การพิจารณาให้เห็นโทษ หรือ อาทีนวะ ของขันธ์ 5

 
Supakij.k
วันที่  12 เม.ย. 2554
หมายเลข  18187
อ่าน  5,105

กราบเรียนท่านอาจารย์

ช่วยกรุณาชี้ให้เห็นลักษณะของโทษ (อาทีนาวะ) ในขันธ์ทั้ง ๕ ด้วยนะครับ ในแง่ของรูปขันธ์นั้นพอจะมองออกบ้าง แต่ในแง่ทั้งของ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้น ยังพิจารณาใคร่ครวญไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ครับ กัลยาณมิตรบางท่านก็บอกว่า การเกิด-ดับ ของขันธ์ ๕ เป็นโทษ ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี และเท่าที่พิจารณาใคร่ครวญเองตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัส น่าจะเป็นเรื่อง ทุกข์ และความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นเท่านั้นหรือเปล่าที่เรียกว่าโทษหรืออาทีนาวะของขันธ์ ๕

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การพิจารณาโดยความโทษ (อาทีนวะ) ของขันธ์ ๕ ต้องเป็นเรื่องของปัญญา และปัญญาก็มีหลายระดับ ระดับเพียงขั้นคิดพิจารณา ระดับประจักษ์แจ้งตัวขันธ์ ๕ อันเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตาจริงๆ ในขณะนี้ที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณอันเป็นปัญญาระดับสูง โดยทั่วไปแล้ว เมื่อปัญญายังไม่มากพอก็จะเป็นเพียงขั้นคิดพิจารณาที่เห็นโทษในขันธ์ ๕ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ สังเกตได้ เช่น รูป เป็นสิ่งที่หยาบ เป็นสิ่งที่มี เป็นสิ่งที่ประชุมรวมกันเป็นกาย ย่อมพิจารณาเห็นโทษว่าเป็นที่ให้เกิดโรค มีความไม่เที่ยงและทำให้ถึงความตาย เป็นต้น ซึ่งเป็นของหยาบ สามารถพิจารณาได้ในชีวิตประจำวัน นั่นก็เป็นการพิจารณาด้วยการเห็นโทษด้วยปัญญาที่ยังไม่มาก เพราะว่ายังไม่ไ่ด้ประจักษ์ความเป็นโทษของรูปธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าไม่เที่ยง เพียงแต่เราพิจารณาเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นร่างกายที่ไม่เที่ยง ยังไม่เข้าถึงตัวปรมัตถ์ที่เป็นรูปธรรม จริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2554

ส่วนขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่กล่าวแล้ว รูปเป็นส่วนที่หยาบเมื่อเทียบกับนาม รูปจึงพอพิจารณาที่เห็นโทษได้ ส่วนนามธรรมเป็นส่วนละเอียด ย่อมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเห็นได้ยาก เพราะต้องเห็นด้วยปัญญาระดับสูง ไม่ใช่การคิดพิจารณาเรื่องราวของสภาพธรรม ความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ รวมทั้งเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณนั่นและเป็นโทษ เป็นโทษอย่างไร เพราะปุถุชนทั้งหลาย ย่อมตามยึอถือว่า รูปของเรา เราเป็นรูป เวทนาเป็นเรา ... วิญญาณ (จิต) เป็นเรา เมื่อยึดถือ ย่อมยินดีติดข้องพอใจในขันธ์ ๕ แต่ความเป็นโทษของขันธ์ ๕ รวมทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมีความไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยง แปรปรวนไป ย่อมเป็นทุกข์ โทมนัส เพราะสภาพธรรมนั้นแปรปรวนไป เวทนาความรู้สึก หมู่สัตว์ย่อมติดข้องพอใจในเวทนาและสำคัญผิดว่าเป็นเราที่รู้สึก จึงติดข้องในความรู้สึกที่สุข เมื่อความสุขโสมนัสแปรปรวนไป ก็ย่อมทุกข์โทมนัส เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง สัญญา สังขารและวิญญาณก็โดยนัยเดียวกัน ยึดถือว่าเป็นเรา แต่เมื่อสภาพธรรมนั้นแปรปรวนไปก็ต้องทุกข์โทมนัส

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

คุณและโทษของขันธ์ ๕ [มหาปุณณมสูตร]

เมื่อมีการยึดถือขันธ์ ๕ ยินดี ติดข้อง ด้วยความไม่รู้ ก็ย่อมทำกรรมประการต่างๆ เวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอาศัยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประชุมกันเกิดขึ้น เมื่อมีการเกิดขึ้นของขันธ์ สัตว์ทั้งหลายก็ต้องประสบทุกข์ประการต่างๆ ทั้งกายและใจ อันเกิดจากการบังเกิดของขันธ์ ๕ การบังเกิดขึ้นของขันธ์ จึงเป็นตัวทุกข์ เพราะรูปจะเกิดขึ้นมาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการประชุมของนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นขันธ์ ๕ ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่นะครับ

ความเกิดขึ้นของขันธ์ 5 เป็นทุกข์ [อุปปาทสูตร]

เพลิดเพลิน ติดข้องในขันธ์ทำให้ทุกข์ [อภินันทนสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2554

นี่เราพูดเพียงขั้นคิดพิจารณาเรื่องราวที่เห็นโทษของขันธ์ ๕ ทั้ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเห็นโทษจริงๆ ที่เป็นอาทีนวญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณนั้นจะต้องเห็นความไม่เที่ยงจริงๆ ของสภาพธรรมในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้เราก็ไม่ได้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นและดับไปเลย ปัญญาการเห็นโทษจึงเป็นปัญญาระดับสูงที่เห็นถึงความเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือสภาพธรรมครับ

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 819

[๗๓๖] การพิจารณาเห็นเบญจขันธ์โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจานุปัสสนา โดยความเป็นทุกข์ เป็นทุกขานุปัสสนา โดยความเป็นโรค เป็นทุกขานุปัสสนา โดยความเป็นดังหัวฝี เป็นทุกขานุปัสสนา โดยความเป็นดังลูกศร เป็นทุกขานุปัสสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2554

จะเห็นครับว่าปัญญาที่เห็นโทษของขันธ์ ๕ จริงๆ นั้นเป็นปัญญาระดับสูง คือเห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ที่เป็นขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงเห็นความไม่เที่ยง เมื่อเห็นความไม่เที่ยงแล้ว จึงเห็นความเป็นภัยของสภาพธรรม ซึ่งการเห็นถึงความไม่เที่ยงและความเป็นภัย ต้องเป็นปัญญาระดับสูงมากที่เป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งก่อนจะถึงตรงนั้น ปัญญาต้องเริ่มจากการเข้าใจความจริงของสภาธรรมที่มีจริงในขณะนี้ อันไม่ใช่การคิดพิจารณาเป็นเรื่องราวว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่รู้ตัวธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฎรู้ลักษณะของสภาพธรรม หากไม่รู้ตัวธรรมแล้วจะรู้ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมไม่ได้เลย ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องของปัญญา แต่สำคัญที่ว่าต้องเริ่มจากปัญญาขั้นต้นก่อนครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Supakij.k
วันที่ 12 เม.ย. 2554

ผมขออนุญาตสนทนาเพิ่มเติมดังนี้นะครับ

- การพิจารณาใคร่ครวญในธรรมจะช่วยนำไปสู่การไหลของธรรม อันนำไปสู่ ญาณทัศนะ และประจักษ์แจ้งในธรรม ซึ่งแนวปฏิบัติที่ผมใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมักจะไปแนวนี้เป็นส่วนมาก ไม่ทราบว่า มรรควิธีนี้ผมเดินมาถูกทางหรือเปล่าครับ ขอความกรุณาช่วยชี้แนะด้วยครับ

- ผมก็มาพิจารณาใคร่ครวญในคำถามเรื่องโทษ/ภัยของขันธ์ ๕ อีก โดยจับอาการของจิต ในช่วงสุดท้ายของปฏิจจะฯ ที่เป็นเหตุปัจจัยทั้งสายเกิด/สายดับ ตรงที่ ทุกขโทมนัส โสกปริเทวะ อุปายาสะ (ความทุกข์ โศกเศร้า พิไรรำพัน ฯ) และเห็นว่า เกิด-ดับ ในวันหนึ่งๆ นับไม่ถ้วน (ไม่รวมเรื่อง รสอร่อย หรือ อัสสาทะ) ซึ่งหากนำอาการของจิตในสาย ปฏิจจะฯ นี้มาปรับใช้ ก็จะเห็นโทษ/ภัย ครบทั้ง ๕ ขันธ์ ไม่ทราบว่าเข้าใจอย่างนี้ตรงตามสภาวธรรมไหมครับ

ขอความกรุณาช่วยชี้แนะด้วยครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 5

การพิจารณาธรรม ต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกก่อนครับว่าธรรมคืออะไร ไม่เช่นนั้นเราก็ไปจับในสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าธรรมคือะไร ตามที่ผมได้เรียนแล้วครับว่าการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ปัญญาขั้นพิจารณาเป็นเรื่องราวว่าทุกข์ โศกเกิดขึ้นและดับไปเพียงขั้นคิดนึก แต่ต้องเป็นปัญญาระดับสูงที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณที่เห็นการเกิดดับจริงๆ ของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ซึ่งก่อนที่จะถึงการเห็นเกิดดับ ต้องเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ก่อนครับว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา หากยังไม่เข้าใจถึงตัวสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราแล้ว ก็ไม่สามารถถึงการเห็นความไม่เที่ยงได้เลยครับ ต้องเริ่มจากความเข้าใจเบื้องต้นก่อนครับว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราครับ เริ่มจากคำว่าธรรมคืออะไร ก่อนครับ จึงจะหาตัวธรรมได้และพิจารณาธรรมได้ถูกต้องครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่เพิ่มเติมนะครับเป็นประโยชน์มาก

รูปธรรมและนามธรรมเกิดดับเร็วมาก...รู้ขณะไหน?

เมื่อเริ่มฟังพระธรรม...ต้องเข้าใจอะไรก่อนเป็นสำคัญ!

ธรรม คืออะไร?

ฟังธรรมเพื่ออะไรและปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 12 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจว่า ขันธ์ คือ อะไร? ขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าเพราะเกิดแล้วก็ต้องดับไป ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เป็นการยากมากที่จะเห็นโทษของขันธ์ เห็นโทษของสภาพธรรมที่เพียงเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะในชีวิตประจำวันก็เต็มไปด้วยกุศล ความติดข้องยินดีพอใจ ความไม่พอใจ ความไม่รู้ ที่เนื่องกับขันธ์ทั้งหมด ซึ่งจะต้องอาศัยการสะสมปัญญาไปตามลำดับจริงๆ จึงจะเป็นไปเพื่อเห็นโทษเห็นภัยของขันธ์ซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปได้ สำคัญคือต้องเข้าใจก่อนว่า ขันธ์ เป็นธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ทุกขณะของชีวิต เป็นขันธ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 13 เม.ย. 2554

ไม่ใช่เห็นแค่ขั้นคิดพิจารณา แต่ต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนาญาณที่เห็นโทษ ของขันธ์ ๕ ว่า เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา และก็เป็นสิ่งที่ยากแสนยาก ที่จะถึงปัญญาระดับนั้นจริงๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Supakij.k
วันที่ 21 เม.ย. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 4 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 9 เม.ย. 2565

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ