กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๔]

 
khampan.a
วันที่  20 ต.ค. 2553
หมายเลข  17404
อ่าน  9,361

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึง ตอนที่ ๓ ท่านผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน ก็คงพอจะได้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของกฐิน ขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ตามขอบข่ายที่ตั้งใจนำเสนอ คือกฐินที่แท้จริง คืออะไร จุดมุ่งหมายที่แท้จริง เป็นอย่างไร กฐิน เกี่ยวกับอะไร ไม่เกี่ยวกับอะไร มีอานิสงส์อย่างไร เป็นต้น สำหรับใน ๒ ตอนที่เหลือนั้น จะขอนำเสนอคำสนทนา เรื่องกฐิน โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คณะวิทยากร และผู้ร่วมสนทนาธรรมที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้

คุณอรวรรณ “กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ ขอทราบรายละเอียดเรื่องกฐินด้วยค่ะ”

อ. สุจินต์ “ชาวพุทธรู้จักกฐินหรือยัง จะไปกฐิน จะไปทอดกฐิน จะไปอนุโมทนากฐิน แล้วรู้จักกฐินดีหรือยัง ว่า กฐิน คืออะไร เพื่อจะได้เข้าใจกันจริงๆ ว่า กฐิน คืออะไร”

อ. ประเชิญ “จริงๆ กฐิน เป็นชื่อของผ้า ที่พระภิกษุท่านทำปีหนึ่งครั้งหนึ่ง เรียกว่า ท่านจะทำสังฆกรรม หลังจากที่ท่านจำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ก็มีผู้ถวายผ้า เพื่อทำกฐิน กฐิน จริงๆ อยู่ที่ผ้า และอยู่ที่สังฆกรรมของพระภิกษุ จะไม่เกี่ยวกับคฤหัสถ์ คฤหัสถ์เป็นเพียงผู้ถวายผ้าเท่านั้น

อ. สุจินต์ “กฐิน คือผ้า หลังจากหน้าฝน พระภิกษุท่านจำพรรษาผ่านไปแล้ว ถึงกาลที่พระภิกษุควรจะมีผ้า เพราะจีวรอาจจะเก่าเศร้าหมอง ระหว่างนั้น ท่านแสวงหาผ้าเพื่อทำจีวรได้ใช่ไหมคะ และเวลาที่พระภิกษุท่านทำจีวร ทำแบบไหน ไม่ใช่เย็บเฉยๆ ใช่ไหมคะ แต่ก็ต้องมีสะดึงในการที่จะกระทำ”

อ. ประเชิญ “ใช่ครับ คือ ในสมัยก่อน ท่านต้องตัดเอง เย็บ ย้อมเอง ซึ่งก็ใช้มือทั้งหมด แต่ในปัจจุบันนี้ ก็ใช้จักรในการเย็บ และนอกจากนั้นยังมีแบบสำเร็จรูปด้วย ซึ่งอันนี้ก็ต่างกันโดยการทำ การเย็บที่จะให้เรียบร้อย และเป็นแนวที่สวยงาม และก็ไม่ย่น ก็จะต้องใช้ขึง

อ. สุจินต์ “ตกลงคำว่า กฐิน คำนี้ เป็นภาษาบาลี แปลว่า สะดึง เป็นชื่อของไม้สะดึง ซึ่งจะต้องเข้าใจด้วย แต่ตัวสะดึงไม่ได้เอาไปถวาย”

อ. ประเชิญ “สะดึง เอาไว้ขึงสำหรับเย็บผ้า”

อ. สุจินต์ “แล้วเอาอะไรไปถวาย เวลาทอดกฐิน ใช้คำว่า ทอดด้วย เวลาแปล ช่วยกรุณาให้ความกระจ่างด้วย”

อ. ประเชิญ จริงๆ คำว่า ทอด ก็คือ ถวายนั่นเอง ทอดกฐิน ก็คือ ถวายผ้า ต้องเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ที่ท่านจะต้องเอาไปทำเป็นกฐิน ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินหรือบริวารอย่างอื่นเลย เมื่อค้นคว้าในพระไตรปิฎกแล้วไม่พบคำว่าบริวารของกฐินและไม่มีเรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่เป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น

อ. สุจินต์ “เพราะฉะนั้น จะไปทำอะไรกับกฐิน คะ คุณอรวรรณ”

คุณอรวรรณ “ท่านอาจารย์คะ ถ้าพูดตรงๆ ส่วนใหญ่สมัยปัจจุบัน ก็มีการรวบรวมเงิน เรียกว่า กฐินสามัคคี แล้วนำไปถวาย แล้วก็มักถามกันว่า กฐินกองนี้ได้ถวายพระไปเท่าไหร่ พอเจอหน้ากันก็มักจะถามว่า ทำบุญกฐิน ครั้งนี้ได้เงินไปเท่าไร กลายเป็นอย่างนี้ไปเลย ซึ่งเป็นกฐินที่เข้าใจผิดๆ แบบชาวบ้าน ซึ่งไม่ตรงตามพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบัญญัติไว้

อ. สุจินต์ “ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ อุบาสกอุบาสิกา ถวายผ้ากฐินได้ ไม่ใช่ว่า จะต้องไปเก็บผ้ามาทำอย่างในสมัยก่อน ทรงอนุญาตให้ถวายผ้ากฐินได้ แต่ กฐิน ต้องเป็นกฐิน อันนี้ คือ กฐินซึ่งเป็นเรื่องของผ้า เพราะฉะนั้น ถ้ามีจุดประสงค์ที่จะสร้างศาลา หรืออะไรก็ตาม แต่ก็ต้องชัดเจน การที่จะไปสร้างอะไรนั้น ไม่ใช่กฐิน เมื่อมีจุดประสงค์เพื่อสร้างอะไรก็บอกไป ไม่ใช่ว่าเอาสิ่งนั้นมารวมกับกฐิน แล้วก็อ้างว่า เป็นกฐิน หรือ เป็นบริวารของกฐิน อย่างนี้ไม่ถูกต้องใช่ไหมคะ”

อ. ประเชิญ “ใช่ครับ คนในสมัยปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็มักจะรู้จักกฐิน ในนามที่เป็นซองขาว ซองกฐิน เพื่ออะไร เพื่อที่จะใส่เงิน แต่เงินนั้น ไม่ใช่กฐิน ซองขาวก็ไม่ใช่กฐินด้วย”

อ. สุรีย์ “มีที่มาหรือไม่ว่า ช่วงเวลาของกฐิน คือเวลานี้ คือหลังออกพรรษาหนึ่งเดือน”

อ. ประเชิญ “มีครับ ในพระวินัย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อนุญาตให้พระภิกษุได้ทำกฐิน ที่ออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน คือ จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ก็อีกหนึ่งเดือนก็เป็นช่วงแสวงหาผ้าเพื่อที่จะเปลี่ยนผ้าใหม่ ในช่วงนั้น ก็อนุญาตให้ภิกษุที่ได้รับผ้านั้น เป็นผ้ากฐิน เป็นเรื่องของพระภิกษุ เพราะฉะนั้น ทั้งเรื่องผ้าป่า และ กฐิน ต้องเป็นเรื่องของผ้าทั้งนั้น ขอเรียนว่า ผ้าป่า กับ กฐิน ในยุคปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องของเงินทอง เป็นเรื่องของซองที่จะต้องไปรวมกัน และก็เป็นจำนวนเงินว่า ผ้าป่ากองนี้ได้เงินเท่าไหร่ เป็นเรื่องเงินทั้งหมด แต่จริงๆ แล้ว ผ้าป่า ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า เป็นผ้าบังสุกุล เป็นผ้าที่พระภิกษุท่านเก็บตามป่าช้า เก็บตามกองขยะ หรือตามที่เขาเอาไปทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ข้างถนน เป็นต้น นี้คือลักษณะของผ้าป่า หรือผ้าบังสุกุล ที่พระภิกษุท่าน แสวงหาตามป่าช้า ก็เรียกว่า ผ้าป่า ไม่ใช่เรื่องของเงินทอง และไม่ใช่ผ้าที่ชาวบ้านเอาไปถวาย เพราะฉะนั้น ในยุคปัจจุบันที่บอกว่าถวายผ้าป่า ก็ไม่ใช่ ผ้าป่าตามพระธรรมวินัย เงินก็ไม่ใช่ผ้าป่า ผ้าที่นำไปถวาย ก็ไม่ใช่ ผ้าป่า ไม่ใช่ทั้งหมดเลย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2553

คุณอรวรรณ “ท่านอาจารย์คะ เลยกลายเป็นว่า เขาก็จะแปลกใจว่า พอมาฟังพระธรรมแล้ว ไม่ยอมไปทอดกฐินเลย พอศึกษาตรงนี้ก็พอจะเข้าใจว่า ที่เขาทำกันนั้นไม่ใช่การทอดกฐินตามพระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นว่า ผู้ที่เข้าใจแล้วก็ไม่ไป เลยกลายเป็นผิดปกติไป แต่คนที่เขาไปทำแบบที่ไม่ปกตินั้น ว่าเป็นผู้ปกติ จะเห็นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่เหมือนกับผิดเพี้ยนจากพระธรรมคำสอน และก็ยังมีอีกมากมาย เรื่องกฐินกับผ้าป่านี้ ก็ชัดเจน แต่ก็ยังมีอีกมากมายที่ไม่ตรงต่อคำสอน ผู้คนก็นึกว่าตรง แต่พอมาศึกษาแล้ว เข้าใจตามความเป็นจริง คนอื่นก็มองเราว่าผิดปกติไป ก็จะเป็นอย่างนี้”

อ. สุจินต์ “ผิดปกติ อกุศล ผิดปกติที่ไม่รู้ จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ตรง การถวายผ้ากฐิน ก็คือ การถวายผ้า แต่ถ้ามีจุดประสงค์ที่จะสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็บอกให้ชัดเจนไปว่า จะมีการก่อสร้าง ใครที่มีศรัทธาที่จะร่วมสมทบก็สามารถที่จะร่วมสมทบได้ แต่ไม่ใช่เอามารวมกับกฐิน เพราะเหตุว่า กฐิน ก็ต้องเป็นกฐิน

คุณเพ็ญโฉม “ขอเรียนถามคุณประเชิญ จริงๆ แล้ว เรื่องของกฐิน เป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ หรือผู้ถวายอย่างไรหรือไม่ ช่วยอธิบาย ให้ชัดเจนด้วยค่ะ”

อ. ประเชิญ “ถ้ากล่าวตามพระวินัย กฐิน ก็เป็นเรื่องของพระภิกษุโดยตรง ตั้งแต่การรับผ้า พระภิกษุท่านก็จะมีการสวด ซึ่งเป็นลักษณะของสังฆกรรม เพื่อที่จะประกาศว่า จะมอบผ้านี้ให้กับพระภิกษุรูปใด และหลังจากนั้น ท่านก็จะทำการช่วยกัน ตั้งแต่ทำผ้ากฐินเริ่มตั้งแต่เอามากะ เอามาตัด เมื่อตัดเย็บอะไรเรียบร้อยแล้ว ก็เอาไปกรานกฐิน ก็คือ เอามาทำตามขั้นตอนของพระวินัย คือ ก่อนที่ท่านจะครองผ้านั้น จะต้องถอนผ้าเก่าผ้าที่นุ่งอยู่นี้ ท่านก็ถอน (ภาษาพระเรียกว่า ปัจจุธรณ์) และอธิษฐานผ้าใหม่นี้ เพื่อจะเป็นผ้าใช้ต่อไป และภิกษุที่อยู่ร่วมสังฆกรรมนั้น ท่านก็อนุโมทนา ขั้นตอนทั้งหมดนี้ เรียกว่า กรานกฐิน ที่ภิกษุทุกรูปต้องช่วยกัน”

อ. สุจินต์ “แล้วผ้านั้น มาจากไหน”

อ. ประเชิญ “ผ้านั้น ก็จะมีคนถวาย จะเป็นมนุษย์ หรืออมนุษย์ก็ได้ เทวดาถวายหรือ บริษัททั้ง ๔ ถวายก็ได้”

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2553

อ. สุจินต์ “สมัยที่ยังไม่มีการถวาย มีกฐินไหม”

อ. ประเชิญ “ไม่ได้กล่าวว่า เป็นผ้ากฐิน แต่ก็เป็นเรื่องของผ้าอย่างอื่นครับ”

อ. สุจินต์ “ที่ใช้คำว่า กฐิน ก็ต่อเมื่อมีผู้ถวายผ้านั้น สำหรับที่จะให้ทำเป็นกฐิน ผืนใดผืนหนึ่ง ผ้าที่พระภิกษุท่านไปเก็บมาเอง เป็นผ้าบังสุกุล พวกนี้เอามาเย็บ มาย้อม ไม่ใช่ผ้ากฐิน เพราะฉะนั้นมีการจำกัดเวลาด้วย และมีอานิสงส์ ด้วย ซึ่งทำให้ต่างกัน”

อ. ประเชิญ “ใช่ครับ คือ ในช่วงหนึ่งเดือน หลังออกพรรษา ปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียว ระยะเวลาก็เพียงหนึ่งเดือน ผ้าที่ถวายและพระภิกษุท่าน ทำการกรานกฐิน ตามวินัยกรรม อันนี้เป็นกฐิน ถ้าไม่ใช่ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ ก็ไม่ใช่กฐิน และองค์ประกอบก็มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ คุณสมบัติของภิกษุ ที่จะรับกฐิน จะต้องอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน มีพรรษาไม่ขาด เป็นต้น

อ. สุจินต์ “สมัยโน้น ชาวบ้านเอาผ้าไปถวาย แล้วเขาทำอะไรกันบ้าง มีจำนวน กี่คน คนเดียวหรือหลายคน แล้วถวายกันอย่างไร”

อ. ประเชิญ “ก็คือท่านใดท่านหนึ่ง อาจจะเป็นคนเดียว ถ้ามีเพื่อนสหายที่จะช่วยทำให้การเย็บผ้านั้น ได้สำเร็จรวดเร็วยิ่งขึ้น ก็อาจจะถวายด้าย เข็ม หรือถวายไม้สะดึงเป็นส่วนประกอบทำให้การเย็บผ้านั้นสำเร็จเร็วขึ้น ก็ได้”

อ. สุจินต์ “แล้วชาวบ้านช่วยเย็บด้วยหรือเปล่า”

อ. ประเชิญ “ในพระวินัยที่ปรากฏ คือ พระภิกษุท่านทำเอง”

อ. สุจินต์ “เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์เพียงถวายผ้า ซึ่งยังไม่สำเร็จรูป (ยังครับ) แต่ภายหลังถวายเป็นผ้าแบบสำเร็จรูปได้หรือไม่ หรือว่ายังจะต้องเย็บเหมือนเดิม”

อ.ประเชิญ “ในอรรถกถา มีข้อความแสดงไว้ เหมือนเป็นนัยว่า ถ้าเขาถวายแบบสำเร็จรูป ก็สามารถกรานกฐิน ด้วยผ้าที่คฤหัสถ์นำมาถวายเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้ว ก็ทำได้”

อ.สุจินต์ “เพราะฉะนั้นเดิมทีเดียว รู้สึกว่าจะใช้แต่ผ้าขาว ภายหลังจึงให้พระภิกษุย้อมเป็นสีตามพระวินัย ไม่ใช่ถวายเป็นจีวรสำเร็จรูป”

อ. ประเชิญ “ใช่ครับ”

คุณอุดร “กราบท่านอาจารย์ครับ ยุคสมัยก็เปลี่ยนไป การทอดกฐิน จึงมีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไรครับ”

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จะตอบว่าอย่างไร โปรดติดตามในตอนจบวันพรุ่งนี้ นะครับ

ขออุทิศกุศลในครั้งนี้แด่ อ. สุรีย์ สุวรรณศร สหายธรรมผู้จากพวกเราไปแล้ว

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Noparat
วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณคำปั่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผิน
วันที่ 21 ต.ค. 2553
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
aditap
วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pornpaon
วันที่ 22 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 22 ต.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
บัวขาว
วันที่ 22 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Nareopak
วันที่ 24 ต.ค. 2553

ตั้งแต่เข้าใจความหมายของ "กฐิน" ก็ไม่เคยไปทอดกฐินอีกเลย เวลามีคนมาขอให้เป็นกรรมการและจะให้ช่วยแจกซอง จะปฏิเสธทันทีและบอกว่า ไม่ต้องใส่ชื่อและไม่ขอแจกซอง แต่ยังต้องบริจาคเงิน โดยคิดว่าเป็นการสละทรัพย์ คิดอย่างนี้ทำให้รู้สึกดีขึ้น (เพราะไม่ได้สนับสนุนให้ใครเข้าใจเรื่องกฐินผิด) ประหยัดเงินกว่าแต่ก่อนมากมาย

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jirat wen
วันที่ 5 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ