แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง

 
WS202398
วันที่  17 พ.ย. 2551
หมายเลข  10419
อ่าน  2,257

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ [เล่มที่ 17] - หน้าที่ ๖๕๙

เหตุที่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง

แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไม่หย่อน (ไปกว่านั้น) ? เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์. อธิบายว่า บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย พวกตัณหาจริต พวกทิฏฐิจริต พวกสมถยานิกะและวิปัสสนายานิกะ (แยก) เป็นพวกละ ๒ ตามอ่อนและแก่กล้า

ผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีตัณหาจริตแก่กล้า มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ละเอียด เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แม้ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างอ่อน มีจิตตานุปัสสนาสติปักฐาน ที่มีอารมณ์แยกออกไม่มากนักเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีทิฏฐิจริตแก่กล้า มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งวิสุทธิ และสติปัฏฐานข้อแรก ที่มีนิมิตจะที่พึงประสบได้ไม่ยาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของสมถยานิกบุคคล ประเภทยังอ่อน.

ข้อที่ ๒ เป็นทางแห่งวิสุทธิสมลยานิกบุคคล ประเภทแก่กล้า เพราะท่านดำรงอยู่ได้ไม่มั่นคงในอารมณ์ที่หยาบ.

ข้อที่ ๓ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปไม่มากนัก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์แม้ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทยังอ่อน.

ข้อที่ ๔ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทแก่กล้า.

สติปัฏฐานจึงตรัสไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไม่หย่อน ด้วยประการดังที่พรรณนามาน ดังนี้.

อาจารย์เคยบรรยายตามความเข้าใจของผมว่า อารมณ์ของสติปัฏฐานเลือกไม่ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยว่าธรรมอะไรกำลังปรากฏในขณะนั้น เช่นนั้น ส่วนหนึ่งของอรรถกถาพระสูตรที่ว่า "ผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์" เป็นต้น หมายความอย่างไร มีนัยอะไรในทางภาวนาหรือไม่ อรรถกถาของสูตรนี้ มีประโยชน์ในแง่การภาวนาอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 17 พ.ย. 2551

ข้อความในอรรถกถาท่านอธิบายตามความจริงของธรรมะ มิได้หมายถึงให้เลือกอารมณ์อนึ่ง ตัวเราเป็นผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน หรืออย่างกล้า ทิฏฐิอย่างอ่อนหรืออย่างกล้าถ้ายังไม่รู้ การสะสมความรู้ความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ จะมีประโยชน์มากกว่าหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 17 พ.ย. 2551

การอบรมปัญญาเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องที่มีจริง กำลังเห็นขณะนี้รู้แล้วหรือยังคะ ถ้ายังไม่รู้เพียงแต่เริ่มระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ขึ้น ปัญญามีหลายขั้น ขั้นฟัง ขั้นความเข้าใจเป็นปัญญาเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่หนทางข้อปฏิบัติที่ถูก คือระลึกรู้ลักษณะทุกสิ่งที่มีจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 18 พ.ย. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ajarnkruo
วันที่ 18 พ.ย. 2551

แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไปหย่อน (ไปกว่านั้น) ?

เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์.

นี่เป็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าครับ ถ้าพระองค์ไม่ได้ทรงแสดงธรรมส่วนอื่นๆ ประกอบไว้โดยละเอียด เราก็อาจจะหลงคิดว่า เมื่อได้ศึกษาบางส่วน ก็คงจะทำให้พอทราบว่า ตนเองมีจริตหนักไปในทางอย่างนั้นบ้าง เบาไปในทางอย่างนี้บ้าง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องคิดเอาเองทั้งหมด แต่ผู้ที่จะทรงทราบจริตของสัตว์โลกทั้งหลายอย่างละเอียด พร้อมทั้งรู้แจ้งถึงธรรมที่เหมาะแก่อัธยาศัยของสัตว์เหล่านั้น ก็ต้องเป็นด้วยพระปัญญาของพระองค์เท่านั้นครับ ผู้อื่นนอกนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะพึงมีได้ เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้ก็แสดงถึงพระพุทธคุณอันหาประมาณมิได้ของพระองค์ผู้เป็นเลิศกว่าสรรพสัตว์ทั้งมวล จะเกิดประโยชน์มากถ้าหากจะระลึกได้ด้วยกุศลจิตและจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น เกิดความปีติซาบซึ้งยิ่งขึ้น ถ้าผู้ที่ศึกษานั้นเข้าใจหนทางในการเจริญสติปัฏฐาน พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 18 พ.ย. 2551

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๘๕

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศลจะกล่าวให้ถูกต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นได้แก่นิวรณ์ ๕ “ เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศลจะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นได้แก่สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง ”ดังนั้น จากคำถามที่ว่า เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง?
ที่สามารถจะพิจารณา ได้คือเพราะธรรมะเป็นอนัตตา เลือกไม่ได้ สติปัฏฐาน 4 ครอบคลุมปรมัตถธรรม 4 และ กองกุศลทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การสะสมจริตมาแตกต่างกันไป รู้ได้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า (อาสยานุสยญาณ) ซึ่งแม้พระสารีบุตรเองก็ไม่ทราบการสะสมอัธยาศัยของสัตว์โลกมา ซึ่งท่านพระสารีบุตรบอกกรรมฐานคืออสุภกรรมฐานให้กับศิษย์ของท่าน แต่ไม่ถูกจริตกับศิษย์ของท่าน ซึ่งพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุนั้น ทรงทราบการสะสมอัธยาศัยของภิกษุนั้น จึงทรงเนรมิตดอกบัวสีทอง และก็ทำให้เหี่ยวไป ภิกษุนั้นพิจารณาและก็ได้บรรลุธรรม จะเห็นได้ว่าไม่มีใครจะรู้จริตนอกจากพระพุทธองค์ ดังนั้นจึงไม่ใช่การจะเลือกอารมณ์ แต่หมวดใดก็ละจริตเหล่านั้น เป็นจริงอย่างนั้นอยู่แล้วครับ ดังนั้นจึงต้องอบรมปัญญาขั้นการฟังจนเข้าใจขึ้นจะเป็นเหตุปัจจัยให้สติเกิดซึ่งก็แล้วแต่สติจะเกิดระลึกธรรมอะไร เป็นอนัตตา แต่ก็ไม่พ้นไปจาก 4 หมวดนี้ เกิดระลึกหมวดไหนก็ละสิ่งเหล่านั้นครับ ซึ่งจะขอนำข้อความมาเพิ่มเติมว่า ทำไมพระพุทธองค์ถึงแสดง สติปัฏฐาน ว่ามี 4 ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ย. 2551

อีกอย่างหนึ่ง ที่ตรัสว่า สติปัฏฐานมี ๔ ก็เพื่อละเสียซึ่งวิปัลลาสความสำคัญผิดว่างาม สุข เที่ยง และเป็นตัวตน. แท้จริงกายเป็นอสุภะ ไม่งาม แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังสำคัญว่างาม ในกายนั้น. ด้วยทรงแสดงความไม่งามในกายนั้นแก่สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสสติปัฏฐานข้อที่ ๑ เพื่อละวิปัลลาสนั้นเสีย.

และในเวทนาเป็นต้น ที่สัตว์ยึดถือว่าสุข เที่ยง เป็นตัวตนเวทนาก็เป็นทุกข์ จิตไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา. แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังสำคัญว่าสุขเที่ยงเป็นตัวตน

ในเวทนา จิต ธรรมนั้น ด้วยทรงแสดงความเป็นทุกข์ เป็นต้น ในเวทนา จิต ธรรมนั้นแก่สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสสติปัฏฐาน ๓ ที่เหลือเพื่อละวิปัลลาสเหล่านั้นเสีย

เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ที่ตรัสว่า สติปัฏฐาน ๔ ไม่หย่อนไม่ยิ่งก็เพื่อละความสำคัญผิดว่า งาม สุข เที่ยงและตัวตนเสีย ดังที่กล่าวมานี้ [เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๗๘ จากพระสูตรมีข้อความที่ว่า ที่ตรัสว่า สติปัฏฐานมี ๔ ก็เพื่อละเสียซึ่งวิปัลลาส ความสำคัญผิดว่างาม สุข เที่ยง และเป็นตัวตน.

เราปุถุชนทั้งหลายก็ยังมีความวิปลาส ทั้ง ๔ คือ สำคัญผิดว่างาม เที่ยง สุข เป็นตัวตน ดังนั้นการอบรมปัญญาจึงไม่เลือกหมวด แล้วแต่สติ จนสติรู้ทั่ว จึงละวิปลาสทั้ง 4 ได้ เพราะแต่ละวิปลาสก็ละด้วยหมวดแต่ละหมวดครับ

ขออนุโมทนา อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 19 พ.ย. 2551

ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดหากให้ความสำคัญกับผล จะมี "ประโยชน์"มากกว่าหรือไม่.?

ไม่ว่าเหตุ จะมีที่มาอย่างไร ผล คือ "ความจริง" ใช่หรือไม่.? นอกจาก ความจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ทาง กาย เวทนา จิต ธรรมที่พิสูจน์ได้จริงๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีทางอื่นให้รู้ได้อีกหรือไม่.? ถ้าเลือกได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่างก็จะบังคับบัญชาได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
WS202398
วันที่ 20 พ.ย. 2551

ขอขอบคุณ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ