เหตุใกล้ให้เกิดมุทิตาจิต และการพิจารณาเพื่อลดความอิจฉาริษยา

 
Pongpat
วันที่  1 ส.ค. 2552
หมายเลข  13045
อ่าน  3,674

สวัสดีครับ อยากขอทราบธรรมที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดมุทิตาจิตครับ

และอยากทราบว่า ถ้าเราเกิดอิจฉาคนที่ได้ดีกว่า จะพิจารณาอย่างไรดีครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 2 ส.ค. 2552

ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ แสดงลักขณาทิจตุกะของ มุทิตาเจตสิก ดังนี้

มีการชื่นชมสมบัติคนอื่น เป็นลักษณะมีความไม่ริษยา เป็นกิจ มีอันกำจัดความไม่ยินดี เป็นผล มีอันเห็นสมบัติผู้อื่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ... ผู้ที่เห็นโทษของความริษยา เห็นคุณของมุทิตา ย่อมจะมีมุทิตาเกิดขึ้นได้เมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ เราก็พลอยยินดีกับสิ่งที่เขาได้รับครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 2 ส.ค. 2552

ให้เชื่อกรรมและผลของกรรม เพราะเขาได้ทำกรรมดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฯลฯ จึงได้รับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดี มีรูปงาม มีลาภ มียศ มีทรัพย์ ฯลฯ

ถ้าเรามั่นคงในเรื่องของกรรมก็จะทำให้เราลดความอิจฉาลงได้ และความอิจฉาเป็นเหตุทำให้ไปอบายภูมิภายหลังกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ทำให้เป็นผู้ที่ไร้ยศ ฯลฯ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 ส.ค. 2552

เพราะยังมีเรา มีเขา

ก็เลยมีสมบัติของเรา ของเขา

ถ้าเห็นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เรา เขา ไม่มี ... ก็คงไม่เดือดร้อนด้วยความอิจฉาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วันใหม่
วันที่ 2 ส.ค. 2552

ริษยา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น บังคับบัญชาไม่ได้ การอบรมปัญญาคือเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้แต่ความริษยาเมื่อริษยาเกิดขึ้น พิจารณาตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา การจะไม่ให้ริษยาเกิดขึ้นอีกเลยต้องบรรลุคุณธรรม เป็นพระโสดาบัน

ธรรมทั้งหลายต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น แม้แต่ความยินดี ความบันเทิงด้วยกุศลในสมบัติของคนอื่นที่เรียกว่า มุทิตา ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น มุทิตา เป็น พรหมวิหารหนึ่ง ในพรหมวิหาร ๔ ในเมื่อเป็นเครื่องอยู่อันประเสริฐที่เป็นกุศลแล้ว จึง ต้องเป็นเรื่องของการอบรมจากสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นในกุศลธรรม จึงไม่ใช่ว่ามุทิตาจะเกิดขึ้นง่ายๆ การเห็นสมบัติผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ หมายความว่า หากไม่เห็นลาภ สักการะ หรือ ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นแล้ว มุทิตาก็เกิดไม่ได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเห็นสมบัติของผู้อื่น ที่เขาได้ลาภ สักการะแล้วจะต้องเป็นมุทิตาเสมอไป อาจเป็นริษยาก็ได้ เพราะ สะสมมาและมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น

การจะให้มุทิตาเจริญขึ้น คือ ความรู้สึกที่เป็นมิตร เป็นเพื่อนกับบุคคลนั้น เมื่อมีความรู้สึกเป็นมิตร เป็นเพื่อนก็พลอยยินดีในสิ่งที่เขาได้รับ แต่ ก็ควรพิจารณาโดยละเอียดอีกเช่นกัน เพราะการพลอยยินดีด้วยอำนาจกิเลส (โลภะ) นั้น ก็ไม่ใช่มุทิตาแล้ว แต่เป็นความพอใจที่เพื่อนเราได้สิ่งที่ดีนั้น ธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดอย่างยิ่ง อบรมปัญญาจนกว่าจะเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือหนทางดับกิเลส แม้ ริษยาก็ไม่ใช่เรา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 3 ส.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิจฉา ที่เข้าใจกันในสังคมไทย หมายถึง ความริษยา

แต่จริงๆ แล้ว อิจฉา ในทางธรรม หมายถึง กิเลสฝ่ายโลภะ เป็นความติดข้องต้องการ ดังนั้น พยัญชนะที่แสดงตรงสภาพธรรมของความริษยา ได้แก่ อิสสา (ริษยา) ในปกติชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลส จึงเป็นธรรมดาที่กิเลสจะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่มากกว่าธรรมฝ่ายกุศล จึงแสดงให้เห็นว่า กิเลสที่มีมากนั้น ถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ก็ไม่สามารถที่จะขัดเกลาให้เบาบางจนกระทั่งดับจนหมดสิ้นได้ แม้แต่ความริษยา ก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นจริง ตามการสะสม เป็นอกุศลเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตเท่านั้น และผู้ที่จะดับอิสสา (ริษยา) ได้อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระโสดาบัน เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลแล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่จะอบรมธรรมฝ่ายกุศลให้มีมากขึ้น ให้มีกำลังมากพอที่จะขัดเกลาอกุศลของตนเองให้เบาบางลงได้ในที่สุด

มุทิตา เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี มีความสุข เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความริษยา

เมื่ออาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับของความเข้าใจด้วย มุทิตา ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่มีมุทิตาขณะนั้น มีความเป็นมิตรมีความเป็นเพื่อนกับบุคคลนั้น แต่ขณะใดที่ริษยา ขณะนั้น เราไม่ใช่เพื่อนของเขาอย่างแน่นอน เมื่อมีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนเป็นพื้นฐานของจิตใจแล้ว มุทิตา ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นแทนที่จะเป็นริษยาได้ ซึ่งก็จะต้องค่อยเป็นค่อยไปความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญ ไม่ขาดการฟังครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 3 ส.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornpaon
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Pongpat
วันที่ 12 ส.ค. 2552

ขอบพระคุณมากครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
guy
วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
papon
วันที่ 5 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ