ปปัญจขยสูตร ว่าด้วยผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเนิ่นช้า

 
pornpaon
วันที่  3 ต.ค. 2552
หมายเลข  13824
อ่าน  2,754

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 684
๗. ปปัญจขยสูตร

ว่าด้วยผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเนิ่นช้า

[๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งพิจารณาการละส่วนสัญญา อันสหรคตด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าของพระองค์อยู่

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบการละส่วนสัญญาอันสหรคตด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้าของพระองค์แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ผู้ใดมีกิเลสเครื่องให้เนิ่นช้าและความตั้งอยู่ (ใน สงสาร) ก้าวล่วงซึ่งที่ต่อคือตัณหาทิฏฐิ และลิ่มคือ อวิชชาได้ แม้โลกคือหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวโลก ย่อม ไม่ดูหมิ่นผู้นั้น ผู้ไม่มีตัณหา เป็นมุนี เที่ยวไปอยู่

จบปปัญจขยสูตรที่ ๗

อรรถกถาปปัญจขยสูตร ปปัญจขยสูตรที่ ๗

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปปญฺจสญฺญาสงฺขาปหานํ ความว่า กิเลสชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า เพราะเป็นที่เกิดขึ้นเอง ทำให้เนิ่นช้า คือ ขยายความสืบต่อนั้นให้กว้างขวาง ได้แก่ ให้ตั้งอยู่นาน โดยพิเศษ ได้แก่ ราคะ โทสะโมหะ ทิฏฐิ และมานะ สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า คือ ราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ

อีกอย่างหนึ่งธรรมมีอรรถว่าเศร้าหมอง ชื่อว่าอรรถแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า ธรรมมีอรรถดุจหยากเหยื่อ ชื่อว่าอรรถแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า ในธรรมเครื่องเนิ่นช้าเหล่านั้น

สุภสัญญาเป็นเครื่องหมายของธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ ราคะ

อาฆาตวัตถุเป็นเครื่องหมายของธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ โทสะ

อาสวะเป็นเครื่องหมายของธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ โมหะ

เวทนาเป็นเครื่องหมายของธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ ตัณหา

สัญญาเป็นเครื่องหมายของธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ ทิฏฐิ และ

วิตกเป็นเครื่องหมายของธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือ มานะ

สัญญาที่เกิดพร้อมกับธรรมเครื่องเนิ่นช้าเหล่านั้นชื่อว่า ปปัญจสัญญา.

ส่วน ภาคะ โกฏฐาสะ แห่งสัญญาเป็นเครื่องเนิ่นช้าชื่อว่า ส่วนแห่งสัญญาเป็นเครื่องเนิ่นช้า ว่าโดยอรรถ ได้แก่ กองกิเลส อันเป็นฝ่ายแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้านั้นๆ พร้อมทั้งนิมิต ก็ในที่นี้ศัพท์ว่า สัญญา ย่อมมีโดยปปัญจธรรมนั้นเป็นเหตุที่ทั่วไปแก่ส่วนนั้นๆ สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ความจริง ส่วนแห่งปปัญจธรรม มีสัญญาเป็นเหตุ การละซึ่งส่วนแห่งปปัญจธรรมเหล่านั้น อธิบายว่า ตัดกิเลสมีราคะเป็นต้นด้วยมรรคนั้นๆ ได้เด็ดขาด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 3 ต.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ก.ไก่
วันที่ 9 ต.ค. 2563

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Kalaya
วันที่ 9 ต.ค. 2563

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 9 ต.ค. 2563

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

อ่านแล้ว สังเวชในความไม่รู้ความจริง จึงสะสมเครื่องเนิ่นช้ามานานแสนนาน จนได้อัตภาพนี้ ในภพนี้ และต้องมีภพต่อๆ ไป อีกนานแสนนาน

ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากสะสมความเข้าใจความจริง จากการฟังพระธรรมจากผู้ที่ถ่ายทอดได้ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เช่น ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และอาจารย์วิทยากรทุกท่านของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จึงค่อยๆ ขัดเกลาความไม่รู้

ความรู้เท่านั้นที่จะค่อยๆ ละเครื่องเนิ่นช้าไปทีละเล็กละน้อย ด้วยความเคารพพระธรรม จึงอดทนค่ะ


กราบขอบพระคุณ และยินดีในกุศลพี่เมตตาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 10 ต.ค. 2563

ขอบพระคุณ​และ​ยินดี​ใน​คุณความดี​ของ​น้องสิริ​พรรณ​ด้วย​ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ