บุญญกิริยาวัตถุ - อปจายนะ (๒)

 
พุทธรักษา
วันที่  27 พ.ย. 2551
หมายเลข  10529
อ่าน  3,931

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากหนังสือบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


บุญญกิริยาวัตถุประเภทของศีล ได้แก่ อปจายนะ

การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ๑

เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น ๑

กิเลส เป็นสภาพธรรมฝ่ายไม่ดีที่เกิดกับจิต ทำให้จิตไม่ผ่องใส ฉะนั้น การขัดเกลากิเลสก็ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่ทำให้จิตใจผ่องใส บุญญกิริยาวัตถุ ที่เป็นอปจายนะ คือ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมขณะนั้นๆ เป็นสภาพจิตใจที่ดีงาม เป็นกุศล

ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มังคลวรรคที่ ๕ วันทนาสูตร ข้อ ๕๙๔

แสดงว่า การไหว้ คือ การอ่อนน้อมนั้นมี ๓ อย่าง คือ

ไหว้ทางกาย ๑

ไหว้ทางวาจา ๑

ไหว้ทางใจ ๑

การไหว้ทางวาจา เป็นการแสดงความอ่อนน้อมทางวาจาเช่นที่เรากล่าวคำนมัสการพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสฺพุทฺธสฺส" ซึ่งมีความหมายว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายความนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นี้เป็นการแสดงความนอบน้อมด้วยวาจา กิริยามรรยาทที่สุภาพ อ่อนโยน เรียบร้อยเป็นการแสดงความนอบน้อม ทางกายวาจาที่สุภาพอ่อนโยน เรียบร้อย มีน้ำใจไมตรีเป็นการแสดงความอ่อนน้อม ทางวาจา

ถ้าคนที่ช่างสังเกต แม้ในยามปกติเพียงแววตาหรือสีหน้า น้ำเสียงหรือหางเสียงนิดเดียว ก็รู้ได้ว่า จิตใจขณะนั้นเป็นอย่างไรเพราะว่า เสียงที่พูดออกมา เป็นรูปที่เกิดจากจิต

.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 27 พ.ย. 2551

ผู้ที่เห็นโทษของกิเลส ย่อมไม่ละเว้นโอกาสที่จะขัดเกลากิเลส.ขณะใดที่รู้ว่าจิตใจหยาบกระด้าง ถือตัวเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเป็นสภาพธรรมที่ "ขาดความเมตตา" ในผู้อื่น

เมื่อรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรมในขณะนั้นก็เห็นโทษ และเป็นปัจจัยให้เกิดการอบรมตนเองให้จิตใจอ่อนโยน และอ่อนน้อม จนเป็นอุปนิสัย.

กุศล หรือ อกุศล นั้นอยู่ที่จิตใจ จิตใจเป็นกุศลย่อมมีความนอบน้อมทั้งต่อบุคคล และสถานที่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงความอ่อนน้อมทางกาย ทางวาจาเพราะบุคคล หรือสถานที่ ที่ควรได้รับความนอบน้อมนั้นอยู่ไกลเกินกว่าที่จะเข้าไปแสดงความนอบน้อมได้แต่ในขณะนั้น จิตใจที่เป็นกุศลย่อมจะนอบน้อมต่อบุคคลและสถานที่ที่ควรนอบน้อมสักการะนั้นได้

ขณะที่จิตใจหยาบกระด้างนั้นจะคิดให้คนอื่นเป็นสุข หรือคิดที่จะช่วยเหลือ คิดที่จะสงเคราะห์บุคคลอื่นให้พ้นทุกข์ไม่ได้เลยและถ้าจิตใจหยาบกระด้างมาก ก็ย่อมมีกิริยา วาจาที่ไม่สุภาพอ่อนโยนทำให้คนอื่นที่ได้รับกระทบกายวาจาอย่างนั้นเกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ เศร้าหมองได้และถ้ามีกำลังมาก ก็เป็นเหตุปัจัย ให้ล่วงทุจริตกรรมต่างๆ ได้

แม้การกระทำ และคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากจิตใจที่หยาบกระด้างนั้นย่อมตัดรอนความสุข ของคนอื่นได้เช่นเดียวกันฉะนั้น คนที่มีเมตตาต่อคนอื่น และอบรมตนให้มีความอ่อนน้อมก็ย่อมเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส คือ โทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ประทุษร้ายให้น้อยลงด้วย

ฉะนั้น ความอ่อนน้อม จึงเป็นกุสลศีลเพราะกุสลศีลนั้นระงับ และขัดเกลากิเลสที่ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม ทางกาย ทางวาจาและความอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ ยังขัดเกลากิเลส คือ มานะการถือตัวและความสำคัญตนด้วย

ถ้าไม่ศึกษา พิจารณาสภาพจิต โดยละเอียดก็จะไม่รู้จักสภาพของกิเลส ที่สะสมอยู่ในจิตใจได้เลยและถึงแม้ว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วแต่พระองค์ก็ได้ทรงแสดงพระธรรมคำสอนไว้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ผู้ที่ถวายความนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์สาวกย่อมศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ด้วยความนอบน้อมและย่อมจะขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นได้ ตามลำดับของปัญญา

อปจายนะ คือ ความอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นการขัดเกลากิเลสทางกาย ทางวาจา ที่ไม่ดีงาม และการขัดเกลากิเลส ให้เบาบางลง นั้น ควรที่จะกระทำได้ทุกโอกาส เท่าที่มีปัจจัยให้สามารถที่จะกระทำได้เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นโอกาสของการสะสมธรรมฝ่ายอกุศล

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 27 พ.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 30 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ