ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก

 
natpe
วันที่  4 ส.ค. 2549
หมายเลข  1753
อ่าน  23,480

๑. "สังคายนา" คืออะไรครับ เพราะเห็นมีคนพูดกันเยอะเหลือเกิน รวมทั้งตัวของนัทเอง ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร บางคนก็บอกว่าเป็นการแก้ไขพระไตรปิฎกซึ่งส่วนใหญ่ พี่น้องคริสเตียนและมุสลิม มักจะอ้างว่า "คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกสังคายนาแล้ว" จากคำพูดของพวกเขา เขามักจะเข้าใจว่า คำสอนถูกบิดเบือนและแก้ไข ดังนั้นนัทอยากเรียนถามท่านวิทยากรโปรดให้ความหมายของคำว่า "สังคายนา" ด้วยครับ

๒. ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นอย่างไรครับ อยู่ในช่วงใด ผู้ใดเป็นผู้รวบรวมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 5 ส.ค. 2549

คำว่า สังคายนา หมายถึง การรวบรวม การเรียบเรียง การร้อยกรอง การสะสาง การสวดพร้อมกัน การสวดเป็นแบบเดียวกันฯ คือ พระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ มีมากเพื่อให้พระธรรมเหล่านั้นเป็นหมวดหมู่ และเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าพระธรรมคืออย่างนี้ ที่นอกจากนี้ไม่ใช่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังคำกล่าวของท่านพระมหากัสสปตอนปรารถการทำสังคายนาว่า

เอาเถิด ท่านทั้งหลายพวกเราจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อม อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินัยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง

การทำสังคายนาพระธรรมวินัยที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา อันเป็นที่รับรองกันโดยทั่วไปคือ ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานประมาณ ๒ เดือน ท่านพระมหากัสสปเป็นประธานพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป รวมพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป

ครั้งที่ ๒ หลังปรินิพพาน ๑๐๐ ปี ท่านพระเรวัตตะและพระอรหันต์ ๗๐๐ รูป

ครั้งที่ ๓ หลังปรินิพพาน ๒๓๕ ปี ท่านพระโมคคัลลีบุตรและพระอรหันต์ ๑๐๐ รูป

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 5 ส.ค. 2549

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่

เหตุของการสังคายนาครั้งที่ 1 [จุลวรรค]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 5 ส.ค. 2549

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่

หตุของการสังคายนา ครั้งที่ 2 [จุลวรรค]

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สุธี
วันที่ 7 ส.ค. 2549

ความหมายและความมุ่งหมายของการสังคายนา

คำว่า สังคายนา มีความหมายอย่างเดียวกับ สังคีติ ทั้งสองคำนี้แปลตามศัพท์ว่า "การขับขานขึ้นพร้อมกัน" คำที่เราค่อนข้างจะคุ้น คือ คำว่า สังคีต ที่แปลกว่าการร้องรำทำเพลง ก็มีรากศัพท์เดียวกัน คือ สํ = พร้อมกัน, ร่วมกัน + คีต หรือ คีติ = เพลง ร้องเพลง ขับเพลง

ทำไมจึงเอาคำว่า สังคีติ ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับการร้องรำทำเพลงโดยเฉพาะมาใช้กับการสังคายนาพระธรรมวินัย? เหตุผลของเรื่องนี้อยู่ในข้อเท็จจริงของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยแรก การเผยแผ่หรือการประกาศพระศาสนาในยุคนั้นย่อมใช้วิธี พูดให้ฟัง คือมีผู้พูดและมีผู้ฟัง ยังไม่มีวิธี เขียนให้อ่าน หรือวิธีอื่นใดอีก ถ้าผู้พูดเป็นคนคนเดียวกันหรือพูดคนเดียว ก็คงไม่มีปัญหาในเรื่องพูดผิดกัน แต่เพราะกาลต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์สาวกมากขึ้น จำนวนผู้ออกประกาศพระศาสนามีมากขึ้น การพูดเรื่องเดียวกันแต่พูดผิดกันก็ย่อมจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากขึ้นด้วย ผู้ประกาศพระศาสนา คือพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย จึงต้องหาโอกาสพบปะกัน แล้วซักซ้อมความเข้าใจกันว่า เรื่องนี้ๆ จะพูดกันอย่างไร จึงจะตรงกัน วิธีซักซ้อมก็คือพูดพร้อมๆ กันโดยยกเอาคำตรัสสอนของพระบรมศาสดาขึ้นเป็นหลัก การพูดถึงคำตรัสสอนพร้อมๆ กันนี่เองเป็นที่มาของการสวดมนต์

การสวดมนต์ ก็คือการทบทวนคำตรัสสอนนั่นเอง เมื่อมาทบทวนพร้อมๆ กันหลายๆ เสียงสวดพร้อมกัน เพื่อให้ได้ถ้อยคำที่ถูกต้องตรงกัน เสียงที่เปล่งออกมาพร้อมๆ กันเช่นนี้ จึงมีลีลาอาการคล้ายกับการขับขานเพลงอยู่ในที จึงเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า สังคีติ หรือสังคายนา ที่แปลตามศัพท์ว่า การขับขานขึ้นพร้อมกัน

แต่เจตนาของการกระทำเช่นนั้น มิใช่มุ่งจะร้องรำทำเพลงอย่างชาวบ้าน แต่มุ่งที่จะซักซ้อมหรือทบทวนคำสอนให้ถูกต้องตรงกันเป็นสำคัญ ความหมายของคำว่า สังคีติ หรือ สังคายนา จึงมีว่า การซักซ้อม, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน และเมื่อนำวิธีการเช่นนี้มาใช้กับหลักคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา จึงมีความหมายว่า การประชุม ชำระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน

(พจนานุกรมฉบับราบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้คำจำกัดความไว้ว่า การสวดพร้อมกัน, การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวางลง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สรุปได้ว่า ความหมายของการสังคายนา ก็คือ การชำระสอบทานพระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้องตรงกันเป็นแบบแผนอันเดียวกัน

ถามว่า ในปฐมสังคายนาท่านได้ทำอย่างนั้นหรือเปล่า

ตอบว่า ท่านก็ทำอย่างที่ว่านี้นั่นแหละ

ขอให้ศึกษาได้จากพระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๑๘ และ ๖๑๙ ข้อความตอนนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ประชุมสงฆ์ในการทำปฐมสังคายนาได้มีการซักถาม ตรวจสอบ ทบทวน ทั้งพระวินัยและพระธรรมกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพียงแต่ว่าท่านบันทึกไว้แบบสรุปความให้รู้ว่าทำกันอย่างนี้ ไม่ได้บันทึกรายละเอียดทุกเรื่องทุกคำ แต่ขอให้เข้าใจว่า ท่านซักถามทบทวนกันทุกเรื่องทุกคำ (เหตุเกิด พ.ศ. ๒๕๔๕ - นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ป.ธ. ๙, ร.บ.)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
suwit02
วันที่ 30 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 28 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ