พุทธประวัติ ๓ เรื่องความปรารถนาของท่านสุเมธ


    ท่านผู้หนึ่งบอกว่า เมื่อท่านได้ฟังพระธรรมและระลึกได้ ก็รู้ว่ามีโลภะเต็มทั้งวัน ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่า สังสารวัฏฏ์ทุกๆ ขณะถูกลากจูงไปด้วยโลภะเป็นเหตุ เป็นสมุทัย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลพุทธบริษัท โดยทรงแสดงโทษของโลภะ ให้เห็นความจริงว่าโลภะนั้นเป็นสมุทัย เป็นเหตุของทุกข์ ซึ่งเป็นสังสารวัฏฏ์ ทั้งๆ ที่วันนี้ทุกคนมีโลภะมากมาย แต่ระลึกได้ไหมว่าโลภะแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ คือการเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จากชาติหนึ่งสืบไปอีกชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีโลภะก็ไม่เคยพิจารณารู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเกื้อกูลอนุเคราะห์ทุกประการ ที่จะทำให้แต่ละท่านระลึกได้ในชีวิตประจำวัน ดังเช่นปัญญาของท่านสุเมธบัณฑิตก่อนที่ท่านจะบวชเป็นดาบส ในชาติที่ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า อีก ๔ อสงขัยแสนกัปป์จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ปัญญาในชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้นควรจะมีและควรอบรมเจริญขึ้น เช่นปัญญาของสุเมธบัณฑิต เมื่อ ๔ อสงขัยแสนกัปป์ เป็นปัญญาที่เกิดจากชีวิตประจำวัน ตามที่ท่านกล่าวถึงโทษของโลภะซึ่งเป็นสมุทัย ในกาลที่ท่านยังไม่ได้บวชเป็นดาบส ข้อความใน มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เรื่องความปรารถนาของท่านสุเมธ มีข้อความว่า วันหนึ่งสุเมธบัณฑิตนั่งขัดสมาธิ ณ ปราสาทชั้นบน ดำริว่าขึ้นชื่อว่า การถือปฏิสนธิในภพใหม่เป็นทุกข์

    (๔ อสงขัยแสนกัปป์มาแล้ว ที่พระโพธิสัตว์ระลึกอย่างนี้ ควรพิจารณาตนเองว่าคิดบ้างหรือยังว่า ขึ้นชื่อว่า "การเกิดในภพใหม่เป็นทุกข์" เป็นปัญญาในชีวิต ประจำวันจริงๆ วันนี้ยังไม่ระลึก แต่ว่าคงจะมีบ้างบางกาลที่เกิดระลึกได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมดมาจากการเกิด) การแตกดับแห่งสรีระในสถานที่เกิดแล้วเกิดเล่าก็เป็นทุกข์ ก็เรามีชาติ ชรา พยาธิ มรณะเป็นธรรมดา เราเป็นอยู่อย่างนี้ ก็ควรแสวงหาพระนิพพาน อันไม่มี ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นสภาพที่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พ้นจากการท่องเที่ยวไปในภพทั้งหลาย

    ซึ่งจะพึงถึงได้ก็ด้วยมรรค คือหนทางอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้ถึงพระนิพพานแน่แท้ ถ้ากระไรเราผู้ไม่เยื่อใย ไม่ต้องการ จะพึงละกายอันเน่านี้ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ไปเสีย มรรคใดมีอยู่ จักมี มรรคนั้นไม่เป็นเหตุหามิได้ จำเราจักแสวงหามรรคนั้น เพื่อหลุดพ้นจากภพ (ไม่อยู่เฉยๆ แต่ว่าจะแสวงหาทางที่จะดับกิเลส ดับการเกิด ถ้าทุกท่านรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ไม่ใช่เรา เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่รู้จักจบ จะเบื่อหน่ายละคลายความติดข้องที่ต้องการเห็นอีก ได้ยินอีกไหม แล้วจะแสวงหาหนทางที่จะทำให้ดับชาติการเกิดหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ปัญญาของแต่ละท่าน) ธรรมดาสุขอันเป็นข้าศึกของทุกข์มีอยู่ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิดอันเป็นข้าศึกของความเกิดนั้น ก็พึงมี ฉันนั้น

    อนึ่ง เมื่อความร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอันระงับความร้อนนั้น ก็มีอยู่ฉันใด นิพพานอันเป็นเครื่องระงับไฟคือกิเลสมีราคะเป็นต้น ก็พึงมีฉันนั้น อนึ่ง แม้ธรรมอันไม่มีโทษเป็นความดี ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมอันเป็นความชั่วลามกก็มีอยู่ฉันใด เมื่อความเกิดอันเป็นฝ่ายชั่วมีอยู่ แม้นิพพานซึ่งนับได้ว่าความไม่เกิดเพราะห้ามความเกิดได้ ก็พึงมีฉันนั้นเหมือนกัน ความคิดนั้นคิดสั้นๆ ก็ได้ คิดยาวๆ ไกลๆ ก็ได้ และถ้าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ความคิดที่เป็นฝ่ายกุศลก็จะพิจารณาไตร่ตรองเห็นธรรมตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับความคิดที่ไร้สาระ เป็นอกุศล คิดเรื่องยาวก็ได้ แต่ว่าล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ทั้งสิ้น

    ท่านสุเมธบัณฑิตคิดแม้ประการอื่นอีกว่า บุรุษผู้จมลงในกองอุจจาระ แลเห็นหนองน้ำที่มีน้ำใส ประดับด้วยบัวหลวง บัวสาย และบัวขาว ก็ควรแสวงหาหนองน้ำนั้นด้วยความคำนึงว่า ควรจะไปที่หนองน้ำนั้นโดยทางไหนหนอ การไม่แสวงหาหนองน้ำนั้น ไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำ เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียว ฉันใด เมื่อหนองน้ำใหญ่คือ อมตธรรม ซึ่งเป็นเครื่องชำระมลทิน คือกิเลสมีอยู่ การไม่แสวงหาหนองน้ำใหญ่คืออมตธรรมนั้น นั่นไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำใหญ่คืออมตธรรม เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    (ผู้มีปัญญา คือท่านสุเมธบัณฑิต เห็นความน่ารังเกียจของอกุศล เหมือนความน่ารังเกียจของอุจจาระ และมีความรู้สึกว่ากำลังจมลงในกองอุจจาระด้วย เพราะว่าวันหนึ่งๆ กิเลสมากอกุศลมาก และถ้าเห็นกิเลสอกุศลดุจกองอุจจาระ วันนี้จมลงไปเท่าไรในกองอุจจาระ และมีหนองน้ำซึ่งจะชำระมลทิน คือกิเลสด้วย ฉะนั้นผู้ที่ต้องการจะพ้นจากการจมลงในกองอุจจาระจึงหาทางที่จะไปสู่หนองน้ำนั้น ถ้าระลึกได้อย่างนี้บ่อยๆ และพิจารณาจริงๆ ก็จะไม่ขาดการฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรม การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ก็ต้องอาศัย พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ แม้ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เป็นสุเมธบัณฑิต และคิดถึงโทษของอกุศลและสังสารวัฏฏ์)

    ท่านสุเมธบัณฑิตคิดแม้ประการอื่นว่า อนึ่ง บุรุษผู้ถูกโจรล้อมไว้ เมื่อทางหนีแม้มีอยู่ ถ้าบุรุษนั้นไม่หนีไปเสีย นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของทางนั้น เป็นความผิดของบุรุษนั้นผู้เดียว ฉันใด บุรุษที่ถูกพวกโจรคือกิเลสล้อมจับไว้ เมื่อทางใหญ่อันรุ่งเรืองที่จะไปยังมหานครคือพระนิพพาน แม้มีอยู่ ก็ไม่แสวงหาทางนั้น ก็ไม่ใช่ความผิดของทาง เป็นความผิดของบุรุษนั้นแต่ผู้เดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เห็นโทษของอกุศล โดยประการอื่นอีก คือ นอกจากจมลงในกองอุจจาระ ก็ยังเหมือนกับถูกกิเลส คือโจรล้อมไว้อย่างหนาแน่น ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าจะหนีโจร หรือว่ายังคงให้โจรคือกิเลสรุมล้อมอย่างหนาแน่นต่อไป)

    บุรุษถูกความเจ็บป่วยบีบคั้น เมื่อหมอที่จะเยียวยาความเจ็บป่วย มีอยู่ ถ้าไม่แสวงหาหมอนั้น ไม่ยอมให้หมอนั้นเยียวยาความเจ็บป่วย นั่นไม่ใช่ความผิดของหมอ เป็นความผิดของบุรุษนั้นแต่ผู้เดียว ฉันใด ก็ผู้ใดถูกความเจ็บป่วย คือ กิเลสบีบคั้นหนัก ไม่แสวงหาศาสดาผู้ฉลาดในทางระงับกิเลสซึ่งมีอยู่ ก็เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียว ไม่ใช่ความผิดของศาสดาผู้ขจัดความเจ็บป่วย คือกิเลส ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (กำลังเจ็บป่วยทางจิตแต่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่แสวงหาศาสดา)

    ครั้นท่านสุเมธบัณฑิตคิดดังกล่าวมานี้แล้ว จึงคิดยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า บุรุษผู้ชอบแต่งตัวสวยๆ ทิ้งซากศพที่คล้องคอเสีย ก็พึงเป็นสุขไป แม้ฉันใด แม้เราก็ทิ้งกายอันเน่านี้เสียไม่อาลัย พึงเข้าไปยังมหานครคือนิพพาน ก็ฉันนั้น

    อนึ่ง บุรุษสตรีถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงที่พื้นดินอันเปื้อนอุจจาระปัสสาวะแล้ว ก็หาเอาใส่ชายพกหรือเอาชายผ้าห่ออุจจาระปัสสาวะนั้นพาไปไม่ ที่แท้ก็พากันเกลียด ไม่อยากแม้แต่จะดู ไม่อาลัย ทิ้งไปเลยฉันใด แม้เราก็ไม่อาลัยกายอันเน่านี้ ควรที่จะละทิ้งเข้าไปยังอมตนครคือนิพพาน ก็ฉันนั้น

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ครั้นท่านสุเมธบัณฑิตคิดดังกล่าวมานี้แล้ว จึงคิดยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า บุรุษผู้ชอบแต่งตัวสวยๆ ทิ้งซากศพที่คล้องคอเสีย ก็พึงเป็นสุขไป แม้ฉันใด แม้เราก็ทิ้งกายอันเน่านี้เสีย ไม่อาลัย พึงเข้าไปยังมหานครคือ "นิพพาน" ก็ฉันนั้น อนึ่ง บุรุษสตรีถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงที่พื้นดินอันเปื้อนอุจจาระปัสสาวะแล้ว ก็หาเอาใส่ชายพกหรือเอาชายผ้าห่ออุจจาระปัสสาวะนั้นพาไปไม่ ที่แท้ก็พากันเกลียด ไม่อยากแม้แต่จะดู ไม่อาลัย ทิ้งไปเลยฉันใด แม้เราก็ไม่อาลัยกายอันเน่านี้ ควรที่จะละทิ้งเข้าไปยังอมตนครคือ "นิพพาน" ก็ฉันนั้น อนึ่ง ธรรมดานายเรือทั้งหลาย ก็ละทิ้งเรือชำรุดอันน้ำรั่วเข้า ไม่เยื่อใยไปเลย ฉันใด แม้เราก็ละทิ้งกายที่ของโสโครกไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ แผลนี้ ไม่เยื่อใย จักเข้าไปยังมหานครคือ"นิพพาน" ก็ฉันนั้น

    อนึ่ง บุรุษบางคนพกพารัตนะมากอย่าง มีแก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ เป็นต้น เดินทางไปกับหมู่โจร จำต้องละทิ้งโจรเหล่านั้น เพราะกลัวสูญเสียรัตนะ เลือกถือเอาแต่ทางที่เกษมปลอดภัย ฉันใด ความติดในกายอันเน่า นี้ก็เสมือนโจรปล้นรัตนะ ถ้าเราจักทำความอยากในกายนี้ รัตนะคืออริยมรรคและกุศลธรรมของเราก็จักสูญเสียไป เพราะฉะนั้น จึงควรที่เราจำต้องละทิ้งกรัชกายที่เสมือนมหาโจรนี้ แล้วเข้าไปยังมหานครคือนิพพาน ก็ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า บุรุษเกลียดซากศพที่ผูกคออยู่ ปลดออกไปเสีย ก็มีสุข มีเสรี มีอิสสระ ฉันใด เราทิ้งกายอันเน่านี้ที่สะสมซากต่างๆ ไว้ไปเสีย ไม่อาลัย ไม่ต้องการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษสตรีทิ้งอุจจาระไว้ในที่ถ่ายอุจจาระ ไปเสียไม่อาลัย ไม่ต้องการ ฉันใด เราทอดทิ้งกายนี้ที่เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ เหมือนทิ้งที่ถ่ายอุจาระไป ก็ฉันนั้น

    เจ้าของเรือ ทิ้งเรือลำเก่าชำรุด น้ำรั่วไป ไม่เยื่อใย ไม่ต้องการฉันใด เราก็ทอดทิ้งกายนี้ ที่มี ๙ ช่อง เป็นที่ไหลออกของสิ่งโสโครกอยู่เป็นนิตย์ไป เหมือนเจ้าของเรือสละทิ้งเรือลำเก่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษพกพาของมีค่าไปกับพวกโจร แลเห็นภัยจากการเสียหายของของมีค่า จึงละทิ้งโจรไป ฉันใด กายนี้ก็เปรียบเสมอด้วยมหาโจร เพราะกลัวการเสียหายของกุศล เราจึงต้องละทิ้งกายนี้ไป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ไม่ว่าจะโดยนัยของพระอภิธรรม พระสูตร หรือแม้แต่พุทธวงศ์ เพื่อที่จะให้เห็นว่า แม้ในครั้งโน้น พระองค์ก็จะต้องทรงมีปัญญาที่จะแสวงหาหนทาง ฉันใด พุทธบริษัทซึ่งได้ฟังพระธรรม และพิจารณารู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย ก็ควรที่จะเห็นความน่ารังเกียจของโลภะ ซึ่งเป็นสมุทัยโดยประการต่างๆ เพื่อจะได้แสวงหาทางที่จะดับ ชาติความเกิด เพียงระลึกว่า โลภะทุกขณะที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสมุทัย รู้เท่านี้ก็มีประโยชน์

    แล้วก็รู้อีกบ่อยๆ ไม่ว่าจะกำลังสนุกสนานรื่นเริง ดูหนัง ดูละคร ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ กำลังเพลิดเพลินขณะใดรู้ว่าเป็นสมุทัยในขณะนั้น ก็ยังมีประโยชน์ เพราะเห็นโทษ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะว่าปัญญาของปุถุชนนั้นไม่ใช่ปัญญาของพระอริยบุคคล จึงไม่สามารถจะดับกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันก็ดับความเห็นผิดซึ่งถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าผู้ที่จะดับกิเลสได้นั้นต้องเป็นผู้ที่อดทน และมีปัญญารู้ว่าการดับกิเลสนั้น คือดับกิเลสในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และคิดนึก เพราะว่า วันหนึ่งๆ ที่จะไม่คิดนึกนั้นเป็น ไปไม่ได้ เห็นสิ่งใดก็คิดเรื่องสิ่งที่เห็น จากโทรทัศน์บ้าง จากหนังสือบ้าง จากที่ได้ยินได้ฟังบ้าง สิ่งที่ปรากฏทางตาเงียบไม่มีเสียงก็ยังไม่พอ ต้องฟังทางหูประกอบกับสิ่งที่ได้เห็นทางตา ให้รู้เรื่องนั้นๆ มากขึ้นไปอีก

    นี่ก็เห็นได้แล้วว่า กิเลสทั้งหลายกลุ้มรุมเหมือนโจรที่ล้อมไว้อย่างหนาแน่นเพียงไร อย่างนักประวัติศาสตร์ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด เห็นวัตถุโบราณต่างๆ เพียงเห็นเท่านั้น ก็ไม่สามารถรู้ถึงประวัติความเป็นมาของสิ่งนั้นได้ ต้องอาศัยการฟังเรื่องราวของสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้น ทั้งที่เห็นทั้งทางตาและที่ได้ยินทางหูก็ประกอบกันเป็นเรื่องราว ซึ่งทำให้จิตใจหมกหมุ่นครุ่นคิดในแต่ละเรื่องด้วยโลภะซึ่งเป็นสมุทัย แล้วเมื่อไรจะดับได้ ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงว่า "ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งๆ "

    จิตที่เห็นทางตาเพียงเห็นไม่ได้คิด แต่เมื่อเห็นแล้วจิตก็คิดต่อทางใจ ฉะนั้น ทุกครั้งที่คิดก็ให้ทราบว่าเป็นจิตขณะหนึ่งๆ เรื่องราวทั้งหลายที่ยาวมากเพราะจิตคิดเป็นเรื่องเป็นราว การวิพากษ์วิจารต่างๆ ก็เกิดจากจิตที่คิดเรื่องนั้นๆ ทีละคำ จิตผูกพันในเรื่องที่คิดจนไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งเป็นสมุทัยด้วย

    เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ และเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะให้กิเลสเบาบางลง มิฉะนั้น ไม่มีหนทางเลยที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ เพราะเหตุว่าเป็นหนทางที่ยาวนานและไกลมาก เมื่อมีสติก็จะรู้สภาพของจิตละเอียดขึ้นว่าเต็มไปด้วยโลภะในวันหนึ่งๆ มากมายเพียงใด

    ข้อความในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กถาปรารภคัมภีร์ มีว่า ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ประกอบอยู่ในสมาธิโดยเคารพ ละความฟุ้งซ่าน ไม่มีจิตเป็นอื่น จงตั้งโสตปสาทดังภาชนะทองรองรับมธุรส คือพระธรรม คนที่ต้องตายเป็นผู้รู้ จะต้องละกิจอื่นเสียให้หมดแล้ว ฟังก็ดี กล่าวก็ดี ในที่นี้ได้ตลอดกาลเป็นนิจ โดยเคารพ ด้วยว่ากถานี้เรียบเรียงได้แสนยากแล

    พระธรรมทั้งหมดที่พระเถระได้รับฟังสืบๆ ต่อกันมาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งรวบรวมเป็นพระไตรปิฏกและอรรถกถา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะกระทำได้โดยง่ายเลย เมื่ออ่านพระสูตรๆ หนึ่ง ตั้งแต่ต้นจนจบแล้วให้กล่าวทวนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ไหม แต่คนสมัยนั้นทำได้ เพราะปัญญาของท่านละความฟุ้งซ่าน ไม่มีจิตเป็นอย่างอื่น ฟังก็ดี กล่าวก็ดี ในที่นี้ได้ตลอดกาลเป็นนิจโดยเคารพ ทำให้พระไตรปิฏกและอรรถกถาสืบทอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ เพราะฉะนั้นทุกท่านก็คงจะเห็นคุณของพระธรรมทั้ง ๓ ปิฏกและอรรถกถา

    ข้อความต่อไปมีว่า ด้วยว่าพุทธวงศ์นั้นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ไม่ใช่วิสัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย การฟังพระธรรมด้วยความอดทน ด้วยความเคารพ ย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใส ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดในพระไตรปิฏก แม้ในขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ซึ่งบางท่านอาจจะเห็นว่าไม่เหมือนส่วนอื่น เช่นพระอภิธรรม หรือพระสูตรนิกายอื่นๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า ใครแสดงพระพุทธวงศ์ พระพุทธเจ้าทรงแสดง ใครนำมาเล่า อาจารย์นำสืบสืบกันมา จริงอยู่พุทธวงศ์นี้ มีท่านพระเถระทั้งหลายเป็นต้น คือท่านพระสารีบุตรเถระ ท่านพระภัททชิ ท่านพระติสสะ ท่านพระสิคควะ ท่านพระโมคคัลลีบุตร ท่านพระสุทัตตะ ท่านพระธัมมิกะ ท่านพระทาสกะ ท่านพระโสณกะ ท่านพระเรวตะ นำสืบกันมาถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ ศิษย์ทั้งหลายของพระเถระเหล่านั้นนั่นแหละ ก็ช่วยกันนำมา

    เหตุนั้นจึงควรทราบว่า อาจารย์นำสืบๆ กันมาตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นพระคุณมหาศาลของพระเถระ ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งทุกคนก็ควร ที่จะอดทน ฟัง ศึกษา พิจารณา และอดทนที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงอดทน ทรงบำเพ็ญบารมี ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ด้วยพระมหากรุณาเพื่อที่จะอนุเคราะห์ชาวโลกตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด และเมื่อจาริกไปสู่ที่ใด

    ขอกล่าวถึงการประทับและจาริกของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นการเกื้อกูล พุทธบริษัท ตลอดพระชนม์ชีพ ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถา รถวินีตสูตร มีข้อความว่า

    บทว่า ยถารนฺตํ ได้แก่ประทับอยู่ตามพระอัธยาศัย จริงอยู่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ไม่มีความไม่ยินดี เพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำ เป็นต้น หรือเพราะเสนาสนะอันไม่ผาสุก หรือเพราะความไม่ศรัทธาเป็นต้นของเหล่าผู้คน ไม่มีแม้ความยินดีว่าเราจะอยู่เป็นผาสุกในที่นี้ แล้วอยู่นานๆ เพราะมีสิ่งเหล่านั้นพรั่งพร้อม

    แต่เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ ณ ที่ใด สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในสรณะ สมาทาน ศีล หรือ บรรพชา ก็หรือว่าแต่นั้นสัตว์เหล่านั้นมีอุปนิสสัยแห่งโสดาปัตติมัคค เป็นต้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมประทับอยู่ในที่นั้น ตามอัธยาศัยที่จะทรงอนุเคราะห์สัตว์เหล่านั้นไว้ในสมบัติเหล่านั้น และเพราะไม่มีสัตว์เหล่านั้นจึงเสด็จหลีกไป เป็นพระมหากรุณาซึ่งไม่ว่าจะประทับหรือเสด็จจาริกไป ก็มิใช่เพื่อความสุขส่วนพระองค์ แต่เพื่อจะอนุเคราะห์ผู้ที่สามารถจะตั้งอยู่ในสรณะ หรือว่าจะสมาทานศีล จะบรรพชา หรือว่ามีอุปนิสสัยแห่งโสดาปัตติมัคค เป็นต้น

    ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถา รถวินีตสูตร แสดงให้เห็นพระมหากรุณาในการเสด็จจาริกไปเพื่อประโยชน์ทั้งสิ้น ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็ถ้าภายในพรรษา ภิกษุทั้งหลายมีสมถะและวิปัสสนายังอ่อน ก็ไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา แต่จะทรงเลื่อนปวารณาออกไปปวารณาในวันปวารณากลางเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒) วันแรกของเดือนมิคสิระ (เดือน ๑) มีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกเที่ยวไปตลอดมัชฌิมมณฑล นี่ก็เป็นเรื่องของการออกพรรษาและการปวารณาที่พระผู้มีพระภาคทรง พระกรุณาเห็นว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายยังมีสมถะและวิปัสสนายังอ่อน ก็ไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา แต่ทรงเลื่อนปวารณาออกไป

    หรือเมื่อพระผู้มีพระภาคประทับประจำอยู่ ๔ เดือนแล้ว เหล่าเวไนยสัตว์ อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะทรงคอยอินทรีย์ของเวไนยสัตว์เหล่านั้นจะแก่กล้า ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง แล้วทรงมีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จจาริกไป เมื่อทรงจาริกไปที่ใดนั้น มิใช่จาริกไปเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น โดยที่แท้เสด็จจาริกไปเพื่อทรงอนุเคราะห์

    อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๔ ประการ

    เพื่อประโยชน์แก่ความสุขของสรีระ ๑

    เพื่อประโยชน์ คือ รอการเกิดอัตถุปปัตติ (คือ เกิดเรื่องอันเป็นเหตุให้ตรัสธรรมเทศนา) ๑

    เพื่อประโยชน์แก่การทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับภิกษุทั้งหลาย ๑

    เพื่อประโยชน์โปรดสัตว์ที่ควรตรัสรู้ ผู้มีอินทรีย์ แก่กล้าแล้วในที่นั้นๆ ให้ได้ตรัสรู้ ๑

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๔ ประการอย่างอื่นอีก คือ

    สัตว์ทั้งหลายจักถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะบ้าง

    จักถึงพระธรรมเป็นสรณะบ้าง

    จักถึงพระสงฆ์เป็นสรณะบ้าง

    แล้วพระองค์จักทรงทำบริษัท ๔ ให้เอิบอิ่มด้วยการฟังธรรมครั้งใหญ่บ้าง

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากปาณาติบาตบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากอทินนาทานบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากมุสาวาจาบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากสุราเมรัยบ้าง

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๘ ประการอย่างอื่น คือ เขาจะได้ปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสานัญจายตนฌานบ้าง วิญญาณัญจายตนฌานบ้าง อากิญจัญญายตนฌานบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง คือ เขาจะบรรลุโสดาปัตติมัคคจิต โสดาปัตติผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุสกทาคามิมัคคจิต สกทาคามิผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุอนาคามิมัคคจิต อนาคามิผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุอรหัตตมัคคจิต อรหัตตผลจิตบ้าง

    การจาริก มี ๒ คือ นิพันธจาริก การจาริกโดยมีเหตุผูกพัน ๑ อนิพันธจาริก การจาริกโดยไม่มีเหตุผูกพัน ๑ ในจาริก ๒ อย่างนี้ การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดสัตว์ ผู้ควรตรัสรู้ผู้เดียวเท่านั้น ชื่อว่า นิพันธจาริก


    หมายเลข 356
    19 ก.ย. 2566