ขอความรู้ด้วยครับ คำถามเกี่ยวกับบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นครับ

 
ชื่นบุตร
วันที่  13 ส.ค. 2554
หมายเลข  18931
อ่าน  9,327

๑. ใครเป็นผู้ประพันธ์บทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นครับ

๒. การสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ใช่ทำนองสรภัญญะหรือเปล่า คือ ผมเห็นว่าสวดกันเป็นทำนองแบบเอื้อนลากเสียงยาว ซึ่งผิดพระวินัย ยกเว้นทำนองสรภัญญะ (ถ้าผมเข้าใจผิดกรุณาแก้ไขให้ด้วยครัย)

๓. บทสวดท่อนนี้ ตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์หรือเปล่าครับ ถ้าตรงกรุณาระบุพระไตรปิฏกด้วย

ก. พุทธัสสาหัสมิ ทาโส (ทาสี) วะ พุทโธ เม สามิกิสสะโร ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า

ข. ธัมมัสสาหัสมิ ทาโส (ทาสี) วะ ธัมโม เม สามิกิสสะโร ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระธรรม พระธรรม เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า

ค. สังฆัสสาหัสมิ ทาโส (ทาสี) วะ สังโฆ เม สามิกิสสะโร ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์ พระสงฆ์ เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า


Tag  มนต์  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑. ใครเป็นผู้ประพันธ์บทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นครับ

-สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น เป็นอาจารย์รุ่นหลังแต่งขึ้นครับ

๒. การสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ใช่ทำนองสรภัญญะหรือเปล่า คือผมเห็นว่าสวดกันเป็นทำนองแบบเอื้อนลากเสียงยาว ซึ่งผิดพระวินัย ยกเว้นทำนองสรภัญญะ (ถ้าผมเข้าใจผิดกรุณาแก้ไขให้ด้วยครับ)

-การสวดมนต์ ไม่ใช่การสวดให้เป็นแบบทำนองสรภัญญะ และการสวดเอื้อนยาว ไม่ใช่การสวดสรภัญญะครับ และถ้าพระสวดเอื้อนยาวอย่างนั้นต้องอาบัติได้ครับ

๓. บทสวดท่อนนี้ ตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์หรือเปล่าครับ ถ้าตรงกรุณาระบุพระไตรปิฏกด้วย

ก. พุทธัสสาหัสมิ ทาโส (ทาสี) วะ พุทโธ เม สามิกิสสะโร ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า

ข. ธัมมัสสาหัสมิ ทาโส (ทาสี) วะ ธัมโม เม สามิกิสสะโร ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระธรรม พระธรรม เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า

ค. สังฆัสสาหัสมิ ทาโส (ทาสี) วะ สังโฆ เม สามิกิสสะโร ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์ พระสงฆ์ เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า

-ไม่มีในพระไตรปิฎกครับ และไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการแต่งขึ้นมาในรุ่นหลังครับ โดยในคำว่า เป็นทาสของพระพุทธเจ้า เป็นทาสของพระธรรม และเป็นทาสของพระสงฆ์ ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า ครับ ซึ่งในพระไตรปิฎก แสดงเรื่องของทาสไว้ครับ ว่า สัตว์โลกเป็นทาสของกิเลส มีตัณหาเป็นต้น เพราะต้องเป็นทาส คอยรับใช้ ตัณหา เมื่อมีความต้องการสิ่งใด (ตัณหา) ก็ต้องคอยรับใช้ ตามกำลังของกิเลส คือ ตัณหาเพราะฉะนั้น จึงเป็นทาสของหมู่กิเลส และ การจะเป็นไท เป็นอิสระ คือ การดับกิเลส มีตัณหา ที่เปรียบเหมือนนาย คอยสั่ง เปรียบเหมือนอาจารย์ที่คอยให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อดับกิเลสหมด ดับตัณหา ก็เป็นไท เป็นอิสระ (พ้นจากความเป็นทาส) จากกิเลสทั้งปวงครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 45

เราก็ฉันนั้น เมื่อก่อนถูกบ่วง คือ กิเลสครองไว้ เป็นผู้อยู่อย่างไม่อิสระ ได้รับทุกข์ใหญ่หลวง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ส่วนเรื่องความเป็นนาย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นนายไม่มีในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแต่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกที่ว่า พระพุทธเจ้า เป็นอิสระกว่าสัตว์ทั้งปวงโดยธรรม คำว่า "อิสระ" หมายถึง เป็นใหญ่ แต่ไม่ใช่เมื่อเป็นใหญ่ คือจะต้องมาเป็นนาย ผู้อื่นเป็นทาส อันนี้ไม่ใช่ครับซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องที่ พระพุทธเจ้าทรงเป็นอิสระ คือ เป็นใหญ่กว่าสัตว์โลกโดยธรรม ไม่ใช่เป็นนาย ครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้าที่ 201

บทว่า ธมฺมราช อุปคมฺม ความว่า เราเข้าไปเฝ้า คือ เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระราชา เป็นอิสระกว่าสัตว์ทั้งปวง โดยธรรม


ความหมายก็คือ "พระพุทธเจ้าเป็นอิสระกว่าสัตว์ทั้งปวงโดยธรรม" คือ พระพุทธเจ้าทรง เป็นใหญ่ (ไม่ใช่เป็นนาย) กว่าสัตว์ทั้งปวง โดยธรรม คือ โดยคุณธรรมของพระองค์ ที่มีคุณธรรมสูงกว่าสัตว์โลกทั้งหมด สมดังที่พระพุทธพจน์ ตรัสไว้ว่า ในบรรดาสัตว์มีเท้า ไม่ มีเท้า หรือสรรพสัตว์ทั้งหมด พระพุทธเจ้า โลกกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง

ดังนั้นพระองค์จึงเป็นอิสระ คือ เป็นใหญ่กว่าสัตว์โลกโดยคุณธรรม แต่ไม่ใช่ว่าเป็น อิสระ เป็นใหญ่ โดยความเป็นนาย และสัตว์โลกเป็นทาสครับ อันนี้คงพอเข้าใจนะครับ

ส่วนข้อความที่ว่า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นอิสระ เป็นนาย ไม่มีในพระไตรปิฎกและ คำสอนครับ

ขออธิบายเรื่อง "ความเป็นอิสระ" อีกนัยหนึ่งเผื่อจะเป็นประโยชน์กับสหายธรรมครับ ความเป็นอิสระ คือ ความเป็นใหญ่ คือสามารถทำอะไรได้ โดยไม่ถูกบังคับควบคุม จากใคร คือ เป็นใหญ่ เป็นอิสระนั่นเองครับ

อธิบาย สภาพธรรมทั้งปวง ไม่อิสระ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔- หน้าที่ 8

พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ได้ตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นอิสระ ผู้ใดรู้แจ้งธรรม ข้อนั้น เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมไม่ยึดถือภพไรๆ ดังบุคคล ไม่จับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชนฉะนั้น เราไม่มีความคิดว่าได้มีมาแล้ว จักมีต่อไป สังขารทั้งหลายจักปราศจากไป จะคร่ำครวญไปทำไมในเพราะสังขารเหล่านั้นเล่า

อธิบายสิ่งทั้งหมดไม่อิสระ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 12

บทว่า สพฺพ อนิสฺสร เอต ความว่า สิ่งทั้งหมดนั้นเว้นจากความเป็นอิสระ คือใครๆ ไม่อาจแผ่ความเป็นใหญ่ไปในโลกนี้ว่า จงเป็นอย่างนั้น.


ในความเป็นจริง คือ ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรม และที่สำคัญสภาพ ธรรมทั้งหลายนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ ด้วยครับ สภาพธรรมใดจะเกิด ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงเกิดขึ้น ไม่มีเรา ไม่มีใคร ที่จะทำให้เกิด เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายจึงไม่อิสระ คือไม่เป็นไปตามอำนาจของบุคคลใด สัตว์ใดที่ จะเป็นใหญ่ ว่าขอสิ่งนี้จงเป็นอย่างนี้ คือ ให้สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เพราะธรรมทั้ง หลายเป็นอนัตตา ใครจะมาเป็นใหญ่ บังคับว่าขอให้สิ่งนี้อย่าเกิด และขอให้สิ่งนี้อย่าดับ ขอให้อย่าแก่ เจ็บ ตาย เป็นไปไมได้ จึงไม่เป็นไปตามอำนาจของใคร ครับ และสภาพธรรมทั้งหลายต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ตัวสภาพธรรมจึงไม่เป็นอิสระเพราะต้อง อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น และไม่เป็นอิสระ ตามความปรารถนาของบุคคลใด ที่จะให้ เกิดหรือไม่เกิดครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษา "มนต์" ให้เข้าใจจริงๆ ด้วยการตั้งใจศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เพราะ มนต์ (ภาษาบาลี คือ มนฺต) หมายถึง ปัญญา บางครั้งก็มีคำว่า พุทธมนต์ (พระปัญญาของพระพุทธเจ้า) ด้วย จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ที่เกิดจากการสะสมบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลาที่ยาวนาน ที่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการศึกษา เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง และประการที่สำคัญ คือ มนต์ในทางพระพุทธศาสนา ต้องเป็นพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเท่านั้น เช่น พระสูตร ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีนัยที่หลากหลายมาก เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง ได้เห็นโทษของกุศล และ เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง เมื่อเห็นโทษของกุศล และเห็นคุณของกุศล ตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่เข้าใกล้กุศล แต่จะถอยกลับจากกุศลให้เร็วที่สุด แล้วตั้งใจมั่นในการที่จะอบรมเจริญกุศลต่อไป ไม่ว่าจะศึกษาจากพระสูตรใด จากส่วนใดของพระธรรมคำสอน ก็ตาม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน เกื้อกูลให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ ก็ยังไม่พ้นจากความเป็นทาสของกิเลส มีโลภะ เป็นต้น ทำให้ชีวิตดำเนินไป เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสอยู่เสมอทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นทาสมานานแสนนาน ก็ไม่รู้ว่าเป็นทาส จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ฟังความจริง ถึงจะรู้ว่า ตนเองเป็นทาสของกิเลส อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาเลย ก็ยังไม่เห็นโทษของกิเลส ซึ่งจะทำให้เป็นทาสต่อไปอีกอย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา จึงไม่ละเลยในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่จะสะสมปัญญาต่อไป เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ ทำให้ไม่ต้องเป็นทาสของกิเลสอีกต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 ส.ค. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ให้ความเข้าใจถูกครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 14 ส.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ให้ความเข้าใจถูกด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 15 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ชื่นบุตร
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอขอบคุณที่กรุณาให้ความกระจ่างครับ ผมสังเกตดูเห็นว่าแต่ละบทสวดจะเป็นกลอน นอกจากที่ผมยกมาเป็นคำถาม ก็ยังมีบทสวดมนต์อีกหลายๆ บทที่สวดกันทุกวัด ถ้าดูคำแปลแล้วรู้เลยว่าไม่ต้องตามคำสอนของพระพุทธองค์ หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้น ตามที่ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้

อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่ อบรมปัญญา พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้ง เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม เมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรม เหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบท กวี มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อพระสูตรเหล่านั้น อันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักตั้งจิตเพื่อรู้จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน เพราะเหตุดังนี้ แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการ ลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้ว พึง พยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔

อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาตบรรทัดที่ ๒๓๙๗ - ๒๔๕๙ หน้าที่ ๑๐๔ - ๑๐๖

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 17 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาคุณชื่นบุตรที่มีความเข้าใจถูกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ชื่นบุตร
วันที่ 17 ส.ค. 2554

อย่างนี้น่าจะมีการสังคายนาบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น แล้วให้คนที่แตกฉานภาษาไทยแปลให้สละสลวย จะได้ไม่เป็นภาษาไทยทะแม่งๆ และก็น่าจะเลิกสวดเอื้อนซะยานคาง กันซะทีนะครับ ขออนุโมทนา ธรรมทานของคุณ paderm และคุณ khampan.a ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
PongCharles
วันที่ 12 มี.ค. 2557

หากไม่สนใจคําตถาคต จะทําให้เกิดความอันตรธานของคําตถาคต เปรียบด้วยกลองศึก

ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว : กลองศึก ของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่ เมื่อ กลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ พวกกษัตริย่ทสารหะ ได้หาเนื้อไม้อื่น ทำเป็นลิ่ม เสริม ลงในรอยแตกของกลองนั้น (ทุกคราวไป) ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้ง หลายคราวเช่นนั้น นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิม ของตัว กลองหมดสิ้นไป เหลือ อยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริม เข้าไปใหม่เท่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้น ในกาลยืดยาว ฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย สุตตันตะเหล่าใด ที่ เป็นคําของตถาคตเป็นข้อความลึกมีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมี ผู้นําสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิต เพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำ ร้อยกรอง ประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคํากล่าว ของสาวก, เมื่อมีผู้นําสูตรที่แต่งขึ้นใหม่เหล่านั้น มากล่าวอยู่; เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักต้ังจิตเพื่อ จะรู้ทั่วถึง และจัก สำคัญว่า เป็น สิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

ภิกษุทั้งหลาย ! ความอันตรธานของสุตตันตะ เหล่านั้นที่เป็นคําของตถาคต เป็นข้อความลึก มี ความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่อง สุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒-๓.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Yak
วันที่ 27 ม.ค. 2562

สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
mahapolp
วันที่ 22 ธ.ค. 2563

สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ