ข้อความเตือนสติเรื่องปฐมสุขสูตร

 
wittawat
วันที่  26 เม.ย. 2555
หมายเลข  21026
อ่าน  3,464

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร.

ปฐมสุขสูตร และ อัญญติตถิยสูตร

.. เสาร์ที่ ๗ ส.ค. ๒๕๕๓

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร

ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

๑. ชีวิตประจำวัน หาอะไร ค้นหาอะไร

หาอะไร

ตั้งแต่เช้าเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาหาอะไร รู้บ้างหรือไม่ว่า หารูปทันที เพราะ สิ่งที่ทำเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา มีรูปที่เห็นได้ทางตา แม้ว่าไม่ต้องหาเลย แต่ขณะที่จะเดินไปไหน รู้บ้างหรือไม่ว่า หารูปนั้นแล้ว ทั้งๆ ที่มีรูปปรากฏอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นรูปยังหารูปที่ลึกไปกว่านั้น คือ ไม่เพียงแต่หารูป ยังค้นหารูป เพื่อหาสาระ (ประโยชน์) ในรูป เช่น ในตู้ที่บ้านก็มีเสื้อหลายตัว ยาสีฟันก็มีหลายประเภท และก็เลือกตามความพอใจ ค้นรูปที่น่าพอใจที่เป็นยาสีฟัน เป็นต้น

ที่มาของการค้นหาสาระประโยชน์ภายในรูป

ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ให้ทราบว่า ไม่พ้นจากความเป็น กามาวจร คือ ความวนเวียนติดข้องในรูปทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มีความติดข้องโดยที่ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงเป็นธรรม ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เมื่อไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีในชีวิต จึงเป็นที่มาของการแสวงหารูป การค้นหาสาระในรูป ทั้งหมดมีก็ด้วยความไม่รู้ว่าเกิด แล้วก็ดับด้วย ซึ่งหาสาระไม่ได้

ความเดือดร้อนจากการค้นหา การแสวงหา ความครอบครอง จะหมดไปได้อย่างไร

ภาระจากการแสวงหาก็มาจากกิเลส ที่จะดับกิเลสได้ ก็ต้องมีความเข้าใจธรรม เพราะมีความเข้าใจธรรม ซึ่งจะเข้าใจธรรมได้นั้น ไม่ใช่เพียงแต่การฟังเพียงเผินๆ เช่น ได้ยินว่า “เห็น” เป็นธรรม ก็บอกว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ว่าเห็นเป็นธรรม เป็นต้น นั่นเป็นแต่เพียงการได้ยิน เพียงเรื่องของสิ่งนั้น แต่ไม่ได้เข้าใจความลึกซึ้ง คือ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และที่ละเอียดกว่านั้น คือ ความเกิดดับของธรรม ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม จึงต้องรู้ชีวิตจริงๆ เข้าใจธรรม ว่าเป็นธรรม และเมื่อเข้าใจธรรมก็คือ การละความไม่รู้ละความสงสัยในธรรม ละกิเลส ละการยึดถือสิ่งที่กำลังมี จนกว่าจะไม่เหลือเลย ก็ด้วยความเข้าใจ ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยไม่มีทางอื่น

๒. สาระประโยชน์ที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่

วันนี้ทำอะไรบ้าง ดื่มน้ำธัญพืช ทำไมต้องเป็นธัญพืช ทำไมไม่เป็นพริกเผ็ดๆ หรือว่าข้าวดิบๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่สาระที่เป็นไปเพื่อ การมีชีวิตอยู่ ก็ต้องฉลาดที่จะรู้ความเป็นสัปปายะ เช่น อาหารที่สมควรแก่ร่างกายเพื่อการมีชีวิตอยู่

แล้วอยู่ต่อไปเพื่ออะไร เพื่อวัฏฏะหรืออย่างไร แต่ที่สูงสุด ก็คือมีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ ธรรมมีอยู่ มีสิ่งที่ปรากฏอยู่ แต่ถ้าปรากฏกับอวิชชา ก็ไม่รู้ความจริง ถ้าปรากฏกับปัญญา ก็รู้ความจริง

๓. มีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ

การมีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ หรือ มีชีวิตอยู่เพื่อยังปัญญาให้เกิดขึ้น นั้น คือ ถ้าเป็นผู้รู้ว่าอกุศลทั้งหลายไม่ดี จะอยู่ด้วยความไม่ดี หรือว่าอยู่ด้วยปัญญา เพราะถ้าเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ก็จะละเว้นอกุศล อบรมปัญญาที่รู้ความจริง ในขณะนี้จนกระทั่งดับอกุศลได้ ถ้าปัญญาปรากฏเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็อยู่ด้วยปัญญาที่มีเพียงเล็กๆ น้อยๆ นั้น คือ เห็นโทษของอกุศล เว้นจากอกุศลนั้น จึงเป็นการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เพราะถ้าความเข้าใจมียิ่งขึ้น ปัญญาก็ทำหน้าที่ละคลายกิเลสเพิ่มขึ้น คือ การอยู่ด้วยปัญญาที่เกิดแล้ว ตามลำดับขั้นของปัญญา จนกว่าปัญญาขั้นที่รู้แจ้งสภาพธรรมจะปรากฏ

๔. ขณะนี้ฟังธรรมแล้วรู้ความจริงของธรรมหรือยัง

ทรงแสดงเรื่องของจิต และเจตสิก ความจริง คือ เจตสิก เกิดแล้วดับแล้วอย่างนี้ แต่ก็ไม่ได้ปรากฏแก่ปัญญาที่เริ่มรู้ลักษณะที่เป็นจิตซึ่งไม่ใช่ลักษณะของเจตสิก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ตรงก็จะทราบได้ว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็เพื่อละความไม่รู้ ความสงสัย และความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด

๕. ความหมายของ “การถือภาระ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก”

“ขันธ์ ๕ ชื่อว่า ภาระ และ ผู้แบกภาร คือ บุคคล การถือภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้ก็เป็นสุข” (สังยุตนิกาย ขันธวารวรรค ภารสูตร)

ความหมายของ “ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระ” เห็นแล้ว ลำบาก หรือไม่ ถ้าไม่เคยเห็นเลย จะพอใจสิ่งที่เห็นได้หรือไม่ แล้วพอใจดีหรือไม่ เพราะฉะนั้น ไม่เห็นเลย ก็ดีกว่าเพราะเมื่อเห็นแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลเกิดหลังจากที่เห็นแล้ว เช่น ติดข้องบ้าง ชังบ้างเกิดมาทุกคนก็มีภาระ ภาระอยู่ที่ขันธ์ ถ้าไม่มีขันธ์ ก็ไม่มีภาระ เช่น ความรู้สึกทุกข์เกิดจากหลายอย่าง ร้อนมากก็ไม่ชอบ หนาวมากก็ไม่ชอบ ซึ่งก็ต้องมีภาระ ที่จะหาสิ่งที่ชอบ และไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่ชอบ ซึ่งก็เป็นภาระใหญ่ตลอดชีวิต ตราบที่ยังมีขันธ์แล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง เห็นแล้วยังชอบอยู่เพราะฉะนั้น ภาระที่แท้จริง ก็คือ ความติดข้อง ซึ่งถ้าสามารถละคลายบรรเทา เบาบางกระทั่งดับความติดข้องได้ ก็ไม่มีภาระต่อไป เพราะไม่มีขันธ์ ๕ เกิดอีก

๖. ธรรมเป็นทุกข์อย่างไร อายตนะ ธาตุเป็นทุกข์อย่างไร

ธรรมเกิดแล้วดับแล้ว เป็นทุกข์หรือไม่ เพราะว่าเกิดว่าเพียงเพื่อเห็น แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ซึ่งไม่สามารถทนที่จะเป็นสภาพธรรมนั้นๆ ต่อไปได้ก็ต้องดับไป จึงเป็นทุกข์แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เช่นเดียวกันก็เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย เป็นแต่เพียงการอุปัติของธาตุ ซึ่งเกิดแล้วกระทบ จักขุปสาท ซึ่งขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมทุกขณะจิต ซึ่งจะกล่าวว่าเป็นอายตนะก็ได้ และอายตนะ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ประชุมพร้อมกันในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะ ปราศจากกันไม่ได้เลย ในขณะนั้นเป็นที่ก่อ เป็นที่ประชุม เป็นที่เกิด และเป็นที่สืบต่อด้วย คือ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดโดยไม่สิ้นสุด ซึ่งไม่มีอะไรเลย นอกจากธาตุที่เกิดขึ้น ทำกิจของธาตุนั้นๆ แล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก และไม่กลับมาอีก

๗. ความหมายของ “ทุกข์ อาศัย ผัสสะ เกิดขึ้น”

ถ้าพิจารณาโดยนัยของหนึ่งขณะจิต (ไม่กล่าวถึงความเป็นปัจจัยในขณะอื่นๆ ) ผัสสะ คือ เจตสิกซึ่งกระทบอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ที่จิตและเจตสิกอื่นๆ กระทบนั้น ต้องเป็นอารมณ์ที่ผัสสะกระทบเท่านั้น ไม่ใช่อารมณ์อื่น เพราะฉะนั้น ที่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั้น จะสามารถรู้อารมณ์ได้ก็ต้องมีผัสสเจตสิก ซึ่งผัสสะก็นำมาซึ่งผล ก็คือ การเกิดขึ้นของธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับผัสสะ และ ทุกอย่างที่เกิดก็เป็นทุกข์ ทุกข์ก็ไม่หมดไปตราบที่ยังมีการติดข้อง ยังมีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่

๘. ที่มาของความวิปลาส และ คุณประโยชน์ของการฟังธรรม

ความจริง ธรรมเกิดแล้วดับแล้ว แต่เมื่อไม่รู้ความจริง ก็สืบต่อ กระทั่งปรากฏเป็นนิมิต รูปร่าง สัณฐาน แล้ว ก็ด้วยความไม่รู้ ก็จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยอัตตสัญญา ว่าสิ่งนั้นเที่ยง ไม่ได้ดับไป ซึ่งไม่ใช่อนิจจสัญญา เพราะฉะนั้นขณะนั้น ความเห็นก็ผิด ความเข้าใจก็ผิด ก็วิปลาส คือ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เกิดดับอยู่ ในทุกขณะที่อกุศลเกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์มหาศาล จากการฟังพระธรรมเข้าใจ เพราะทำให้รู้ความจริง ซึ่งอวิชชาที่สะสมมามากมายในสังสารวัฏฏ์ บดบังปกปิดไว้ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ จากการฟังที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้ความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้

๙. ที่มาของการยึดถือสภาพธรรมด้วยความเป็นตัวตน

สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะนี้ ทราบหรือไม่ว่าเป็นนามธรรม และ รูปธรรมที่เกิดดับนับไม่ถ้วน เช่น มีสิ่งที่ปรากฏและหลังจากจิตเห็นเกิดดับแล้ว รูปก็ยังไม่ดับ เพราะสภาวรูป มีอายุเท่าจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จากนั้นแล้วก็มีจิตที่เกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก เพราะฉะนั้นขณะนี้ ก็กำลังมีความจริง ที่เกิดดับนับไม่ถ้วน ระหว่างนั้นอวิชชาก็เกิดขึ้นมากมาย จึงไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เห็นโดยความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่หรือติดข้องในนิมิต ก็เพราะมีการเกิดดับสืบต่อ ของรูปที่ปรากฏซ้ำๆ จิตเห็นก็เกิดบ่อยมากๆ สิ่งที่ปรากฏก็ถูกเห็นบ่อยมากๆ กระทั่งปรากฏเป็นนิมิต รูปร่าง สันฐาน ซึ่งความเห็นผิด ก็เข้าใจว่ามีคนนั้นจริงๆ มีสิ่งนั้นจริงๆ ก็ด้วยอัตตสัญญา ที่จดจำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าที่จะรู้ความจริง ตามที่ได้ฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม เป็นสิ่งที่ปรากฏจริง ฟังแล้ว ไม่ลืม กระทั่งมีสิ่งที่ปรากฏแล้วเริ่มเข้าใจ นั่นก็คือการเริ่มออกจากความมืด ซึ่งต้องเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย จึงจะสามารถทราบความหมายของการละคลายความไม่รู้ ละความเห็นผิดจากสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

๑๐. ละความหวังได้อย่างไร?

จะสามารถละคลายความหวัง ความติดข้องได้ ก็ด้วยความเข้าใจลักษณะของความจริงที่กำลังปรากฏ

๑๑. การพิจารณารูปที่ติดข้องอยู่ในชีวิตประจำวันโดยความเป็นธรรม

ขณะนี้มีตัวตน หรือ ตัวเราเองจริงหรือไม่ เสมือนมีตัวตน คือ ตัวเราเองนี้อยู่จริงๆ แต่จริงๆ แล้วไม่มีจริง แล้วจริงๆ มีอะไร ก็คือมีเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ มีคิด มีแข็ง มีสภาพรู้แข็ง เป็นต้น มีธรรมทีละ ๑ อย่าง ซึ่งไม่ได้ปะปนกันเลย ซึ่งสามารถค่อยๆ ไตร่ตรองจนกระทั่งเข้าใจขึ้นได้

๑๒. พิจารณาความจริงจากสิ่งที่กำลังปรากฏโดยเสมอกันว่าเป็นธรรม

บางครั้งที่มีความคิด ความเข้าใจว่า เข้าใจแข็งมากกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือ คิดว่าเข้าใจแข็งง่ายกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นเป็นแต่ความคิดเอง แต่ความจริง การฟังธรรมต้องเสมอกันว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อแข็งปรากฏ เพราะมีสภาพที่กำลังรู้แข็งฉันใด สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏได้ ก็เพราะมีจิตเห็นเช่นเดียวกัน กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังปรากฏให้เห็น แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งปรากฏเมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ จากการที่ไม่เคยชินการเข้าใจถูกเห็นถูก คลาดเคลื่อนไป ตามรูปร่าง สัณฐาน นิมิตมาตลอดทั้งสังสารวัฏฏ์ เปลี่ยนเป็นรู้ความจริงที่ปรากฏ ทีละอย่างๆ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะได้ เช่น เสียง ได้ยิน แข็ง รู้แข็ง เป็นต้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Graabphra
วันที่ 15 พ.ค. 2555

ขอบคุณครับ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 19 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งครับที่นำเสนอและขออนุโมทนาด้วยครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
mon-pat
วันที่ 23 พ.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Chalee
วันที่ 22 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 9 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 26 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 24 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ คุณวิทวัส ด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ