การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญขึ้นของกุศล

 
fam
วันที่  3 ส.ค. 2554
หมายเลข  18852
อ่าน  1,871

เมื่อได้เจริญสติปัฏฐาน จะได้ให้กุศลเจริญขึ้น ได้บุญมากขึ้นตามไปด้วย หรือไม่อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ควรเข้าใจคำว่า บุญ หรือ กุศล ก่อนครับ บุญหรือกุศล โดยความหมาย คือ สภาพธรรมที่ดี ปราศจากโทษ ไม่มีโลภะ โทสะและโมหะ บุญ นำมาซึ่งความสุข และเป็นเครื่องชำระล้างสันดานคือจิต ดังนั้น กุศลจึงเป็นจิตที่ดีงาม ซึ่งกุศลหรือบุญนั้น มีหลายประการ มีหลายระดับขั้น โดยย่อ คือ กุศลขั้นทาน ศีลและภาวนา โดยละเอียด คือ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

การที่บุคคลเจริญสติปัฏฐาน คือ การเจริญปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ปัญญาที่มีความเห็นถูก เข้าใจความจริงในสิ่งเป็นแต่เพียงธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมนั้น ย่อมทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นด้วยครับ

ซึ่งตามที่กล่าวไปแล้ว กุศลมีหลายประการ โดยย่อ คือ ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริง สติปัฏฐานจะเกิดได้ ก็เพราะมีจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้น ดังนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้น และเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน จึงเป็นกุศลระดับวิปัสสนาภาวนา เป็นกุศลระดับสูงที่สุดในกุศลขั้นต่างๆ เพราะเป็นกุศลที่นำออกจากวัฏฏะ นำออกจากการเกิดและนำไปสู่การดับกิเลส

ขณะที่เจริญสติปัฏฐาน หรือ สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เกิดขึ้น กุศลก็เจริญขึ้น โดยตัวของเขาเองที่เกิดนั่นเองครับ จากกุศลที่ไม่เคยเกิด ก็เกิดขึ้นในการเจริญวิปัสสนา กุศลเจริญขึ้น ในระดับที่เป็นวิปัสสนาภาวนานั่นเอง ครับ นี่คือนัยหนึ่ง ที่กุศลเจริญขึ้น เพราะตัวสติปัฏฐานที่เกิดนั้น เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา นั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง บารมี ๑๐ อันเป็นธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ การดับกิเลส มีปัญญาเป็นหลัก เป็นประธาน เป็นแกนหลักสำคัญ หากปราศจากปัญญาแล้ว ก็ไม่ใช่บารมีและไม่สามารถดับกิเลสได้ ดังนั้นเมื่อปัญญารู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้น เป็นปัญญาบารมี เมื่อปัญญาเกิดรู้ตามความป็นจริง อันมีการเจริญวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) ที่เห็นโทษของกิเลส จึงเจริญกุศลทุกๆ ประการด้วย เพราะบารมี ไม่ใช่มีเพียงปัญญาเท่านั้น เพราะมีปัญญาที่รู้หนทางดับกิเลส จึงเจริญกุศลทุกๆ ประการ เพราะกุศลทุกๆ ประการย่อมเกื้อหนุน ในการดับกิเลส อันมีปัญญาเป็นพื้นฐานสำคัญ คือ การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ครับ ดังนั้น ผู้ที่เห็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ย่อมเจริญกุศลที่เป็นบารมีประการต่างๆ มี ทาน ศีล เมตตา เป็นต้น เพราะรู้ด้วยปัญญา ว่า กุศลประการต่างๆ เป็นทางอุดหนุนในการดับกิเลสด้วย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ส.ค. 2554

อีกนัยหนึ่งผู้ที่เข้าใจ ประจักษ์ตัวจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรม การเข้าใจความจริงว่ามีแต่ธรรม แทนที่จะเป็นอกุศลก็เป็นกุศลได้ ก็เท่ากับว่ากุศลเจริญ เช่น ปกติเราโกรธคน สัตว์ สิ่งต่างๆ ใช่ไหมครับ แต่เมื่อเข้าใจว่าไม่มีเราด้วย ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีคนนั้นที่ทำไม่ดี มีแต่สภาพธรมที่เป็น อกุศลจิต มีแต่สภาพธรรมที่เป็นผลของกรรม ไม่มีใครทำให้ มีแต่สภาพธรรมที่ได้ยิน ไม่ใช่คนอื่นว่า การเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม แทนที่จะเป็นอกุศลกับสิ่งต่างๆ ที่เห็น ได้ยิน คิดว่ามีสัตว์ บุคคลที่ไม่ดีกับเราก็เข้าใจความจริง จึงไม่โกรธและคิดถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรม การคิดถูกเช่นนี้ก็เป็นกุศลแล้ว กุศลประการต่างๆ ก็เจริญขึ้น มี เมตตา ขันติ เป็นต้น เพราะการได้เข้าใจ จากการเจริญสติปัฏฐานว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้นอกุศลที่เกิดขึ้นมาก เช่น ความโกรธ ความโลภ ความไม่รู้ ก็เพราะสำคัญผิด ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคลต่างๆ มีเรา มีเขา แต่เมื่อมีการเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงแต่นามธรรมและรูปธรรม มีแต่ธรรม การเข้าใจความจริงเช่นนี้ ก็ทำให้แทนที่จะเป็นอกุศล เช่น โกรธคนนั้นคนนี้ ชอบคนนั้นคนนี้ ไม่รู้ความจริงที่เป็นโมหะ ก็เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลแทน เพราะมีความเห็นถูก ปัญญาเป็นสำคัญครับ กุศลต่างๆ ก็เจริญขึ้น แทนที่อกุศลนั่นเอง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 3 ส.ค. 2554

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วิชชา หรือ ปัญญา ความเห็นถูก เป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะปัญญาที่มีความเห็นถูกเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมหรือเป็นแต่เพียงธรรม ปัญญานี้เองย่อมทำให้กุศลประการต่างๆ ไม่ว่า ทาน ศีล เมตตา ขันติ กุศลทุกๆ ประการเจริญขึ้นเพราะมีปัญญาเป็นปัจจัยนั่นเองครับ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ฟังพระธรรม ที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็ทำให้กุศลทุกๆ ประการเจริญขึ้นครับ รวมทั้งการเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา กุศลก็เจริญขึ้น

ดังเช่น อริยสาวกที่บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว เข้าใจแล้วว่ามีแต่นามธรรมและรูปธรรม ท่านก็เจริญกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าทาน ศีล ภาวนา มีนางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะท่านรู้ว่ามีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ท่านจึงสามารถสละทรัพย์สิน เงินทองที่เป็นแต่เพียงรูปธรรมได้อย่างง่ายดาย เพราะท่านเจริญสติปัฏฐานและประจักษ์ในความเป็นเพียงรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้นครับ ดังนั้นกุศลขั้นทานก็เจริญขึ้นและกุศลประการอื่นๆ ด้วยครับ

แม้ตอนปุถุชนจะขี้เหนียวมาก เช่น โกสิยเศรษฐี แต่พอเป็นพระโสดาบัน ท่านก็สละทรัพย์มากมายเพื่อรัตนตรัย นี่แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมทำให้กุศลประการต่างๆ เจริญขึ้นครับ เพราะมีความเห็นถูก มีปัญญา ก็ทำให้เกิดความคิดดี คิดชอบ เป็นกุศล เพราะคิดเป็นกุศล คิดชอบ ดำริชอบ การงานก็ชอบ วาจาก็ชอบ เป็นวาจาที่ดี เป็นกุศล การกระทำทางกายก็ชอบ เป็นกุศล จะเห็นได้ว่าเกิดจากปัญญา ความเห็นถูก ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม กุศลประการต่างๆ ก็เจริญครับ

ขออนุโมทนา

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 2

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา (ปัญญา) เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบ ย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบ (คิดชอบ) ย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีระลึกชอบ.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 3 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส กิเลสยังดับไม่ได้ กิเลสยังไม่หมดไปทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น แม้จะได้ฟังพระธรรมมาบ้าง และมีความเข้าใจด้วยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลธรรม ทั้งหมดก็เป็นธรรม และสามารถบอกได้ว่า อกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายไม่ดี เป็นธรรมฝ่ายดำ ควรละ แต่ก็ยังละไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน, ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) ของสภาพธรรม ถ้ายังไม่เข้าใจว่าธรรมเป็นอนัตตาจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะละโลภะ โทสะ โมหะ และ อกุศลธรรมใดๆ ได้เลย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ความเข้าใจถูก เห็นถูก คือ ปัญญา สามารถทำให้อกุศลธรรมที่เคยมี ค่อยๆ ลดน้อยลงไปได้ และสามารถดับได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านจะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น กิเลส อกุศลธรรมที่ท่านได้สะสมมา ก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่เพราะความสมบูรณ์พร้อมของปัญญา อันเกิดจากการอบรม ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ และกิเลสที่ดับได้แล้ว ก็ไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ นี้คือ ผลของการเจริญขึ้นของปัญญา จากที่เต็มไปด้วยความมืด คือ อวิชชา ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ยิ่งขึ้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญาตามที่ตนมี เปลี่ยนจากที่เคยมีอกุศลประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นการสะสมกุศลประการต่างๆ เพิ่มขึ้นตามกำลังของปัญญา เพราะปัญญา เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เปรียบเหมือนกับมีเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ที่คอยบอกคอยเตือน ว่าอะไรคือ สิ่งที่ควรกระทำ ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น อะไรคือสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร ดำรงชีวิตอยู่อย่างไรก็ตาม ก็ควรเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรม ที่เกิดปรากฏตามปกติความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เลย เนื่องจากมีกิเลสมาก จะดับไม่ให้มีกิเลสเลยในระยะเวลาอันรวดเร็ว ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ อบรมสะสมปัญญาไปทีละเล็กละน้อย อดทนที่ฟังพระธรรมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ ทำให้ถึงซึ่งฝั่งที่ปลอดภัยจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงอย่างแท้จริง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 3 ส.ค. 2554

การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการขัดเกลากิเลส ละคลายความยึดติดในสัตว์ บุคคล ตัวตน ในสิ่งต่างๆ ว่า เป็นเรา เป็นของๆ เรา จึงไม่มีการเห็นแก่ตัว ทำให้กุศลที่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา เจริญยิ่งขึ้น เพราะ ปัญญารู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ ปัญญารู้ว่ากุศลควรเจริญให้ยิ่งขึ้น อกุศลควรละ ควรขัดเกลาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
fam
วันที่ 4 ส.ค. 2554

กราบขอบพระคุณ อาจารย์paderm, khampan.a และwannee.s เป็นอย่างสูงนะคะ

แต่อยากเรียนถามเพิ่มเติมว่า ปัญญาบารมี เป็นบารมีที่สำคัญที่สุดในการถึงฝั่งคือการดับกิเลส ใช่หรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 4 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

บารมี คือ ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งคือการดับกิเลส ดังนั้น หากขาดปัญญา หรือ ปัญญาบารมี ก็จะไม่สามารถดับกิเลสและไม่เป็นบารมีเลยครับ เช่น บางคนให้ทาน ก็ไม่ไ่ด้หมายความว่า ทานนั้นจะต้องเป็นทานบารมี แต่ถ้ามีปัญญาเห็นโทษของกิเลส ให้ทานเพื่อมุ่งหมายดับกิเลส เพราะมีปัญญารู้ว่ากิเลสมีโทษ ทานที่ให้ด้วยความเข้าใจ ด้วยปัญญา ทานนั้นจึงเป็นทานบารมีครับ แต่ถ้าให้ทานไม่ไ่ด้มีความเข้าใจอะไร ให้ๆ ไป ก็ไม่ใช่ทานบารมีครับ ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นบารมีสำคัญที่สุด ในการอบรมบารมี ๑๐ ประการครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 4 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 4 ส.ค. 2554

บารมี มี ๑๐ ประการ บารมีทุกบารมี เป็นบริวารของปัญญาทั้งหมด ถ้าขาดปัญญาบารมี ก็ไม่มีทางที่จะถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน ได้เลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
fam
วันที่ 4 ส.ค. 2554
ขออนุโมทนาบุญ และกราบขอบพระคุณค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ประสาน
วันที่ 4 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เข้าใจ
วันที่ 8 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ