เราควรสรรเสริญการมีชีวิต?

 
สามารถ
วันที่  28 ม.ค. 2552
หมายเลข  10999
อ่าน  2,225

1. เราควรสรรเสริญการมีชีวิตหรืออย่างไรครับ

2. ก็เราสามารถที่จะมีชีวิตที่สงบระดับหนึ่งในศีลได้ หรืออย่างไรครับ

3. พระพุทธองค์เห็นชีวิตว่าเป็นอย่างไรครับ

4. และทรงวางแนวทางการดำเนินชีวิตสำหรับปุถุชนผู้ที่ยังต้องเดินอีกไกลว่าอย่างไร

5. มีพระสูตรไหนบ้างเกียวกับเรื่องนี้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 28 ม.ค. 2552

๑. ถ้ามีชีวิตอยู่แล้วทำประโยชน์ เจริญกุศลทุกประการ ควรสรรเสริญ แต่ถ้ากล่าวถึงระดับสูงสุด พระอรหันต์ท่านไม่สรรเสริญการมีชีวิตอยู่ในโลกไหนๆ

๒. ได้ตามสมควรแก่ฐานะ

๓. คำสอนในระดับสูงทรงแสดงว่า ชีวิตรูปนามขันธ์ห้า เป็นทุกข์ การหลุดพ้นเป็นสุข

๔. ทำตามหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด และเจริญกุศลทุกประการ

๕. มีมากในพระไตรปิฎก เช่น สิงคาลกสูตร ปัตตกัมมสูตร ทีฆชาณุสูตร และพระสูตรที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 28 ม.ค. 2552

สาธุ

ผมขอเสนอรายละเอียดของพระสูตรที่ อ.ประเชิญ กล่าวไว้ในความเห็นที่ 1 ครับ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 77

๘. สิงคาลกสูตร

สิงคาลกคฤหบดีบุตร

ว่าด้วยคิหิปฏิบัติ

...พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่าดูก่อนคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลส ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมโภคะ ๖ อริยสาวกนั้น เป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อชนะโลกทั้งสอง และเป็นอัน อริยสาวกนั้นปรารภแล้วทั้งโลกนี้ และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์....

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมได้ที่

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ (หน้า 77)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 198

๑. ปัตตกัมมสูตร

ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ

.....พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นที่ปรารถนารักใคร่ชอบใจ หาได้โดยยากในโลก ธรรม ๔ ประการคืออะไร คือ ขอโภคสมบัติจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางที่ชอบ นี่เป็นธรรมประการที่ ๑ อันเป็นที่ปรารถนารักใคร่ชอบใจ หาได้โดยยากในโลก

ครั้นได้โภคสมบัติโดยทางที่ชอบแล้ว ขอยศจงมีแก่เราพร้อมกับญาติ พร้อมกับพวกพ้อง นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ อันเป็นที่ปรารถนารักใคร่ชอบใจ หาได้โดยยากในโลก ครั้นได้โภคสมบัติโดยทางที่ชอบแล้ว ได้ยศพร้อมกับญาติ พร้อมกับพวกพ้องแล้ว ขอเราจงเป็นอยู่นาน รักษาอายุอยู่ได้ยั่งยืน นี้เป็นธรรม ประการที่ ๓ อันเป็นที่ปรารถนารักใคร่ชอบใจ หาได้โดยยากในโลก ครั้นได้โภคสมบัติโดยทางที่ชอบแล้ว ได้ยศพร้อมกับญาติพร้อมกับพวกพ้องแล้ว เป็นอยู่นาน รักษาอายุอยู่ได้ยั่งยืนแล้ว เมื่อกายแตกตายไป

ขอเราจงไปสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันเป็นที่ปรารถนา รักใคร่ชอบใจ หาได้โดยยากในโลก

ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นที่ปรารถนารักใคร่ชอบใจหาได้ โดยยากในโลก

ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ๔ อย่างเป็นทางให้ได้ธรรม ๔ ประการ อัน เป็นที่ปรารถนารักใคร่ชอบใจ หาได้โดยยากในโลก (ดังกล่าวแล้ว) นี้ ธรรม ๔ อย่างคืออะไร คือ ........................

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมได้ที่

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ (หน้า 198)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 560

๔. ทีฆชาณุสูตร

[๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคม แห่งชาวโกลิยะ ชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกลิยะ ครั้งนั้นแล โกลิยบุตร ชื่อทีฆชาณุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็น คฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครั้งเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ ในแคว้นกาสี ยังทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดี เงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด...

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมได้ที่

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้า 560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 29 ม.ค. 2552

ขออ้างอิงความเห็นที่ 3 ครับ

ขอเพียงให้มีความตรงต่อพระธรรมที่เป็นการศึกษาเพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อจะเก่ง จำได้เยอะๆ รู้ได้มากๆ ท่องได้หมด เอาไว้ไปสอนผู้อื่น หรือเพื่อให้ได้บุญ เหล่านี้เป็นการศึกษาผิดทาง เรียกว่าจับงูข้างหาง งูอาจฉกกัดเอาถึงตายได้โดยไม่รู้ตัว เพี่ยงความเข้าใจประการเดียว จะทำให้มีการละคลาย และขัดเกลาให้ดีขึ้นจากน้อยไปหามาก

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
choonj
วันที่ 29 ม.ค. 2552

ขอเสนอความเห็นว่า ชีวิตเมื่อเกิดก็มี กาย มีหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทุน แล้วก็มี กรรม มีสุขมีทุกข์ มีรวยมีจน มีดี มีชั่ว ฯลฯ เป็นที่ต้องบริหาร แล้วเราก็มีกฎแห่งกรรมเป็นกฎที่ต้องปฎิบัติตามอันยุติธรรม ทีนี้ผู้ที่มีปัญญาเห็นว่าชีวิตนี้ล้วนไร้สาระ ก็ปฎิบัติหรือบริหารจนนิพพานไม่ต้องเกิดอีก แต่ก็ต้องใช้เวลาแสนนานและปัญญา ผู้ที่ไม่ต้องการนิพพานทีมีจำนวนมากและมีทวารทั้ง หก เป็นทุน ซึ่งจะได้มาก็ไม่ใช่ง่าย จึงยินดีพอใจในทวารทั้งหก ก็บริหารตามกฎของกรรมกฎของธรรมชาติ จนเป็นชีวิตทีดี จึงเป็นชีวิตที่ควรสรรเสริญ แต่ที่ควรสรรเสริญมากกว่าคือบริหารจนนิพพาน ครับ

ป.ล. ดูรูปหญิงเนปาลแล้วสวยดี แต่ดูโครงสร้างแล้วเมื่อแก่ตัวต้องอ้วนแน่ๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 29 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้ากล่าวถึงชีวิตแล้วย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความประพฤติเป็นไปของขันธ์ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร การได้อัตภาพความเป็นมนุษย์ มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่ยาก (การเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม) เมื่อได้สิ่งที่ยากคือความเป็นมนุษย์แล้ว ก็ควรที่จะหาประโยชน์จากความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศลประการต่างๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เพราะเหตุว่าถ้าหากเป็นผู้ประมาท อาศัยความประมาทเพียงนิดเดียว อาจจะนำพาเราไปสู่ที่ต่ำ คือ อบายยภูมิ ก็เป็นได้ หมดโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ดังนั้น ความเป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตที่ประเสริฐ ควรแก่การสรรเสริญ กล่าวโดยสรุปแล้ว คือ มีความสุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจ พร้อมทั้งเป็นผู้มีความมั่นคงในการที่จะอบรมเจริญปัญญา ต่อไป

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นเครื่องเกื้อกูลให้แต่ละบุคคลมีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งเป็นความดีที่ควรมี ควรกระทำในชีวิตประจำวัน เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น และสูงสุดคือรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีกิเลสเกิดอีกเลยดังนั้น ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งจะต้องเริ่มสะสม อบรมด้วยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น และเมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นไปตามลำดับแล้ว กุศลธรรมทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับด้วยเช่นเดียวกัน (ชีวิตก็จะมีค่ายิ่งขึ้น) ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
dron
วันที่ 29 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
hadezz
วันที่ 29 ม.ค. 2552

ขอบคุณสำหรับภาพที่บรรยายอาการ และลักษณะมาให้ชม มองเห็นความแตกต่าง ของวัฒนธรรม และสุดท้ายที่เชิงตะกอน

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 29 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pornpaon
วันที่ 29 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 29 ม.ค. 2552
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ajarnkruo
วันที่ 30 ม.ค. 2552

1. มีชีวิตอยู่เพื่อเจริญปัญญา สรรเสริญการมีชีวิตของผู้อื่นที่กระทำกุศลเพื่อประโยชน์ เกื้อกูลในทุกด้าน ไม่หลงสรรเสริญตนด้วยความพึงพอใจในความดีเพียงเล็กน้อยที่ ได้กระทำในชาตินี้ ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิตอันแสนสั้น ไม่ยั่งยืน

2. กุศลทุกขั้นที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สงบจากอกุศล แต่แม้ความสงบด้วยกุศลที่ไม่ใช่ โลกุตตรธรรม ก็เป็นที่ตั้งให้เกิดความติดข้องได้ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส ดังนั้น ควรอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกว่าแม้ความสงบที่เกิด หรือความติดข้อง ในความสงบ ก็เป็นธรรมะประการหนึ่ง ไม่ใช่เรา เพราะถ้าปัญญาไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ ก็จะละการยึดสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตนไม่ได้ ก็ย่อมจะพอใจเพียงความสงบที่ ยังไม่ได้ดับกิเลสอะไร ไม่รู้ว่าแม้ความสงบนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง เกิดแล้วดับ

3. พระผู้มีพระภาคทรงมีพระปัญญาสูงสุด ทรงตรัสรู้สัจธรรมของชีวิตในทุกๆ ภพภูมิว่า เป็นไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะความไม่เที่ยงของสังขารธรรมที่เกิดขึ้นแล้วต้อง ดับไป ทุกข์เพราะกิเลสที่ทำให้มีการเกิดอีก และที่สำคัญทรงตรัสรู้ว่า "ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา" ควรที่จะเจริญหนทางเพื่อการหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้เสีย

4. ฟังพระธรรมเพื่ออบรมเจริญความเห็นถูก บำเพ็ญบารมีด้วยการเจริญกุศลทุกประการ

5. โปรดอ่านจากความเห็นที่ 1 และ 2 ครับ

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 30 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

1. ควรเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงด้วยการอบรมปัญญา

2. ขณะที่เป็นกุศลสงบจากกิเลส แต่เมื่อยังมีกิเลสก็ไม่มีวันสงบจริง ปัญญาเท่านั้น ทำหน้าที่ดับกิเลส

3. ชีวิตคือธรรมที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล เกิดขึ้นและดับไปจะรู้ความจริงได้ด้วยปัญญา

4. ไม่ประมาทในการเจริญญกุศลทุกๆ ประการ อบรมบารมี ๑๐ และการเข้าใจความจริง ของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราด้วยการอบรมปัญญาโดยเริ่มจาก การฟังให้เข้าใจ

5. เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย [ทุติยาปุตตกสูตร]

จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง [คิลานสูตร]

การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา [มหาจุนทเถรคาถา]

บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย [ปิยสูตร]

บัณฑิตสรรเสริญความไม่ประมาท .. คาถาธรรมบท

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
wannee.s
วันที่ 31 ม.ค. 2552

1. มีชีวิตอยู่เพื่อทำความดี ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น และอบรมปัญญา

2. ขณะที่เราฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล ขณะนั้นกุศลจิตเกิดสงบจากกิเลสชั่วขณะ

3. ไม่ให้ประมาทกับชีวิต คือให้เจริญกุศลทุกอย่างทุกโอกาสเท่าที่ทำได้

4. ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม อบรมปัญญา

5. มีแสดงไว้มาก เช่น อัมพสักขรเปตวัตถุ (การมีชีวิตอยู่ประเสริฐ)

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ศิณอนงค์
วันที่ 2 ก.พ. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
happyindy
วันที่ 2 ก.พ. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ