พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60


    ตอนที่ ๖๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่จะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏทางทวารหนึ่งทางทวารใด ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน เพราะฉะนั้นเรากล่าวตามลำดับเพื่อให้รู้ว่าเราศึกษาจิตจริงๆ เป็นจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ว่าอะไรเกิดก่อน ต่อจากภวังค์แล้วต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิต ถ้าตื่นมายังไม่ทันจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่คิดนึกได้ใช่ไหม ขณะนั้นอะไรเกิด มโนทวาราวัชชนจิต แต่ถ้าตื่นขึ้นมาเพราะเสียงดังๆ กระทบหู ขณะนั้นอะไรเกิดก่อน? ปัญจทวาราวัชชนจิต ทางไหน ทางโสตทวาร เพราะฉะนั้นชื่อโสตทวาราวัชชนจิตก็ได้ แต่ก็เป็นจิตประเภทปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง คือสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ แต่ทีละหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นทวารหนึ่งทวารใด ความเข้าใจนี้ก็จะเกื้อกูลต่อการที่ในภายหลังเมื่อมีกำลัง มีความเข้าใจที่มั่นคง สติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และสามารถที่จะรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม ที่เราทราบว่ารูปธรรมไม่รู้อะไร นามธรรมเป็นสภาพรู้ ก็จะค่อยๆ ชินกับความรู้ว่าทั้งหมดที่ปรากฏวันนี้ เพราะมีจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันแต่ว่าต่างประเภท เป็นประเภทที่เป็นอเหตุกจิตบ้าง สเหตุกจิตบ้าง ตามกาละที่เกิดขึ้น

    หตหสิตุปปาทจิต เป็นอีกหนึ่งประเภทซึ่งเป็นกิริยาจิตเฉพาะของพระอรหันต์ที่เป็นอเหตุกะ ตรงกับคำถามของคุณสุรีย์ที่ว่าบางครั้งกิริยาจิตก็มีทั้งอเหตุกะ และสเหตุกะ เพราะฉะนั้นสำหรับกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะนั้น จำได้เลยว่า มีดวงเดียว ปัญจทวาราวัชชนจิตก็มีกันทุกคน มโนทวาราวัชชนจิตก็มีกันทุกคน แต่อเหตุกะที่เป็นกิริยาจิตประเภทที่ ๓ หสิตุปปาทจิตเฉพาะพระอรหันต์ มีใครยิ้มได้ถ้าไม่มีจิต ไม่มี เพราะฉะนั้นแม้แต่ยิ้มต้องเกิดจากจิต ซึ่งจริงๆ แล้วก็ต้องประกอบด้วยโสมนัสเวทนา และการยิ้มก็มีหลายลักษณะตั้งแต่เพียงตาแจ่มใส มีความโสมนัสดีใจ โดยที่ยังไม่ปรากฏถึงกับจะเป็นอาการที่ให้คนอื่นรู้ได้ก็มี และก็เป็นการยิ้มที่เพียงแย้มด้วยจิตที่เบิกบาน อาการอย่างนั้นเคยมี หรือไม่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าก็มียิ้มหลายอย่างแต่ก็ต้องเกิดจากจิต

    ผู้ฟัง ก็ได้กล่าวว่าหสิตุปปาทจิตไม่มีเหตุที่เกิด ซึ่งในทีนี้ก็หมายถึงว่าเหตุ ๖ แต่ว่าการที่ท่านจะมียิ้มก็ต้องมีมีปัจจัยอะไรอย่างหนึ่งใช่ไหมที่ทำให้ท่านยิ้มได้

    ท่านอาจารย์ ปัจจัยนี้ไม่พ้นเลย ที่จะเกิดโดยไม่มีปัจจัยนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ที่เราค่อยๆ ศึกษาเพื่อที่เราจะได้เข้าใจ และก็จำไปในตัวโดยที่ว่าไม่ต้องท่อง เช่นภวังคจิตนี้ไม่มีอะไรปรากฏ เพราะนั้นก่อนที่จะมีอะไรปรากฏที่จะเห็น จะได้ยิน ก็ต้องมีจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรก และต่อไปเมื่อเราพูดถึงเรื่องของกิริยาจิตทั้ง ๓ พอเข้าใจแล้วก็จะได้รู้ว่าเวลาที่กรรมให้ผล ให้ผลเมื่อไร อย่างไร และการยิ้มก็จะต้องยิ้มเมื่อเห็นแล้วใช่ไหม ได้ยินแล้วด้วย เพราะฉะนั้นก็มาประกอบกัน แต่ต้องตามลำดับ ว่าเวลานี้เราพอที่จะเข้าใจได้จำได้ว่ากิริยาจิตที่เป็นอเหตุกกิริยา ไม่ใช่มีเพียง ๒ ดวงคือปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต ทุกคนมี ๒ จะเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมี แต่อเหตุกกิริยาประเภทสุดท้ายคือ ประเภทที่ ๓ คือหสิตุปปาทจิตมีเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น เพราะคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยิ้มด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิตแต่ไม่ใช่กิริยาจิตแน่นอน และกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ที่ทำให้ยิ้มก็ไม่ใช่เฉพาะหสิตุปปาทจิต เพราะสเหตุกกิริยาที่ประกอบด้วยโสมนัสที่เป็นกิริยาจิตก็เป็นเหตุให้ยิ้มด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่วิถีจิตจบลงที่โวฏฐัพพนวิถี ดิฉันมีความคิดว่าคือในขณะที่เกือบจะหลับแต่ยังไม่หลับ ลักษณะนี้

    ท่านอาจารย์ เวลานี้อยู่ชั้นอนุบาล กำลังอยู่ที่ภวังคจิตจะไม่รู้อะไร และเวลาที่อะไรจะปรากฏวันนี้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องมีวิถีจิตแรกซึ่งเป็นกิริยาจิตทางปัญจทวารคือปัญจทวาราวัชชนจิต ทางมโนทวารคือมโนทวาราวัชชนจิต ยังไม่ไปถึงตอนที่ผู้ถามกล่าว เพราะเรากำลังจะกล่าวถึงว่ากรรมให้ผล เพราะว่าถ้ากรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วเป็นภวังค์ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยใช่ไหม บุคคลที่เกิดในนรก เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดคั่น ยังไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เกิดเป็นอรูปพรหม เวลาที่อรูปาวจรวิบากทำปฏิสนธิกิจดับไปแล้ว อรูปาวจรวิบากที่เกิดต่อก็ทำภวังคกิจ ก็ไม่ได้มีการรู้อารมณ์ทางใจด้วย ถึงแม้จะเป็นรูปพรหม หรือเทวดาเหมือนกันหมด คือหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับอารมณ์ใดๆ ของโลกนี้ไม่ปรากฏ แล้วเมื่อเป็นภวังคจิตที่เกิดสืบต่อ อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏอีก แต่ว่าชีวิตจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ชีวิตจริงๆ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง ไม่มีใครรู้ว่าเป็นวิบากหลังจากที่ปัญจทวารวัชชนจิตดับลงไปแล้ว คือกรรมให้ผล ยังไม่ไปถึงตอนนั้น แต่ว่าจะกล่าวถึงตอนที่ว่าเวลากรรมให้ผล ถ้าเป็นอกุศลกรรม ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสมากน้อยเท่าใด จะฆ่าพระอรหันต์ จะประทุษร้ายพระผู้มีพระภาคให้พระโลหิตห้อ หรือว่าจะทำทุจริตกรรมต่างๆ ให้ผลเป็นอกุศลวิบากเพียง ๗ ประเภท เราจะรู้ได้เลยว่ากรรมใดๆ ทั้งหมด จะภพภูมิไหนๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรมแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก ๗ ประเภทเท่านั้น

    ผู้ฟัง การให้ผลเพียง ๗ ประเภทก็รู้สึกจะไม่เดือดร้อนเท่าไร นอกจากทุกข์ทางกาย

    ท่านอาจารย์ แล้ววันนี้เป็นทุกข์ หรือไม่ นอกจากทุกข์ทางกาย

    ผู้ฟัง ถ้าเห็นอะไรไม่ชอบก็เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของกรรม หรือไม่ เลือกได้ไหม เราจะมาถึงเรื่องวิบากก็ต้องรู้ว่าเมื่อไรเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นวิบาก และก็จะได้รู้ว่าวิบาก ๗ ดวง จริงๆ แล้วก็คือสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยรู้ว่าเกิดเพราะกรรมของเราเองทั้งหมด ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้วิบากจิตของใครเกิดได้ นอกจากกรรมที่บุคคลนั้นได้กระทำแล้วในอดีตเป็นปัจจัยซึ่งหลีกเลียงไม่ได้ กรรมมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นกรรมใดถึงกาละ สุกงอมพร้อมที่จะให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิด วิบากจิตที่เป็นผลก็ต้องเกิด โดยสำหรับคนที่มีตา ขณะที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต

    อ.กุลวิไล เหตุใดปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิตจึงเป็นชาติกิริยาที่เกิดก่อนวาระแรก และไม่ใช่เป็นจิตที่เป็นชาติวิบากที่รับผลของกรรมทันที

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิบากก็จะมีกุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์จึงไม่ใช่วิบาก และจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน นั่นเป็นกิจของวิบากจิตโดยตรง แต่ว่าสำหรับกิริยาจิตซึ่งเกิดก่อน เพียงจากภวังค์ เมื่อหมดกระแสภวังค์แล้ว การที่วิถีจิตจะรู้อารมณ์อื่น ตาบ้าง หูบ้าง ลิ้นบ้าง จมูกบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ต้องอาศัยทวาร ถ้าไม่มีทวารเช่นคนที่ไม่มีจักขุปสาท จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้เลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวารจึงไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยาจิต และรู้อารมณ์ได้ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ก็เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ แต่ถ้าไปถึงทวิปัญจวิญญาณจิตแล้ว แต่ละจิตก็รู้ได้เฉพาะอารมณ์ของตน

    ท่านอาจารย์ เช่น จักขุวิญญาณกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ จะได้ยินเสียงไม่ได้ คนละทวาร

    ผู้ฟัง สมมติว่าคนสองคนเดินไปพร้อมกัน ไปได้ยินเสียงด่า แต่คนๆ หนึ่งเกิดความทุกข์ อีกคนหนึ่งไม่ทุกข์ เสียงด่าเป็นวิบากที่เราเลือกไม่ได้ใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย หลังจากที่ได้ยินแล้วก็แล้วแต่ว่ากุศลจิตของบุคคลใดจะเกิด อกุศลจิตของบุคคลใดที่ไม่พอใจจะเกิด

    ผู้ฟัง นี้เป็นเหตุใหม่ใช่ หรือไม่ ไม่ใช่เป็นวิบาก

    อ.วิชัย ใช่ เป็นหลังจากได้ยินแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขอทบทวนเรื่องเหตุกับคุณรุ่งอรุณแทนคนอื่นด้วย เสียงเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ

    ผู้ฟัง เสียงเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นอเหตุกะ เสียงเป็นเหตุ หรือนเหตุ

    ผู้ฟัง เป็นนเหตุ

    ท่านอาจารย์ ได้ยิน หมายความถึงโสตวิญญาณ เป็นนเหตุ หรือเหตุ

    ผู้ฟัง เป็นนเหตุ

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นจิต เป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นได้ ๒ ประเภท

    ท่านอาจารย์ จิตได้ยิน

    ผู้ฟัง เป็นอเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วย ก็ต้องเป็นอเหตุกะ เวลาได้ยินแล้วโกรธ ไม่ชอบ จิตที่มีโทสะเกิดร่วมด้วยเป็นนเหตุ หรือเหตุ

    ผู้ฟัง จิตเป็นนเหตุ

    ท่านอาจารย์ โทสมูลจิตคือจิตที่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ เป็นสเหตุกะ โทสเจตสิกเกิดกับโทสมูลจิตเป็นเหตุ หรือเป็นนเหตุ

    ผู้ฟัง เป็นเหตุ

    ท่านอาจารย์ เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นสเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ เพราะ

    ผู้ฟัง เพราะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโทสมูลเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตเป็นสเหตุกะ เป็นทั้งเหตุ และเป็นสเหตุกะ เพราะว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเราจะทบทวนกลับไปได้หมดเลยไม่ว่าเราจะพูดถึงอะไร แต่ว่าถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าเรารู้ธรรม หรือว่าเราฟังธรรม และเราฟังเพื่อเข้าใจธรรม กล่าวเช่นนี้ก็จะเห็นได้กว่าที่เราจะมีความเข้าใจจนถึงไม่เป็นอนุบาล ก็คือสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ จากการที่ได้ฟัง และมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าปัญญาของเราที่กำลังฟังเทียบไม่ได้กับผู้ที่ได้รู้แจ้งสภาพธรรม และได้ทรงแสดงธรรมให้เราฟังอย่างที่เรากำลังได้ฟัง เพราะฉะนั้นจะเป็นผู้ที่พอใจในความเป็นอนุบาล เพราะว่าจะต้องมีการไตร่ตรองพระธรรมด้วยความละเอียด เพื่อที่ได้จะรักษาคุ้มครองให้เราได้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก และรู้จุดประสงค์ของการศึกษาจริงๆ ว่า เพื่อที่จะได้รู้แจ้งความจริงของธรรมที่เราได้ฟังด้วยการประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงฟังแต่ชื่อเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่เข้าใจผิดว่าอนุบาลก็คือชั้นเรียนซึ่งคุณสุรีย์จะใช้คำว่าเตี้ยๆ หรือต่ำๆ หรือว่าต้นๆ แต่ก็เป็นผู้ที่ตรงต่อความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะต้องมีการคุ้มครองตัวเองด้วยการฟังให้เข้าใจ จุดประสงค์จริงๆ ให้เข้าใจถูก ให้เห็นถูกว่าที่กำลังศึกษา ที่กำลังฟังก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ฟังเท่าไรๆ เมื่อไรๆ จะรู้ความจริงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง เมื่อนั้นก็จะพ้นจากความเป็นอนุบาล แต่ว่าถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ ก็ต้องเป็นอนุบาลไปด้วยความมั่นคงจริงๆ ที่จะเข้าใจว่าไม่ได้ต้องการอย่างอื่นเลยทุกชาติที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เพื่อที่จะได้เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นก็ขอพูดถึงเรื่องเหตุ ก่อนที่เราจะได้ฟังธรรม ไม่รู้อะไรเลย ใช่ไหม แต่ก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นเหตุที่ทำให้เราเป็นอย่างนี้ หรือว่าเพราะเราเห็นสิ่งที่ไม่ดี ใจของเราก็ขุ่นมัว หรือเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง ใจของเราก็ขุ่นเคือง เมื่อได้ยินเสียงที่น่าฟัง มีเรื่องมีราวในชีวิตประจำวัน เราก็เข้าใจว่านั่นเป็นเหตุที่ทำให้เรามีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง แต่นั่นโดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงมีความเข้าใจในเรื่องตัวตน ในเรื่องเรา และในเรื่องเหตุ โดยการคิดเอาเองว่าสิ่งนั้นก็เป็นเหตุ สิ่งนี้ก็เป็นเหตุ แต่จริงๆ ก็ถูกต้อง ถ้าได้ฟังว่าทุกอย่างต้องมีเหตุ และเหตุไม่ได้หมายเฉพาะแต่เหตุเจตสิก ๖ แม้อวิชชาก็เป็นสาธารณะเหตุ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราฟังธรรม ต้องฟังให้รู้ว่าขณะนี้เรากำลังฟังตรงไหน เรื่องอะไร ถ้าเราจะฟังเรื่องเหตุเจตสิก ๖ ก็หมายความว่าขณะนี้เราไม่ได้พูดถึงอื่น อุดมเหตุคือกรรม ทุกอย่างแล้วแต่กรรม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย วิบากทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เห็นก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี ได้กลิ่นก็ไม่มี เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง และรู้ว่ากำลังพูดเรื่องอะไร เช่น พูดเรื่องเหตุปัจจัย

    ถ้าใช้คำว่าเหตุปัจจัย ทุกอย่างเป็นปัจจัย แต่ปัจจัยโดยความเป็นเหตุมี ๖ ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ๖ และก็ได้ฟังกันมาจนกระทั่งถึงเหตุกับนเหตุ อเหตุกะกับสเหตุกะ ซึ่งก็คงจะไม่มีใครที่บอกว่าไม่รู้จัก ๔ คำนี้แล้วใช่ หรือไม่ มีใครที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก หรือลืมไปแล้วว่า๔ คำนี้คืออะไร ถ้าลืมก็ทบทวนกันอีกว่าเมื่อเจตสิกที่เป็นเหตุมี ๖ สภาพธรรมอื่นที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดเลยไม่ใช่เหตุ จิตเป็นเหตุ หรือไม่ จิตไม่เป็นเหตุ เจตสิกเป็นเหตุ หรือไม่ เจตสิก ๖ เป็นเหตุ เจตสิกอื่นไม่ใช่เหตุ รูปเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ นิพพานเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ สำหรับ สเหตุกะกับอเหตุกะซึ่งไม่ยาก เพราะอเหตุกะหมายถึงสภาพธรรมใดๆ ทั้งหมดที่ไม่มีเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยเป็นอเหตุกะ นอกจากนั้นแล้วเป็นสเหตุกะ ต้องมีเหตุ ๑ หรือ๒เหตุ หรือ๓เหตุ คือเหตุ ๖นั่นเองเกิดร่วมด้วยจึงจะเป็นสเหตุกะ ก็คงจะไม่ลืมใช่ไหม

    ครั้งก่อนเราก็ได้กล่าวถึงเรื่องของการที่เราจะรู้เหตุในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างต้องมาจากสิ่งที่มีจริงๆ และก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้าธรรมที่เราได้เรียนไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะเข้าใจในขณะที่เป็นชีวิตประจำวันได้ เราจะเข้าใจธรรมได้ไหม หรือว่าเราเพียงแต่จำชื่อว่าชื่อนี้หมายความว่าอย่างนั้น แต่เวลาที่สภาพธรรมจริงๆ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราไม่รู้เลยว่าที่เราเรียนมาทั้งหมด เป็นสิ่งที่เราได้ฟังมาแล้วเมื่อไร เพราะฉะนั้นเราจึงได้เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิตซึ่งดับไปแล้ว ก็ไม่มีการที่จะเข้าใจอะไรได้ แต่ว่าทรงแสดงไว้ แต่ขณะนี้เรายังไม่กล่าวถึง ก็กล่าวถึงเฉพาะวันหนึ่งๆ ซึ่งเรานอนหลับสนิท ต้องมีจิต ประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ คือธรรมเป็นเรื่องไตร่ตรอง สามารถที่จะเข้าใจได้ถึงความหลากหลายของคนที่เกิดมา คนที่เกิดมาพิการตั้งแต่กำเนิดก็มี สติปัญญาอ่อนก็มี หรือเป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี หรือว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาแต่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มั่งคั่งเพียบพร้อมสมบูรณ์ก็มี

    เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเป็นอย่างไร ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อดำรงภพชาติในขณะที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นภวังค์ก็เหมือนกับปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต ถ้ากรรมนั้นเป็นอกุศลกรรมทำให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ ไม่ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ดี หรือไม่ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมให้ผลนี้แน่นอน แล้วเวลาที่กรรมนั้นครบสมบูรณ์พร้อมถึงกาละที่จะให้ผล ถ้าจุติจิตขณะสุดท้ายจากโลกนี้ดับแล้ว อกุศลกรรมให้ผล ทำให้อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ไม่ต้องมีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วให้ผลด้วยกำลังของกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นสำหรับอกุศลกรรม เวลาที่ให้ผลเป็นปฏิสนธิจิต ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพราะว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย และไม่มีโลภะ โทสะ โมหะซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุว่า โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขณะใดเป็นอกุศลขณะนั้น จะเป็นชาติอื่นไม่ได้ ต้องเป็นอกุศลชาติเดียว เป็นวิบากก็ไม่ได้ เป็นกิริยาก็ไม่ได้ เป็นกุศลก็ไม่ได้ เป็นได้เฉพาะอกุศล

    เพราะฉะนั้นเห็นกำลังของกรรม หรือไม่ กรรมที่ทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมที่แรงร้ายขนาดไหน แต่เวลาที่ให้ผล ให้ผลเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง และจิตที่ทำกิจปฏิสนธิไม่พ้นจากอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้นต่อไปก็จะทราบได้ว่าอกุศลวิบากจิต ๗ ประเภทไหนทำกิจปฏิสนธิ แต่ว่าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เกิดเป็นสัตว์ตัวใหญ่ๆ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตของช้างมีเหตุเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ไม่มี ของมด ของนก ของเต่า ของปลา เหมือนกันหมด เราอาจจะคิดว่าอกุศลกรรมไม่ว่าจะร้ายแรงมากมายสักเท่าไรก็ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ แต่ถึงแม้เพียง ๗ ก็มีความหลากหลายตามกรรมที่ได้กระทำ เช่น เหตุใดเกิดเป็นมดตัวเล็ก เหตุใดเกิดเป็นช้างตัวใหญ่ มีใครจะตอบไหม

    อ.อรรณพ เมื่อวานก็ได้สนทนากันว่า ความวิจิตรของกรรมมีที่จะให้ผลหลากหลายกันไป ที่จะทำให้แม้ว่าจะปฏิสนธิด้วยจิตประเภทเดียวกัน แต่ความแตกต่างกันของอัตภาพก็หลากหลาย มีอัตภาพใหญ่บ้าง เล็กบ้าง อัตภาพที่มองเห็นด้วยตามนุษย์ หรือเป็นพวกเปรต อสูรกายที่อาจจะมองไม่เห็นโดยปกติ หรือจะเป็นสัตว์เดรัจฉานที่แตกต่างหลากหลายกันไปก็ด้วยความวิจิตรของกรรมที่ทำให้มีรูปร่างน่าดู และไม่น่าดู แตกต่างกันไป แต่โดยผลของกรรมแล้ว จิตนี้เป็นผลของอกุศลกรรม เป็นจิตชาติวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ และเมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ต้องเป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ชาตินี้แม้แต่เป็นคนก็ยังไม่เหมือนกัน เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยิ่งต่างกันไปมาก พวกเปรตอีก พวกสัตว์ในนรกอีก แล้วอีกไม่นานก็จะจากโลกนี้ กรรมที่ได้กระทำแล้วก็จะทำให้มีรูปซึ่งใครก็เดาไม่ได้ใช่ หรือไม่ รูปของแต่ละท่านในภพหน้า ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    19 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ