อานิสงส์การฟังธรรม ๔ ประการ [โสตานุคตสูตร]

 
JANYAPINPARD
วันที่  25 พ.ค. 2552
หมายเลข  12479
อ่าน  1,944

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒- หน้าที่ 471

โสตานุคตสูตร

อานิสงส์การฟังธรรม ๔ ประการ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... บทแห่งธรรม ทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อม แสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติ พรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาด ต่อเสียงสังข์เขาเดินทางไกล พึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือ เคลือบแคลงว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ฯลฯ ย่อม เป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... บทแห่ง ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุ ผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตร ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิด ทีหลังว่า ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน เธอกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์ๆ สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สหายของคนเล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่ง พึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราละลึกได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

ข้อความบางส่วนจาก

อรรถกถา โสตานุคตสูตร

บทว่า ยตฺถ คือ ในธรรมวินัยใด.

บทว่า พฺรหฺมจริยํ อจรึ ได้แก่ เราได้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์. บทนั้น ตรัสด้วยอำนาจการะลึกถึง พระพุทธพจน์ว่า ชื่อว่าพระพุทธพจน์แม้นี้ เราก็ได้เล่าเรียนมาแล้วแต่ก่อน.

บทว่า เทวปุตฺโต ได้แก่ เทวบุตรผู้เป็นธรรมกถึกองค์หนึ่ง ดุจปัญจาลจัณฑเทวบุตร ดุจหัตถกมหาพรหมและดุจสนังกุมารพรหม.

บทว่า โอปปาติโก โอปปาติกํ สาเรติ ความว่า เทวบุตรผู้เกิดก่อนให้เทวบุตรผู้เกิด ภายหลังระลึก ทรงแสดงความที่สหายเหล่านั้นสนิทสนมกันมานาน ด้วยบทว่า สหปํสุกีฬกา นั้น.

บทว่า สมาคจฺเฉยฺยุํ ความว่า สหายเหล่านั้น พึงไป พร้อมหน้ากันที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง.

บทว่า เอวํ วเทยฺย ความว่า สหายผู้นั่งก่อนที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง พึงกล่าวอย่างนี้กะสหายผู้มา ภายหลัง.

บทที่เหลือทุกแห่ง พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาแล้วแล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 25 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ