ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ [ตอน ๓]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  18 ธ.ค. 2553
หมายเลข  17632
อ่าน  2,609

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในสองตอนที่แล้ว ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คุณคำปั่น อักษรวิลัย ได้สนทนากับพระคุณเจ้า ถึงเรื่องความสำคัญของการศึกษาพระธรรม ความหมาย และ ความละเอียด ลึกซึ้งของธรรมะ ซึ่งควรศึกษาให้เข้าใจ และ มีความละเอียด รอบคอบ ไม่เผิน ในทุกคำ ที่ได้ยินได้ฟัง เพื่อให้เป็นความเข้าใจจริงๆ ของตนๆ ความเห็นที่ถูกต้องในพระธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ และแสดงไว้เท่านั้น จึงจะเป็นที่พึ่ง แก่พุทธบริษัท ได้อย่างแท้จริง อนึ่ง ข้าพเจ้าได้นำข้อความ ที่ท่านอาจารย์ และ คุณคำปั่น ได้สนทนาไว้ มาลงไว้โดยละเอียดพอสมควร เพราะเหตุที่ ต้องการที่จะบันทึกไว้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ ตามควร แก่ท่านผู้สนใจนะครับ
.............
ขอเชิญคลิกอ่านความเดิมในสองตอนที่แล้วได้ที่นี่ครับ...
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๑
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๒

ในตอนนี้ ขอเริ่มจากคำถาม ที่มีพระคุณเจ้าถามค้างไว้ในตอนที่แล้วเลยนะครับ

อ.สงบ เห็นแล้วก็ดับ ได้ยินแล้วก็ดับ ได้กลิ่นแล้วก็ดับ กระทบสัมผัส แล้วก็ดับไป โดยสรุปว่า เป็นธรรมะ มีคำถามๆ มาว่า ในภาคปฏิบัติ ต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้เขา เข้าใจได้มากขึ้น

ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณคำปั่น ให้ความหมาย และ คำแปล ของคำว่า "ปฏิบัติ" ค่ะ

อ.คำปั่น คำว่า "ปฏิบัติ" ที่เราเข้าใจในภาษาไทย ก็หมายถึง การทำ ใช่ไหมครับ? แต่ก็ไม่ตรง ตามความประสงค์ หรือว่า พุทธประสงค์ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ หรือจะกล่าวว่า ไม่ตรงตามพระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดง เพราะเหตุว่า คำว่า ปฏิ-ปตฺติ (ปฏิบัติ) ในภาษาบาลี ถ้าท่านใดได้ศึกษา ก็คงจะแยกศัพท์ออก ว่ามาจากศัพท์อะไรบ้าง ศัพท์แรกก็คือ "ปฏิ" หมายถึง "เฉพาะ" คำที่สอง คือ "ปตฺติ" หมายถึง "การถึง"

เพราะฉะนั้น เมื่อรวมกันแล้ว "ปฏิปตฺติ" คือการ "ถึงเฉพาะ" ถามว่า "ถึงเฉพาะ" อะไร? ก็ต้อง "ถึงเฉพาะ ลักษณะ ของสภาพธรรม ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ในขณะนี้" เป็นกิจหน้าที่ของธรรมะฝ่ายดี ที่เกิดขึ้น เป็นไป เป็นเรื่องของ สภาพธรรมะที่เป็น กุศลธรรม ที่เกิดขึ้น มี "สติ" ซึ่งเป็นสภาพธรรมะที่ "ระลึก" ได้ แล้วก็ "ปัญญา" ที่รู้สภาพธรรมะ ที่กำลังมี ในขณะนั้น ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น "ปฏิปตฺติ" นั้น จึงเป็นธรรมะที่ ละเอียด ถ้าหากว่า ไม่อาศัยการฟังพระธรรม ไม่ได้ฟังเรื่อง สิ่งที่มีจริง ในชีวิตประจำวันเลย ว่า "ธรรมะ" มีอะไรบ้าง "ธรรมะ" คือ อะไร? แล้วจะไปถึง "ปฏิปตฺติ" ได้ อย่างไร? เพราะเหตุว่า พระธรรมคำสอน ในทางพระพุทธศาสนานั้น มี ๓ ขั้น

ขั้นแรก ก็คือ ปริยัติ หมายถึง การศึกษาพระธรรม คำสอน พระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมด เป็น ปริยัติ ต้องศึกษาให้เข้าใจว่า คือ อะไร? มีอะไรบ้าง ตามความเป็นจริงด้วย ศึกษา เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ตรงตามความเป็นจริง จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปตฺติ ได้ ก็คือ "การถึงเฉพาะ ลักษณะ ของสภาพธรรมะ ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ในขณะนั้น" และก็ จะเกื้อกูลต่อไปอีก ถึงขั้นที่จะ รู้แจ้งธรรมะ เป็น "ปฏิเวธ" เป็นเรื่องของการ รู้แจ้งธรรมะ บรรลุอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ขั้นต่างๆ

เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มที่การฟัง เริ่มที่การศึกษาจริงๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นไปเพื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ต้องเป็นผู้ได้ศึกษาพระธรรม เท่านั้น ความรู้ ความเข้าใจ จึงจะเกิดขึ้น ถ้าพระคุณเจ้าลองพิจารณาดู พระอริยสงฆ์ องค์แรกในโลก ก็คือ พระอัญญาโกณทัญญะท่านได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าฯ ทรงแสดง คือ พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านได้รู้แจ้งธรรมะ ถึงความเป็นพระโสดาบัน และ ในกาลต่อมา ท่านก็ได้รู้แจ้งธรรมะ ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ถามว่า ท่านรู้แจ้งธรรมะได้อย่างไร? ก็ต้องตอบว่าเพราะท่านได้สั่งสมการฟังพระธรรมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จากพระพุทธเจ้า องค์ก่อนๆ ก็ได้สะสมการฟัง ได้สะสมปัญญามา และ ในชาติสุดท้ายนั้น ท่านก็ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง เมื่อความรู้ ความเข้าใจ ถึงพร้อมแล้ว ปัญญาเจริญเต็มที่แล้ว ก็ทำให้ท่านถึงความเป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ในที่สุด

เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุด ก็คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพื่อความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ ในขณะนี้เพราะเหตุว่า สิ่งที่เป็น "ที่ตั้งของสติ เป็นที่ตั้งของปัญญา" นั้น ก็ไม่พ้นไปจากธรรมะที่มีจริงเลย ไม่พ้นไปจาก สภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เลย ที่พระอริยบุคคลท่านรู้ ท่านก็รู้ ชีวิตประจำวัน ท่านก็รู้สิ่งที่มีจริง ที่กำลังมีในขณะนี้

อ.สงบ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ได้ยิน ได้ยิน แล้วก็ดับ ได้ฟัง แล้วก็ดับเป็นความตาย ไหม? แล้วตายแล้วเกิด อย่างนี้หรือเปล่า? เป็นคำถาม

ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะไปถึงข้อนั้น ขณะที่กำลังฟัง ก็น่าจะคิดว่า แล้วทำไม ต้องถึง ธรรมะ? ที่กล่าวว่า "ปฏิปตฺติ" "ปฏิ" แปลว่า "เฉพาะ" "ปตฺติ" แปลว่า "ถึง" ถึงเฉพาะ ลักษณะ สภาพธรรมะ ทีละหนึ่ง ไม่ใช่หลายๆ อย่างรวมกัน แล้วก็ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น ที่จำเป็นต้องมีการ "ปฏิปตฺติ" ไม่ได้หมายความว่า "เป็นเราปฏิบัติ" แต่ก็ หมายความว่า เป็น "ปัญญา" ที่มีความ "เห็นถูก" ตั้งแต่ขั้น การฟัง และ "ไม่มีเรา" เป็น "ธรรมะ" พระผู้มีพระภาคฯ ไม่ได้ตรัสว่า เป็นคนโน้น คนนี้เลย แต่ทรงแสดงธรรมะ ที่มีจริงๆ ว่า ไม่เป็นใคร ไม่ใช่ของใคร แล้วก็ ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชา ของใครด้วย เช่น ขณะนี้ "ทำเห็น" ให้เกิดขึ้น ได้ไหม? "เห็น" เกิดแล้ว ใครทำให้ "คิด" เกิดขึ้น? ไม่มีใครสามารถที่จะทำได้เลย เพราะคิดแล้ว มีปัจจัย ที่จะทำให้ เป็นหนึ่ง แต่ละ หนึ่ง เพราะฉะนั้น "ปฏิปตฺติ" คือ "ปัญญาพร้อมสติ ที่ถึงเฉพาะความจริง ของสภาพธรรมะที่กำลังเป็นจริง ในขณะนี้ คือ เกิดขึ้น เป็นอย่างนี้ แล้วก็ดับไป อันนี้ ก็คงจะเป็นคำตอบ ได้มั๊ยคะ?

อ.สงบ ครับผม ตาย แล้ว เกิด เดี๋ยวนี้เลยหรือเปล่า ครับผม?

ท่านอาจารย์ ความตาย มี ๓ อย่างค่ะ ขอเชิญคุณคำปั่นค่ะ

อ.คำปั่น เรื่องความตาย ก็ควรจะได้พิจารณาจริงๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงเรื่องความตายไว้ ความตายนั้น มี ๓ ประเภท มี ๓ อย่าง ก็ตรงกับคำถาม ที่อาจารย์สงบ ได้ถาม ตั้งแต่ตอนเมื่อสักครู่ ว่าเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เป็นความตายไหม? ก็จัดอยู่ใน ความตายประเภทแรก ก็คือ ขณิกมรณะ หมายถึง การเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปของสภาพธรรมะ คือ จิต เจตสิก แล้วก็ รูป ซึ่งก็เป็นการ เกิดแล้วดับเกิดแล้วดับ ในฐานะ จิต นั่นเอง เป็นความเกิดขึ้น เป็นไปของสภาพธรรมะแต่ละอย่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ต้องมีการดำรงอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ในที่สุด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ ดับไป อันนี้คือความเป็นจริง ของสภาพธรรมะ

นี่คือ ขณิกมรณะ เป็นความตาย ประเภทแรก ความตาย ประเภทที่ ๒ ก็คือ สมมติมรณะ เป็นการตายโดย สมมุติ อย่างเช่น คนตาย สัตว์ตาย อันนี้เป็นการตาย โดยสมมุติ และก็ ความตายประการสุดท้ายก็คือ สมุทเฉทมรณะ เป็นการตายอย่างเด็ดขาด เป็นการตาย ที่ไม่มีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ก็คือ เป็นการตาย ของพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้น ท่านเป็นผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เมื่อท่าน ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีเหตุ ที่จะทำให้ท่านเกิดอีกเลย ไม่มีความเกิดขึ้น เป็นไป ของสภาพธรรมะ คือ จิต เจตสิก รูป อีกเลย

เพราะฉะนั้น การตายของพระอรหันต์ เป็นการตายอย่างเด็ดขาดจริงๆ ไม่มีการเกิดอีกเลย จึงชื่อว่า สมุทเฉทมรณะ ซึ่งก็ขอเพิ่มเติม ในช่วงแรก ที่อาจารย์สงบ ได้ถามถึงความตาย ว่าความตาย เป็นธรรมะ ใช่ไหม ถ้าจะกล่าวถึงความตายที่เราพบเห็น ว่าคนนั้นตาย คนนี้ตาย ใช่ไหม? อะไร ที่ตาย? ถ้าหากว่า จิตขณะสุดท้ายไม่เกิดขึ้น ก็คือ จุติจิต ไม่เกิดขึ้น คนนั้นจะตายไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ความตาย จึงเป็นจิตขณะสุดท้าย ของภพนี้ ชาตินี้ เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป อันนั้นคือ สมมุติว่าเป็นคนตาย แต่จริงๆ ก็เป็นความเกิดขึ้น เป็นไปของจิต เจตสิก นั่นเอง

ความตายไม่ใช่เรื่องใหญ่ เลย เพราะเหตว่าเป็น จิตขณะสุดท้าย ของภพนี้ ชาตินี้ ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ความตายไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่ ก็คือ ก่อนที่ วันตาย จะมาถึงนั้น ควรจะทำอะไร อันนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ ควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ ก่อนที่จะมาเกิดในโลกนี้ก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน? เมื่อตายแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะไปเกิด ณ ที่ใด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ในการที่จะได้สะสม สิ่งมีค่า ให้กับชีวิต ให้มากที่สุด

สิ่งที่มีค่าสำหรับชีวิตนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช่เครื่องอุปโภค บริโภคที่มีราคาแพง แต่สิ่งที่มีค่า สิ่งที่ประเสริฐ สำหรับชีวิตก็คือ กุศลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ "ปัญญา" ความรู้ ความเข้าใจ ธรรมะ ตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่ ใครๆ ก็ลักไปไม่ได้เลย เป็นทรัพย์ที่ไม่ทั่วไป แก่ไฟ แก่น้ำ แก่โจร หรือว่า แก่พระราชา เลย เป็นทรัพย์ที่จักสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ แล้วก็จะเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรแสวงหาที่สุด ก็คือ ความรู้ ความเข้าใจธรรมะ ความรู้ ความเข้าใจ สิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ก็คือ ความเข้าใจธรรมะ นั่นเอง สรุปทีไร ก็จะมาอยู่ที่ เข้าใจธรรมะ เข้าใจธรรมะ ก็คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่า ทุกขณะ เป็นธรรมะ นั่นเอง

ท่านอาจารย์ โดยทั่วไป ที่เราใช้คำว่า "ตาย" ก็หมายความว่า ต้องมีการเกิด ถ้าไม่มีการเกิด ก็ไม่มีอะไรจะตาย แต่ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่เกิดแล้วหมดสิ้นไป ไม่กลับมาอีกเลย นั่นคือ ใช้คำว่า "ตาย" เพราะฉะนั้น "ตาย" ก็คือว่า สิ่งที่เกิดแล้ว หมดไป ไม่กลับมาอีก พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น เวลาเข้าใจว่า คนเกิด หรือว่า สัตว์เกิด มีสิ่งนั้นเกิดขึ้น แล้วก็ไปถึงขณะสุดท้ายของชาตินั้น ก็กล่าว่า "ตาย" แต่ความจริงนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว ดับไปอย่างเร็วมาก สุดที่จะประมาณได้ ไม่มีใครที่ว่าสามารถที่จะรู้ความจริงนี้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประจักษ์ความจริง ของสภาพธรรมะ โดยละเอียดยิ่ง แล้วสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิด ก็มีปัจจัยที่จะปรุงแต่ง ทำให้สิ่งนั้นเกิด เมื่อเกิดเป็นสภาพสิ่งนั้นแล้ว ก็พ้นสภาพความเป็นสิ่งนั้น จึงใช้คำว่า "ตาย"

เพราะฉะนั้น เกิดเป็นคน ก็เป็นคน ไปจนกว่าจะพ้นสภาพความเป็นคน คือ จิตขณะสุดท้ายดับ ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น แล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดสืบต่อ เป็นบุคคลใหม่ทันที เพราะฉะนั้น แต่ละท่านไม่ทราบว่ามีชีวิตอยู่มานาน แสนนานเท่าไหร่ ตั้งแต่สมัยที่ผู้มีพระภาค ก็ไม่ทราบว่า ขณะนั้นอยู่ที่ไหน? เคยได้ฟังพระธรรม บ้างหรือเปล่า แล้วเมื่อได้ฟังแล้ว มีความเข้าใจคุณค่า ของสิ่งที่ได้ฟังมากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ แต่ละบุคคล

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่มีการเกิด สิ่งนั้นต้องดับอย่างรวดเร็ว เป็นขณะที่แสนสั้น เป็นขณิกมรณะ แต่ความตายโดยสมมุติคือ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดเป็นคน เป็นสัตว์ แล้วจากโลกนี้ไป ก็คือ การตาย แต่ไม่สิ้นสุด เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังเกิดอีก แต่ว่าพ้นสภาพความเป็นบุคคลเก่า

จากโลกเก่ามา ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เคยเป็นใคร? แล้วก็ทำอะไร? และกรรมหนึ่ง ที่ทำให้เกิดเป็นคนนี้ แล้วเมื่อเกิดแล้ว ความเป็นไปของจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ใครก็หยุดไว้ไม่ได้ ไม่สามารถที่จะละ สิ่งที่ต้องการทั้งหมด ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ ความรู้สึกเป็นทุกข์เกิด ตามเหตุตามปัจจัย

ด้วยเหตุนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไป ก็ต้องมีเหตุ ที่จะให้เป็นอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ แม้ในขณะนี้ ก็เป็นชาติก่อน ของชาติหน้า เวลาที่คนเกิดมาแล้วนี้ ก็อยากจะรู้ว่า ชาติก่อนเคยเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? มีพี่น้อง พ่อแม่ เพื่อนฝูงเคยพบปะบ้างไหม? แต่ว่าพอจากโลกนั้นก็ลืม เพราะฉะนั้น ถ้าจะจากโลกนี้ไป โลกนี้ก็ไม่ปรากฏอีกเลย เหมือนประตูที่ปิดสนิท ไปสู่โลกใหม่ ความเป็นไปใหม่ แต่ความที่จะรู้ชาติก่อน ไม่ยากเลยเจ้าค่ะ คือ ขณะนี้ กำลังเป็นชาติก่อน ของชาติหน้า ชัดเจน......

ทำกรรมอะไร เคยทำกรรมอะไร? และเป็นอย่างไร ก็ชาติหน้าไม่ต้องถามใครอีก แต่ว่าพอถึงชาติหน้า ก็ลืมหมดเลย เจ้าค่ะ

อ.สงบ เกิดก็รู้ว่าเกิด ตายก็รู้ว่าตาย แล้วตั้งอยู่ คำถามก็คือว่า เกิดแล้วเนี่ย เกิดที่ไหน? เกิดอย่างไร? ที่ว่าอยู่น่ะอยู่ที่ไหน?อยู่อย่างไร? แล้วอยากทราบว่า ดับแล้วจะไปอย่างไร?

ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้ คงเป็นคำตอบ มาจากไหน? ทราบมั๊ยเจ้าคะ? แล้วก็จะไปไหน? ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่มาแล้ว จากโลกก่อน แล้วก็จะไปสู่โลกหน้า แน่นอนเจ้าค่ะ แต่ว่าขณะนี้ ยังไม่ไป แต่กำลังเดินทาง ทางเดินมี ๒ ทาง เดินไปสู่ทางที่ดี ที่จะทำให้ ได้ผลที่ดี คือเกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าเป็นเทวดา แล้วก็ แล้วแต่ว่ากรรมที่ได้ทำแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดตามไปให้ผล แต่ว่า คนส่วนใหญ่ ก็จะไม่รู้ว่า ผลก็คือว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เห็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของ กุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่หยาบคาย ไม่ใช่เสียงที่ไม่น่าฟัง ขณะนั้น ก็เป็นผลของ กุศลกรรม

เพราะฉะนั้น ทุกคน เดินไปสู่ทาง ที่ได้กระทำแล้ว แต่ละขณะจิตที่เกิดขึ้น ตอนนี้ก็กำลังเดิน จะไปไหน? ถ้าไปทางชั่ว ผลก็ต้องเกิดในอบายภูมิ ถ้าเดินในทางที่ดี ผลก็คือ เกิดในสุคติภูมิ แต่ก็ยังหนีกรรมไม่พ้น เพราะว่า เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส สิ่งที่น่าพอใจ ตลอดไป บางกาละ ก็เจ็บไข้ ได้ป่วย บางกาละ ก็มีภัยพิบัติต่างๆ ตามกรรม ที่ได้เคยกระทำแล้ว


อ.สงบ จิตก็ดี วิญญาณก็ดี เจตสิกก็ดี เหมือนกัน หรือว่าต่างกันอย่างไร? เวลาที่ตายแล้ว อะไร ที่จะเป็นส่วนที่เสวยกรรม ในภพต่อๆ ไป?
.......................

โปรดติดตามคำตอบในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนจบนะครับ เป็นตอนที่มีการตอบคำถาม ที่พระคุณเจ้าได้สอบถามมาอย่างมากมาย น่าสนใจมากครับ

...ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า การฟังดีเป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชน์ก็เพราะปัญญา ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้

ภิกษุควรซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด ควรประพฤติธรรมอันเป็นเหตุ ให้จิตหลุดพ้นจากสังโยชน์ ถ้ายังไม่ได้ประสบความยินดี ในเสนาสนะอันสงัดและธรรมนั้น ก็ควรเป็นผู้มีสติรักษาตน อยู่ในหมู่สงฆ์. ฯลฯ


กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
คุณคำปั่น อักษรวิลัย และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านที่ได้ติดตามอ่านมาในทุกๆ ตอนด้วยครับ


ขอเชิญคลิกอ่านตอนอื่นๆ ทั้งหมด ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง....

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๑
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๒
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๔ [ตอนจบ]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
aditap
วันที่ 18 ธ.ค. 2553
ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนากับคุณ วันชัยด้วยครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
BOONKMH
วันที่ 19 ธ.ค. 2553

ขออนุโมทนาด้วยจิตอันเป็นกุศลยิ่ง

จาก..ศิษย์เก่า มมร.ปี ๒๕๓๘ รุ่น ๔๒

BOONKMH

มุกดาหาร

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 ธ.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pamali
วันที่ 19 ธ.ค. 2553

กราบอนุโมทนาท่านอจ.สุจินต์ อจ.คำปั่น ...... ทุกๆ ท่านค่ะ และขอบพระคุณคุณวันชัยค่ะ....สาธุ ....สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wirat.k
วันที่ 20 ธ.ค. 2553
กราบอนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 20 ธ.ค. 2553

เพราะฉะนั้น "ปฏิปตฺติ" คือ "ปัญญาพร้อมสติ ที่ถึงเฉพาะความจริง ของสภาพธรรมะ

ที่กำลังเป็นจริง ในขณะนี้ คือ เกิดขึ้น เป็นอย่างนี้ แล้วก็ดับไป

...กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์...

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอ.คำปั่น และ

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะคุณวันชัยและขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
h_peijen
วันที่ 20 ธ.ค. 2553
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 21 ธ.ค. 2553

... ทุกคน เดินไปสู่ทาง ที่ได้กระทำแล้ว แต่ละขณะจิตที่เกิดขึ้น ตอนนี้ก็กำลังเดิน จะไปไหน? ถ้าไปทางชั่ว ผลก็ต้องเกิดในอบายภูมิ ถ้าเดินในทางที่ดี ผลก็คือ เกิดในสุคติภูมิ ... กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 28 ธ.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
saifon.p
วันที่ 31 ธ.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jadesri
วันที่ 26 ม.ค. 2554

ขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ