ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง [สังคารวสูตร]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  25 ม.ค. 2553
หมายเลข  15259
อ่าน  1,922

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๒๕๕ - ๒๕๙

ว่าด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์๑

อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ๑ ดูก่อนพราหมณ์ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมากคือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์.

ดูก่อนพราหมณ์ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจได้โดยนิมิตว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นเช่นนี้บ้าง จิตของท่านเป็นด้วยประการฉะนี้บ้าง ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่ ดูก่อนพราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ก็แต่ว่าพอได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นเช่นนี้บ้าง จิตของท่านเป็นด้วยประการฉะนี้บ้าง ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็จริง คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไม่

ดูก่อนพราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้เลยแต่ว่าพอได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นเช่นนี้บ้าง จิตของท่านเป็นด้วยประการฉะนี้บ้าง ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็จริง คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่

ดูก่อนพราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้ ถึงได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้ ก็แต่ว่ากำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ อันไม่มีวิตกวิจาร ด้วยใจของตนว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้ด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้นถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็จริง คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้นหาเป็นอย่างอื่นไปไม่ ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์

ดูก่อนพราหมณ์ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่าจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์.

ดูก่อนพราหมณ์ ปาฎิหาริย์ ๓ อย่างนี้แล ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ท่านชอบปาฏิหาริย์อย่างไหนซึ่งดีกว่าและประณีตกว่า

สัง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บรรดาปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนั้น ปาฏิหาริย์ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดังนี้นั้น ผู้ใดแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นี้ได้ แสดงฤทธิ์เป็นอันมาก ผู้นั้นย่อมชอบใจปาฏิหาริย์นั้น ปาฏิหาริย์ที่ผู้ใดแสดงได้ และเป็นของผู้นั้นนี้ ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนกับรูปลวง

ปาฏิหาริย์ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้พูดดักใจได้ยินโดยนิมิตว่าใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นเช่นนี้บ้าง จิตของท่านเป็นด้วยประการฉะนี้บ้าง ถึงเธอจะพูดดักใจกะชนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้นหาเป็นอย่างอื่นไม่ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ... แต่ว่าพอได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจได้ ... แม้ว่าได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว พูดดักใจไม่ได้ แต่ว่าได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ก็พูดดักใจได้ ถึงได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคล ผู้ตรึกตรองเข้าแล้วก็พูดดักใจไม่ได้ แต่ว่ากำหนดรู้ใจของผู้อื่นที่เข้าสมาธิอันไม่มีวิตกวิจารด้วยใจของตนว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้น ถึงหากเธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็นอย่างอื่นไปไม่ ผู้ใดแสดงปาฎิหาริย์นี้ได้ ผู้นั้นย่อมชอบใจปาฎิหาริย์นั้น ปาฏิหาริย์ที่ผู้ใดแสดงได้ และเป็นของผู้นั้นนี้ ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับรูปลวง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ปาฏิหาริย์ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้เสีย จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ ควรแก่ข้าพระองค์ ทั้งดีกว่าและประณีตกว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ที่ท่านพระโคดมตรัสดีแล้ว และข้าพระองค์จะจำไว้ว่าท่านพระโคดมประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เพราะท่านพระโคดมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะท่านพระโคดมกำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ อันไม่มีวิตกวิจารด้วยใจของพระองค์ว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้ด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้น เพราะท่านพระโคดมทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่าจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนี้จงละสิ่งนี้เสีย จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ท่านได้กล่าววาจาที่ควรนำไปใกล้เราแน่แท้เทียวแลเออ ก็เราจักพยากรณ์แก่ท่านว่า เพราะเราแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเรากำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ อันไม่มีวิตกวิจารด้วยใจของตนว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้ด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้นเพราะเราพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้เสีย จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่.

สัง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็แม้ภิกษุอื่นรูปหนึ่งผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ นอกจากท่านพระโคดม มีอยู่หรือ.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ไม่ใช่มีร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อยไม่ใช่ห้าร้อย ที่แท้ภิกษุผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ มีอยู่มากมายทีเดียว.

สัง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุเหล่านั้นอยู่ไหน.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ อยู่ในหมู่ภิกษุนี้เองแหละ.

สัง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูป ฉะนั้นข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสังคารวสูตรที่ ๑๐


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pamali
วันที่ 22 ก.ย. 2553

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ภัสร์
วันที่ 23 ก.ย. 2553

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 23 ต.ค. 2553

ขอบคุณ และขอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 17 ก.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 2 พ.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ