พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56


    ตอนที่ ๕๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ จะมีใครที่จะผ่านภูมินี้ไปได้ หรือไม่ ไปถึงรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต โดยที่ไม่เป็นกามาวจรจิต ได้ไหม ไม่ได้ จะผ่านเมื่อไร หวังได้ หรือไม่ว่าเราซึ่งมีภูมิที่เกิดเป็นกามภูมิ ๑๑ ภูมิก็จะต้องวนเวียนอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อไรจะเป็นรูปาวจรจิต เป็นได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะว่ายาก ต้องมีปัญญาระดับที่ไม่ใช่เพียงขั้นทาน ขั้นศีล ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะมากมาย จนกว่าจะถึงระดับของรูปาวจรจิตซึ่งเรียกว่าฌาณจิตหมายความว่า เป็นจิตที่เผา หรือ ละอกุศลได้ระดับหนึ่ง คือ ชั่วขณะที่ฌาณจิตเกิด แต่ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุทเฉท เพราะฉะนั้น จะถึง หรือไม่ หรือว่าอยู่ที่นี่ อยู่ที่กามาวจรจิต กามภูมิ ๑๑ แล้วแต่ว่าจะเกิดบนสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด หรือเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเลือกไม่ได้แล้วแต่กรรม ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าระดับของความคิด ความเข้าใจ และการอบรมจะต่างกัน

    ผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็เห็นโทษของกิเลส แต่ไม่มีปัญญาถึงการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ที่จะทำได้อย่างมากก็คือ รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล และกุศลนั้นอาศัยอะไรเป็นอารมณ์ แล้วก็ตรึกนึกถึงอารมณ์ที่ทำให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ จนกระทั่งความสงบตั้งมั่น มั่นคง เมื่อเกิดนิวรณธรรมคือไม่ว่าความยินดีพอใจในรูปในเสียงซึ่งห้ามไม่ได้ เช่น เวลาที่เราฟังธรรม เราห้ามจิตได้ไหม ขณะหนึ่งนึกถึงเรื่องโน้น อีกสักครู่ก็นึกถึงเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่กำลังฟังธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นกุศลจิตอยู่ อกุศลจิตก็เกิดขึ้นได้ถ้ามีปัจจัย เพราะฉะนั้นผู้ที่กำลังระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ก็ยังมีวาระซึ่งมีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดแทรก แล้วแต่ว่าจะเป็นการคิดถึงรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะด้วยความพอใจ เป็นกามฉันทะ หรือว่าระลึกด้วยความขุ่นเคือง โกรธใครไว้แต่ไม่ได้ตั้งใจจะคิด ไม่ได้ตั้งใจจะนึกถึง แต่ก็เกิดคิดขึ้นแม้แต่ในขณะที่กำลังอบรมเจริญความสงบของจิต

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง แต่แม้ว่าจะอบรมปัญญาขั้นนี้จนกระทั่งถึงความสงบของจิตที่เป็นอุปจารสมาธิ ใกล้ต่อการที่จะถึงความแนบแน่นในอารมณ์ที่เป็นอัปปนาสมาธิ หรือแม้ว่าจะถึงฌาณจิตแล้วเพียงหนึ่งขณะก็ต้องอบรมอีกมากกว่าจะคล่องแคล่ว กว่าจะเกิดได้จากปฐมฌาณ ถึงทุติยฌาณ ฌาณที่สอง ละวิตก วิจาร ไปถึงฌาณที่สาม ที่สี่ ที่ห้า จนถึงละรูปอารมณ์ไปถึงอรูปฌาณเป็นอารมณ์ ก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่าไม่ใช่หนทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ยังมีความเป็นเราที่ถึงคุณธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าเรื่องของการที่จะเจริญกุศล ยาก ไม่ใช่ง่าย

    เพราะฉะนั้นอกุศลจึงไม่เกิดเป็นภูมิอื่น นอกจากเป็นกามภูมิเท่านั้น อกุศลจะไปเป็นรูปาวจรภูมิ เป็นรูปาวจรจิตไม่ได้ เป็นอรูปาวจรจิตไม่ได้ เป็นโลกุตตรจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นระดับของจิตที่เป็นอกุศลก็อยู่ได้ในขั้นของกามาวจรจิตเท่านั้น นี้เป็นประการหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่เราจะเข้าใจเรื่องภูมิ เราต้องเข้าใจเรื่องของจิต สภาพของจิต และก็ไม่สงสัยถึงความหมาย ๒ ประการ คือ ภูมิซึ่งเป็นระดับของจิต ๑ ประการ และ ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ๑ ประการ ซึ่งระดับของจิตเปลี่ยนไม่ได้ อรูปพรหมยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุทเฉท เพราะฉะนั้นก็มีอกุศลจิตเกิดได้ และจิตในขณะที่เป็นอกุศลก็ยังคงเป็นกามภูมิ แม้ว่าจะเกิดกับอรูปพรหม

    เมื่อเข้าใจคล่องแคล่วดีแล้ว ก็จะกล่าวถึงการจำแนกจิตในอีกนัยหนึ่ง คือนัยของจิตที่ประกอบด้วยเจตสิก ๖ ดวงซึ่งเป็นเหตุ กับจิตซึ่งไม่มีเจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพื่อให้เข้าใจในภาษาของเราก่อน และภาษาบาลีก็คือ ขณะใดที่จิตนั้นไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวง คือไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ จิตที่ไม่มีเจตสิก ๖ ดวงนี้ประกอบ ภาษาบาลีใช้คำว่า “อเหตุกจิต” หมายความว่าจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย

    คือเวลาที่เราจะกล่าวถึงสภาพธรรม ให้เข้าใจในภาษาของเราแล้วก็จะต้องเข้าใจในคำภาษาบาลีซึ่งต้องตรงกันด้วย แต่ถ้าใช้ภาษาบาลีก่อน เราอาจจะไม่เข้าใจว่า อเหตุกมี ๑๘ แล้วคืออะไร แล้วก็ลืม แต่ถ้าเข้าใจว่าในสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุจะได้แก่เจตสิก ๖ ประเภท โลภะเป็นเหตุ ๑ โทสะเป็นเหตุ ๑ โมหะเป็นเหตุ ๑ เหตุ ๓ เหตุนี้เป็นอกุศลเหตุ ถ้ามีใครบอกว่าไม่ใช่ เราจะว่าอย่างไร ตามเขาไป หรือ ไม่ใช่ก็ต้องไม่ใช่ หรือถึงใครจะบอกว่าไม่ใช่ แต่เจตสิก ๓ ดวงนี้ก็เป็นอกุศลเหตุ เพราะว่าเป็นตัวเหตุ นี้คือความเข้าใจจริงๆ ซึ่งไม่ต้องอาศัยคนอื่น แต่อาศัยการที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ไตร่ตรอง และก็รู้ว่าเป็นความเข้าใจจริงๆ ที่ปรมัตถธรรมเปลี่ยนไม่ได้

    นอกจากเหตุทางฝ่ายอกุศล ๓ เหตุแล้ว ก็มีเหตุทางฝ่ายดี ใช้คำว่า "ดี" เปลี่ยนแล้วไม่ใช้คำว่า " กุศล " ใช้คำว่า"โสภนเหตุ" มี ๓ ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ อโลภะมีจริง เป็นลักษณะความไม่ติดข้อง ไม่อย่างนั้นจะสละไม่ได้ ขณะที่เราสละได้เพราะว่าขณะนั้นมีจิต ที่มี อโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่ว่าจะไปฝืนเวลาที่โลภเจตสิกเกิดก็จะไปสละนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากำลังติดข้องอยู่ เพราะฉะนั้นแม้ว่าใครพยายามจะฝืนจะสละแล้วก็ให้ ขณะนั้นก็เป็นจิตต่างขณะ สิ่งนี้เป็นประโยชน์ของการจะศึกษาเรื่องจิต และเข้าใจตามลำดับ คือเข้าใจตามพื้นฐานก่อนแล้วจึงจะไปเข้าใจจิตอีกมากมาย แต่ต้องเข้าใจการจำแนกจิตโดยประเภท ของชาติ ของภูมิ และจำแนกโดยเหตุ ว่า จิตที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็มี ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นอีกจากจำแนกจิตโดยชาติ จำแนกจิตโดยภูมิ จนกระทั่งถึงจำแนกโดยจิตที่ประกอบด้วยเหตุ และไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ถ้าได้ยินคำว่าเหตุเข้าใจว่าอย่างไร เหตุมี หรือไม่ เหตุมี เป็นปรมัตถ์อะไร เป็นเจตสิก เพราะว่าจิตล้วนๆ เป็นปัณฑระ สภาพของจิตนั้นจะชั่วจะดีจะเลวอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กล่าวถึงสภาพของจิตล้วนๆ ให้เข้าใจว่า คือสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุจริงๆ ก็ต้องรู้ว่าได้แก่ปรมัตถ์ใด ได้แก่เจตสิกปรมัตถ์ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เหตุเป็นจิตได้ หรือไม่ ไม่ได้ เหตุเป็นเจตสิกได้ หรือไม่ ได้ เหตุเป็นรูปได้ หรือไม่ ไม่ได้ เหตุเป็นนิพพานได้ หรือไม่ ไม่ได้ สภาพธรรมไม่เปลี่ยน สภาพธรรมที่เป็นเหตุต้องเป็นเจตสิกเท่านั้น เพราะฉะนั้นโลภะเป็นเจตสิก โทสะเป็นเจตสิก โมหะเป็นเจตสิก ทั้ง ๓ เจตสิกเป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดี อโลภะเป็นเจตสิก อโทสะเป็นเจตสิก อโมหะเป็นเจตสิก เป็นอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหตุเป็นนิพพานได้ หรือไม่ ไม่ได้แน่นอน เป็นจิตได้ หรือไม่ ไม่ได้ เป็นรูปได้ หรือไม่ ไม่ได้ เป็นเจตสิกอื่นนอกจากเจตสิก ๖ นี้ได้ หรือไม่ ก็ไม่ได้ นี้คือการที่เราจะเข้าใจจริงๆ ว่า เจตสิกที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ ประการเท่านั้น เพราะฉะนั้น เจตสิกอื่น เช่น ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก เป็นเหตุไม่ได้ ถ้ากล่าวถึงเหตุ ๖ ก็คือเจตสิก ๖ จิตที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยใช้คำว่า “สเหตุกจิต” จิตที่ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใช้คำว่า “อเหตุกจิต” นี้เป็นพื้นฐานที่ต่อไปจะทราบว่าจิตใดเป็นอเหตุกะ และก็จิตใดเป็นสเหตุกะ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจแล้วว่าเหตุต้องเป็นเจตสิกเท่านั้นได้แก่เจตสิก ๖

    เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เจตสิก ที่ไม่ใช่เหตุมีเท่าไร คิดเลขนิดหน่อย บางคนอาจจะชอบคิด แต่ตอนนี้ให้คิด คนที่ชอบคิดก็ให้คิด เจตสิกที่ไม่ใช่เหตุมีเท่าไร เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เจตสิกที่เป็นเหตุมี ๖ เพราะฉะนั้นเจตสิกที่ไม่ใช่เหตุ ไม่เป็นเหตุมีเท่าไหร่ ๔๖ คนอื่นบอก ๔๐ ถูก หรือไม่ ไม่ได้ จะมี ๔๒, ๔๕, ๔๘ ไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าธรรมต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้นจะได้รู้คำใหม่อีกคำหนึ่ง คือเจตสิกที่เป็นเหตุ และสภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่เหตุ เช่น จิตทั้งหมดเมื่อไม่ใช่เหตุ ภาษาบาลีใช้คำว่า “นเหตุ” หรือ (นะ + เห +ตุ) เพราะฉะนั้น คำว่า "เหตุ" (เห + ตุ) คือเหตุ ๖ ได้แก่เจตสิก ๖ และ คำว่า นเหตุ (นะ + เห +ตุ) ได้แก่สภาพธรรมอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่เจตสิก ๖

    ขอยกตัวอย่าง "นเหตุ" ว่า ได้แก่อะไรบ้าง เช่น เวทนาเจตสิก อะไรๆ ก็ตามที่ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่เจตสิก ๖ เป็น นเหตุ ในภาษาบาลี อะไรเป็นนเหตุบ้าง รูปเป็นนเหตุ ศรัทธาก็ไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ ส่วน รูป จิต เจตสิก ที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เป็นอเหตุกะทั้งหมด

    คุณอุไรวรรณ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วท่านอาจารย์ได้เริ่มเรื่องการจำแนกจิต อเหตุกะ กับ สเหตุกะ วันนี้ก็จะได้สนทนาต่อไปในรายละเอียดเรื่อง อเหตุกะ และสเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ การที่กล่าวถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เข้าใจ แม้แต่จิตที่มีอยู่ ก็ไม่เคยคิดว่า จิตขณะไหนเป็นชาติใด หรือเป็นภูมิใด ใช่ไหม เพราะไม่เคยรู้เรื่องจิตเลย เพราะฉะนั้น การที่เรากล่าวเรื่องจิตโดยนัยต่างๆ ก็เพื่อให้เข้าใจสภาพของจิตซึ่งมีจริงๆ เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งลักษณะสภาพธรรมของจิต ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาจิตโดยนัยต่างๆ ทั้งๆ ที่จิตนัยต่างๆ โดยชาติ โดยภูมิ ก็กำลังกำลังเกิดขึ้น ปรากฏในขณะนี้ แต่สั้นมาก และรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ก็ยากแสนยากที่ใครสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว แต่อาศัยการฟัง และพิจารณาสิ่งที่มีจริงที่เกิดกับตน และก็เริ่มจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยความเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม กว่าจะห่างจากความเป็นเราในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องซึ่งแต่ละท่านก็สามารถจะพิจารณาได้ว่า ความเข้าใจขั้นการฟังนั้นเริ่มมีแน่นอน แต่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังฟังอยู่เริ่มต้น หรือยัง ถ้ายังไม่เริ่มต้นก็หมายความว่าจะต้องมีการฟัง และมีความเข้าใจด้วยความมั่นคงว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ และประจักษ์แจ้งได้ด้วยปัญญาของแต่ละคน คือจะไปขอยืม หรือไปขอปัญญาใครมารู้ ไม่ได้ นั่นคือความเป็นตัวตน

    แต่จะต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่ได้ฟังเป็นความจริงซึ่งค่อยๆ เข้าใจ และถ้าเคยได้อบรมความรู้ความเข้าใจมามากพอในอดีตชาติ นานมาแล้ว ซึ่งชาตินี้ก็จะเป็นอย่างนั้นในกาละข้างหน้า เพราะเหตุว่ามีการฟัง และมีการเข้าใจ และมีความมั่นคงในจุดประสงค์ที่จะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยการประจักษ์ ไม่ใช่เพียงโดยขั้นการฟัง ก็จะทำให้เราพิจารณาธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ และก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็นว่าตรง และจริงตามที่เราได้ยินได้ฟัง หรือไม่ แต่ปัญญาของแต่ละคนไม่สามารถที่จะถึงระดับขั้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก หรือพระมหาสาวก หรือแม้พระสาวกระดับขั้นสูง เช่น พระอรหันต์ จนกระทั่งถึงขั้นพระโสดาบัน ถ้ายังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าการที่ได้ฟังธรรมแล้ว ประโยชน์สูงสุดคือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มี ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย พูดไปแล้วก็ไม่มีลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏให้เข้าใจให้พิสูจน์ แต่แท้จริงแล้วทั้งวัน ทุกชาติก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ปรากฏกับความไม่รู้ คือ ไม่รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะฟังพระธรรมอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องเบื่อหน่ายที่ว่าเหตุใดจึงมากมาย เหตุใดเราไม่รู้เสียที แต่เป็นเรื่องที่เริ่มเห็นคุณของพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะได้ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรม ซึ่งก็อีกกาลไม่นานก็จะสูญไปจากความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่มีการได้พิจารณา ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะเหตุว่าพระธรรมจะสูญสิ้นเมื่อกาลจากไปของพระโสดาบันท่านสุดท้าย ก็จะไม่มีใครทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าจากการที่พระธรรมยังคงอยู่ก็สามารถที่จะทำให้แต่ละท่านได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้คิด ได้ไตร่ตรอง เป็นผู้ตรงต่อความจริงที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพื่อความเข้าใจ แต่ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสักการะ เพื่อสรรเสริญ เพื่อความเก่ง หรือความเป็นเรา แต่เพื่อที่จะรู้ว่าประโยชน์ของการเข้าใจธรรมก็คือขัดเกลา เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่เคยที่จะมีการขัดเกลาอะไร ทั้งทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ แสดงว่าปัญญาที่สำเร็จจากการฟังมีผลบ้าง หรือไม่ เพราะว่าถ้ามีผลจริงๆ "สีลมยญาณ" ต้องมี ปัญญาที่สำเร็จจากการที่รู้คุณประโยชน์ของศีล จะมากจะน้อยนั้นก็แล้วแต่

    เพราะเหตุว่าพระธรรมไม่ใช่เพื่อให้เราหวังที่จะเป็นคนดีบริบูรณ์ครบถ้วน โดยยังมีความเป็นเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย จะค่อยๆ คลายความเป็นเรา ความเป็นตัวตน และก็การสมบูรณ์ของทั้งศีล และปัญญา ทั้งความสงบของจิตก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าคงจะไม่เบื่อที่จะฟังแล้วฟังอีก แล้วก็พิจารณาโดยละเอียดว่าเราได้สะสมอวิชชาความไม่รู้มาแสนนาน มากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งๆ ที่กำลังได้ฟังอยู่ จะสามารถเข้าใจประจักษ์แจ้งเหมือนท่านที่ได้สะสมความรู้มานานก็ไม่ได้ แต่เป็นผู้ตรงที่ว่า เมื่อเข้าใจระดับไหนก็รู้ตามความเป็นจริงระดับนั้น และก็จะเห็นได้ว่าเมื่อได้เข้าใจพระธรรมละเอียดขึ้น การที่จะมีปัจจัยที่จะทำให้คลายความเป็นเราก็จะเพิ่มขึ้น แต่ว่าถ้าไม่ถึงกาละที่สติสัมปชัญญะจะระลึก ก็จะไม่รู้ว่าสิ่งที่เราได้สะสมมามากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าเมื่อกาละใดที่มีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมก็จะรู้ได้ว่าปัญญาอีกระดับหนึ่งแค่ไหน ทั้งๆ ที่ปัญญาระดับขั้นที่ฟังก็มีมาพอสมควร เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องที่ต้องฟังทุกชาติ และก็อบรมไปเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ดังนั้น สำหรับคำว่า “เหตุ” ภาษาไทยก็แล้วแต่จะใช้อย่างไรสำหรับเรื่องราว แต่ถ้าเป็นสภาพปรมัตถธรรมแล้วต้องได้แก่เจตสิก ๖ ประเภทคือ อกุศลเจตสิก ๓ ได้แก่ โลภเจตสิกเป็นเหตุ โทสเจตสิกเป็นเหตุ โมหเจตสิกเป็นเหตุ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ยังมีอกุศลเหตุ หรืออกุศลธรรมที่เป็นเหตุ สังสารวัฏฏ์ก็จะดำเนินไปโดยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ไม่สิ้นสุดในทางฝ่ายอกุศล แต่ว่าวันหนึ่งๆ ก็ไม่ได้มีแต่สภาพธรรมฝ่ายอกุศล ก็ยังมีเจตสิกที่เป็นโสภณฝ่ายดีซึ่งเป็นเหตุได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ เป็นโสภณเหตุ

    คุณอุไรวรรณ ปรมัตถธรรม ๔ จำแนกเป็นเหตุเจตสิกเพียง ๖ ดวงเท่านั้นที่เป็นเหตุ นอกจากนั้นเป็น นเหตุ ทั้งหมด เพราะฉะนั้น นเหตุ ก็จะมีเจตสิก ๔๖ จิตทั้งหมด รูปทั้งหมด และนิพพานด้วย ทั้งหมดเป็นนเหตุ ส่วน เหตุ คือเจตสิก ๖ ดวง จำแนกเป็น ๒ ประเภทคือ อเหตุกะ และ สเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ขอถามว่า คุณวิชัยเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่เป็น เพราะเหตุว่าไม่ใช่เจตสิก ๖ ต้องเจตสิก ๖ เท่านั้นที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นอะไรทั้งหมดที่ไม่ใช่เจตสิก ๖ เป็น น+เห+ตุ ภาษาไทยเราก็กล่าวสั้นๆ ว่า “นเหตุ” เจตสิกเป็นเหตุ หรือไม่ ต้องบอกว่า เจตสิก ๖ ดวง เป็นเหตุ เจตสิกอื่นไม่ใช่เหตุ จิตเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ รูปเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ นิพพานไม่ใช่เหตุ นิพพานเป็นนเหตุ เมื่อความเข้าใจ ๒ ประการนี้ คือ เรื่อง “เหตุ” และ“นเหตุ” มั่นคงแล้ว จึงศึกษาต่อถึงอเหตุกะ และ สเหตุกะได้

    "อเหตุกะ" เป็นภาษาบาลี หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยแม้แต่เหตุเดียว ถ้ามีเหตุเพียงหนึ่งเกิดร่วมด้วยจะเรียกว่าอเหตุกะไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีเหตุหนึ่งเกิดร่วมด้วย จึงต้องไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เกิดไม่ได้กับอเหตุกจิต หรือ อเหตุกเจตสิก แต่สภาพธรรมใดที่มีเหตุ ๑ เหตุ หรืออาจจะเป็น ๒ เหตุ หรืออาจจะเป็น ๓ เหตุก็ได้ เกิดร่วมด้วย สภาพธรรมนั้นก็เป็นสเหตุกะ แล้วแต่ว่าจะกล่าวถึงจิตก็เป็น “สเหตุกจิต” ถ้ากล่าวถึงเจตสิกก็เป็น “สเหตุกเจตสิก”

    เจตสิกเกิดร่วมด้วยกับเหตุได้ หรือไม่ เกิดได้ เจตสิกใดที่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ จิตนั้นจะไม่เกิดร่วมกับเหตุได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะว่าจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจิตนั้นมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็หมายความว่าเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตนั้นต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    19 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ