การอนุโมทนาบุญ

 
พิมพิชญา
วันที่  20 มี.ค. 2555
หมายเลข  20828
อ่าน  26,473

มีคนถามมาว่า การอนุโมทนาบุญ กรณีที่ไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยตนเอง แต่คนที่ไปทำบุญ (กระทำกุศลกรรม) มาบอกให้ฟัง เพื่อให้อนุโมทนา

จริงหรือเปล่าคะว่าบุญ (กุศล) นั้นมีกำลังอ่อนไม่เท่ากับการได้ไปเห็นตอนที่กำลังกระทำบุญ รวมทั้งบางครั้งบุญ (กุศล) เป็นประเภทที่ไม่มีการกระทำให้ใครเห็นเป็นลักษณะท่าทาง เช่น เกิดเมตตาจิต เกิดสติ เกิดความเข้าใจตรงขณะที่ฟังธรรม แล้วถ้าหากไปอุทิศบุญประเภทนี้ให้คนนั้นคนนี้อนุโมทนา จริงหรือไม่ว่า จะไม่เท่ากับการที่เราทำทานให้เขาเห็นหรือถือศีลให้เขาเห็น

เพราะเท่าที่อ่านในพระสูตรก็มักเจอเรื่องที่ว่า เทวดาหรือเปรตอนุโมทนาคนที่ทำทานเป็นส่วนใหญ่ (จากการที่พวกเขาได้รู้เห็นจึงอนุโมทนา) แต่ไม่เคยเจอที่ว่าอนุโมทนาผู้ที่เจริญบุญ (กุศล) ประเภทอื่นๆ (เช่น เกิดมหากุศลจิตขณะศึกษาธรรม)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 20 มี.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)


"อนุโมทนา" หมายถึง การพลอยชื่นชมยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว ขณะใดที่มีใจเบิกบาน พลอยชื่นชม ยินดี ในความดีของผู้อื่น ไม่ว่าประการใดๆ ขณะนั้น เป็นกุศลจิต ครับ

...

ดังนั้น กุศลจิต จึงไม่ได้จำกัดเลยว่า จะต้องยินดีในความดีประเภทใดประเภทหนึ่ง ไม่จำกัด แม้ในบุคคล โอกาส และสถานที่

สิ่งที่สำคัญ คือ บุคคลใดมีปัญญาเห็นคุณค่าในความดี เพราะรู้ว่าความดีเป็นสิ่งที่ดี จึงพลอยชื่นชมยินดีในความดีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าความดีนั้น จะเป็นของใครก็ตาม ครับ

...

ส่วนกำลังของกุศลจิตที่เกิดขึ้นอนุโมทนานั้น ไม่ได้มีเครื่องชี้วัดตายตัว ครับ เช่น บุคคลแรก เห็นผู้อื่นถวายทานอยู่ตรงหน้า ก็สักว่าอนุโมทนา

ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง มีปัญญา เห็นคุณค่าของการถวายทานด้วยใจจริง แม้เพียงได้ฟังว่า ผู้อื่นถวายทาน ก็มีใจโสมนัสยินดีอนุโมทนามากกว่าบุคคลแรก

การอนุโมทนาจึงแล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมาจริงๆ ครับ


.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การอนุโมทนา ไม่ใช่เพียงการกล่าวคำว่า "ขออนุโมทนา" แต่ต้องเป็นสภาพจิตใจที่ดีงามในขณะนั้น อ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง ที่พลอยชื่นชมยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ แม้จะไม่มีคนบอก แต่เห็นความเป็นไปอย่างนั้นแล้ว แล้วเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็ได้ อย่างเช่นเพื่อนของนางวิสาขา เห็นบุพพารามที่นางวิสาขาสร้างถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ก็เกิดกุศลจิตอนุโมทนาโดยที่นางวิสาขาไม่ได้บอกเลย หรือ มีผู้อื่นบอก แล้วเกิดกุศลจิต อนุโมทนา ก็ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะถ้าเป็นบุคคลที่สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม เมื่อเห็นคนอื่นหรือได้ทราบว่าคนอื่นได้กระทำในสิ่งที่ดี ก็ชื่นชมอนุโมทนา แม้ตนเองจะไม่ได้กระทำ แต่ก็เกิดกุศลจิตได้ ในขณะที่พลอยชื่นชมยินดีในกุศลของผู้อื่น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าขณะใดที่ไม่อนุโมทนา นั้น เป็นเรื่องของอกุศล ไม่ใช่กุศลเลย แม้จะเห็น หรือ จะมีคนบอก ก็ไม่อนุโมทนา เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับการอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะทานเท่านั้น แต่หมายรวมถึงกุศล ทุกประเภท เป็นที่ตั้งแห่งการอนุโมทนา ของผู้ที่สามารถรับรู้และเกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้ทั้งหมด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามแรก

มีคนถามมาว่า การอนุโมทนาบุญ กรณีที่ไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยตนเองแต่คนที่ไปทำบุญ (กระทำกุศลกรรม) มาบอกให้ฟัง เพื่อให้อนุโมทนา จริงหรือเปล่าคะว่า บุญ (กุศล) นั้นมีกำลังอ่อนไม่เท่ากับการได้ไปเห็นตอนที่กำลังกระทำบุญ


ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจให้ตรงกันครับว่า บุญ หรือ กุศล อยู่ที่ไหน คือ อยู่ที่จิต

การอนุโมทนาบุญ คือ การยินดีในกุศลของผู้อื่นที่กระทำขณะนั้นก็เป็น บุญ หรือกุศลในขณะที่ชื่นขม ยินดีในกุศลของผู้อื่น ซึ่ง บุญนั้นก็ต้องเกิดที่จิต ซึ่ง บุญ หรือกุศลจะมีผลมาก มีการอนุโมทนาบุญ เป็นต้น ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง คือ สภาพจิต ซึ่งจิตที่เป็นกุศล หากได้ศึกษาพระอภิธรรม ก็จะเห็นถึงความละเอียดของกุศลว่ามีระดับประณีตแตกต่างกันไป คือ มีทั้งกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญา กุศลที่ประกอบด้วยความรู้สึกโสมนัส และความรู้สึกเฉยๆ (อุเบกขา) เป็นต้น ซึ่งกุศลที่มีกำลัง และทำให้ผลบุญมีอานิสงส์มาก คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นกุศลจิตที่เห็นถูกตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วย ก็จะมีผล อานิสงส์มากกว่า กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ได้เห็นถูกตามความเป็นจริงในขณะนั้น รวมทั้ง กุศลที่เกิดความโสมนัส แช่มชื่นด้วยกุศล ก็มีผล อานิสงส์มากกว่ากุศลที่มีความรู้สึกเพียงเฉยๆ ครับ

จะเห็นนะครับว่า บุญ จะมาก จะน้อย สำคัญที่สภาพจิตในขณะนั้นที่เป็นกุศล เป็นกุศลประเภทไหน อย่างไร ดังนั้นจากคำถามที่ว่า กรณีเห็นบุญที่ผู้อื่นกระทำ กับ ไม่ได้เห็นบุญที่ผู้อื่นกระทำ การได้เห็นแล้ว อนุโมทนา มีผล บุญ คือ กุศลมีกำลังมากกว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง ครับ ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ว่า บุญสำคัญที่ สภาพจิตในขณะนั้นเป็นกุศลประเภทไหน ซึ่งหากเป็นผู้ละเอียดงฝแล้ว ขณะที่เห็น เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คือ ความคิดนึกเรื่องราว ขณะที่ได้ยิน ได้ยินแล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องราว ดังนั้น ก็เป็นเรื่องราวเหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ขณะที่จิตคิดนึกเรื่องราวนั้น จะเป็นจิตประเภทอะไร ฉันนั้นเหมือนกัน การเห็นผู้อื่นทำบุญ ขณะที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ทำบุญ ก็คือ เป็นการนึกคิด เป็นเรื่องราวแล้ว และการได้ยิน คือ มีใครมาบอกว่า มีการทำบุญอย่างนี้ ก็สามารถนึกคิดเป็นเรื่องราว ที่เป็นการนึกในใจได้เช่นกัน ก็เป็นเรื่องราวการนึกคิด เข่นกัน แต่จิต ต่างกันได้ แม้ไม่ได้เห็น แต่อนุโมทนาด้วยกุศลจิตที่มีกำลังที่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ หรือ แม้เห็น แต่เกิดกุศลจิตอนุโมทนา แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ผลบุญ และ สภาพจิตก็ต่างกันแล้วครับ

ที่สำคัญที่สุด แม้เห็นแล้ว ไม่อนุโมทนาก็ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า การเห็น ผู้อื่นทำบุญ ไม่จำเป็นต้องเกิดกุศลจิต และไม่จำเป็นจะต้องเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และการไม่ได้เห็น แต่มีผู้อื่นมาบอก ก็อาจเกิด หรือ ไม่เกิดกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือ อาจเกิดกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และมีผลบุญมากกว่าการได้เห็นแล้วอนุโมทนาก็ได้ครับ ดังนั้น สำคัญที่สุด คือ สภาพจิตขณะที่อนุโมทนาเป็นอย่างไร นี่คือ ตัวตัดสินว่า ผลบุญ อานิสงส์จะมากหรือไม่อย่างไร ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2555

และจากคำถามที่สอง ที่ว่า

รวมทั้งบางครั้งบุญ (กุศล) เป็นประเภทที่ไม่มีการกระทำให้ใครเห็นเป็นลักษณะท่าทางเช่น เกิดเมตตาจิต เกิดสติ เกิดความเข้าใจตรงขณะที่ฟังธรรม แล้วถ้าหากไปอุทิศบุญประเภทนี้ให้คนนั้นคนนี้อนุโมทนา จริงหรือไม่ว่า จะไม่เท่ากับการที่เราทำทานให้เขาเห็นหรือถือศีลให้เขาเห็น

เพราะเท่าที่อ่านในพระสูตรก็มักเจอเรื่องที่ว่า เทวดาหรือเปรตอนุโมทนาคนที่ทำทานเป็นส่วนใหญ่ (จากการที่พวกเขาได้รู้เห็นจึงอนุโมทนา) แต่ไม่เคยเจอที่ว่าอนุโมทนาผู้ที่เจริญบุญ (กุศล) ประเภทอื่นๆ (เช่น เกิดมหากุศลจิตขณะศึกษาธรรม)


อนุโมทนา คือ กุศลจิตที่เกิดยินดีในกุศลของผู้อื่น ซึ่งไม่ได้จำกัดประเภทของกุศลเลยครับ ก็สามารถเกิดจิตอนุโมทนาในกุศลทุกประเภทได้ ดังนั้นไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นกุศลที่เห็นเป็นท่าทาง ปรากฏทางตาเท่านั้น จึงจะเกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้ และมีผลบุญมากกว่า แต่ถ้าเป็นกุศลที่มองไม่เห็น ไม่สามารถอนุโมทนาได้ อันนี้ก็ไม่ใช่ครับ หากล่วงรู้ด้วยจิตที่ผู้อื่นสามารถรู้ได้ ก็เกิดอนุโมทนาในกุศลนั้นได้ แต่ที่เรามักเห็นในพระสูตรโดยส่วนมาก ที่อนุโมทนาในกุศลขั้นทาน เพราะเป็นเรื่องราวของเปรต ที่เขาอนุโมทนาบุญของญาติที่อุทิศให้ ที่เป็นกุศลขั้นทาน เพราะเป็นเปรต หิวกระหาย สิ่งที่เขาต้องการ คือ อาหาร ดังนั้น การอนุโมทนาบุญของเปรต จึงเป็นการอนุโมทนาในกุศลขั้นทาน กุศลขั้นการฟังธรรม เปรตไม่สนใจ เพราะกำลังหิวอยู่ ไม่สนใจที่จะฟังพระธรรมครับ เราจึงไม่อุทิศกุศลที่เป็นการฟังพระธรรมการเข้าใจพระธรรมให้เปรต เพราะเปรตย่อมไม่อนุโมทนาในกุศลนั้น ครับ แต่เทวดา สามารถอนุโมทนาในกุศลทั้งขั้นทาน ศีล และ การอบรมปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยครับ ดังตัวอย่างมากมาย มีท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์เป็นต้น ที่ท่านอนุโมทนาบุญในกุศลของผู้ที่ฟังพระธรรมและอุทิศให้ ท่านก็อนุโมทนาและท่านยังได้ตรัสบอกกับพระพุทธเจ้าว่า ในเมื่อบุญ คือ กุศลในธรรมทานมีมากอย่างนี้ ก็ขอให้คนทั้งหลาย จะฟังธรรม มาก หรือ น้อยก็ตาม ก็ขอให้อุทิศส่วนกุศลในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

การอุทิศส่วนกุศล โดยเฉพาะธรรมทาน [เรื่อง ท้าวสักกเทวราช]

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พิมพิชญา
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"สำคัญที่สุด คือ สภาพจิตขณะที่อนุโมทนาเป็นอย่างไร"

นี่คือ ตัวตัดสินว่า ผลบุญ อานิสงส์จะมากหรือไม่อย่างไร ครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Thanapolb
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอชื่นชมยินดีในกุศลที่ทุกท่านได้กระทำแล้ว (ที่ไม่ต้องรอหวังผล ยังไงก็ให้ผล)

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 21 มี.ค. 2555

การอนุโมทนา เมื่อเห็นใครทำความดี ขึ้นอยู่กับจิตขณะนั้น แม้ไม่เห็นใครทำความดี แต่ได้ยินเขาเล่ากัน ก็สามารถอนุโมทนาในความดีของคนอื่นได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 22 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
dhanan
วันที่ 28 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 12 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ