อธิบายอภิสังขาร [วิภังค์ ]

 
JANYAPINPARD
วันที่  31 มี.ค. 2553
หมายเลข  15809
อ่าน  8,036

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 434

[๒๕๗] ในปัจจยาการเหล่านั้น สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเป็นไฉน ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น ปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน กุศลเจตนา เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร ที่สำเร็จด้วยทาน ที่สำเร็จด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น อปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน อกุศลเจตนาเป็นกามาวจร นี้เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น อาเนญชาภิสังขาร เป็นไฉน กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร นี้เรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น กายสังขาร เป็นไฉน กายสัญเจตนา เป็นกายสังขาร วจีสัญเจตนา เป็นวจีสังขาร มโนสัญเจตนา เป็นจิตตสังขาร เหล่านี้เรียกว่า สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 31 มี.ค. 2553

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 467

บรรดาปัจจยาการเหล่านั้น

สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นไฉน ปุญญาภิสังขาร ดังนี้เป็นต้น. ในพระบาลีนั้น สภาวะที่ชื่อว่า บุญ เพราะอรรถว่า ย่อมชำระกรรมอันเป็นการทำของตน คือ ย่อมยังอัชฌาศัยของผู้กระทำตนนั้นให้บริบูรณ์และยังภพอันน่าบูชาให้เกิดขึ้น.

ที่ชื่อว่า อภิสังขาร เพราะอรรถว่า ย่อมปรุงแต่งวิบาก และกฏัตตารูป. อภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่ง) คือ บุญชื่อว่า ปุญญาภิสังขาร.

สภาพที่ชื่อว่า อปุญฺโญ (อบุญ) เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ. อภิสังขาร คือ อบุญ ชื่อว่า อปุญญาภิสังขาร.

ที่ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะอรรถว่า ย่อมไม่หวั่นไหว.

ที่ชื่อว่า อาเนญชาภิสังขาร เพราะอรรถว่า อภิสังขารคืออาเนญชะ (ความไม่หวั่นไหว) และสภาพที่ปรุงแต่งภพอันไม่หวั่นไหว.

ที่ชื่อว่า กายสังขาร เพราะอรรถว่า เป็นสังขาร (การปรุงแต่ง) อันกายให้เป็นไป หรือเพราะกาย หรือเป็นไปแก่กาย แม้ในวจีสังขารและจิตสังขาร ก็นัยนี้เหมือนกัน.

ในสังขารเหล่านั้น สังขาร ๓ แรก ทรงถือเอาด้วยอำนาจแห่งปริวิมังสนสูตร จริงอยู่ ในสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า หากว่าบุคคลย่อมปรุงแต่งสังขาร (สภาพปรุงแต่ง) ที่เป็นบุญ วิญญาณก็เข้าถึงความเป็นบุญ หากว่า บุคคลย่อมปรุงแต่งสังขารที่เป็นอบุญ วิญญาณก็เข้าถึงความเป็นอบุญ (บาป) หากว่า บุคคลย่อมปรุงแต่งสังขารที่เป็นอาเนญชะ วิญญาณก็เข้าถึงความเป็นอาเนญชะ ดังนี้.

สังขาร ๓ ที่สอง ทรงถือเอาด้วยอำนาจแห่งวิภังคสูตรอันเป็นลำดับแห่งปริวิมังสนสูตรนั้น แม้กล่าวว่าทรงถือเอาโดยปริยายแห่งสัมมาทิฏฐิสูตร ดังนี้ ก็ควรเหมือนกัน. เพราะในวิภังคสูตรนั้น ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขาร ๓ เหล่านี้ สังขาร ๓ เป็นไฉน กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ดังนี้.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงทรงถือเอาสังขารเหล่านั้นด้วยอำนาจแห่งสูตรเหล่านั้นเล่า.

ตอบว่า เพื่อแสดงบทนี้ว่า ธรรมดาพระอภิธรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงกระทำไว้ในบัดนี้ พวกฤาษีภายนอก หรือพวก พระสาวก หรือพวกเทวดามิได้ภาษิตไว้ ก็พระอภิธรรมนี้เป็นภาษิต ของพระชินเจ้าผู้เป็นสัพพัญญูพุทธะ เพราะในพระอภิธรรมก็ดีในพระสูตรก็ดี เป็นพระบาลีแบบแผนที่ยกขึ้นแสดงออกเป็นเช่นเดียวกันทั้งนั้น ดังนี้.

ว่าด้วยปุญญาภิสังขาร

บัดนี้ เพื่อทรงแสดงสังขารเหล่านั้น โดยชนิดต่างๆ จึงตรัสคำมีอาทิว่า คติถ กตโม ปุญฺญาภิสํขาโร ในสังขารเหล่านั้น

ปุญญาภิสังขารเป็นไฉน ในพระบาลีนั้น แม้เจตนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ ตรัสโดยไม่กำหนดไว้ว่า เจตนาที่เป็นกุศล แต่เพราะทรงกำหนดว่า กามาวจร รูปาวจรดังนี้ เจตนา ๑๓ ดวง คือ กามาวจรกุศลเจตนา ๘ ดวง และรูปาวจรกุศลเจตนา ๕ ดวง ชื่อว่า ปุญญาภิสังขาร.

ด้วยบททั้งหลายว่า ทานมยา (ทานมัย) เป็นต้น ทรงแสดงความเป็นไปด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุแห่งเจตนาเหล่านั้นนั่นเอง.

ในพระบาลีนั้น เจตนา ๘ ดวง เป็นกามาพจร ย่อมสำเร็จด้วยทานและศีลเท่านั้น แต่เจตนาแม้ทั้ง ๑๓ ดวง สำเร็จด้วยภาวนา เปรียบเหมือนบุคคลสาธยายธรรมคล่องแคล่ว ย่อมไม่รู้ซึ่งธรรมที่เป็นไปแม้สนธิหนึ่ง แม้สนธิสอง เมื่อนึกถึงจึงรู้ในภายหลัง ฉันใด เมื่อพระโยคาวจรกระทำกสิณบริกรรมพิจารณาฌานที่เกิดคล่องแคล่ว และเมื่อมนสิการกรรมฐานที่ชำนาญก็ฉันนั้นเหมือนกัน เจตนาแม้ปราศจากญาณ ก็ย่อมสำเร็จเป็นภาวนา ด้วยเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า เจตนาแม้ทั้ง ๑๓ ดวง สำเร็จด้วยภาวนา ดังนี้.

ในเทศนานั้น เทศนานี้เป็นเทศนาโดยย่อในบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นว่า เจตนา สัญเจตนา (ความตั้งใจ) ความคิดปรารภทาน ทำทานให้เป็นใหญ่ อันใด ย่อมเกิดขึ้น นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขารสำเร็จด้วยทาน เจตนาความตั้งใจ ความคิด ปรารภศีล ฯลฯ ปรารภภาวนาทำภาวนาให้เป็นใหญ่อันใด นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขารสำเร็จด้วยภาวนา ดังนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 31 มี.ค. 2553

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 469

ส่วนกถานี้เป็นกถาโดยพิสดารว่า บรรดาปัจจัย ๔ มีจีวร เป็นต้น หรือบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปารมณ์ เป็นต้น หรือทานวัตถุ ๑๐ มีการให้ข้าว เป็นต้น เจตนาของบุคุคลผู้ให้วัตถุนั้นๆ ที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ ในบุรพภาค (ส่วนเบื้องต้น) จำเดิมแต่การเกิดขึ้นแห่งของนั้นๆ ๑ ในเวลาบริจาค ๒ ในการระลึกถึงด้วยจิตโสมนัสในภายหลัง ๑ ชื่อว่า ทานมัย

ส่วนเจตนาที่เป็นไปแก่บุคคลผู้ไปสู่วิหารผู้ตั้งใจว่า เราจักบวชเพื่อบำเพ็ญศีล ดังนี้ บวชแล้วยังมโนรถให้ถึงที่สุดแล้ว รำพึงอยู่ว่า เราบวชแล้วเป็นการดีหนอๆ ดังนี้สำรวมพระปาฏิโมกข์ พิจารณาอยู่ซึ่งปัจจัยทั้งหลายมีจีวร เป็นต้น ระวังอยู่ซึ่งจักขุทวาร เป็นต้น ในอารมณ์มีรูป เป็นต้น ที่มาสู่คลอง และชำระอาชีวะให้หมดจดอยู่ ชื่อว่า ศีลมัย

เจตนาที่เป็นไปแก่พระโยคาวจรผู้เจริญอยู่ซึ่งจักษุโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เจริญรูปทั้งหลาย ฯลฯ เจริญธรรมทั้งหลาย เจริญจักขุวิญญาณ ฯลฯ เจริญมโนวิญญาณ เจริญจักขุสัมผัส ฯลฯ เจริญมโนสัมผัส เจริญจักขุสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ เจริญมโนสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ เจริญรูปสัญญา ฯลฯ เจริญชรามรณะ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยทางแห่งวิปัสสนาที่กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค ชื่อว่า ภาวนามัย ดังนี้.

ว่าด้วยอปุญญาภิสังขาร

พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอปุญญาภิสังขาร ต่อไป

บทว่า อกุสลา เจตนา (อกุศลเจตนา) ได้แก่ เจตนาสัมปยุตด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง.

บทว่า กามาวจรา (เป็นกามาพจร) ความว่า บรรดาอกุศลเจตนา ๑๒ ดวงเหล่านั้น เว้นเจตนาที่สหรคตด้วยโทมนัส ๒ ดวง ที่เหลือย่อมเกิดขึ้นแม้ในรูปภพและอรูปภพ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ชักปฏิสนธิมาในรูปภพและอรูปภพนั้น ย่อมยังวิบากให้ท่องเที่ยวไปในกามาวจร ด้วยอำนาจปฏิสนธินั่นแหล่ะ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า เป็นกามาพจรเท่านั้น ดังนี้.

ว่าด้วยอาเนญชาภิสังขาร

พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอาเนญชาภิสังขาร ต่อไป

บทว่า กุสลา เจตนา อรูปาวจรา (กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร) ได้แก่ กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร ๔ จริงอยู่ กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร ๔ เหล่านั้น ตรัสเรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวและเพราะอรรถว่า ปรุงแต่งความไม่หวั่นไหว ด้วยว่าธรรม ๑๕ คือ เจตนาที่เป็นกุศล วิบาก กิริยาที่เกิดแต่จตุตถฌานที่เป็นรูปาวจร ๓ ดวง เจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๑๒ ดวง ชื่อว่า อาเนญชา เพราะอรรถว่า มั่นคง เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว. บรรดาเจตนา ๑๕ เหล่านั้น รูปาวจรกุศลเจตนา แม้เป็นสภาพไม่หวั่นไหว แต่ก็ให้เกิดรูปและอรูปที่เหมือนกับตนบ้าง ไม่เหมือนกับตนบ้างให้มีความหวั่นไหวบ้าง ไม่มีความหวั่นไหวบ้าง เพราะฉะนั้น จึงไม่ชื่อว่า อาเนญชาภิสังขาร

ส่วนรูปาวจรวิบากเจตนาและรูปาวจรกิริยาเจตนา ย่อมปรุงแต่งวิบากไม่ได้ เพราะไม่มีวิบาก จึงชื่อว่า เป็นอาเนญชาภิสังขารไม่ได้เจตนาที่เป็นอรูปาวจรวิบากและกิริยา ก็เป็นอาเนญชาภิสังขารไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เจตนาเหล่านั้นแม้ทั้ง ๑๑ ดวง จึงเป็น อาเนญชา (ความไม่หวั่นไหว) เท่านั้น ไม่เป็นอภิสังขาร.

แต่อรูปาวจรกุศลเจตนา ๔ ดวงเท่านั้น ตรัสเรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร เพราะอรรถว่า ย่อมให้เกิดอรูปอันไม่หวั่นไหวเช่นกับตน เหมือนเงาของสัตว์มีช้างม้าเป็นต้น ก็เป็นเช่นเดียวกับ สัตว์มีช้างม้า เป็นต้น ฉะนั้น เจตนาเหล่านั้นแม้ทั้งหมด คือ กามาวจรกุศลเจตนา ๓ ดวง ด้วยอำนาจแห่งปุญญาภิสังขาร อกุศลเจตนา ๑๒ ดวง ด้วยอำนาจแห่งอปุญญาภิสังขาร อรูปกุศลเจตนา ๔ ดวง ด้วยอำนาจอาเนญชาภิสังขารประมวลมาเป็นเจตนา ๒๙ ดวง [1] ด้วยประการฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดเจตนา ที่เป็นกุศลและอกุศลที่เกิดขึ้นแก่เหล่าสัตว์หาประมาณมิได้ ในจักรวาลอันประมาณมิได้ ด้วยพระสรรพัญญุตญาณ ทรงแสดงเจตนาไว้ ๒๙ ดวงเท่านั้น เหมือนทรงชั่งอยู่ด้วยคันชั่งอันใหญ่ และเหมือนทรงตวงใส่ไว้ในทะนานนั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้.

[1] ๒๙ ดวง ได้แก่ เจตนา ๑๓ ดวง คือ กามาวจรกุศลเจตนา ๘ ดวง และรูปาวจรกุศลเจตนา ๕ ดวง อกุศลเจตนา ๑๒ ดวง ด้วยอำนาจแห่งอปุญญาภิสังขาร อรูปกุศลเจตนา ๔ ดวง ด้วยอำนาจอาเนญชาภิสังขาร

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
one_someone
วันที่ 7 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนา

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 29 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ