วิธีเจริญเมตตาภาวนา เพื่อเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา ทำได้ไหม

 
ธรรมสวัสดี
วันที่  9 เม.ย. 2555
หมายเลข  20930
อ่าน  14,796

ทำอย่างไรที่จะเจริญเมตตาภาวนา เพื่อเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา ครับ สนใจเรื่องนี้เพราะกำลังจะทำวิทยานิพนธ์ รบกวนท่านผู้รู้ช่วยเล่าแจ้งแถลงไขเอาบุญทีนะครับ ว่า ...

๑. การเจริญเมตตาภาวนานั้นสามารถยกขึ้นสู่วิปัสสนาอย่างไร

๒. จากหัวข้อนี้เป็นการเจริญภาวนาแบบไหนใน ๔ ประเภท (ที่มี สมถยานิก เป็นต้นเป็นประธาน)

๓. ตัวอย่างผู้เจริญเมตตาภาวนาที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา

(ผมหาในโปรแกรมพระไตรปิฎกแล้วหายากจังไม่ค่อยเจอ หรือว่าผมหาไม่เป็นก็ไม่รู้)

รบกวนท่านทั้งหลายหน่อยนะครับ

สาธุๆ ๆ อนุโมทามิ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำ แต่ละคำให้ถูกต้องก่อนครับ

เมตตาภาวนา คือ การอบรมสมภาวนา ที่เป็นการเจริญเมตตาบ่อยๆ เนืองๆ จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่ง การเจริญเมตตาภาวนา จะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน และมีปัญญาว่าจะอบรมเมตตาให้เกิดต่อเนื่องติดต่อกันไปได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องยากมาก และไม่ใช่เป็นการท่องเมตตา ครับ

การเจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริง เช่น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

คำว่าเป็น บาท บาทในที่นี้ หมายถึง เป็นอารมณ์ หรือ เป็นสิ่งที่ถูกสติและปัญญาของการเจริญวิปัสสนารู้ ครับ การเจริญวิปัสสนา หรือ เจริญสติปัฏฐาน เมื่อสติและปัญญาเกิดขึ้น ย่อมจะต้องมี สิ่งที่ถูก สติและปัญญารู้ ซึ่งจะต้องเป็นปรมัตถธรรมที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน หรือ การเจริญวิปัสสนา คือ จิต เจตสิกและรูปนั่นเอง

อารมณ์ หรือ สิ่งที่สติและปัญญารู้ เราเรียกว่า เป็นบาท ของวิปัสสนา คือ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั่นเองครับ

จึงกลับมาที่คำถามที่ว่า

๑. การเจริญเมตตาภาวนานั้นสามารถยกขึ้นสู่วิปัสสนาอย่างไร

การอ่านคำในพระไตรปิฎก จะต้องเข้าใจสอดคล้อง ทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม คือ เข้าใจว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ดังนั้น แม้แต่การเจริญเมตตาภาวนายกขึ้นสู่วิปัสสนา ความหมายนี้ หมายถึง เมตตาภาวนา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต เจตสิกฝ่ายดี ขณะนั้นก็มีจิตที่ประกอบด้วยปัญญาในขณะที่เจริญเมตตาภาวนา ฌานจิตนั้นเอง เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ คือ เป็นบาทของวิปัสสนา

ถามว่า มีใครยก หรือไม่ ไม่มีตัวเราที่จะพยายาม ที่จะทำให้ยกขึ้นสู่วิปัสสนา แต่ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด (วิปัสสนา) ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นเมตตาภาวนาที่เพิ่งดับไป เป็นอารมณ์ให้สติปัฏฐานระลึกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา หรือ ไม่เที่ยง ในขณะที่รู้ความจริงเช่นนั้น ขณะนั้น ชื่อว่า ยกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว แต่ไม่มีอาการที่ยกขึ้น และไม่มีตัวตนที่จะพยายาม จะทำให้ยกขึ้น แต่แล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติและปัญญาก็เกิดระลึกรู้ ลักษณะของเมตตาที่เป็นเจตสิกก็ได้ หรือ จิตที่ประกอบด้วยเมตตาในขณะนั้นก็ได้ชื่อว่า ยกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว และเป็นบาทของการเจริญวิปัสสนาในขณะนั้นแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 เม.ย. 2555

๒. จากหัวข้อนี้เป็นการเจริญภาวนาแบบไหนใน ๔ ประเภท (ที่มี สมถยานิกเป็นต้นเป็นประธาน)

เป็นการเจริญแบบสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาควบคู่กันไป

ที่สำคัญ ไม่ว่าจะศึกษาในเรื่องใด จะต้องเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญที่สุด คือ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะเป็นแต่เพียงธรรมและเป็นอนัตตา จึงไม่มีตัวเราที่จะพยายามให้เมตตาภาวนาเกิด แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคลที่จะมีอัธยาศัยในการอบรมสมถภาวนาหรือไม่ และ ไม่มีตัวเราที่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา เพราะแล้วแต่ว่าสติปัญญาเกิดหรือไม่ เป็นอนัตตา และที่สำคัญที่สุด ไม่เข้าใจผิดว่า การจะบรรลุธรรม จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาได้ เพราะ ผู้ที่บรรลุธรรมโดยไม่เจริญสมถภาวนาในสมัยพุทธกาล มีมากกว่า ผู้ที่อบรมสมถภาวนาก่อนและจึงอบรมวิปัสสนา ครับ

๓. ตัวอย่างผู้เจริญเมตตาภาวนาที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา

ท่านพระสุภูติเถระ เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญเมตตาภาวนา ท่านมีความเข้าใจการเจริญวิปัสสนาถูกต้องด้วย เมื่อท่านเจริญเมตตาภาวนาอยู่ พิจารณาองค์ฌาน (วิปัสสนาเกิด) ของเมตตา เป็นบาท คือ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา บรรลุเป็นพระอรหันต์ ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 355

สุภูติกุฏุมพีก็ได้ไปฟังธรรมกับอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ศรัทธาจึงบวช ท่านอุปสมบทแล้ว กระทำมาติกา ๒ บทให้แคล่วคล่อง ให้บอกกัมมัฏฐานให้ บำเพ็ญสมณธรรมในป่า เจริญวิปัสสนา กระทำเมตตาฌานให้เป็นบาท บรรลุอรหัตแล้ว

สามารถอ่านประวัติของท่านพระสุภูติเถระเพิ่มเติมที่ลิงก์นี้ครับ

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 353

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธรรมสวัสดี
วันที่ 9 เม.ย. 2555

ขอขอบคุณครับ อีกนิดนะครับ คือว่า ...?

๑. ตามความเข้าใจแล้ว การเจริญเมตตาภาวนา เพื่อเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ที่เด่นชัดที่สุดคือในส่วนของจิต (จิตสุขก็รู้ว่าจิตสุข) ทั้งนี้ทั้งนั้น

เพื่ออุบายแห่งความสงบจากนิวรณ์ในขั้นต้นใช่ไหมครับ

๒. (ผมเคยปฏิบัติเมื่อครั้งทดลอง ปรากฏว่านิวรณ์ไม่กลุ้มรุมเลย มีแต่ความสงบสุข จากนั้น ก็พิจารณาความสุขที่มาจากจิตที่มีเมตตา โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าเดิมที่ไม่มีปรากฏ อาศัยหมู่สัตว์เป็นอารมณ์จึงมีขึ้นมาได้แห่งความสุข ตราบนั้น หาความยั่งยืนไม่ เพราะตั้งมั่นในความสุขได้ไม่นาน ความสงบก็มาแทนที่ แล้วดำเนินไปสู่อุเบกขารมณ์ ดังนี้ ด้วยอาศัยพระไตรลักษณ์ ด้วยความที่เคยปฏิบัติมา เมื่อมาสู่ความเป็นอุเบกขาแน่วแน่นิ่ง แต่ยังมีสติรู้เท่าทันอยู่ขณะนั้น จึงเดินงานวิปัสสนาต่อโดยการกำหนดอาการพองยุบของหน้าท้องต่อ)

๓. จากที่ได้บรรยายมา ถูกควรประการใดครับ ซึ่งใน พระไตรปิฎกไม่มีปรากฏ (หรือว่ามีปรากฏ?) เพราะว่าเมตตาภาวนาเป็นสมถะแล้ว เช่นนี้ จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของการภาวนาแบบ ยุคนันท (ควบคู่ไป) ยังไง ทราบว่าเมตตาเจริญได้สุดๆ ที่ ฌาน ๓ ในจตุกนัย และ ฌาน ๔ ในปัญจกนัย เพราะความเป็นแห่งโสมนัสเวทนา

ขอขอบคุณอย่างยิ่งครับ เพื่อประโยชน์ต่อการค้นคว้าจากแหล่งผู้รู้โดยตรง สาธุๆ ๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 9 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ตอบข้อที่ 1

เราจะต้องแยกระหว่างการเจริญวิปัสสนา และ สมถภาวนาครับ การเจริญวิปัสสนา คือการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามควาเมป็นจริง ที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันที่ให้รู้ได้ ที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิกและรูป ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เป็น จิตที่เป็นฌานจิตเท่านั้น มี เมตตาภาวนา เป็นต้น แต่ ขณะนี้ มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ กับ สติและปัญญาที่เป็นการเจริญวิปัสสนา เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ซึ่งก็เป็นจิตประเภทหนึ่งที่ควรรู้และปรากฏบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นจิต จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องมุ่งเฉพาเจาะจงที่ เป็น ฌานจิตเท่านั้น จิตที่กำลังปรากฏก็ควรรู้ในชีวิตประจำวัน โลภะที่เกิดขึ้นก็เป็นจิต ก็ควรรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นต้นครับ ดังนั้น การเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่จะต้องให้สงบจากนิวรณ์ให้เป็นฌานจิตก่อน แต่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ความเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า หากไม่สงบจากนิวรณ์ ไม่ได้เจริญสมถภาวนาแล้ว จะเจริญวิปัสสนาไม่ได้ครับ เพราะผู้ที่บรรลุโดยไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน ก็มีมากมายกว่าผู้ที่เจริญสมถภานาสงบจากนิวรณ์แล้ว จึงเจริญวิปัสสนา ครับ ดังเช่น ท่าอนาถะ นางวิสาขา ท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบันขณะที่กำลังฟังธรรม ซึ่งท่านก็ไม่ได้อบรมสมถภาวนาเลย อบรมวิปัสสนาล้วนๆ ก็บรรลุธรรมได้ครับ เพราะขณะที่ท่านฟังธรรม ขณะนั้น จิตสงบจากกิเลส เพราะเป็นกุศล ขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นก็ปราศจากนิวรณ์และสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในหมวดใดหมวดหนึ่งใน ๔ หมวดของสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งก็แล้วแต่สติ ท่านก็บรรลุธรรมได้


ตอบ ข้อ 2 และ ข้อ 3 ครับ

การเจริญวิปัสสนา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่การรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและปัญญารู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราในขณะนั้น โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนเลยครับ และการเจริญสติปัฏฐาน ก็แยกกับการเจริญสมาธิ ดังนั้น ความสงบที่ไม่คิดเรื่องอะไร และแม้แต่การได้รับความสุข ก็ไม่ใช่เครื่องวัด ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานในขณะนั้น แต่เครื่องวัดว่า เจริญสติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนาถูกต้องหรือไม่ คือ ขณะนั้น ปัญญารู้ว่าอะไร ต้องรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โดยไม่ใช่การคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว การรู้ความไม่เที่ยง ไม่ใช่ปัญญาขั้นต้น จะต้องรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เราก่อนครับ และ การยุบหนอ พองหนอก็ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะความพยายามที่จะทำ จะจดจ้อง จะตามพิจารณา นั่นเป็นการมีโลภะที่ต้องการที่จะรู้ แต่ไม่ใช่ตัวสติและปัญญาที่เกิดขึ้นเองครับ

พระธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ครับ

เชิญคลิกอ่านกระทู้เหล่านี้ก็จะทำให้เข้าใจขึ้นนะครับ

การปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานและ เห็นการเกิดดับนั้น คือเห็นอย่างไรคะ

ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 9 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นจริงๆ ว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องของการกระทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา แต่เป็นเรื่องของสติปัญญาและโสภณธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ในขณะที่สภาพธรรมปรากฏ แล้วรู้ตามความเป็นจริง เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งปฏิบัติธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้จากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับจริงๆ และที่สำคัญ แต่ละบุคคลสะสมอัธยาศัยมาไม่เหมือนกัน แม้จะเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนาที่จะรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถเป็นบาทให้วิปัสสนาเกิดได้ และไม่ใช่หนทางที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ด้วย แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา ด้วย และ เจริญวิปัสสนาด้วย สมถภาวนาจึงจะเป็นบาทให้วิปัสสนาเจริญได้ เพราะองค์ฌานต่างๆ นั้น ก็เป็นธรรมที่มีจริงๆ เป็นฐานหรือที่ตั้งให้สติปัญญารู้ตามความเป็นจริงได้ หรือ แม้ไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา แต่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นการอบรมเจริญวิปัสสนา ก็สามารถดำเนินไปถึงซึ่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นจริงๆ เพราะหนทางที่จะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ดับกิเลส มีทางเดียวเท่านั้น คือ การอบรมเจริญปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 10 เม.ย. 2555

ในพระไตรปิฎกก็มีแสดงเมตตาสูตร ขึ้นต้นว่า กิจอันใดอันพระอริยบุคคล บรรลุบทอันสงบแล้ว กิจอันนั้นกุลบุตรผู้ฉลาดพึงทำ เช่น เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน มีปัญญารักษาตัว ไม่คะนอง ไม่ติดในสกุลทั้งหลาย และผู้ที่มีปกติเจริญเมตตาจนถึงวิปัสสนาก็จะทำให้ดับกิเลสหมด ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 11 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
orawan.c
วันที่ 11 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Zeta
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ