รูปธรรมและนามธรรมเกิดดับเร็วมาก...รู้ขณะไหน?

 
พุทธรักษา
วันที่  11 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10644
อ่าน  2,869

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


ท่านผู้ฟัง ตามปกติ รูปธรรมและนามธรรม เป็นธรรมชาติที่เกิดดับเร็ว เราต้องรู้ขณะที่ดับหรือขณะที่ดับไปแล้ว

ท่านอาจารย์ ไม่ต้องสนใจเลย เมื่อยังไม่รู้ ลักษณะ ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นตัวธรรมะจริงๆ ไม่ต้องไป "คิดเรื่องการเกิดดับ" เลยเจ้าค่ะ

ท่านผู้ฟัง ขณะที่เราเห็น รูป สี ที่ปรากฏทางตา ก็เป็นคิดอีกเพราะตามปกติ ธรรมชาติที่คิดก็คือจิต

ท่านอาจารย์ มิได้เจ้าค่ะ ขณะนี้ "จิตเห็น" กำลังเห็น ไม่ใช่ "จิตคิด"เป็นคนละวาระ ทางตา จิตไม่ได้คิด จิตทางหู ไม่ได้คิด จมูก ลิ้น กาย โดยนัยเดียวกัน

ท่านผู้ฟัง แต่ทุกครั้งที่ผ่านทาง "ปัญจทวาร" ก็ลง "มโนทวาร" ทุกที

ท่านอาจารย์ "จิตวาระแรก" รู้ ปรมัตถธรรมเดียวกันแยกไม่ออกเลย ว่า "ขณะ" ที่พระคุณเจ้า "เห็น" นี้เป็นขณะทางจักขุทวารวิถีหรือเป็นขณะทางมโนทวารซึ่งมี "ภวังคจิต" คั่นแล้ว.

ท่านผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เรื่องของความคิดกับเรื่องของการรับรู้อารมณ์ทางตา เป็นต้นนี้ ไม่สามารถที่เราจะกล่าวไม่ได้ว่า เป็นไม่คิด. เพราะว่าทุกครั้งที่ผ่าน (ขณะ) ทางปัญจทวาร ย่อมลง (ขณะ) มโนทวาร

ท่านอาจารย์ ก่อนคิด สามารถเป็นสติที่ระลึกได้ปกติของคนที่ไม่ได้ฟังหรือศึกษาพระธรรมเลย เมื่อเห็น ก็รู้ทันทีว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร รูปร่างสัณฐานเป็นเก้าอี้ เป็นโต๊ะ ฯลฯ แต่ให้ทราบว่า "ขณะเห็น เป็นดอกไม้ เป็นสิ่งต่างๆ ฯลฯ" ขณะนั้น ต้องเป็นทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเห็นแล้วแม้จะรู้ว่าเป็นประตู หน้าต่าง ฯลฯ แล้วก็ตาม แม้กระนั้น การเห็นก็มีอีก

ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงสามารถ "ระลึกลักษณะ" สภาพธรรมที่เห็นได้ คือ "สภาพที่เพียงเห็น" ก็ระลึกได้ "สภาพที่เพียงปรากฏให้เห็น" ก็ระลึกได้ "สภาพที่เพียงคิดว่าเป็นประตู หรือหน้าต่าง ฯลฯ" เพราะว่า "ไม่ใช่เรา" ทั้งหมดเลย เจ้าค่ะ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งมีลักษณะจริงๆ แต่ละทางๆ

ฉะนั้น ต้องรู้ความต่างว่าความคิด ไม่ได้เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะที่ "เห็น" ไม่ใช่ขณะที่ "คิด"

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ สติจึงจะสามารถ "ระลึกที่ลักษณะที่คิด" ก็ได้ "ระลึกลักษณะที่เห็น" ก็ได้ "ระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏ" ก็ได้ ทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ


สนทนาธรรมที่วัดสิงห์วรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงสามารถ "ระลึกลักษณะ" สภาพธรรมที่เห็นได้ไม่ว่าจะเป็น "สภาพที่เพียงเห็น" ก็ระลึกลักษณะได้ "สภาพที่เพียงปรากฏให้เห็น" ก็ระลึกลักษณะได้ "สภาพที่เพียงคิดว่าเป็นประตู หรือหน้าต่าง ฯลฯ" ก็ระลึกลักษณะได้

เพราะว่า "ไม่ใช่เรา" ทั้งหมดเลย เจ้าค่ะ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งมีลักษณะจริงๆ แต่ละทางๆ

กรุณาอธิบายด้วยนะคะ ว่าหมายถึงอะไร

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

ขอเรียนถามเพิ่มอีกคำถามนะคะ

กรุณาอธิบายข้อความที่ขีดเส้นใต้นี้ด้วยค่ะ.
โดยปรมัตถ์ "การคิด" คืออะไรคะ และ

เมื่อมีความรู้ ความเข้าใจอย่างนี้ สติจึงจะสามารถ "ระลึกที่ลักษณะที่คิด" ก็ได้

"ระลึกลักษณะที่เห็น" ก็ได้

"ระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏ" ก็ได้

ทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sam
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

ขอสนทนากับคุณพุทธรักษาครับ

กรุณาอย่าคิดว่าเป็นการตอบหรือเป็นการแนะนำอะไรเลยนะครับ ที่อยากสนทนาก็เพื่อเป็นกำลังใจและตอบแทนที่คุณพุทธรักษายกข้อความที่เป็นประโยชน์มาแสดงให้พวกเราได้ศึกษากันอยู่เสมอ ซึ่งหากความคิดเห็นส่วนหนึ่งส่วนใดคลาดเคลื่อนไป ขอเชิญทุกท่านทักท้วงและแก้ไขครับ

จากความคิดเห็นที่ 1

"สภาพที่เพียงคิดว่าเป็นประตู หรือหน้าต่าง ฯลฯ" ก็ระลึกลักษณะได้ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งทางปัญจทวารนั้นมีทั้งสภาพรู้และสิ่งที่ถูกรู้ให้สติระลึกได้ ส่วนทางมโนทวาร ขณะที่คิดนั้น เรื่องราว (เป็นประตูหรือหน้าต่าง) ที่คิดนั้นเป็นบัญญัติ ดังนั้น ปรมัตถธรรมที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะได้คือจิตที่คิดนั่นเอง ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้แล้วว่าเป็น "สภาพที่เพียงคิด" ครับ

ในความคิดเห็นที่ 2

โดยปรมัตถ์ "การคิด" คืออะไรคะ ควรเข้าใจก่อนครับว่า ปรมัตถ์คืออะไร ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเป็นชื่อและเรื่องราว อธิบายไว้โดยละเอียดทั้งหมดด้วยพุทธวิสัย สาวกนั้นอาจศึกษาชื่อและเรื่องราวของปรมัตถธรรมตามที่ทรงแสดงไว้ได้เกือบทั้งหมด แต่จะรู้ปรมัตถธรรมจริงๆ ได้เพียงบางประการตามระดับของปัญญา ซึ่งปรมัตถธรรมที่สาวกในยุคนี้รู้ได้จริงๆ เท่านั้นที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานในขั้นเริ่มต้นได้

นอกจากนี้ ผมเข้าใจว่าในการบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ นั้น ท่านพยายามเลือกสรรถ้อยคำที่ส่องถึงสภาพปรมัตถธรรมที่รู้จริงๆ ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในชีวิตประจำวันของพวกเรา อันจะนำไปสู่การระลึกรู้ของสติปัฏฐาน ผมจึงมีความเห็นว่า "การคิด" (ตามแนวทางการบรรยายของท่านอาจารย์) โดยปรมัตถ์แล้วคือจิตที่คิดทางมโนทวาร หรือกล่าวในนัยอื่นได้ว่า คือสภาพรู้เรื่องราว สภาพคิดหรือสภาพที่เพียงคิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ajarnkruo
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

ขอร่วมสนทนาด้วยความคิดเห็นส่วนตัว ดังนี้นะครับ

"สภาพที่เพียงคิดว่าเป็นประตู หรือหน้าต่าง ฯลฯ" ก็ระลึกลักษณะได้ หมายถึง นามธรรมชนิดหนึ่งทางใจ เป็นสภาพที่สามารถรู้บัญญัติ คือมีบัญญัติเป็นอารมณ์ นามธรรมชนิดนี้สามารถตรึกคิดถึงรูปร่าง สัณฐาน ชื่อ ความหมาย เรื่องราวต่างๆ ได้ จากสิ่งที่เคยเห็น เสียงที่เคยได้ยิน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้นครับ

โดยปรมัตถ์ "การคิด" คืออะไรคะ คือนามธรรมครับ เพราะรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ จึงคิดไม่ได้ (รายละเอียดมากกว่านี้อยู่ในกระทู้ เห็นแล้วก็คิด ซึ่งก็ยังคงสนทนากันอยู่ครับ)

ระลึกที่ลักษณะที่คิด

หมายถึง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด โดยมีนามธรรมที่กำลังคิด ที่ปรากฏเป็นปัจจุบันนั้นเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งให้สติฯ เกิด เพราะโดยส่วนใหญ่หลงลืมสติ และมีการรู้เรื่องราวเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งหนึ่งสิ่งใด เสียส่วนมาก แต่เรื่องราวนั้นๆ ไม่ปรากฏลักษณะ จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีนามธรรมที่เกิดขึ้นคิด ซึ่งนามธรรมที่คิดนั้นมีจริง มีลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ได้ว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล สิ่งหนึ่งสิ่งใด ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนา

ในธรรมทานค่ะ พระธรรมจากการตรัสรู้ เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมาก ขั้นศึกษายังยากขนาดนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

ท่านเคและท่านโอ เยี่ยมจริงๆ ค่ะ

ขอคารวะ (-_-"

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kulwilai
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

"คิด" เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ ต่างจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส และจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ขณะที่คิดก็ไม่ใช่มีแต่จิตอย่างเดียว มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท มีสัญญาจำในอารมณ์ มีวิตกจรดหรือตรึกในอารมณ์ เป็นต้น จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจจึงมีเรื่องราวมากมาย ตามสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งและสัญญาที่ทรงจำไว้ ดังนั้น ขณะที่เข้าใจว่าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ประตูหรือหน้าต่าง ไม่ใช่จิตเห็นทางตา เพราะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น เมื่อใดที่เห็นเป็นบัญญัติเพราะสภาพธรรมที่คิดทางใจ ขณะที่คิดสภาพที่คิดมีจริงเป็นปรมัตถ์ เป็นนามธรรมเพราะเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ มีสภาวลักษณะ ส่วนเรื่องที่คิดเป็นบัญญัติ เรื่องที่คิดเป็นอารมณ์ของจิตทางใจได้ แต่ไม่มีจริง เพราะไม่มีลักษณะจริงๆ ให้รู้ได้ ขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีสีหลายสี ไม่พ้นจากรูปนิมิต (การเกิดดับสืบต่อของรูปปรมัตถ์ทางตา) แต่เรื่องราวมาจากไหน

ขออนุโมทนากับคุณปริศนา ที่ได้ถอดเทปการสนทนาธรรม ที่ วัดสิงห์วรวิหาร โดย ท่านอาจารย์สุจินต์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

คือว่า ไม่ได้ถอดเทปเองนะคะ แต่เป็นเอกสารที่ พี่วรรณี ส่งมาให้อ่านน่ะค่ะ เป็นข้อความที่พิมพ์แล้วถ่ายเอกสารเข้าเล่มเรียบร้อย มีร่องรอยว่าผ่านการอ่านมาแล้วค่ะ หน้าปกเขียนว่าสนทนาธรรม เชียงใหม่ ๑๓-๑๘ มีนาคม ๒๕๔๔ อ.สุจินต์ เนื้อหาเป็นการสนทนาในวัดต่างๆ ที่ อ. เมืองฯ จ.เชียงใหม่ค่ะ

ขออนุโมทนา อาจารย์กุลวิไล สำหรับคำอธิบายค่ะ ขอตัวไปกลับขึ้นไปอ่านอีกสักรอบนะคะ ถ้าสงสัย จะเรียนถามในโอกาสต่อไปค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
choonj
วันที่ 12 ธ.ค. 2551

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เรื่อง คิด ผมก็ได้รับรู้อยู่สามอย่าง ๑) วิตกเจตสิกคิด ก็ทราบว่าวิตกทำกิจจรดหรือตรึกในอารมณ์เท่านั้น ๒) จิตคิด มีคำถามว่าจิตคิดได้หรือไม่ เห็นมีกิจในจิต ๘๙ ๓) คิดเป็นนามธรรม เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ ข้อ ๑) และ ๒) ไม่น่าใช่ ข้อ ๓) น่าสนใจ ทีนี้ก็จะขอคำอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจแล้วเรียกว่าคิดเป็นยังไง

เรียนเชิญ อาจารย์ทุกท่านช่วยอธิบายเพิ่มเติม เพราะถ้าอธิบายให้เข้าใจได้ ก็จะตอบคำถามที่ว่า "การคิดคืออะไร" "ระลึกที่ลักษณะที่คิด"

ผมจะลองเสนอความเห็นนะครับ อาจผิดนะครับ เพราะเป็นความคิดซึ่งล่อแหลมที่จะผิด คิดเป็นนามธรรมเกิดทางใจ จิตก็เกิดทางใจ เมื่อจิตเกิดต้องรู้อารมณ์ จิตแต่ละดวงที่เกิดก็รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ มีมากกว่าหนึ่งอารมณ์ไม่ได้ แต่จิตเกิดดับเร็วมาก ดังนั้น อารมณ์ก็ต้องเกิดดับเร็วมาก จิตและอารมณ์ที่เกิดดับเร็วมากนี้แหละ ทำให้นามธรรมที่เกิดนี้เหมือนฉายหนังเป็นเรื่องราว และเรียกที่เกิดนี้ว่า "คิด" สติปัฏฐานเกิด ก็จะระลึกได้ที่ลักษณะที่จิตและอารมณ์เกิดดับเรียงกันเร็วมาก จึงว่าระลึกที่ลักษณะที่คิด ไม่รู้ถูกหรือเปล่า ช่วยแก้ไขด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 13 ธ.ค. 2551

ถ้าไม่นึกถึงชื่อเลย ลบชื่อออกให้หมด เอาแต่ตัวสภาวธรรมจริงๆ ลักษณะของคิด เป็นยังไงคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
choonj
วันที่ 13 ธ.ค. 2551

วันนี้ผมได้ฟัง อ. กล่าวตอนหนึ่งว่า คิดเกิดได้เพราะจิตและเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย ผมอาจจะฟังผิดนะครับ แล้วนี่เป็นลักษณะของคิดหรือเปล่าครับ เมื่อลบชื่อออกหมด คือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดทำหน้าที่คิด

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 ธ.ค. 2551

คุณชุณห์ ฟังไม่ผิดค่ะ เพราะฟังอยู่เช่นกัน (ขออภัยที่เขียนชื่อเป็นภาษาไทยนะคะ เพราะไม่ถนัดภาษาอังกฤษค่ะ) ถ้าจะว่าถึง "ลักษณะ" แล้ว จากที่เคยพิจารณา โดยส่วนตัว มีความเห็นว่า คิด มีหลายลักษณะ (ขออธิบายแบบบ้านๆ ไม่เป็นวิชาการนะคะ) คิด ตอนที่ตื่น คือ ไม่หลับสนิท ก็แบบหนึ่ง คิด ตอนฝัน ก็แบบหนึ่ง (ซึ่งมักจะคิดเป็นเรื่องราวแปลกๆ บางครั้งก็จำเรื่องราวที่ฝันไม่ได้) คิด ทั้งๆ ที่ทำกิจการงานอื่นๆ อยู่ ก็แบบหนึ่ง คิด ตอนหลับตา ก็แบบหนึ่ง คิด ตอนลืมตาและมองเห็น ก็แบบหนึ่ง เป็นต้น. ทราบอยู่อย่างหนึ่งว่า บังคับความคิดไม่ได้ ไม่ว่าจะแบบไหนและแปลกใจจังค่ะ ว่า ที่ผ่านมา ทำไมไม่เคยสงสัยเลยว่า คิด มีลักษณะอย่างไร

(ถ้าไม่ถูกต้อง กรุณาทักท้วงด้วยนะคะ)

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 ธ.ค. 2551

ขออนุญาตนำข้อความท่านที่มีความเห็นมาประกอบการสนทนาเพื่อความรู้ค่ะ ข้อความบางส่วนจาก ความเห็นที่ 3 โดย คุณ K

ผมจึงมีความเห็นว่า "การคิด" (ตามแนวทางการบรรยายของท่านอาจารย์ฯ) โดยปรมัตถ์แล้ว คือจิตที่คิด ทางมโนทวาร หรือกล่าวในนัยอื่นได้ว่า คือสภาพรู้เรื่องราว สภาพคิดหรือสภาพที่เพียงคิดครับ และ

บางตอนจากความเห็นที่ 5 โดย

แต่เรื่องราวนั้นๆ ไม่ปรากฏลักษณะ จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีนามธรรมที่เกิดขึ้นคิด ซึ่งนามธรรมที่คิดนั้นมีจริง มีลักษณะที่ปรากฏจริงๆ และ

ข้อความบางตอน จากความเห็นที่ 8 โดย อาจารย์กุลวิไล

ขณะที่คิด สภาพที่คิดมีจริงเป็นปรมัตถ์ เป็นนามธรรมเพราะเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ มีสภาวลักษณะ ส่วนเรื่องที่คิดเป็นบัญญัติ และ

(ข้อความบางตอนโดย อาจารย์ครูโอ คห. 54 กระทู้ "เห็นแล้วก็คิด")

ผมเข้าใจว่า ท่านอาจารย์กล่าวสั้นๆ ว่า "จิตคิดนึก" นั้นหมายรวมเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยแล้วนั่นเอง เพียงแต่เว้นไม่กล่าวถึงเจตสิก เพราะเป็นที่รู้กันว่าจิตจะเกิดลอยๆ ไม่ได้อยู่แล้ว ต้องอาศัยสัมปยุตตธรรมคือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจิตจึงจะเกิดได้ แต่เวลาสนทนาธรรมกัน ถ้าผู้ร่วมสนทนาด้วยเข้าใจพอสมควรในเรื่องของจิตและเจตสิก เราก็เว้นการพูดว่า จิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) "คิดนึก" ไว้ในตัวได้ เพื่อมุ่งให้เข้าใจถึงตัวสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังคิดนึกอยู่

ธรรมะเป็นเรื่องตายตัว แต่มีการแสดงโดยหลายนัย. เมื่อมีการใช้คำว่า "ขณะที่คิด" มากมายในการสนทนาธรรมและประมวลความเห็นจากทุกท่าน ข้างต้น ... ควรจะสรุปได้แล้วค่ะ

แต่ติดอยู่ตรงนี้ ที่ตอบไม่ได้

(คห. 52 โดย คุณไตรสรณคมน์ กระทู้ "เห็นแล้วก็คิด"

จิตคิด มีจริงเหรอคะ ถ้ามีจริงๆ เป็นจิตประเภทใดในจิตปรมัตถ์ ๘๙ ดวงค่ะ


ถ้าข้าพเจ้าคิดมากเกินไป ขออภัยด้วยนะคะ แล้วแต่ท่านใดจะกรุณาแนะนำตามสมควรค่ะ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
nida
วันที่ 14 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 14 ธ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 12 โดย choonj

วันนี้ผมได้ฟัง อ. กล่าวตอนหนึ่งว่า คิดเกิดได้เพราะ จิตและเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย ผมอาจจะฟังผิดนะครับ แล้วนี่เป็นลักษณะของคิดหรือเปล่าครับ เมื่อลบชื่อออกหมด คือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดทำหน้าที่คิด

ดังนั้น "จิตคิด" น่าจะหมายถึง ชื่อที่ใช้เรียก จิตและสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมด้วยคิดนึกถึงเรื่องราว บัญญัติ สัณฐานต่างๆ โดยเกิดทางมโนทวาร เพราะปัญจทวารไม่มีเรื่องราว บัญญัติต่างๆ เหล่านี้เป็นอารมณ์ ไม่ทราบท่านอื่นมีความเห็นว่าไงคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ajarnkruo
วันที่ 14 ธ.ค. 2551

จิตคิดมีจริงเหรอคะ ถ้ามีจริงๆ เป็นจิตประเภทใดในจิตปรมัตถ์ ๘๙ ดวงคะ

ตามความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ควรจะหมายถึง ชวนจิตทางมโนทวารในวาระที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ซึ่งก็ได้แก่ กุศลจิต ๘ ดวง และอกุศลจิต ๑๒ ดวง (สำหรับปุถุชน) ส่วนจิตดวงอื่นๆ ที่มีวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกเกิดประกอบตรึกถึงอารมณ์ปรมัตถ์ทางมโนทวาร ก็ขอไม่กล่าวถึง

เพราะเหตุว่า ยังไม่อาจจะรู้ได้ด้วยปัญญาเพียงนิดน้อยในขณะนี้ครับ (เพียงแต่จะเข้าใจจริงๆ ว่า "คิด" เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็ไม่ง่ายเสียแล้ว)

สภาพคิด - เป็นสภาพของนามธรรมที่ควรรู้อย่างยิ่งเพราะเป็นแหล่งของความสุขใจ - ทุกข์ใจ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ใจในชีวิตประจำวันด้วยเหตุที่ วันหนึ่งๆ เป็นไปกับธรรมประเภทนี้ไม่น้อย คือมากเลยทีเดียว บางขณะก็คิดเป็นไปกับอกุศล คิดเดือดร้อนใจ คิดเร่าร้อนใจ คิดรำคาญใจ เป็นต้น บางขณะก็คิดเป็นไปกับกุศล คิดเมตตา คิดกรุณา คิดยินดีด้วยกับผู้อื่น เป็นต้น แต่ก็ไม่รู้ว่าที่คิดถึงบุคคล สัตว์ สิ่งหนึ่งสิ่งใดในวันหนึ่งๆ ด้วยกุศลหรืออกุศลนั้น ความจริงแล้ว "ไม่ใช่เรา" เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วต้องคิด เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องคิดตามการสะสมมาเท่านั้นเอง (ว่าแต่ ไม่ทราบว่า ที่ตอบอย่างนี้ จะคิดถูกไหมครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
พุทธรักษา
วันที่ 14 ธ.ค. 2551

ขอแสดงความเห็นส่วนตัวจากที่ได้ฟังพระธรรม ที่ท่านอาจารย์และคณะวิทยากร กรุณาอธิบายในวันนี้เท่าที่เข้าใจ เข้าใจว่า

ควรพิจารณาว่า การรู้ "ลักษณะที่คิด" ว่า ต่างกับ "ลักษณะเห็น" ต่างกันอย่างไร "ลักษณะที่คิดเป็นกุศล" ต่างกับ "ลักษณะที่คิดเป็นอกุศล" ต่างกันอย่างไร

รู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรมที่อยู่ในวิสัยที่รู้ได้และกำลังปรากฏ รอการพิสูจน์อยู่ตลอดเวลา. เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาก่อน การที่จะรู้ว่าจิตชื่ออะไร มีเจตสิกกี่ดวง ... ฯลฯ

ไม่ใช่การตัดสิน ว่าถูกหรือไม่ถูกนะคะ ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้อย่างละเอียดเพื่อให้เห็น ความเป็น "อนัตตา" แต่สิ่งใดรู้ได้ก็รู้ ... สิ่งใดยังไม่ถึงเวลารู้ ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ฟังไป หรือเกินวิสัยที่จะรู้ ก็ยังไม่ต้องรู้ก็ได้ค่ะ และท่านอาจารย์เน้นว่า ... ทั้งหมด เป็นธรรม ... ไม่ใช่เรา ค่ะ


ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
Noparat
วันที่ 15 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
choonj
วันที่ 15 ธ.ค. 2551

อ่านความคิดเห็นที่ 18 ก็ขอเสริมเกี่ยวกับการ รู้ได้ รู้ไม่ได้ เพื่อให้ตรงกับกระทู้นี้ว่า "รู้ขณะไหน" เช่น เมื่อเห็นเกิด จากการศึกษาก็รู้ว่า มีสีที่เป็นรูป และมีธาตุรู้สี ที่เป็นนาม การเห็นก็เกิด การเห็นอย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะประจักษ์การเห็นที่เป็นจิตเห็น เมื่อยังไม่ประจักษ์ก็ไม่เรียกว่าจิตเห็น คือรู้ไม่ได้ แน่นอน ผู้ที่ประจักษ์ย่อมรู้ จิตเห็นหรือจะประจักษ์อะไรก็แล้วแต่ที่พวกเราเรียกว่าจิตเห็น คือรู้ได้ ทีนี้จะเปลี่ยนเห็นเป็น คิด ก็ในทำนองเดียวกัน เรายังรู้คิดไม่ได้ในขณะนี้ จึงเป็นคำตอบของกระทู้นี้ว่า ยังรู้ไม่ได้ขณะนี้ครับ ความคิดเกิดแต่เรายังไม่ประจักษ์ ก็รู้ไม่ได้ แต่พวกเรารู้ว่าคิดเป็นนามธรรมแน่นอนเพราะไม่ใช่รูปธรรม เมื่อเป็นนามธรรมก็ไม่พ้น จิตและเจตสิก แล้วเขาก็เกิดพร้อมกัน แล้วพวกเราก็มาสนทนาว่าคิดเป็นจิตหรือเจตสิก ก็เป็นทั้งสองอย่างนั้นแหละ เพราะนามธรรมก็มีแต่จิตและเจตสิก เมื่อประจักษ์ก็รู้เองแหละ ส่วนนามธรรมอีกอย่าง นิพพาน ไม่เกี่ยวครับ

ที่ออกความเห็นมานี่ก็ได้ฟัง อาจารย์เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว และเข้าใจออกมาอย่างนี้ครับ เมื่อมาถึงตรงนี้ ผมมีความคิดจะตั้งกระทู้ว่า "ทำไมคนเราถึงบ้า" น่าคิดนะครับ จิต เจตสิกทำงานกันยังไงถึงบ้าได้

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
pornpaon
วันที่ 27 ธ.ค. 2551

บัณฑิตท่านคิดเป็นจึงได้สาระ ส่วนพาลปุถุชน (เช่นผู้เขียนความคิดเห็นนี้เอง เป็นต้น) คิดทีไร (ยอมรับ) ก็อกุศลเกือบทุกที ส่วนคิดแล้วจะบ้าุหรือไม่บ้า ไม่รู้จริงๆ คิด (เอาเองอีกแล้ว) ว่า ก็คงขึ้นอยู่กับ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวที่คิด (ซึ่งไม่มีจริง) ด้วยอกุศลจิต มากหรือน้อย บ่อยๆ และยาวนานแค่ไหน และคงมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันอีกมาก คงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของจิตและเจตสิกเท่านั้น

ขออนุโมทนาในกุศลจิต กุศลวิริยะ กุศลเจตนาทุกท่าน ที่ช่วยเหลือเกื้อกูล สนทนาธรรมอันเป็นประโยชน์เช่นนี้

ขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
mikemongo1
วันที่ 28 มี.ค. 2552

อ้างอิงความคิดเห็นที่ 20

ทีนี้จะเปลี่ยนเห็นเป็น คิด ก็ในทำนองเดียวกัน เรายังรู้คิดไม่ได้ในขณะนี้

ถ้าถ่ายภาพขณะอาจารย์และวิทยากรแสดงธรรมแล้วเอาให้ทุกคนดู แต่ละคนก็จะชี้บอกได้ว่าในภาพมีใครบ้าง ถ้าเอาภาพนั้นถอยห่างออกไปจากสายตา แล้วให้คนใหม่ที่เข้ามาร่วมฟังดู เขาก็จะไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาสำหรับเขา ผู้ที่เคยเห็นแล้วก็จะเป็นความจำว่านั่นภาพอะไร เมื่อขยับภาพเข้ามาใกล้เรื่อยๆ คนที่เคยเห็นก็จะเริ่มคิดว่าในภาพเป็นใคร แต่ละคนจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเริ่มเห็นปรมัตถ์หรือคิดบัญญัติของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะใด

ไม่ทราบว่ายังเปิดให้ออกความคิดเห็นได้อยู่หรือไม่ เพราะเป็นสมาชิกใหม่เพิ่งอ่านพบความเข้าใจนี้อาจไม่ถูกต้อง ขอผู้รู้ช่วยแก้ไขให้ด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
choonj
วันที่ 31 มี.ค. 2552

นมัสการพระคุณเจ้า ยังออกความเห็นได้เรี่อยๆ ครับ ขอแสดงความเห็นที่พระคุณเจ้าเขียนว่า เมื่อขยับภาพเข้ามาใกล้เรื่อยๆ คนที่เห็นก็จะเริ่มคิดว่าในภาพเป็นใคร แต่ละคนจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าเริ่มเห็นปรมัตถ์หรือคิด จากข้อความนี้ผมมีความเห็นว่า เป็นเพียงแสดงให้เข้าใจว่าคิดมีจริง เพราะรู้ว่าเป็นใครซึ่งเป็นบัญญัติ แต่การประจักษ์แจ้งที่ผมหมายถึงเป็นวิปัสสนาญาน ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นปรมัตถ์ ตรงนี้จะมีความต่างกันกับการที่ว่า เริ่มเห็นปรมัตถ์ จะประจักษ์ได้ต้องเป็นวิปัสสนาญาน เมื่อวิปัสสนาญานยังไม่เกิดก็ไม่สามารถประจักษ์คิดได้ครับ

ขอแสดงความเห็นเช่นนี้ครับ

กราบอนุโมทนาพระคุณเจ้า ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
mikemongo1
วันที่ 31 มี.ค. 2552

เป็นความโชคดีของผู้ศึกษา ที่มีผู้รู้คอยให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ