ไตรสิกขา และ ความสำคัญของปัญญา

 
พุทธรักษา
วันที่  8 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10628
อ่าน  4,489

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ท่านผู้ฟัง ผมมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ศีลก็ดี สมาธิก็ดี หมายถึง ความตั้งมั่นระดับหนึ่ง ถ้าเราไม่มีศีล และไม่มีความตั้งมั่นระดับหนึ่งแล้ว การศึกษาธรรมะไม่ว่าที่ไหนๆ ก็จะไม่ได้ผล จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ

ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรมะอะไรค่ะ

ท่านผู้ฟัง ก็อ่านพระไตรปิฎกนี้ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ. อ่านพระไตรปิฎก ขณะนั้นต้องเป็นปัญญา.

ท่านผู้ฟัง ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีจิตตั้งมั่น ก็ไม่สามารถที่จะเจริญปัญญาได้

ท่านอาจารย์ แล้วแต่ค่ะ. ท่านองคุลิมาล ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันต์ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ท่านทำอะไร

ท่านผู้ฟัง ก็แสดงว่า หลังจากนั้น องคุลิมาลเป็นผู้มีศีล เป็นผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว

ท่านอาจารย์ ขณะใด ที่มีการระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะเหตุว่า ศีลธรรมดา คือการวิรัติทุจริต อย่างศีล ๕ นี้ เว้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นอย่างไร ที่ใจอยากได้ แต่ไม่เอา เพราะว่ามีศีล คือ วิรัติทุจริตขณะนั้น วิรตีเจตสิกเกิด ไม่ใช่เรา (ที่วิรัติทุจริต) และขณะนั้นไม่ใช่ อธิศีลสิกขา เพราะอะไร เพราะเหตุใด ใจยังเกิดอกุศลได้ เพราะเหตุคือ กาย วาจา ไม่ไหวไปในทางอกุศล ก็เพราะวิรตีเจตสิกเกิด และเพราะว่า ขณะนั้น ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงยังเป็นเรา ที่วิรัติทุจริต

ฉะนั้น ควรเข้าใจความหมายด้วยว่า ที่จะเป็นศีลยิ่งกว่านั้น ต้องมีปัญญา ขณะนั้น ต้องพร้อมกันทั้ง อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งก็คือ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้น มีทั้งอินทรียสังวรมีทั้งเอกัคคตาเจตสิก มีทั้งปัสสัทธิเจตสิก และประกอบด้วยโสภณเจตสิกทั้งหลายพร้อมทั้งปัญญาเจตสิก ที่รู้ว่า ขณะนั้น มีสติ หรือ หลงลืมสติ และรู้ว่า ขณะที่สติเกิดนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร

ท่านผู้ฟัง การทำงานของมรรคมีองค์ ๘ ต้องเป็นการทำงานของ "สมังคีกัน"

ท่านอาจารย์ ยังค่ะ สมังคีกัน ต้องมีโลกุตตรจิตเกิดครบทั้ง ๘ องค์ ยังไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งปกติ คือ มรรคมีองค์ ๕ เว้นวิรตีเจตสิก ๓ ในกรณีที่ วิรตีเจตสิก ๓ ไม่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

ท่านผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้จักสภาพธรรมและสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่างพวกผมนี้ต้องเป็นผู้มีศีล มีสมาธิ เป็นบื้องต้นเสียก่อน ถึงจะมีปัญญาได้

ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้มีศีล มีสมาธิ แล้วยังขาดอะไร

ท่านผู้ฟัง ขาดปัญญา

ท่านอาจารย์ สิ่งนี้ (คือ ปัญญา) เป็นสิ่งที่พุทธบริษัททั้งหลาย จะต้องเริ่มอบรม ขณะใดปัญญาเกิด ขณะนั้น ล่วงศีลหรือเปล่า

ท่านผู้ฟัง ไม่ครับผม

ท่านอาจารย์ ขณะนั้นสงบหรือเปล่า แต่ขณะใดที่ไม่ล่วงศีลแล้วสงบ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่ามีปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) เกิดร่วมด้วย ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่ควรอบรมให้มากขึ้น

ท่านผู้ฟัง แน่นอนครับ กระผมฟังพระพุทธพจน์ ที่ว่า ศีลเล ปฏิทายะ นโร สัพปัณโย จิตตัง ปันยังจะ ภาวยัง อาตาปีนิปโกภิกขุ โสอิมัง วิชัชจะตัง ก็แสดงว่า ทุกอย่างเป็นไปตามลำดับถึงจะเกิดปัญญาพร้อม ไม่ใช่หรือครับ

ท่านอาจารย์ ถ้าตามลำดับ ต้องพูดถึง "วิสุทธิ ๗" โดยมี ศีลวิสุทธิ และ จิตตวิสุทธิ เป็นบาทให้เกิด ทิฏฐิวิสุทธิ ศีลวิสุทธิต้องมีปัญญา ศีลนั้นจึงจะป็น ศีลวิสุทธิ ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่มีทาง ต่อให้เป็นศีล ๕ หรือ ศีล ๘ จะกี่ร้อยปีก็ตาม ก็ยังไม่ใช่ศีลวิสุทธิ ฉะนั้น ที่เป็นบาท ต้องเป็นวิสุทธิ ตั้งแต่ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีลที่ไม่มีปัญญาก็มีได้ มหากุศลจิตเกิด เป็นไปในศีล โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี ปัญญา ไม่ใช่สิ่งที่มีง่าย ต้องฟัง ต้องศึกษา ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะใดที่มีปัญญาเกิด ต้องมีศีล ต้องมีสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ แต่ขณะที่เป็นศีล หรือ สมาธิทั่วๆ ไป ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ฌาน ก็เป็นปัญญา ระดับสมถภาวนาและผลของปัญญาระดับนั้น คือ เกิดเป็นพรหม แต่ยังเป็นเรา ยังมีตัวตน ยังไม่สามารถที่จะระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนได้ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถแยกความต่างระหว่าง สมถะภาวนา และ วิปัสสนาภาวนาได้ แต่ที่แยกความต่างได้ เพราะว่า "ผลของสมถะภาวนา" ก็อย่างหนึ่งแต่ "ผลของวิปัสสนาภาวนา" ก็อีกอย่างหนึ่ง


สนทนาธรรมที่วัดบ้านปิง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๔

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา



ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง "วิสุทธิ ๗" ดูในหนังสือ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

หมวด วิปัสสนาภาวนา

(หน้าปกสีเขียว หน้าที่ ๔๘๔-๔๘๘)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ขอความกรุณาอธิบายความหมายของคำว่า "สมังคีกัน" และความหมายของประโยคนี้ด้วยค่ะ "... สมังคีกัน ต้องมีโลกุตตรจิตเกิดครบทั้ง ๘ องค์"

ขอขอบพระคุณในความกรุณาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

คำว่าสมังคี หมายถึง เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกัน ซึ่งมรรคมีองค์แปด จะเกิดพร้อมกันในขณะที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้นเท่านั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

สาธุ

ขอเชิญวิทยากร โปรดพิจารณา ข้อความเหล่านี้

ท่านผู้ฟัง ครับผม แน่นอนครับ กระผมฟังพระพุทธพจน์ ที่ว่าศีลเล ปฏิทายะ นโร สัพปัณโย จิตตัง ปันยังจะ ภาวยัง อาตาปีนิปโกภิกขุ โสอิมัง วิชัชจะตัง

คำที่ท่านผู้ฟังพูด เป็นคาถาตั้งต้น ของคัมภีร์วิสุทธิมรรค รจนาโดยท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งได้อัญเชิญพระพุทธพจน์นี้ บทเดียว มาขยายความเป็น วิสุทธิมรรค ทั้งคัมภีร์ แต่ว่า คำอ่านนั้น ยังไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก พระบาลี คาถานี้ สำคัญมาก เพราะเป็นบทตั้งต้นของทั้งคัมภีร์ ผมเห็นว่า ควรอัญเชิญ พระบาลี และหรือ คำอ่านที่ถูกต้อง (และคำแปล) มาไว้ในกระทู้นี้ด้วย แต่ผมไม่รู้พระบาลี มากพอที่จะทำได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาทั้งสองท่านค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

เรียน ความเห็นที่ 3

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๒๘

ข้อความบางตอนจาก...

ชฏาสูตร

[๖๐] เทวดากราบทูลว่า หมู่สัตว์รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก ถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถาม พระองค์ว่า ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้.

[๖๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนรอด ภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้ ...

อีกสำนวนหนึ่งจาก...

วิสุทธิมรรคครับ

สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปฺญญฺจ ภาวยํ อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏนฺติ

"ภิกษุผู้เป็นคนฉลาด มีความเพียร มีปัญญาบริหารตน ตั้งอยู่ในศีลแล้ว อบรมจิตและปัญญาตั้งอยู่นั้น พึงถางชัฏนี้ได้แล"

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 9 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนา ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
suwit02
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ups
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

สาธุครับ และอนุโมทนาทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Komsan
วันที่ 10 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pornpaon
วันที่ 14 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
natre
วันที่ 30 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เข้าใจ
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขอกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
kullawat
วันที่ 29 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 4 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ