พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58


    ตอนที่ ๕๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตเป็นเหตุ หรือ นเหตุ

    ท่านอาจารย์ เป็นนเหตุ เพราะไม่ใช่เหตุ เจตนาเจตสิกจะเป็นเหตุไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับโมหมูลจิตเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ จะแยกเจตนาที่เกิดกับโมหมูลจิตออกไปให้ไม่เกิดร่วมกับโมหเจตสิกไม่ได้ โมหเจตสิกเกิดร่วมกับโมหมูลจิต ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดร่วมกับเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกก็เช่นเดียวกับผัสสเจตสิก เช่นเดียวกับสัญญาเจตสิก ที่เกิดกับโมหมูลจิตซึ่งต้องเกิดร่วมกับโมหเจตสิก

    ผู้ฟัง อย่างนั้นจะกล่าวได้ หรือไม่ว่า เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตเป็นนเหตุ และเป็นสเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง กล่าวถึงเจตนาเจตสิกจะรวมถึงเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดร่วมกับจิตด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าเจตสิกจะมีจำนวนเท่าไรก็ตาม ที่เกิดกับจิตใดก็ตาม แล้วก็มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย จิต และเจตสิกอื่นที่ไม่ใช่เหตุก็จะต้องมีเหตุนั้นเกิดด้วย ไม่ใช่แยกเหตุออกไปต่างหาก เพราะว่าโมหเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นสำหรับตัวจิตนี้เป็นสเหตุกะ เพราะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เวลากล่าวถึงเจตสิกอื่น ก็มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเจตสิกอื่นที่เกิดกับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นสเหตุกะ หรือถ้าแยกเฉพาะเจตสิกคือไม่กล่าวถึงจิตใดๆ เจตสิกใดก็ตามที่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย เจตสิกนั้นก็เป็นสเหตุกะ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาถึงเจตสิกอื่นๆ เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับอกุศลจิตคือโมหมูลจิต

    พิจารณาถึงเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับโมหมูลจิต ก็จะดูว่าเจตสิกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เหตุเกิดร่วมกับเหตุ และตัวเหตุก็เกิดร่วมกับเจตสิกอื่น แต่ว่าตัวเหตุคือโมหะเหตุ เพราะเหตุว่าโมหมูลจิตมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว ไม่มีโลภเจตสิก ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นโมหมูลจิตก็จะมีโมหเหตุเพียงเหตุเดียวเรียกว่าเอกเหตุ เพราะฉะนั้นโมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตจะไม่มีเหตุอื่นมาเกิดร่วมด้วย โมหเจตสิกเป็นเหตุเดียวที่เกิดกับจิตนั้นเป็นโมหมูลจิต เพราะว่ามีเหตุๆ เดียว เพราะฉะนั้นตัวโมหเจตสิกเป็นอเหตุกะ เพราะว่าเจตสิกใดๆ ก็ตามที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เจตสิกนั้นเป็นอเหตุกะ เมื่อโมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิต ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย โมหเจตสิกนั้นจึงเป็นอเหตุกะ แต่ถ้าเป็นเจตสิกอื่น เช่น ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตตินทรีย์ มนสิการ เจตสิกอื่นที่ไม่ใช่เหตุมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่โมหมูลจิตเกิด เพราะฉะนั้นเจตสิกอื่นเป็นสเหตุกะ เพราะเหตุว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือแยกจิตกับเจตสิก

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์บอกว่ามีประโยชน์ไหมที่รู้เรื่องนี้ ขอทราบประโยชน์ด้วย

    ท่านอาจารย์ รู้ความต่างว่าจิตมีหลายประเภท ไม่ใช่มีจิตประเภทเดียว และถ้าเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็จะทำให้ไม่มั่นคงที่จะสืบต่อไปอีกยาวนานที่จะทำให้เกิดผล เพราะว่าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภเจตสิก ไม่มีโทสเจตสิกเกิด คิดถึงสภาพของจิต ไม่มีโมหเจตสิกเกิด ขณะนั้นเป็นโสภณถ้ามีเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเราก็อาจจะเข้าใจไปตามลำดับได้ว่า เราอาจจะกล่าวถึงโดยโสภณ และอโสภณง่ายมากคือว่า จิตใดก็ตามที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นโสภณจิต ถือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะว่าตัวจิตเป็นปัณฑระ ตัวจิตไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นกุศล และอกุศล นอกจากจะมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามจิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นโสภณจิต และจิตใดก็ตามที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นอโสภณทั้งหมด ไม่ยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตาม

    ผู้ฟัง วันๆ รู้สึกจะเป็นอโสภณ

    ท่านอาจารย์ กำลังนั่งอยู่ และกำลังเข้าใจ เป็นโสภณ ขณะใดที่กำลังเข้าใจ

    ผู้ฟัง คงไม่มาก เพราะบางอย่างมานะเข้ามาอยู่ในนี้ เช่น "นี่เรารู้นะ เรารู้" มานะก็เกิด

    ท่านอาจารย์ นี่คือประโยชน์มหาศาลที่จะเห็นมานะ เพราะว่ามานะนี้เห็นยาก เราจะเห็นมานะหยาบๆ ส่วนมานะละเอียดอรหัตตมรรคจึงละ และของเรานี้ละเอียดถึงระดับนั้น หรือไม่ ยังไม่ถึง แต่ก็ยังพอเห็นได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจุดประสงค์คือ เข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เรียนแล้วก็จำโดยที่ไม่เข้าใจในเหตุผล หรือลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความเป็นธรรมยิ่งขึ้นว่าหลากหลาย มีทั้งจิตที่ประกอบด้วยเหตุ และมีทั้งจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และก็มีจิตที่ประกอบด้วยโสภณเหตุ ต่อไปก็จะทราบมากขึ้นในเรื่องของความเป็นอนัตตาของธรรม

    ผู้ฟัง โมหเจตสิกจะเป็นนเหตุคือไม่มีเหตุ

    ท่านอาจารย์ ไม่ถูกต้อง โมหเจตสิกจะเป็นนเหตุไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นเหตุ ปรมัตถธรรมทั้งหมด พูดถึงสภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ เจตสิกคือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ โมหะไม่มีทางจะเป็นนเหตุ โลภะก็ไม่มีทางเป็นนเหตุ โทสะก็ไม่มีทางเป็นนเหตุ เพราะเขาเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นเหตุจะคู่กับนเหตุ สภาพธรรมที่เป็นเหตุ กับสภาพธรรมที่ไม่ใช่เหตุ ถ้าสภาพธรรมที่ไม่ใช่เหตุก็เป็นนเหตุ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเกิดเป็นโมหมูลจิตก็จะมีสเหตุกะเกิดร่วมด้วยใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ โมหมูลจิตมีเหตุเกิดร่วมด้วย หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เหตุนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง โมหเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโมหมูลจิตเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นสเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ คำถามจากคุณจรัลจากสิงคโปร์ คือถามถึงเรื่องของเหตุว่า เรากล่าวกันถึงเรื่องกุศลเหตุ และอกุศลเหตุ จะพูดเรื่องอัพยากตเหตุด้วยได้ไหม เพราะเหตุว่าทรงจำแนกหลายนัย เช่น ถ้ากล่าวถึงธรรมโดยนัย ๓ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม กุศลธรรมต้องเป็นกุศลคือเป็นเหตุที่จะให้เป็นกุศลกรรมเกิดผลเป็นกุศลวิบาก อกุศลกรรม หรืออกุศลธรรม หรือเรียกว่า อกุศลจิตก็ได้ ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ดีที่จะให้เกิดอกุศลวิบาก สำหรับธรรมอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่กุศล และอกุศลเป็นอัพยากต นี้เป็นการแสดงธรรมทั้งหมดคือเป็นปรมัตถธรรมโดยอีกนัยหนึ่ง คือจากประเภท เป็นหมวด ๓ คือได้แก่ กุศลธรรม ๑ อกุศลธรรม ๑ และอัพยากตธรรม ๑ เพราะฉะนั้นก็จะจำแนกได้ว่า ธรรมที่เป็นอกุศล เช่น อกุศลเหตุซึ่งเกิดกับอกุศลจิต ทำให้จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันทั้งหมดเป็นอกุศล นั่นก็คือ อกุศลธรรม และสำหรับกุศลธรรมก็ได้แก่โสภณเจตสิก คือ เจตสิกฝ่ายดีที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล เพราะฉะนั้นจึงทำให้จิตนั้นเป็นกุศลธรรม รวมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมกันทั้งหมดก็เป็นกุศลธรรมด้วย เช่น ผัสสเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นอกุศล ผัสสเจตสิกที่เกิดกับกุศลเป็นกุศล เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามีสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เกิดได้ทั้งกับจิตที่เป็นกุศล และจิตที่เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับกุศลซึ่งเป็นเหตุก็เป็นกุศล สำหรับธรรมอื่นนอกจากนี้เป็นอัพยากต เพราะฉะนั้นวิบากจิต ชาติ ๔ ที่เราเรียนแล้ว วิบากจิต กิริยาจิต วิบากเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิบากจิต กิริยาเจตสิกที่เกิดร่วมกับกิริยาจิต เพราะว่าจิตเป็นอย่างไร เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต้องเป็นอย่างนั้น จิตเป็นกุศล จะให้อกุศลเจตสิก หรือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นอกุศลไม่ได้ จิตเป็นวิบากจะให้เจตสิกที่เป็นกุศลที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นอย่างไรโดยปัจจัย กัมมปัจจัยก็ทำให้ทั้งจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นวิบากทั้งจิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นสำหรับธรรมอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่กุศล และอกุศลเป็นอัพยากต ถ้ากล่าวถึงจิต วิบากจิต และวิบากเจตสิก กิริยาจิต และกิริยาเจตสิกเป็นอัพยากต เพราะไม่ใช่กุศล และอกุศล เมื่อจัดประเภทเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ธรรมใดที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล เป็นอัพยากตทั้งหมด นี่กล่าวถึงจิต และเจตสิก

    รูปเป็นกุศลได้ หรือไม่ ไม่ได้ เป็นอกุศลได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นรูปเป็นอัพยากต นิพพานเป็นกุศลได้ หรือไม่?ไม่ได้ เป็นอกุศลได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นนิพพานก็เป็นอัพยากต เพราะฉะนั้นที่ถามว่าเหตุเป็นอัพยากตมี หรือไม่ ก็คือเหตุเจตสิกที่เกิดกับอกุศล คืออกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลธรรม โสภณเจตสิกที่เป็นเหตุที่เป็นโสภณเกิดกับกุศลก็เป็นกุศลธรรม นอกจากนั้นแล้วจิต และเจตสิกก็เป็นอัพยากตธรรม

    ด้วยเหตุนี้ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิตเป็นกุศล แต่อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกที่เกิดกับวิบากก็เป็นวิบาก และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ที่เกิดกับกิริยาก็เป็นอัพยากต ด้วยเหตุนี้ เหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ และเป็นกิริยาก็ได้ ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล มีเจตสิกที่เป็นเหตุก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นวิบาก หรือกิริยา เจตสิกที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอัพยากต

    ถ้าจำกุศล และอกุศลได้ และก็รู้ว่าธรรมอื่นใดที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล เป็นอัพยากตทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็รวมทั้งเจตสิกฝ่ายดีซึ่งเป็นได้ทั้งกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา ขณะใดที่เป็นกุศลก็ไม่ใช่อัพยากต แต่ขณะใดที่เป็นวิบาก กิริยา ซึ่งไม่ใช่กุศลก็ต้องเป็นอัพยากต

    สำหรับอกุศลเจตสิกเป็นอัพยากตไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดแล้วต้องเป็นอกุศลทุกครั้ง เพราะฉะนั้นสำหรับอกุศลเจตสิกไม่เป็นอัพยากต แต่สำหรับโสภณเจตสิกที่เกิดกับวิบาก และกิริยาเป็นอัพยากต ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของผมคำว่า “มูลจิต” คือจิตที่มีเจตสิกอื่นมาเป็นมูล หรือมาเป็นเหตุ เช่น โมหะมาร่วมกับโลภะ เรียกว่าโลภมูลจิต ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าไม่มีเหตุก็เป็นกุศลไม่ได้ เป็นอกุศลไม่ได้ ถ้าเกิดกับวิบากก็ไม่ใช่กุศล ถ้าเกิดกับกิริยาก็ไม่ใช่กุศล

    ผู้ฟัง นเหตุเป็นอเหตุกะได้ หรือไม่

    อ.วิชัย ก็ต้องเข้าใจว่า นเหตุไม่ใช่เหตุ เพราะเหตุว่าเราไม่ได้กล่าวถึง สัตว์ บุคคลต่างๆ แต่เรากล่าวถึงเรื่องของปรมัตถธรรม ถ้ากล่าวถึง “นเหตุ” ก็หมายถึง ต้องเป็นธรรมสิ่งที่มีจริงๆ ที่ไม่ใช่เหตุ โลภเหตุเป็นอเหตุกะได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องมีโมหเหตุเกิดร่วมด้วย โทสเหตุเป็นอเหตุกะได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องมีโมหเหตุเกิดร่วมด้วย โมหเหตุเป็นอเหตุกะได้ หรือไม่ ได้ และก็ไม่ได้ด้วย ถ้าโมหเหตุเกิดกับโลภะ หรือว่าโทสะจะเป็นอเหตุกะไม่ได้ แต่ถ้าเกิดกับโมหมูลจิตก็เป็นอเหตุกะเพราะเหตุว่าไม่มีเหตุเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นโสภณเหตุ อโลภเหตุเป็นอเหตุกได้ หรือไม่ ไม่ได้ ต้องมีอโทสเหตุเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขณะเมื่ออโลภะเกิดขึ้น อโทสะก็เช่นเดียวกัน อโมหะก็เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดขึ้นเมื่อใดต้องมีเหตุเจตสิกที่เป็นโสภณเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ก็ไม่ยากเลย เพราะเหตุว่าคำว่า “เหตุ” ก็แสดงชัดอยู่แล้วว่าได้แก่เจตสิก ๖ ธรรมทั้งหมดไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเข้าใจว่าเจตสิก ๖ เป็นเหตุ ธรรมอื่นทั้งหมดเป็นนเหตุ คือไม่ใช่เหตุ สิ่งนี้ก็เป็นหลักที่จะทำให้เราเข้าใจความหมาย เมื่อเราเข้าใจความหมายแล้วเราก็สามารถจะคิดได้ ไม่ว่าคำถามนั้นจะเป็นคำถามอย่างไรก็ตามก็สามารถที่จะคิดได้ ก็มีอีกสองคำเหมือนกัน ก็คือสเหตุกะ นี่ไม่ใช่เหตุกับนเหตุ แต่หมายถึงสภาพธรรมที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงใช้คำว่าสเหตุกะ และถ้าสภาพธรรมใดไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมนั้นก็เป็นอเหตุกะ ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงจะไม่สับสน ไม่ว่าคำถามนั้นจะถามอย่างไร กลับไปกลับมาอย่างไร เช่น นเหตุเป็นอเหตุกะได้ไหม เราก็ต้องคิดว่า นเหตุมีอะไรบ้าง จิตไม่ใช่เจตสิก ๖ เป็นนเหตุ เพราะฉะนั้นจิตจะมีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยได้ไหม เวลาที่จิตเกิดร่วมกับโลภะ จิตนั้นก็เป็นสเหตุกะ เกิดร่วมกับโทสะก็เป็นสเหตุกะ เกิดร่วมกับโมหะก็เป็นสเหตุกะ เกิดร่วมกับฝ่ายโสภณเหตุก็เป็นสเหตุกะ คือค่อยๆ คิด ค่อยๆ ไตร่ตรองก็จะไม่สับสนนี่เป็นเรื่องของจิต แต่ถ้าจิตขณะใดไม่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็เป็นอเหตุกะ พอพ้นเรื่องจิตไปก็คิดเรื่องเจตสิกอีกก็ได้ใช่ หรือไม่ ก็ค่อยๆ เข้าใจไป

    ขณะนี้ทุกคนกำลังเดินทาง หรือนั่งอยู่ที่นี่ จิตแต่ละขณะเกิดแล้วดับไม่ยั่งยืนเลย เกิดขึ้นอีกก็ดับอีก แล้วก็จิตหนึ่งขณะก็ต้องมีอารมณ์เฉพาะของตนๆ ด้วย ขณะที่กำลังศึกษา เราก็อาจจะคิดไตร่ตรองได้หลายอย่าง ถ้าเราทราบว่าเรากำลังศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏให้มีความเข้าใจในสิ่งนั้น เพราะผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่สิ่งนี้ยังไม่เป็นกับเรา เพราะฉะนั้นเราเริ่มตั้งแต่การฟังในเหตุในผล เพื่อที่จะเข้าใจขึ้นถึงความหมายของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วมีสภาพธรรมที่เกิดดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วโดยไม่รู้ก็กลับคืนมาไม่ได้ สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ก็เกิดดับ ถ้ายังไม่รู้อีกก็ผ่านไปอีก แต่ก็ยังมีสิ่งที่จะเกิดแล้วก็ดับข้างหน้า ซึ่งขณะนี้จิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับเหมือนเดินทางไปสู่ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตั้งแต่ขั้นฟัง ถ้าไม่มีขั้นฟัง ไม่มีทางที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา แม้จะกล่าวว่าขณะนี้มี จิต แต่ถ้าไม่อาศัยแต่ละขณะที่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในเรื่องของจิต แต่ถ้าใครอื่นจะกล่าวว่าจิตเป็นอนัตตา แต่สำหรับผู้ที่ปัญญาไม่ถึงระดับนั้นก็จะต้องเห็นว่าจิตเป็นอัตตา หรือยังเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ทราบจุดหมายปลายทางที่เราได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม ก็เพื่อวันหนึ่งจะถึงการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้จริงๆ โดยอาศัยการที่ค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ ให้รู้ว่าเป็นธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยประการต่างๆ

    ได้สนทนากับท่านผู้หนึ่งเป็นชาวอเมริกันที่อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย เขาศึกษาอภิธรรมมากทีเดียว แต่ว่าในที่สุดเมื่อได้สนทนาธรรมเสร็จแล้ว ก็ถามคำถามซึ่งเขาไม่เคยคิด ถามว่า “ธรรมอยู่ที่ไหน ” เขาเรียนเรื่องจิตประเภทต่างๆ เรียนเรื่องเจตสิก เรียนเรื่องอะไรทั้งหมด แต่ถามว่าธรรมทั้งหมดที่เขาเรียนมีจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหน ถ้าศึกษาเพียงตัวหนังสือจะไม่ทราบเลย ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ทุกขณะเป็นธรรมทั้งหมด ถ้ามีความเข้าใจ เขาก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่เขาเรียนกำลังเรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ แต่ว่าเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งกว่าจะเกิดก็ต้องอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟังเข้าใจ เพราะว่าถ้าไม่มีการฟังเข้าใจเลยสักนิดเดียวที่จะไปประจักษ์แจ้งว่าเห็นขณะนี้เกิดแล้วดับ แล้วไม่ใช่เรา เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ซึ่งต่างกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งเราจะได้ยินตลอดเวลา

    เป็นการค่อยๆ น้อมไปด้วยความเข้าใจ แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นเราที่พยายามสุดขีดที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อที่จะให้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพของธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมที่ประจักษ์แจ้งไม่ใช่เรา เป็นโสภณธรรมเป็นปัญญาเจตสิก เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ ตรง ค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้น ที่จะรู้ว่าขณะนี้เองที่กำลังฟัง ถ้ามีความเข้าใจเพียงพอ สติสัมปชัญญะเกิดได้ เพราะว่าสิ่งนี้มี กำลังมีอยู่

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าถ้าขณะใดที่หลงลืมสติ สติสัมปชัญญะไม่เกิด คือไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม หรือไม่รู้ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ขณะนั้นก็เหมือนล่องลอยอยู่ในทะเลชื่อ เพราะเหตุว่าจากขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แล้วมีสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้ เหมือนวันนี้ หรือวันก่อนๆ ก็ตามแต่ เราลอยอยู่ในทะเลชื่อนานเท่าไร จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจจริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งหมดที่เราเคยทรงจำไว้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ และก็คิดไปต่างๆ นาๆ เรื่องสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็คือชั่วขณะที่ไม่ใช่ภวังคจิต นี่คือความต่างกันของจิตที่เป็นภวังค์คือขณะที่ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นขณะนี้ "เห็น" ต้องไม่ใช่ภวังคจิต แต่ว่าไม่รู้ความจริง ก็จะเข้าใจความหมายของอวิชชา โอฆะ ห้วงน้ำใหญ่คืออวิชชา มิฉะนั้นก็เป็นเพียงชื่อ กามโอฆะ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยึดมั่นในกาม เป็นห้วงน้ำที่กว้างใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีอวิชชา อย่างอื่นก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกคนกำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจากขั้นการฟัง การไตร่ตรอง แล้วก็ทรงแสดงอนุเคราะห์โดยประการทั้งปวง แม้แต่จิต ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้มีจิตหลายชาติ คือมีทั้งกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต ถ้าไม่เรียนเราจะตอบได้อย่างนี้ หรือไม่ว่าจิตขณะนี้มีหลายชาติ กุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี วิบากจิตก็มี กิริยาจิตก็มี ถ้าไม่เรียนเราก็พูดถึงกุศล อกุศล และก็พูดถึงวิบาก แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร แต่ถ้าศึกษาแล้วก็มีความตรงที่จะรู้ว่าที่วิบากไม่ใช่เราก็เป็นเพราะเหตุว่าวิบากเป็นผลของกรรม กรรมคือการกระทำซึ่งมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    19 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ