่างกุศลกับอกุศล โดยที่ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น เป็นเรื่องของตนเองทั้งนั้น

- ความรัก ความติดข้อง ความยินดีพอใจ เป็นโลภะ เป็นอกุศลธรรม เป็นกิเลสตัณหา เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ ตัณหาเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง ทุกข์ที่เกิดขึ้น ก็เพราะยังมีตัณหา เมื่อดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ย่อมถูกดับไปด้วย โลภะ (หรือตัณหา) เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมทำให้ไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะที่โลภะเกิด ย่อมมีโมหะ (ความไม่รู้) เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ทำให้คิดไปในทางที่ผิด การพูดก็ผิด การกระทำก็ผิด ทำให้ไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ไม่รู้ว่าสิ่งใดมีโทษ สิ่งใดไม่มีโทษ ไม่รู้ว่า สิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์, ขณะที่อกุศลจิตเกิด จึงไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย ทำให้ไม่รู้ความจริง

แต่โดยนัยตรงกันข้าม เมื่อปัญญาเกิด ย่อมเห็นตามความเป็นจริง แม้ความรักความติดข้องเกิดขึ้น ก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่การไปบังคับไม่ให้โลภะเกิด แต่เป็นการเข้าใจ ในสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ ความรัก ความติดข้อง เป็นอกุศล นำมาซึ่งทุกข์ แต่ถ้าเป็น เมตตา แล้ว จะไม่เป็นทุกข์เลย เพราะขณะนั้นเป็นกุศล มีแต่ความหวังดี ความปรารถนาดีต่อกัน ไม่เจือปนด้วยอกุศล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 25 ต.ค. 2555

เป็นธรรมดาของปุถุชน ยังมีความลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง แต่ที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับกรรมของคนที่ถูกว่าด้วย ถ้าเขาทำกรรมไม่ดี ด่าว่าคนอื่น ผลของกรรมนั้น ก็ทำให้เขาได้รับเสียงไม่ดี ถ้าไม่อยากได้รับอกุศลวิบากที่ไม่ดี ก็ต้องเจริญเหตุใหม่ คือเว้นวจีทุจริต ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ฯลฯ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
อารทธวิริโย
วันที่ 25 ต.ค. 2555

การศึกษาธรรม จะให้ประโยชน์เบื้องต้นคือ

ความเข้าใจว่า คนไม่มี

มีแต่สภาพที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย

เพียงแต่การศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tookta
วันที่ 25 ต.ค. 2555

เป็นธรรมดานะคะ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องมีกิเลสต่างๆ แต่ถ้าเรารู้จักตัวกิเลสแล้ว เราก็คงจะต้องใช้ปัญญาของเรา ให้เท่าทันกิเลสของเรา มันจะทำให้เราคิดถูกหรือไม่ ก็ทำให้เราคิดผิดให้น้อยที่สุด อย่างเช่น ในขณะที่เราและเพื่อนเราทำความผิดเหมือนกัน แต่ตัวเรากลับโดนตำหนิมากกว่า เราก็รู้สึกน้อยใจ และเสียใจ แต่ในทางกลับกัน มันก็สร้างความอดทน และ สร้างความคิดให้เราตั้งต้นใหม่ ให้เราไม่ทำผิดอีก

ส่วนเรื่องความรักนั้น เป็นธรรมดานะคะ ที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งมันก็มีทั้งสุขและทุกข์ จะสมหวังในความรักหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมของตนเอง (เพราะฉะนั้น ก็ต้องทำใจนะคะ ถ้าไม่สมหวังในความรัก)

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 27 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nopwong
วันที่ 29 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
natural
วันที่ 26 พ.ย. 2555

เป็นคำถามที่เคยสงสัยเช่นกัน

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาในคำถามที่เป็นประโยชน์และทุกความคิดเห็นที่ช่วยให้เข้าใจในธรรมเพิ่มขึ้นค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ