พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53


    ตอนที่ ๕๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์ก็เน้นเตือนเรื่องความเข้าใจสภาพธรรม ท่านอาจารย์กล่าวว่าขณะที่เราศึกษาแล้วเราศึกษามากๆ ศึกษาไปๆ แล้วเราก็จะไปหลงติดอยู่กับทะเลชื่อ แล้วจำชื่อนั้นชื่อนี้มากมาย แต่ว่าเรารู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว หรือยัง ตรงนี้ที่สำคัญ

    ท่านอาจารย์ และบางท่านอาจจะคิดว่าคิดคำใหม่มาอีกแล้ว ความจริงไม่ใหม่เลย ทะเล หรือมหาสมุทร คำนี้มีในพระไตรปิฎกแน่นอน แล้วอุปมาผู้ที่ได้เข้ามาสู่พระธรรมคงจะไม่ใช่ผู้ที่เสมอกันทุกคนเพราะว่าแล้วแต่การสะสมว่าแต่ละคนแต่ละชาติได้สะสมมากน้อยเพียงไหน เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็เหมือนกับว่าเรายืนอยู่ที่ริมฝั่งทะเล เราก็คงเห็นแล้วว่าทะเลกว้างใหญ่กว่าแม่น้ำมาก และเราก็กำลังอยู่ตรงนั้น ใครจุ่มลงไปบ้าง หรือยัง หางกระต่าย แต่ก็จะรู้ได้เลยว่า แม้แต่คำอุปมา ยังมีอุปมาว่า กว่าจะวิดน้ำคือเอาอวิชชาออกไปได้ ก็คิดดูแล้วกันว่า ด้วยหางกระต่ายที่วิดแล้วก็สลัด วิดแล้วก็สลัด แต่ก่อนอื่นถ้าเป็นกระต่าย หรือเป็นบุคคลใดก็ตามได้ไปสู่ทะเล คือในพระไตรปิฎกก็จะมีคำมากมาย

    ในพระไตรปิฎกเราก็ได้ยินแต่ชื่อทั้งนั้นเลย แม้แต่คำว่าธรรม นามธรรม รูปธรรม ยิ่งเป็นปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ๗๓ ญาณ แล้วขณะนั้นของใคร เข้าไปได้อย่างไร ไปอยู่ตรงฝั่งทะเล และก็ได้ยินแต่ชื่อๆ ทั้งนั้น ใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นปัญญาของแต่ละท่านจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือของพระอรหันต์สาวกทั้งหลายที่ท่านแสดง ท่านแสดงความจริงทั้งหมดเพื่ออุปการะด้วยความกรุณา โดยเฉพาะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ

    แม้แต่เรื่องที่เรายกมากล่าวถึงเมื่อวานนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ด้วยพระมหากรุณาจริงๆ แม้แต่พระสูตรสั้นๆ หรือจะเป็นพระสูตรกลางๆ หรือว่าเป็นพระสูตรยาว ก็เพื่ออัธยาศัยของผู้ฟัง ฟังแล้วได้เข้าใจอะไรบ้างเมื่อวานนี้ ลืมไปหมด หรืออย่างไร หรือว่าจริงๆ แล้วเราคิดว่าเราลืม แต่ความจริงเราสะสมความเข้าใจจากสูตรหนึ่ง จากคำหนึ่งไปสู่อีกคำหนึ่งเรื่อยๆ จนกระทั่งเรามีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น

    เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงทะเลชื่อเมื่อวานนี้ ก็เพื่อเตือนให้รู้ว่า ถ้าเราศึกษาธรรมเพียงชื่อ ยังไม่ได้เข้าไปสู่ท้องทะเล เป็นเรื่องของปลาตัวเล็กตัวใหญ่ สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ในน้ำ แต่ใครจะได้เห็นอะไรบ้าง แล้วแต่สติปัญญาของบุคคลนั้น และสามารถที่จะข้ามไปสู่ฝั่งก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ไปสู่ฝั่งที่ดับกิเลสได้ เพราะว่าฝั่งนี้อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีการเข้าใจพระธรรม ก็อยู่ไปด้วยความไม่รู้ตลอด แล้วฝั่งนี้พระองค์ก็ทรงอุปมาว่า เหมือนตกอยู่ในเหวลึกด้วย พอเห็นเหวก็ทรงอุปมาให้รู้ว่าเหวนั้นลึกเพียงไหน แต่อวิชชาของสัตว์ซึ่งมีอยู่ในชาติหนึ่งๆ ลึกยิ่งกว่าเหว ก็ทรงอุปมาเพื่อให้เราเห็นว่าเรากำลังอยู่ในอันตรายจริงๆ ซึ่งเราไม่เคยรู้ว่าเป็นอันตราย เพราะว่ากิเลสไม่ว่าจะเป็นไปในประเภทใดก็ตามเป็นอันตราย

    วันหนึ่งๆ เราไม่ได้รู้ ทุกขะทุกขะ วิปรินามทุกข์ และสังขารทุกข์ แต่ว่าถ้าทุกข์เกิดเมื่อไหร่ที่เราพอจะรู้ได้ ก็คือทุกขะทุกขะที่เป็นทุกข์กาย และทุกข์ใจมี หรือไม่ ปวด เจ็บ เมื่อย ชาติอะไร ชาติวิบาก ทุกคนก็เข้าใจแล้ว ตอนนี้ผลของกรรมทำให้มีกายปสาทรูป แล้วเมื่อถึงกาละที่เป็นการให้ผลของอกุศลกรรม ก็จะทำให้กระทบกับธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม ดิน ไฟ ลม ซึ่งทำให้เกิดทุกข์ทางกาย เราไม่รู้เลยว่าทุกข์ขณะนั้นมากจากไหน แต่เพราะมีกายปสาทเป็นปัจจัย ทำให้โอกาสของอกุศลกรรมซึ่งถึงกาละที่สุกงอมพร้อมจะให้ผล รูปก็กระทบกับกายปสาท ทำให้กายวิญญาณเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นทุกขเวทนาสำหรับทางกาย เป็นทุกขะทุกขะ และทุกข์ใจเคยมี หรือไม่ ไม่มีใครที่จะบอกว่าไม่มี ใช่ หรือไม่ มาก หรือน้อยแม้แต่เพียงนิดหน่อยเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นทุกข์ จะกล่าวว่าเป็นสุขไม่ได้เลย ขณะที่กำลังทุกข์ใจ ทางกายปวด หรือไม่ ไม่ปวด

    ผู้ฟัง ก็อาจจะเป็นผลได้

    ท่านอาจารย์ คนละขณะแล้ว คนละประเภท ขณะนี้คือความละเอียดที่เราจะศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเราในวันหนึ่งๆ ให้เข้าใจโดยละเอียด โดยความต่างของขณะจิต ถ้ากล่าวถึงทุกข์ใจ กายปวด หรือไม่ ไม่ปวด เจ็บ หรือไม่ ไม่เจ็บ คัน หรือไม่ ไม่เลย สบายทุกอย่าง แต่ใจเป็นทุกข์ เป็นโทมนัสเวทนา ด้วยเหตุนี้จึงแยกเวทนาโดยนัย ๓ คือ สุข ๑ ทุกข์ ๑ อุเบกขา หรืออทุกขมสุข ๑ ในเรื่องของความรู้สึกก็จะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าแยกละเอียดขึ้นจะเป็น ๕ คือแยกสุขเป็นกายกับใจ แยกทุกข์ก็เป็นกายกับใจ เพราะตามจริงแล้วก็ต้องต่าง เพราะว่าแม้พระอรหันต์ก็ต้องมีทุกข์กาย แต่ไม่มีทุกข์ใจ เพราะฉะนั้นทุกข์ใจก็คือโทมนัสเวทนา มีความรู้สึกที่ไม่สบายใจนิดหนึ่ง ก็ใช่ จะกล่าวว่าเป็นสุขไม่ได้เลย

    เราเคยกล่าวถึงขันธ์ หรือยัง กล่าวแล้วใช่ หรือไม่ เวทนาเป็นปรมัตถ์อะไร ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เวทนาเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นเวทนาเป็นขันธ์อะไร เวทนาขันธ์ ถ้าถามโดยขันธ์ต้องตอบว่าเป็นเวทนาขันธ์ ถ้าถามโดยปรมัตถ์ต้องตอบว่าเป็นเจตสิก เป็นภูมิอะไร เฉพาะโทมนัสเวทนา เป็นกามภูมิ ถ้ากล่าวถึงเวทนาทั่วไปได้หมดทุกภูมิ เพราะว่าจิตที่จะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลยทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่แยกประเภทของเวทนา เวทนาก็เป็นทุกภูมิหมด แต่ถ้าแยกต้องแยกตามภูมิด้วยว่า โทมนัสเวทนาเป็นภูมิอะไร เป็นกามภูมิ เป็นกามาวจรจิต เป็นชาติอะไร ชาติมี ๔ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑

    ถ้ากล่าวโดยชาติต้องหมายความถึงเหตุกับผล และไม่ใช่เหตุกับผล เพราะฉะนั้นโทมนัสเวทนาเป็นอกุศลอย่างเดียวเป็นอื่นไม่ได้เลย แต่ทุกขเวทนาเป็นวิบาก นี้คือความต่างที่จะให้รู้ว่า แม้กายเจ็บ ใจไม่เจ็บก็ได้ แม้ใจเจ็บ กายไม่เจ็บก็ได้ เพราะฉะนั้น โทมนัสเวทนาเป็นอกุศลชาติเดียว ถ้าเป็นอกุศลเจตสิกทั้งหมดเป็นชาติอื่นไม่ได้เลย เป็นผลก็ไม่ได้ ต้องเป็นเหตุที่จะให้เกิดอกุศลวิบากได้

    เพราะฉะนั้น ทุกขะทุกขะ ขณะนี้แจ่มแจ้งดีแล้ว หรือไม่ โดยชาติโดยภูมิ มีใครสงสัยไหม ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ทุกข์กายเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก ทุกข์ใจเป็นชาติอะไร เป็นชาติอกุศล และก็สุขกายเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก และก็สุขใจ เป็นชาติกุศลได้ หรือไม่ ได้ เป็นอกุศลได้ หรือไม่ ได้ เป็นกิริยาของพระอรหันต์ได้ หรือไม่ ได้ คือธรรมทุกอย่างตรงตามเหตุตามผล แต่ต้องอาศัยว่าเราจะตั้งต้นศึกษาเรื่องจิต ต้องรู้เข้าใจถูกในเรื่องของปรมัตถธรรม ๔

    ทุกอย่างจะไม่พ้นจากปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต หรือ เจตสิก หรือรูป นี้เป็นพื้นฐาน เป็นแก่น สภาวธรรมที่มีจริง แต่ก็มีหลากหลาย เพราะฉะนั้น ก็จำแนกออกไปโดยชาติ จะต้องมี ๔ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ ในชีวิตประจำวัน วิบาก ๑ กิริยา ๑ ถ้าโดยภูมิก็มี ๔ ภูมิ คือกามาวจรภูมิ รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ

    รูปาวจรจิตเคยกล่าวถึงแล้ว เป็นชาติอกุศลได้ หรือไม่ ทบทวนลึกๆ ลงไปถึงหลายสัปดาห์แล้วที่เรากล่าวถึง รูปาวจรจิตเป็นฌาณจิต เป็นรูปฌาณ อรูปฌาณ แต่สำหรับรูปาวจรจิตเป็นรูปาวจรฌาณ เป็นรูปฌาณ เป็นอกุศลได้ หรือไม่ ไม่ได้เลย อกุศลเฉพาะแค่กามาวจรเท่านั้น ถ้าระดับจิตที่สูงกว่านั้นก็คือกุศลที่เป็นกาม และกุศลที่เป็นรูปาวจรจิต และที่เป็นอรูปาวจรจิต และก็เป็นโลกุตตระจิต แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ต่ำสุด ธรรมฝ่ายต่ำขั้นต่ำเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นรูปาวจรภูมิไม่มีอกุศล เพราะฉะนั้น จะเป็น ๓ ชาติคือกุศล เมื่อมีแล้วต้องมีเหตุให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลเป็นวิบาก และถ้าเป็นพระอรหันต์ ไม่ให้ผล ก็เป็นรูปาวจรกิริยา เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาเรื่องจิต ก็จะมีบุคคลนั้นบุคคลนี้ อย่างเช่นพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิต ไม่มีอกุศลเจตสิก และกุศลเจตสิก แต่จะมีกิริยาเจตสิก เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ก็มีวิบากกับกิริยา

    ผู้ฟัง ขณะที่อยาก

    ท่านอาจารย์ ขณะที่โลภะความติดข้องเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ว่าใคร รูปาวจรจิตมี ๓ ชาติ รูปาวจรจิตที่เป็นกุศลให้ผลเป็นรูปาวจรวิบาก และสำหรับพระอรหันต์แม้ว่าจะมีรูปาวจรจิตก็เป็นกิริยาจิตไม่ให้ผล หลังจากที่ปรินิพพานแล้วก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปาวจรวิบาก ด้วยเหตุนี้สำหรับบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์เป็นรูปาวจรกุศลเพราะว่าสามารถจะให้ผลเป็นรูปาวจรวิบาก ปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคล แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่มีรูปาวจรกุศลอีกต่อไป เพราะฉะนั้น เวลาที่ฌาณจิตของพระอรหันต์เกิด จึงเป็นรูปาวจรกิริยา

    ทุกขะทุกขะเป็นชาติ เป็นภูมิ หมายความถึงทุกขเวทนา และโทมนัสเวทนา ทุกขเวทนาเป็นทุกข์ สุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนาก็เป็นความรู้สึกเป็นเวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้น เรื่องทุกขเวทนากับโทมนัสเวทนา เข้าใจดีแล้วใช่ หรือไม่ ทุกขะทุกขะ ไม่ลืม วันนี้มีโทมนัสเวทนาแล้ว หรือยัง มี ชาติอะไร อกุศล ถ้าเป็นทุกขเวทนาชาติอะไร ชาติวิบาก นี้คือความต่างกัน

    ผู้ฟัง ขอทราบเหตุผลว่า เวทนากับทุกข์ ๒ ทุกข์

    ท่านอาจารย์ ทุกข์กายหนึ่ง อีกหนึ่งคือทุกข์ใจ

    ผู้ฟัง แต่ทำไมชาติถึงต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะที่เป็นอกุศลเป็นเหตุไม่ใช่เป็นผล อกุศลทั้งหมดมีชาติเดียว คือ อกุศลเจตสิกเป็นอกุศลชาติเดียว และจิตที่เป็นอกุศลที่เกิดกับอกุศลเจตสิก นั้น ก็เป็นชาติอกุศลชาติเดียว

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ที่ ผมตอบเร็วไป เพราะว่าคำว่า วิบาก เราจำว่า คือความที่ไม่ดี ได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ วิบากเป็นผล

    ผู้ฟัง คิดแบบชาวบ้าน แบบภาษาไทย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนใหม่เลย ถ้าได้ยินคำว่าวิบากต้องหมายถึงปรมัตถธรรมที่เป็นผล และต้องเป็นนามธรรมด้วย คือ จิต และเจตสิกเท่านั้นที่เป็นวิบาก รูปแม้เป็นผลของกรรม แต่รูปก็ไม่ใช่วิบาก เพราะรูปไม่รู้อะไร ไม่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ จะเป็นผลไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจว่าโทมนัสเวทนาทำไมจะเป็นวิบากไม่ได้

    อ.อรรณพ ถ้าเป็นพระอรหันต์ ถ้ามีคนมากล่าวหาท่านๆ จะเสียใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เสียใจ

    อ.อรรณพ โทมนัสเวทนานั้นคือทุกข์ใจ ซึ่งพระอรหันต์ไม่มีแล้ว พระอนาคามีก็ไม่มีด้วย

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นของพระอรหันต์เป็นโลกุตตระ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นกามาวจรจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงจิต เราพูดถึงสภาพของจิต ถ้าจิตของพระอรหันต์ที่เห็นเป็นวิบาก หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบาก เพราะฉะนั้นพระอรหันต์มีวิบาก แต่ไม่มีโทมนัสเวทนา

    ผู้ฟัง ไม่มีอกุศล

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอกุศล โทมนัสเวทนาจะเกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับจิตอื่นเลยทั้งสิ้น เวลาที่เกิดเสียใจ เวทนาขณะนั้นเป็นความรู้สึกซึ่งทุกข์โทมนัส ไม่ดี ไม่เป็นที่น่าพอใจเลย ขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา จะเกิดกับใครบ้าง ลองคิดดู

    ผู้ฟัง เกิดกับโทสมูลจิตอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ เกิดกับโทสมูลจิต แล้วจะเกิดกับใครบ้าง ผู้ที่ยังมีโทสะมูลจิต ผู้ที่หมดโทสมูลจิต เช่น พระอนาคามีก็ไม่มีโทมนัสเวทนา พระอรหันต์ก็ไม่มีโทมนัสเวทนา พระโสดาบัน พระสกทาคามี ยังมีโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่วิบากแน่ ต้องเป็นอกุศล โทมนัสต้องเกิดกับโทสมูลจิต

    ผู้ฟัง อยากจะให้กล่าวในรายละเอียดว่า การที่ปัญญาจะสะสมความเข้าใจขึ้นวันละเล็กวันละน้อย เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ กำลังสะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่ต้องไปหาอุบายวิธี หรือ ตำรา แต่เป็นชีวิตจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะเราเข้าใจคำว่า “ จะทำอย่างไร ” ก็กำลังทำอยู่แล้ว คือฟังอยู่แล้ว พิจารณาเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง หมายถึงฟังให้เข้าใจใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ขณะนั้นคือปัญญา จุดเริ่มของปัญญา

    ผู้ฟัง เมื่อฟังเข้าใจแล้วจะมีการพัฒนาการต่อใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอนคุณศุภัสสรก่อนฟัง กับคุณศุภัสสรหลังฟัง ก็ต้องต่างกันแล้วใช่ หรือไม่ แม้แต่จะได้ยินคำว่าธรรม ก่อนฟังก็อาจจะคิดเอง แต่ฟังแล้วก็เข้าใจละเอียดขึ้นว่าได้แก่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง ต้องการรู้มากๆ ต้องเข้าใจมากๆ ตรงนี้เป็นปัญญา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วมีความเข้าใจมากๆ ตามที่เรียน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นประโยชน์อยู่ที่ไหน ทะเลชื่อ

    ผู้ฟัง ในขั้นการฟังตรงนี้ก็เป็นปัญญาที่เป็นการรู้ไปเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนจะไม่เกิดผล

    ท่านอาจารย์ ต้องการผลอะไร

    ผู้ฟัง จะได้มีปัญญามากๆ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเกิดมากๆ จะมาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยที่เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง หมายความว่าขณะนี้คือ ฟังใช่ หรือไม่ ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง และก็เป็นความเข้าใจที่ทราบได้ว่าเข้าใจขึ้นๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวคำว่า “ไตร่ตรอง” เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าถูกต้อง หรือไม่ อย่างทุกข์กายกับทุกข์ใจนี้ต่างกันอย่างไร เป็นชาติอะไร ก็คือความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ในขั้นการฟังใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเป็นปัญญาอีกนิดหนึ่งๆ ที่ค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็วันนี้ต่างกับวันก่อนนั้นแล้วเป็นอย่างไร เป็นอย่างไรก็คือเป็นวันนี้ที่เข้าใจได้

    ผู้ฟัง ปัญญาที่จะค่อยๆ ทราบเองว่าวันนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็ทราบว่าเข้าใจมากกว่าเมื่อก่อนนี้ที่ยังไม่ได้ฟัง ใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจมาเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย

    ครั้งแรกคุณศุภัสสรก็กล่าวว่าต้องการรู้มากๆ ฟังมากๆ ใช่ หรือไม่ แต่ตอนนี้เป็นอย่างนั้น หรือไม่ เพราะเหตุว่าจุดประสงค์คือเพื่อให้เข้าใจ ถ้าเราจะกล่าวถึงเรื่องปรมัตถธรรมแยกเป็นขันธ์โดยชาติ โดยภูมิ โดยเป็นอะไรก็แล้วแต่ ฟังดูเหมือนว่าเราเข้าใจมาก แต่ถ้าเราพบคำว่า “ทุกขะ ทุกข์” เราจะทราบเลยว่าสามารถที่จะเข้าใจในลักษณะของทุกขเวทนากับโทมนัสเวทนาโดยชาติ แยกกันว่าเป็นชาติอะไร โดยภูมิ ขณะนี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องไปติดข้องที่ชื่อให้มาก แต่เราสามารถที่จะเข้าใจลักษณะนั้นโดยประการต่างๆ ที่ว่า ถ้ากล่าวถึงชาติเราก็รู้ว่าโทมนัสเวทนาเป็นอกุศล จะเป็นกุศลไม่ได้

    นี้ก็คือทำให้เรามีความเข้าใจ ในสิ่งซึ่งเราคิดว่าเรารู้ชื่อมามากมาย แต่เมื่อถึงบางครั้งเราจะกลับไปทบทวน และเราก็จะทราบได้ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจธรรมนั้นด้วยตนเอง ที่เราได้ยินโดยประการใดบ้างโดยประการต่างๆ โดยปัจจัยก็ได้ เช่น ทุกขเวทนาเป็นอนันตรปัจจัย หรือไม่ เห็น หรือไม่ ถ้าจะให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง เมื่อเราเข้าใจแล้วเราตอบได้ เพราะไม่ใช่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัย จิต และเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย เพราะฉะนั้นทุกขเวทนาที่เกิดดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัย หรือไม่ เท่านี้ก็คือว่าเราเข้าใจโดยที่เราไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าเราอยากรู้มากๆ รู้ชื่อ แต่ว่าความเข้าใจของเราถูกต้องขึ้น เข้าใจโดยประการต่างๆ ของแม้แต่สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังชัดเจนขึ้น ถูกต้องขึ้น และก็ทำให้คลายความสงสัยด้วย และสามารถจะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้รู้ว่าถ้ามีลักษณะนั้นเกิดขึ้น สามารถจะเข้าใจโดยประการใดบ้าง

    อ.วิชัย ก็กล่าวโดยนัยของเวทนา ๓ คำว่าทุกขะ ทุกขะ เพราะเหตุว่าสภาพที่ทนได้ยากก็คือทุกข์ ก็จะหมายถึงทั้งทุกข์ทางกายด้วย และก็ทุกข์ทางใจด้วย เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ เป็นสภาพที่เป็นทุกข์ ส่วนวิปรินามทุกข์ หมายถึง สุขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณกุศลวิบาก แล้วก็โสมนัสเวทนาซึ่งแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทุกท่านก็เคยมีโสมนัสเวทนาเกิด สุขเวทนาเกิด แต่ว่าไม่ได้อยู่ตลอดเวลาเลย คือเมื่อเกิดย่อมแปรปรวนย่อมเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงของสุขเวทนา โสมนัสเวทนา เรียกว่าวิปรินามทุกข์ ส่วนสังขารทุกข์ หมายถึงอุเบกขาเวทนา ถ้าโดยนัยของเวทนา เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ทุกข์เพราะมีการปรุงแต่ง จึงเป็นทุกข์ เรียกว่าสังขารทุกข์

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงว่าปรุงแต่งแล้วเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นทุกข์ของสังขารทั้งหลายก็จะไม่พ้นจากการเกิดดับ นี้ก็รวมหมดทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามถึงโสมนัส ทางฝ่ายอกุศลมักจะเกิดเสมอ ถ้าได้สิ่งของที่น่าพอใจเกิดบ่อย เวลาการให้ทานทำบุญต่างๆ โสมนัสจะไม่ค่อยเกิดเลย

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเวลาที่คุณนิคมเกิดโสมนัสเวทนา อาจจะไปทางฝ่ายอกุศลทั้งนั้นเลย เช่นความยินดีที่ได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้รสอร่อย ได้รูป ได้เสียงที่ดี เพลงไพเราะอย่างนี้ก็เกิดโสมนัส แต่เวลาที่คุณนิคมทำกุศลโสมนัสไม่ค่อยเกิด มักจะเป็นอุเบกขา ก็ถามว่าเพราะเหตุใดถึงเป็นอย่างนั้น ไม่ทราบว่าคุณธีรพันธ์เป็นอย่างนี้ หรือไม่

    อ.ธีรพันธ์ ก็อยู่ที่การสั่งสมของคุณนิคม ว่าคุณนิคมให้ทาน คิดว่าจะมีแต่อุเบกขาเวทนาเท่านั้น แต่โสมนัสเวทนาไม่ค่อยจะมี ซึ่งก็เป็นการสะสมเหมือนกัน ถ้าคุณนิคมเห็นอานิสงส์ของการให้ทาน อาจจะเป็นปัจจัยให้โสมนัสเวทนาเกิดขึ้นได้ ขณะที่อุเบกขาเวทนาเกิด ขณะนั้นก็เป็นชาติกุศลเหมือนกันที่เกิดร่วมกับการให้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเป็นอุเบกขาเวทนาแล้ว การให้ทานดูเหมือนจะด้อยค่าเสียราคาไป เพราะขณะนั้นกุศลเกิดขณะนั้นมีกำลังมากกว่าอกุศล เพราะกุศลเกิดยาก ถ้าอุเบกขาเวทนาเกิดต่อๆ ไปมีการฟังพระธรรมมีการพิจารณาโสมนัสเวทนามีความยินดีในการให้เป็นผู้สละ ยินดีในการสละ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    19 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ