อารมณ์ก่อนตาย

 
พิมพิชญา
วันที่  18 ก.พ. 2555
หมายเลข  20573
อ่าน  2,964

กราบเรียนถามทุกท่านนะคะ

จริงหรือไม่คะ ที่ว่าคนเราทำดีมามากแค่ไหน แต่อารมณ์ก่อนตายคิดไม่ดีเช่น อาจจะหวงสมบัติ หวงร่างกาย คิดถึงบุตรหลานบริวารต่างๆ เลยทำให้ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี

แล้วจริงหรือไม่คะ ที่อาจิณกรรม (พหุลกรรม) มักเป็นกรรมนำเกิดมากที่สุด มีคนบอกว่ากรรมที่นึกถึงบ่อยๆ หรือทำบ่อยๆ กรรมนั้นมักจะทำให้เรานึกถึงขึ้นมาก่อนตาย เหตุหรือปัจจัยอะไรคะที่ทำให้คนเรานึกถึงกรรมนั้นๆ ก่อนตาย

กรรมแต่ละประเภท ที่นึกได้ก่อนตายนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรบ้างคะ หรือว่าไม่มีหลักเกณฑ์ จิตนึกจะสุ่มเจอกรรมไหนก็กรรมนั้นพาไปเกิดหรือเปล่าคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม เป็นเรื่องละเอียดและลึกซึ้ง ซึ่งเป็นพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ความจริงในเรื่องกรรมที่วิจิตรโดยนัยต่างๆ ครับ

ซึ่ง กรรม คือ เจตนาในการกระทำที่เป็นไปในกุศล หรือ อกุศล ซึ่งเมื่อมีเหตุ คือ การกระทำกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ย่อมมีผลของกรรมให้ผล นำเกิด คือ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัยที่เหมาะสม ซึ่งการให้ผลของกรรมก็ขึ้นอยู่กับประเภทของกรรมที่ทำด้วย เป็นสำคัญครับ อย่างกรรม บางอย่างถ้าเป็นกรรมหนัก คือ ครุกรรม ซึ่งมีทั้งฝ่ายกุศล หรือ อกุศล

ฝ่ายกุศล คือ การอบรมสมถภาวนาจนได้ฌานและฌานไม่เสื่อม ฝ่ายอกุศล คือ การทำอนันตริยกรรม มีการฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น เมื่อมีการทำครุกรรม คือ กรรมหนัก เช่น มีการฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น กรรมหนัก ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ แม้จะทำกุศลมากมายเพียงใด แต่กรรมหนักย่อมให้ผลก่อน เมื่อตายจากชาติที่ทำอนันตริยกรรม ย่อมตกนรกทันที กรรมอื่นไม่ได้โอกาส กรรมหนักให้ผลก่อน นี่คือหลักของกรรมประการหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่า อาจิณกรรม หรือ พหุลกรรมจะให้ผลก่อนกรรมอื่นเป็นส่วนมาก ตามที่กล่าวในคำถาม ครับ

พหุลกรรม หรือ อาจิณกรรม คือ กรรมที่เสพคุ้นบ่อยๆ จึงทำให้เป็นกรรมที่มีกำลัง แต่ ไม่มีกำลังเท่าครุกรรม กรรมที่เสพคุ้นบ่อยๆ เช่น ทำกุศลที่เกิดปิติโสมนัสอย่างหนึ่ง ก็ คิดถึงบุญนั้นบ่อยๆ นี่ชื่อว่าเป็นอาจิณกรรม หรือ พหุลกรรม ครับ ซึ่งกรรมนี้ไม่จำเป็นจะต้องให้ผลมากที่สุด ตามที่คำถามกล่าวไว้นะครับ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า มีกรรมหนัก หรือไม่ คือ มีการทำอนันตริยกรรมหรือไม่ ถ้ามีการทำบาป หรือ ทำบุญที่เป็นกรรมหนัก กรรม มี ครุกรรมให้ผลก่อน หรือ แม้แต่นึกถึงบุญนั้นบ่อยๆ แต่เผอิญไปทำอนันตริยกรรมก่อนตายไม่นาน ก็ครุกรรมให้ผลก่อน หรือ หากกรรมอื่นๆ ที่ก่อนจะตาย นึกถึงกรรมนั้นที่ เป็นกุศล หรือ อกุศล ก็ตาม แม้กุศลนั้นจะไม่มาก แต่ว่าให้ผลก่อน ก็ทำให้ห้ามกรรมอื่นๆ ได้ครับ ซึ่งกรรมที่ระลึกใกล้ตายเรียกว่า ยทาสันนกรรม ซึ่งถ้าไม่มีกรรมหนักจริงๆ กรรมนี้ก็อาจให้ผลได้ครับ เมื่อนึกถึงก่อนสิ้นชีวิต แม้จะทำกุศลมามากมาย ที่ไม่ใช่ครุกรรม หรือ อกุศลกรรมที่มากมาย ที่ไม่ใช่ครุกรรม ก็มีโอกาสที่เพียงนึกถึงกรรมใดกรรมหนึ่ง ก่อนสิ้นชีวิต ก็สามารถเป็นไปตามกรรมที่นึกก่อนสิ้นชีวิตได้ครับ และแม้กรรมเล็กน้อย ที่ได้ทำ คือ กฏัตตาวาปานกรรม คือกรรมเล็กน้อย ที่ได้ทำทั้งฝ่ายกุศลหรือ อกุศลที่มีกำลังน้อยที่ได้ทำ เมื่อมีเหตุปัจจัย กรรมเหล่านี้ก็สามารถให้ผลได้ ครับ

ดังนั้น จึงไม่มีกฎแน่นอนตายตัว แล้วแต่ว่าทำกรรมอะไร กรรมไหนก็จะให้ผลก็แล้วแต่ แต่ละขณะครับ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นครุกรรมถ้าได้ทำก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ ครับ ส่วนกรรมนอกนี้ มีอาจิณกรรม และ กรรมใกล้ตาย และกรรมเล็กน้อย ก็แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผลครับ เรื่องกรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งไม่มีใครทำได้เลยว่า จะให้กรรมไหนให้ผล แต่เราก็ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และไม่ประมาท ในการที่จะทำอกุศลด้วย ส่วนใกล้จะตาย กรรมใดให้ผล ก็เป็นอนัตตา เพียงแต่ชาตินี้ ได้อบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม ก็สะสมต่อไป เพื่อความไม่เกิดอีก ไม่ต้องรับกรรมในอนาคต ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
homenumber5
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ดังนั้นทุกเวลาจึงควรสะสมกุสลกรรมและไม่ก่ออกุสลกรรมโดยเฉพาะครุกรรม แล้ว จะทราบว่า ครุกรรมมีรายละอียดอีกมาก ดังนั้นจึงควรฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่า สิ่งใดเป็น ครุกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความจริงที่ว่า ชีวิตของแต่ละบุคคลที่เกิดมาแล้วล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีชาติ คือ มีการเกิดแล้ว ชราย่อมติดตาม พยาธิก็ครอบงำและท้ายที่สุดก็ถูกมรณะคือความตายห้ำหั่น ทำให้เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ไม่สามารถกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก

ขณะที่ตาย เป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ที่เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ทันที แล้วดับไป ขณะที่ตาย ไม่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ก่อนจะตาย (คือ ก่อนจุติจิตเกิดขึ้น) ต่างหาก ว่า จะเป็นอย่างไร กุศลจิตหรืออกุศลเกิดก่อนตาย นี่คือสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท คือ ไม่ประมาทกำลังของกุศลและไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการอบรมเจริญปัญญาเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย เพราะเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตในภพนี้ชาตินี้มาถึง ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ไม่มีใครสามารถที่จะขอร้อง หรือ ผัดเพี้ยนได้เลย ดังนั้น จึงควรเจริญกุศลทันที ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาทันที เพราะไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ได้ คือ เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เสมอ โอกาสที่กุศลจิตจะเกิดก่อนตายก็ย่อมจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าผู้ที่ประมาทมัวเมาในชีวิตอันจะเป็นผู้หลงตายซึ่งก็คือตายอย่างไม่มีที่พึ่ง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พิมพิชญา
วันที่ 19 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณสำหรับคำอธิบายนะคะ

อยากขอเรียนถามว่า ครุกรรมฝ่ายกุศลนี่ต้องเป็นฌานจิตเท่านั้นหรือคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 19 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

สำหรับในพระไตรปิฎก แสดงไว้ว่า ครุกรรม มุ่งหมายถึง ฌานจิตขั้นต่างๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พิมพิชญา
วันที่ 19 ก.พ. 2555

กรรมดีที่มีความหนักแน่น มีในกุศลประเภทอื่นๆ ได้ไหมคะ หรือต้องเป็นฌานจิตเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 19 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

กรรมดีอื่นๆ ที่จะให้ผลในชาติถัดไปทันที ไม่มีกำลังเท่า ฌานจิต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 20 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ