ทำไมจึงเป็นพระอรหันต์เตวิชโช-ฉฬภิญโญ ทำไมจึงเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  15 ม.ค. 2555
หมายเลข  20369
อ่าน  28,844

มีปัญหาในวงสนทนาธรรม ให้เรียนถามว่า

๑. พระอรหันต์บางองค์ ทำไมเป็นพระอรหันต์เตวิชโช (ได้วิชชาสาม) หรือ ฉฬภิญโญ (ได้อภิญญาหก) แต่บางองค์ ทำไมเป็นแค่สุกขวิปัสสก (ไม่มีความสามารถพิเศษ)

๒. พระอรหันต์สุกขวิปัสสก มีความแตกฉานในปฏิสัมภิทาด้วยหรือไม่

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. พระอรหันต์บางองค์ ทำไมเป็นพระอรหันต์เตวิชโช (ได้วิชชาสาม) หรือฉฬภิญโญ (ได้อภิญญาหก) แต่บางองค์ ทำไมเป็นแค่สุกขวิปัสสก (ไม่มีความสามารถพิเศษ)


การบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ หนทางเดียว คือ การเจริญวิปัสสนา จึงจะสามารถดับกิเลสหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ ดังนั้น พระอรหันต์ทั้งหมด ไม่ว่าเป็นผู้ใด พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระมหาสาวก พระสาวกทั่วไปที่เป็นพระอรหันต์ ทั้งหมด ล้วนมีความเหมือนกัน คือ เป็นผู้ดับกิเลสหมดสิ้น จึงเรียกว่า เป็นผู้มีวิมุตติไม่ต่างกัน คือ หลุดพ้นจากกิเลสหมดสิ้นเหมือนกัน แต่ ก็มีความต่างกันในบางประการ คือ คุณธรรมบางประการ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมดสิ้นเหมือนกันแล้ว แต่คุณธรรมที่ได้ ก็แตกต่างกันไป สิ่งที่ทำให้แตกต่างกันไป คือ บุญ บารมี ที่สะสม หรือ ที่เรียกว่า อภินิหาร ที่ทำมานั้นแตกต่างกัน ทำให้ มึความแตกต่างกันไปตามคุณธรรมของพระอรหันต์แต่ละองค์ครับ พระอรหันต์บางประเภท ได้วิชชา ๓ คือ

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาที่ระลึกชาติได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญากำหนดจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

๓. อาสวักขยญาณปัญญาที่ทำอาสวะให้สิ้น. คือ ทำกิเลสให้หมดสิ้น

ปัญญาข้อที่ ๑ และ ๒ เกิดได้ เพราะอบรมสมถภาวนา แต่เป็นปัญญาไม่ใช่หนทางการดับกิเลส ส่วน การดับกิเลสได้ ไม่ใช่เพราะสมถภาวนา แต่เป็นการเจริญวิปัสสนา จึงมีปัญญาที่เป็น อาสวักขยญาณ ปัญญาที่ทำให้สิ้นกิเลสบางรูปได้ อภิญญา ๖

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

อภิญญา ๖

ซึ่งอภิญญา ๕ ข้อแรก เกิดจาการเจริญสมถภาวนา ทำให้สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ส่วนอภิญญา ข้อที่ ๖ เป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้ เกิดจากการเจริญวิปัสสนาบางรูป ได้ ปฏิสัมภิทา ๔ และบางรูป เป็นพระอรหันต์ สุกขวิปัสสก คือ ดับกิเลสได้อย่างเดียว ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เพราะไม่ได้อบรมสมถภาวนา ครับ และไม่มีความแตกฉาน ในพระธรรม และปฏิภาณ อย่างยิ่ง ที่เป็นปฏิสัมภิทา ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

จะเห็นนะครับว่า พระอรหันต์ แม้ดับกิเลสหมดสิ้นแล้วเหมือนกันหมด แต่ก็มีคุณธรรม ต่างๆ กันไป เหตุผล ใกล้ คือ เพราะ พระอรหันต์บางรูป ไมได้อบรมสมถภาวนา จนได้ ฌาน เพียงแต่อบรมวิปัสสนาอย่างเดียว จึงดับกิเลสอย่างเดียว ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ ได้ เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก แต่ พระอรหันต์บางรูป อบรมสมถภาวนา จนได้ฌานขั้น ต่างๆ พร้อมกับอบรมวิปัสสนาด้วย จึงสามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ มี อภิญญา และ วิชชา ๓ เป็นต้น เพราะเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาควบคู่กันไป

เป็นอันสรุปได้ว่า ความแตกต่างที่เป็นเหตุใกล้ คือ บางรูปอบรมสมถภาวนาได้ฌาน พร้อมกับเจริญวิปัสสนา กับ บางรูปไม่ได้เจริญสมถภาวนา แต่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว

เหตุผลประการสำคัญที่สุด ที่ทำให้มีความแตกต่างกัน ของพระอรหันต์แต่ละรูป คือ บุญ บารมี ที่เรียกว่า อภินิหาร ที่ทำมาแตกต่างกันไปครับ

พระอรหันต์บางรูปในอดีตชาติ สะสมบุญมามาก และระยะเวลายาวนาน เช่น อัครสาวก ที่อบรมบารมี หรือ บุญและปัญญามานาน ๑ อสงไขยแสนกัป เพราะการอบรม บุญบารมีมายาวนาน จึงทำให้ คุณธรรม รวมทั้งปัญญาของท่านที่สมควรกับตำแหน่ง ของท่าน ที่เป็นเลิศในสาวก คุณธรรมหลังจากบรรลุเป็นพระอรหันต์จึงเลิศมากตามไปด้วย ตามกำลังปัญญา และบุญที่สะสมมามากนั่นเองครับ ทำให้ท่านได้คุณธรรม ทั้ง อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ เพราะอบรมสมถภาวนาและวิปัสสนามาแล้วในอดีตชาตินับ ชาติไม่ถ้วน มากกว่า สาวกทั่วไปนั่นเองครับ

ส่วนพระอรหันต์บางรูป เช่น มหาสาวก ที่ท่านปรารถนา ตำแหน่งผู้เลิศต่างๆ เช่น พระอนุรุทธะ ที่เป็นเลิศในทางตาทิพย์ ท่านก็ต้องอบรม บุญบารมี มากมาย มหาศาล มากกว่า สาวกปกติที่จะบรรลุเพียงดับกิเลส ไม่ได้ฤทธิ์ต่างๆ ด้วยเหตุที่ว่า เพราะมหาสาวกที่ปรารถนาตำแหน่งต่างๆ นั้น อบรมบุญบารมี มามากว่า สาวกปกติทั่วไปคือ แสนกัป เมื่อมีการอบรมบุญ บารมีและปัญญามามาก คุณธรรมของท่านจึงเลิศ คือ ถึงพร้อม ด้วยอภิญญา ๖ รวมทั้งปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ส่วน พระอรหันต์ปกติที่ท่านดับกิเลสได้อย่างเดียว ไมได้ฌาน ไมได้เจริญสมถภาวนา ก็เพราะอบรมปัญญา หรือ บุญ บารมีมาไม่มาก คือ บางรูป เพียง ๓๖ กัป บ้าง เป็นต้น ก็ บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะไม่ได้ปรารถนาตำแหน่งที่เลิศใหญ่ จึงไม่ต้อง สะสมบุญ บารมีที่มาก เหมือนผู้ที่ปรารถนาจะเป็นมหาสาวกครับ ดังนั้น เพราะความแตก ต่างของบุญ บารมี และปัญญาที่ได้สะสมมาในระยะเวลาที่แตกต่างกันนั่นเอง จึงทำให้ มีความแตกต่างกันของพระอรหันต์แต่ละประเภทครับ

คนที่ฝึกงาน ผู้ใดฝึกงานในเรื่องนั้น ใช้ระยะเวลายาวนานกว่าผู้อื่นมากๆ ผู้นั้ก็ย่อมมีความชำนาญ และเก่งกว่าผู้ที่ฝึกงานมาน้อยนิดครับ

รวมทั้งเหตุผลที่ว่า เมื่อปรารถนาตำแหน่งที่เลิศ คุณธรรมก็ต้องเหมาะสม และเลิศตามตำแหน่งนั้นด้วย เช่น พระอนุรุทธะ ปรารถนาตำแหน่งที่เลิศในด้านตาทิพย์ไม่ใช่เพียงจะเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสเท่านั้น ท่านก็ต้องมีการอบรมสมถภาวนาด้วยควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา จึงจะได้ตาทิพย์และดับกิเลสด้วย ส่วนสาวกที่เป็นพระอรหันต์ทั่วไปในอดีต ท่านไม่ได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็น ผู้เลิศในด้านต่างๆ ก็ไม่ต้องสะสมบุญบารมีมาก และไม่ต้องอบรมสมถภาวนา เพื่อให้ได้คุณธรรมอย่างอื่นเพื่อเหมาะสมกับตำแหน่ง คุณธรรมที่เลิศในด้านต่างๆ นั่นเองครับ ท่านจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ สุขวิปัสสก คือ ดับกิเลสอย่างเดียว ไมไ่ด้ฤทธิ์อะไรนั่นเองครับ


๒. พระอรหันต์สุกขวิปัสสก มีความแตกฉานในปฏิสัมภิทาด้วยหรือไม่ปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานในธรรม ๔ ได้แก่ ธรรม ๑ อรรถ ๑ นิรุตติ ๑ ปฏิภาณ ๑


ปุถุชน ไม่มีปฏิสัมภิทา แต่ พระอริยบุคคลเท่านั้นที่มีปฏิสัมภิทา พระอริยบุคคลทุกขั้นมีปฏิสัมภิทาญาณ แม้พระโสดาบันก็มีครับ รวมทั้งพระอรหันต์ สุกขวิปัสสก แต่ไม่บริบูรณ์ เท่ากับพระอรหันต์ที่เป็นมหาสาวก สำหรับพระมหาสาวก ทุกท่านมีปฏิสัมภิทาต่างกันได้ คือ มีปัญญาแตกฉานตามการสะสม เช่น ท่านพระสารีบุตรย่อมแตกฉานมากกว่ามหาสาวกท่านอื่นๆ ครับ

ดังนั้น พระอริยบุคคลทุกขั้นมีปัญญาแตกฉานที่เป็นปฏฺสัมภิทา แต่แตกต่างกันไป มีมาก มีน้อย ผู้ที่มีมาก ก็เรียกได้ว่า เป็นผู้มีปฏิสัมภิทา ๔ นั่นเองครับ ซึ่ง พระอรหันต์ที่เป็นสุกขวิปัสสก ดับกิเลสอย่างเดียว แต่ไม่ไ่ด้ฤทธิ์ แต่ท่านก็ต้องอบรมวิปัสสนา จนถึงขนาดดับกิเลสได้ ดังนั้น ท่านก็ต้องมีปัญญา แตกฉานบ้าง ในธรรม ในอรรถ บ้างครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 20

อันธรรมดาว่าการเรียนพระพุทธพจน์แม้มากมายแล้วบรรลุปฏิสัมภิทา ย่อมไม่มีแก่ปุถุชน, แต่พระอริยสาวกที่จะชื่อว่าไม่บรรลุปฏิสัมภิทานั้น ย่อมไม่มีเลย.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 15 ม.ค. 2555

นึกย้อนกลับไปตอนสมัยเรียนหนังสือ ....

เวลาสอบ ทุกคนสอบผ่านเหมือนกัน แต่คะแนนที่ได้นั้นแตกต่างกัน รวมทั้งความเฉลียวฉลาดและปฏิภาณของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แถมบางคนมีความสามารถเฉพาะตนอีก ฉะนี้แล

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 306

บทว่า อรหํ ได้แก่ ไกลจากกิเลส อธิบายว่า มีกิเลสอยู่ไกล. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นอรหันต์นั้นอย่างไร? คือ กุศลธรรมทั้งหลาย อันลามก เศร้าหมอง อันเป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ มีความเร่าร้อนมีผลเป็นทุกข์ เพื่อชาติ (ความเกิด) ชรา และมรณะต่อไปของท่านผู้ห่างไกลจากกิเลส ย่อมไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นพระอรหันต์อย่างนี้แล”

(จาก ... ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร)

พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้ทำลายข้าศึก คือกิเลสได้หมดสิ้น เป็นผู้ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป หลังจากที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก จึงเป็นผู้ดับวัฏฏะได้อย่างเด็ดขาด, การบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระโสดาบันบุคคล ถึง ความเป็นพระอรหันต์นั้น ต้องเป็นผู้ที่สะสมอบรมเจริญปัญญา สะสมการสดับตรับฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และต้องเป็นผู้ดำเนินตามทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ คือ การอบรมเจริญอริยมรรค พระอริยบุคคลขั้นสูงสุด คือ พระอรหันต์ ความเป็นพระอรหันต์ ไม่ต่างกัน คือ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีเหลือ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เมื่อกล่าวถึง วิชชา และ อภิญญา แล้ว ไม่พ้นไปจากปัญญาเลย แต่ที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ ต้องเป็นวิชชาที่ ๓ และ อภิญญาที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ เป็นปัญญาที่ทำให้อาสวกิเลสถึงความสิ้นไป ซึ่งเป็นโลกุตตระ เท่านั้น อันผลของการอบรมเจริญวิปัสสนาที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นวิชชาอื่นๆ และอภิญญาอื่นๆ ล้วนเป็นผลของการอบรมเจริญสมถภาวนา นั้น เป็นโลกิยธรรมเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถดับกิเลสได้ นอกจากจะมีพรอรหันต์ผู้ที่อบรมเจริญทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา อย่างเช่น พระอสีติมหาสาวก ๘๐ เป็นต้นแล้ว ก็ยังมีพระอรหันต์อีกประเภทหนึ่ง คือ สุกขวิปัสสกะ คือ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ โดยที่ไม่ได้มีการอบรมเจริญสมถภาวนา ไม่ได้อภิญญา ๕ ไม่ได้สมาบัติ ๘ แต่ก็เป็นพระอรหันต์ ผู้ห่างไกลจากกิเลสเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่มีคุณพิเศษเหมือนอย่างผู้ที่ได้อบรมเจริญทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

พระอริยบุคคลทุกระดับขั้น ย่อมเป็นผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือ แตกฉาน ในเหตุ ๑ ในผล ๑ ในนิรุตติ ๑ และ ในปฏิภาณ ๑ ซึ่งมีระดับที่แตกต่างกันตามปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 15 ม.ค. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Witt
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ