กรรมฐาน

 
อรรถวาที
วันที่  10 ก.ย. 2555
หมายเลข  21712
อ่าน  23,223

๑. ความหมายของกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานคืออะไร

๒. ความสำคัญของกรรมฐานคือ

๓. จุดมุ่งหมายของกรรมฐานคือ

๔. แนวคิดหลักการวิธีการปฏิบัติกรรมฐานในพระพุทธศาสนาคือ

๕. รูปแบบการปฏิบัติกรรมฐานมีกี่รูปแบบ

๖. หลักการธุดงด์

๗. หลักการปฏิบัติที่สำคัญในประเทศไทย

๘. การปฏิบัติกรรมฐานที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

๙. ประโยชน์ของการปฏิบัติกรรมฐานในชีวิตประจำวัน

นี่คือปัญหาทั้งหมดที่ผมอยากถามวิทยากร

เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ความหมายของกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน คืออะไร

คำว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมายถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำสมถกรรมฐาน คือ การอบรมความสงบของจิตเพื่อข่มนิวรณ์ จนจิตสงบเป็นฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อม ย่อมเกิดในพรหมโลก

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การอบรมเจริญปัญญา ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสตามลำดับ เพื่อดับกิเลสทั้งหมดไม่ต้องเกิดอีกเลย

๒. ความสำคัญของกรรมฐาน คือ

โดยมาก สัตว์โลกที่เกิดมาเต็มไปด้วยกิเลส มีความไม่รู้ เป็นต้น การเจริญกรรมฐาน ก็คือ เป็นการเจริญปัญญา เพื่อระงับกิเลส ไม่ให้เกิดชั่วคราว และ เจริญปัญญา เพื่อถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ

๓. จุดมุ่งหมายของกรรมฐาน คือ

สมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อความสงบจากกิเลสชั่วคราว วิปัสสนากรรมฐาน เป็นไปเพื่อการดับกิเลสหมดสิ้น

๔. แนวคิดหลักการวิธีการปฏิบัติกรรมฐานในพระพุทธศาสนา คือ

ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐาน และวิปัสสนา ก็ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่ไปปฏิบัติโดยไม่รู้อะไร และ ปัญญาที่เจริญขึ้นจากการฟังที่เข้าใจ ย่อมปรุงแต่งให้เกิดความสงบ ที่เป็นสมถภาวนา และ เมื่ออบรมปัญญา ในเรื่องของสภาพธรรม ย่อมเกิดปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ที่เป็น วิปัสสนากรรมฐาน

๕. รูปแบบการปฏิบัติกรรมฐานมีกี่รูปแบบ

สาวก แปลว่า ผู้สำเร็จจากการฟัง

เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คือ อาศัยการศึกษาพระธรรมและฟังพระธรรม เป็นหนทางที่ถูกต้อง ที่จะถึงการปฏิบัติธรรม ครับ

นี่คือ รูปแบบที่ถูกต้อง คือ ปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ อาศัยการฟัง การศึกษา ย่อมถึงปฏิบัติเอง โดยไม่มีตัวตนที่ไม่เข้าใจไปปฏิบัติ ครับ

๖. หลักการธุดงด์

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ถาม ... ความหมายและประเภทของธุดงค์

๗. หลักการปฏิบัติที่สำคัญในประเทศไทย

การปฏิบัติที่สำคัญ คือ ปฏิบัติด้วยหนทางที่ถูก อันเป็นไปเพื่อละกิเลสจนหมดสิ้น ด้วยการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ได้จำกัดว่าประเทศไหน หรือ อย่างไร ย่อมสมควรกับสัตว์โลกทั้งหลาย ที่สะสมความเห็นถูกมาทั้งหมด ครับ

๘. การปฏิบัติกรรมฐานที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา อันอาศัยการฟังให้เข้าใจเป็นสำคัญก่อนครับ แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไร

๙. ประโยชน์ของการปฏิบัติกรรมฐานในชีวิตประจำวัน

เป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ และความเห็นผิด ที่ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล และทำให้มีปัญญาที่รู้ความจริงว่ามีแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อันจะทำให้ถึงการดับกิเลสในที่สุด พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่จะทำให้มีการประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ต้องเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะศึกษาธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ถ้ามีความตั้งใจจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษาความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นอย่างแน่นอน การศึกษาธรรม ก็คือ ศึกษาสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรมจริงๆ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป เลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย การฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ทำให้มีความมั่นคงในเหตุในผลของธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง

ยังมีพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะเป็นโอกาสที่สำคัญที่ผู้เห็นประโยชน์จะได้ฟัง ได้ศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น พระธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดง ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจในสภาพธรรมที่มีจริง โดยตลอด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
รวงข้าวท้องแก่
วันที่ 13 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 13 ก.ย. 2555

กรรมฐาน หมายถึงที่ตั้งของสติ เช่น การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณของพระธรรม หรือระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ทำให้เกิดกุศลจิต น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
อรรถวาที
วันที่ 13 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 14 ก.ย. 2555

เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ 3 ครับ

ธัมมะคือนามธรรม รูปธรรม

ธัมมะคือจิต เจตสิก รูป

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Maccha
วันที่ 16 ต.ค. 2560
sadhu
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ