กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๓]

 
khampan.a
วันที่  19 ต.ค. 2553
หมายเลข  17396
อ่าน  4,521

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สาระจากตอนที่ ๒ พอที่จะสรุปได้ว่า พระภิกษุอยู่จำพรรษาในอาวาสนั้นอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป เท่านั้นถึงจะรับกฐินได้ เมื่อคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นผู้ถวายผ้าโดยตรง ได้ถวายผ้าแก่สงฆ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป เป็นเรื่องของพระภิกษุทุกรูปที่จะต้องกระทำตามพระวินัยเป็นสังฆกรรมประการหนึ่ง และจะต้องทำในเขตสีมา (พระอุโบสถ) เท่านั้น เริ่มตั้งแต่ประกาศให้ทราบว่า ผ้าผืนนี้จะมอบให้ใคร แล้วสงฆ์ก็อนุมัติ และจะต้องทำให้เสร็จ ภายในวันนั้นด้วย ตั้งแต่การซัก การกะ การตัด การเย็บ การย้อม เป็นต้น ทำให้สำเร็จตามพระวินัย รวมเรียกว่า เป็นการกรานกฐิน พระภิกษุที่ได้กรานกฐินแล้ว จะได้อานิสงส์ ๕ ประการ มีเที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลาเป็นต้น อานิสงส์ ๕ ประการนี้

พระภิกษุเท่านั้นที่ได้รับ ไม่ใช่อานิสงส์สำหรับคฤหัสถ์ สำหรับในตอนที่ ๓ นี้ จะเป็นแสดงความเห็น ใน ๓ ประเด็น คือ เกี่ยวกับผู้ถวายกฐินโดยตรง จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องถวายกฐิน และ กฐินเดาะ คือ อะไร เป็นลำดับไปดังต่อไปนี้

“เกี่ยวกับผู้ถวายกฐินโดยตรง”

กฐิน เป็นการให้ทานตามกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้โดยตรงสำหรับผู้ถวายกฐินนั้น ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้ทานตามกาล และ เป็นการถวายต่อสงฆ์ ไม่ใช่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังมีโอกาสในการถวายด้าย เข็ม น้ำย้อม รวมถึงภัตตาหาร แก่พระภิกษุ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุโดยตรงในวันนั้น และนอกจากนั้น ยังมีโอกาสได้เลี้ยงอาหาร สำหรับแขกผู้ที่มาร่วมงานในวันดังกล่าว ด้วยเป็นไปในเรื่องของกุศลทั้งหมด

ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องรอเฉพาะช่วงกฐินเท่านั้น ที่จะเป็นโอกาสของการเจริญกุศล เวลาอื่นก็ถวายได้ แต่การถวายผ้า หรือการถวายสิ่งของที่สมควรแก่พระภิกษุที่ไม่อยู่ในฤดูกาลกฐิน ไม่ใช่กฐินเท่านั้นเอง กุศลจิตไม่ได้จำกัดเลย และไม่ได้เป็นไป เฉพาะในทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ภูมิมนุษย์เรานั้นเป็นภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญกุศลได้ทุกประการ ทั้งทาน ศีล และภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคนี้สมัยนี้ พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นบัณฑิตมีปัญญาที่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง ก็ยังได้แสดงความจริงอยู่ ก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมยิ่งขึ้น ต่อไป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 ต.ค. 2553

"จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องถวายกฐิน"

ถ้าวัดใด ไม่มีผู้ที่เป็นเจ้าภาพถวายกฐิน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด ไม่ใช่ว่า ไม่มีผู้เป็นเจ้าภาพกฐินแล้ว พระภิกษุจะไปขอหรือไปพูดเลียบเคียงกับคฤหัสถ์เพื่อให้ได้มาซึ่งกฐินนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

สรุปแล้วคือ ถ้าไม่มีผู้ถวาย ก็คือ ไม่มีผู้ถวาย พระภิกษุ ก็ยังต้องดำเนินชีวิตไป ตามวิสัยของบรรพชิต ที่มุ่งตรงต่อการศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ต่อไป เพียงแต่ว่า ไม่ได้มีโอกาสได้กรานกฐิน และไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐินเท่านั้นเอง ซึ่งโดยปกติของพระภิกษุ ก็จะต้องเป็นผู้ที่สำรวมระวังในพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว เมื่อไม่ได้กรานกฐิน และไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐิน ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคฤหัสถ์มีความพร้อมที่จะถวาย ก็เป็นการดี เพราะเป็นการได้เจริญกุศลตามกาล เป็นการได้สะสมความดี เป็นที่พึ่งให้กับตนเอง แต่ถ้าไม่มีโอกาสหรือไม่สามารถ ก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก โอกาสแห่งการเจริญขึ้น ของกุศลธรรม ในชีวิตประจำวัน นั้น มีมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะให้ความสำคัญในการเจริญกุศล ในแต่ละทางๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องของการสะสม ของแต่ละบุคคลจริงๆ

"กฐินเดาะ คือ อะไร?"

คำว่า กฐินเดาะ นั้น เป็นภาษาของพระวินัย ซึ่งเมื่อจะถอดความหรือแปลให้ชัดเจนแล้ว หมายถึง การรื้อกฐิน ซึ่งสามารถพิจารณาเป็น ๒ ประเด็น คือ

๑. เพราะเป็นกฐิน ที่ไม่ถูกต้องตามพระวินัย เช่น ผ้าที่นำมาถวาย เป็นผ้าที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เช่น เป็นผ้าที่ภิกษุขอเขามา เป็นผ้าที่พูดเลียบเคียงเขาได้มา เป็นต้น หรือ มีการถวายผ้าดังกล่าว ในช่วงเวลาที่เลยฤดูกฐินไปแล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นกฐิน โดยประการทั้งปวง

๒. เป็นกฐินที่ถูกต้องตามพระวินัย แต่ก็ยกเลิกเสีย เช่น มีการถวายผ้าที่ถูกต้องตามพระวินัย เป็นผ้าที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ แต่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษา ครบ ๓ เดือน ในอาวาสนั้น ไม่มีความสามารถในสังฆกรรมที่เป็นวิธีกรานกฐิน ตั้งแต่ต้นจนจบการกรานกฐิน หรือ การรับกฐิน ก็เกิดขึ้นไม่ได้

* ผ่านมาแล้ว ๓ ตอนด้วยกัน สำหรับ "กฐิน ในพระพุทธศาสนา" ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียด และยากที่จะเข้าใจ แม้แต่ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด จุดประสงค์หลักในการนำเสนอในครั้งนี้ ก็เพียงเพื่อให้เข้าใจโดยรวมๆ ว่า กฐินที่แท้จริงเป็นอย่างไร เกี่ยวกับอะไร ไม่เกี่ยวกับอะไร สาระสำคัญจริงๆ เป็นอย่างไร ที่ทำกันอยู่นี้ ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยหรือไม่ เพื่อจะเข้าใจ และจะได้กระทำให้ถูกต้อง เท่าที่นำเสนอมา ก็อยู่ในขอบข่าย ดังกล่าวนี้แล้ว เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้ามาอยู่มูลนิธิฯ ใหม่ๆ ได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ กล่าวเตือนไว้ตอนหนึ่ง น่าสนใจมาก คือ "เมื่อเรารู้ว่าอะไรผิด แล้ว เราจะทำให้ถูกขึ้น หรือว่าเราจะทำผิดต่อไป?" ซึ่งก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดี สำหรับผู้ศึกษาพระธรรมทุกท่านจริงๆ

สำหรับ อีก ๒ ตอนที่เหลือ ข้าพเจ้าจะขอนำเสนอ คำสนทนา เรื่องกฐิน ระหว่างท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คณะวิทยากร (ซึ่งอาจารย์ประเชิญ ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนมาก) และผู้ร่วมสนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Noparat
วันที่ 20 ต.ค. 2553

"เมื่อเรารู้ว่าอะไรผิด แล้ว เราจะทำให้ถูกขึ้น หรือว่า เราจะทำผิดต่อไป?"

คำพูดของ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ลึกซึ้งและกินใจ เป็นอย่างยิ่ง

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณคำปั่น ที่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจในแง่มุมที่ควรจะรู้เรื่องกฐิน ที่ตัวเองก็เคยเข้าใจผิดมานาน แถมยังได้ส่งเสริมในสิ่งที่ผิดๆ ด้วยแต่เมื่อได้อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่า กฐิน คือ อะไร และ จุดมุ่งหมาย คือ อะไร ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 20 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

เป็นเรื่องของพระภิกษุท่านแท้ๆ และละเอียดมาก เข้าใจได้ยากสำหรับคฤหัสถ์จริงๆ แม้จะพอเข้าใจเรื่องผ้าป่า (ที่ปัจจุบันความหมายผิดไปหมด) และกฐินตามที่ได้อ่านจากที่นี้ และจากที่ได้ฟังธรรมมาเรื่อยๆ นับแต่นั้นมาหลายปี ดิฉันก็ยังคงรับซองกฐิน หรือซองผ้าป่าต่างๆ จากมิตรสหายที่เข้าใจผิดเรื่องบุญเป็นปกติ เพราะยังอาศัยอยู่ในสังคมของความเป็นจริง เคยพยายามเลียบเคียงอธิบาย แต่ท่าทางเพื่อนเข้าใจลำบากและอยากได้เงินถวายวัดให้มากๆ มากกว่าอยากเข้าใจถูก ก็เข้าใจเขา ใส่เงินในซองด้วยความเต็มใจ ด้วยมีเจตนาว่า ทำทานกุศล เพื่อสมทบทุนการสร้างห้องน้ำบ้าง ซ่อมแซมกระเบื้องหลังคาโบสถ์ที่ชำรุด ฯลฯ ตามแต่เจ้าของซองจะแจ้งว่าเงินจากซองผ้าป่าหรือกฐิน (ตามที่เขาเข้าใจไม่ถูก) นั้น จะนำไปทำอะไร แต่ไม่ใช่เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นการทอดผ้าป่า หรือทอดกฐินที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่ก็คงเหมือน ส่งเสริมให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่า การกระทำเช่นนั้นถูกต้องอยู่ดี รู้สึกว่าตัวเองนี้แย่จริง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 20 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ. คำปั่น มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
คุณ
วันที่ 20 ต.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 20 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
aditap
วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 22 ต.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jirat wen
วันที่ 5 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
aurasa
วันที่ 12 ก.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ