พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52


    ตอนที่ ๕๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ถ้าสามารถจะเข้าใจได้ นั่นคือประโยชน์ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายให้ผู้ฟังได้เกิดความเห็นถูกความรู้ถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นการจำชื่อ จำเรื่องราว หรือเข้าใจว่าอ่านมาก รู้มาก ยิ่งอ่านจะรู้ได้ว่า รู้ หรือไม่ รู้ตามนั้นจริงๆ ได้ หรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงคำเท่านั้น แต่อย่าลืมอย่างหนึ่งคือว่า ถ้อยคำ หรือพยัญชนะส่องให้เข้าใจสภาพธรรม ถ้าไม่ส่องให้เข้าใจสภาพธรรม คำนั้นไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์เลย จะพูดจะใช้คำอะไรก็ตาม แต่ถ้าไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พยัญชนะคำนั้นก็ไม่มีประโยชน์เลย และโดยเฉพาะถ้าเป็นภาษาบาลีซึ่งมีความเข้าใจถูกต้องในภาษา และในสภาวธรรมจริงๆ ก็จะได้รู้ว่าคำที่ทรงแสดงไว้มากมายตรงกับลักษณะของสภาพธรรมเมื่อสามารถที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมนั้นชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นแต่ละคำๆ ของภาษาบาลีก็จะต้องดูว่าคำไหนตรงกับสภาพธรรมในลักษณะใด และก็ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นอย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรม เพราะว่าการฟังพระธรรมเพื่อความเข้าใจพระธรรม

    ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าการปฏิบัติธรรม ฝึกได้ หรือไม่ ฝึกให้จิตเราดีขึ้นได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของภาษานี้แน่นอน เมื่อได้ยินคำว่า “ฝึก” เราคิดอย่างไร เดิมทีเดียวเราก็คิดว่าเป็นเราที่ฝึก แต่ถ้าได้ฟังธรรมแล้วเราก็ไม่ควรจะทิ้งความหมายที่เราเริ่มเข้าใจตั้งแต่คำแรกคือ "ธรรม" และ"อนัตตา " ทิ้งไม่ได้เลย เพราะถ้าเราทิ้งความหมายที่เราเข้าใจถูกต้องในขั้นต้นเราจะหลงทาง เมื่อได้ยินคำว่า “ฝึก” ไม่ว่าจะที่ไหน หรือข้อความที่คล้ายๆ กัน ซึ่งบางท่าน ก็อาจจะว่าเรื่องทำอย่างไร เช่น ละชั่ว ก็เหมือนทำ เจริญ หรือบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม ก็เหมือนทำ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ก็เหมือนทำ จะใช้คำว่า “ฝึก” หรือจะใช้คำว่า “ทำ” เราคุ้นเคยในใจของเรา แต่ว่าถ้าได้ฟังธรรมแล้วเราต้องไม่ลืมเลยว่า แท้ที่จริงแล้วเราต้องเข้าใจให้ตรงว่าไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรม ฉะนั้น การที่สภาพธรรมเกิดบ่อยๆ นั่นก็คือการสะสม ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมเราก็บอกว่า “เราฝึก” แต่ความจริงหา “เรา” จากที่ไหน เพราะแม้แต่เราขณะนั้น ถ้าเราจะพูดถึง"วิริยะ" ก็เกิดแล้วกับจิตเกือบทุกดวง เว้นจิต ๑๖ ดวงที่เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมานั่งคำนึงถึงว่าเราจะต้องมีวิริยะ หรือว่าเราจะควรเข้าใจให้ถูกต้องว่าวิริยะก็ไม่ใช่เรา แล้วก็เกิดแล้วก็จะเป็นกุศล หรืออกุศล ขณะใดที่มีความคิดว่าเราเพียร ขณะนั้นเห็นถูก หรือไม่

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมเพียงครึ่งหนึ่งในเรื่องละชั่ว หรือว่าให้ทำความดีให้ถึงพร้อม แต่ทรงแสดงถึงที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้เข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรม ทำไมเรายังไปติดว่าเราฝึกได้ หรือว่าเป็นเราที่ฝึก แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกขณะไม่มีช่องทางที่ความเป็นเรา ความเป็นตัวตน จะเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับก็เป็นอนันตรปัจจัย ที่จะทำให้จิตแต่ละขณะเกิดสืบต่อแล้ว โดยที่ว่าไม่มีเรา แต่ว่ามีการที่จะได้ยินได้ฟังเป็นการอบรมซ้ำบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความชำนาญ เป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะถามเรื่องของฝึก เรื่องของทำ เรื่องของอะไรก็ตามก็ให้ทราบว่า ในใจของเราๆ คิดอย่างไร เราคิดว่าเป็นเรา หรือว่าเราเข้าใจถูกต้องว่าเป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อเช้าผมเดินตอนเช้าก็ไปเห็นแมวที่เราเลี้ยงไว้ที่บ้านมันตายอยู่หน้าบ้าน ก็เลยนึกขึ้นว่ามันเป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะที่นึกมีเหตุปัจจัยที่จะคิดอย่างนั้น ไม่ใช่เราพยายาม แม้แต่ความคิดของแต่ละคนแต่ละขณะก็เกิดเพราะการสะสม ทำไมคนอื่น หรือวันอื่นอาจจะไม่เกิดคิดอย่างนี้ แต่พอวันนี้เกิดอย่างนี้คิดอย่างนี้ก็เพราะได้สะสมมา ที่จะป็นความเห็นถูกก็ต้องเป็นการสะสมมาที่จะเห็นถูกที่จะเกิดคิดอย่างนั้นในขณะนั้นได้

    คุณวิชัยกำลังคิด หรือไม่

    อ.วิชัย กำลังคิด

    ท่านอาจารย์ บังคับให้คิด หรือไม่

    อ.วิชัย ก็ไม่ ตอนนี้ทุกท่านก็คิด ก็ไม่ได้ตั้งตัวเตรียมตัวที่จะคิด แต่ว่ามีเหตุปัจจัยเกิดแล้ว มีแล้ว และดับแล้วด้วย และก็มีเหตุปัจจัยให้คิดเรื่องใหม่ต่อไป แต่ว่าการจะมีเหตุปัจจัยที่จะคิดถูกต้อง หมายถึงว่าได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ถูกต้องก็เป็นปัจจัยที่ให้มีการปรุงแต่งมีปัญญาเกิดขึ้น ที่สามารถจะรู้แล้วเข้าใจได้ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ความคิดของคุณกุลคงไม่ใช่ความคิดเดียวกับของคุณวิชัยใช่ หรือไม่

    อ.กุลวิไล แน่นอน เพราะว่าจิตเกิดดับคนละขณะ แล้วก็อยู่กันคนละที่ด้วย เพราะฉะนั้นไม่เหมือนกัน แล้วสภาพจิตท่านก็แสดงอรรถว่าคิดก็จริงก็คือรู้แจ้งในอารมณ์ แต่ถ้าโดยสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยก็คือวิตกเจตสิก ก็คือจรด หรือตรึกในอารมณ์ สภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกทำงานร่วมกันเป็นสัมปยุตตธรรม เกิดดับพร้อมกันรู้อารมณ์เดียวกัน เรามักจะชินอยู่กับความเป็นตัวตน ก็เลยเหมือนกับเราเป็นคนที่คิด หรือทำ แต่ที่จริงเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งในอารมณ์ และขณะนั้นก็มีวิตกเจตสิกเกิดขึ้นจรดตรึกถึงอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง มีความเข้าใจว่า ความคิดจบเรื่องนั้น ต่อเรื่องนี้ ต่อๆ ไป เรื่อยๆ แปลกตรงช่วงที่ต่อ ถึงได้เข้าใจว่า เป็นอนัตตาจริงๆ ก็เกิดสงสัยในใจ ก็คิดขึ้นมาได้อย่างนั้นเอง ตรงนี้จะช่วยให้เห็นถึงการบังคับบัญชาไม่ได้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่ได้ฟังไม่สูญหายเลย สะสมสืบต่อพร้อมที่จะปรุงแต่งเป็นความคิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง คือก็ยังรู้สึกอัศจรรย์ตรงนี้อยู่ บทจะคิดขึ้นมาก็คิดไปได้

    ท่านอาจารย์ ความจริงธาตุรู้น่าอัศจรรย์ หรือไม่ ธรรมทั้งหลายน่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด และก็เปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ทำให้เกิดขณะนั้นเป็นอย่างนั้นไม่ได้ด้วย

    ผู้ฟัง ที่ว่าสะสม บางครั้งฟังตอนเช้าทางวิทยุ บางสถานีที่เกิดเสียไปแล้วเปิดฟังไม่ได้ กระผมก็เปลี่ยนไปฟังสถานีอื่น ไปพบสถานนีที่ว่าผิดบ้างถูกบ้าง เมื่อฟังไปแล้วจะเป็นการสะสม หรือไม่

    อ.วิชัย สั่งสม หรือไม่

    ผู้ฟัง คิดว่าสะสม

    อ.วิชัย พิจารณาได้ใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง แต่ขณะนั้นจิตเราออกมาต่อต้านว่า แบบนี้ผิดนะ แบบนี้ถูกนะ นี่ก็จะเป็นการสะสมได้ หรือไม่

    อ.วิชัย ก็ทุกๆ ขณะที่จิตเกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยหลายปัจจัยใช่ หรือไม่ ดังนั้น ปัจจัยในการสั่งสมมาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว แต่ว่ามีหลายปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยให้ตรึกนึกคิดอย่างนั้นด้วยอะไร เพราะเหตุว่าแต่ละท่านก็ตรึกนึกคิดไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การสั่งสมมาก็แตกต่างกันให้เป็นปัจจัยให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น และก็แตกต่างกัน เป็นกุศลจิตบ้าง เป็นอกุศลจิตบ้างก็แตกต่างกัน

    ผู้ฟัง บางคำที่ท่านเรียกว่าสั่งสม กับสะสม สะสมสิ่งนี่ผิด ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็ขอสนทนากับคุณอาคม ถ้าบอกว่า “จิตสะสม” ขณะนี้เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง คือสะสมกิเลสบ้าง กุศลบ้าง

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้ากล่าวว่า “จิตสั่งสม” ขณะนี้เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ตรงนี้ผมไม่เข้าใจ ก็เคยได้ฟังมาบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วท่านอื่นๆ ถ้าได้ยินคำว่า “จิตสะสม” เข้าใจว่าอย่างไร เหมือนกันใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้น คำว่า สั่งสม ก็เข้าใจว่าเหมือน สะสม หรือสะสมก็เข้าใจว่าเหมือนสั่งสม คือไม่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมเลย แล้วแต่ภาษาชาวบ้านแต่ละแห่งจะใช้คำว่าสั่งสม หรือสะสม ถ้าเข้าใจตรงตามนั้นก็เป็นการถูกต้อง แต่ถ้าชาวบ้านที่หนึ่งใช้คำว่าสั่งสม แล้วเราก็ไปใช้คำว่าสะสม เขาจะเข้าใจ หรือไม่ เขาจะเข้าใจผิดไป ซึ่งก็เป็นเรื่องของภาษา ก็ไม่ทราบว่าผู้ที่เข้าใจจะเข้าใจคำไหนในที่นี้ จะเข้าใจโดยคำว่าสั่งสม หรือจะเข้าใจโดยคำว่าสะสม เพราะคุณอาคมคุ้นเคยกับทางโลกใช่ หรือไม่ พอได้ยินคำว่า “สะสม” ก็เข้าใจ เพราะฉะนั้นสภาพของจิตเป็นสภาพที่สะสมเกิดแล้วดับไปก็จริง แต่ก็สะสมสิ่งที่มีอยู่ คุณอาคมเข้าใจได้ แต่ได้ยินชาวบ้านเขาบอกว่าจิตสั่งสม พอจิตดับไปแล้วก็ใช่ว่าจะหายไปไหน จิตที่มีอยู่ดวงก่อนก็สืบต่อไปในจิตทุกขณะก็สั่งสมไป จะเข้าใจได้ หรือไม่เข้าใจ หรือเข้าใจว่าเหมือนกัน แล้วแต่ว่าจะใช้คำอะไร

    ผู้ฟัง เหมือนไปสั่งจิตให้สะสม

    ท่านอาจารย์ นี้ก็เป็นเรื่องของการคิด แต่ว่าถ้าโดยเนื้อความ สั่งสมสิ่งที่มีแล้ว ที่ได้ดับไปแล้ว ไม่ได้สูญหายไปไหน ถ้าใช้คำนี้จะเข้าใจ ได้ หรือไม่ ถ้ามีคำอธิบายอย่างนี้

    อ.ธิดารัตน์ ก็ขอกล่าวถึงคำว่า “สั่งสม” ในธัมมสังคณี ที่อธิบายเรื่องของจิต ท่านจะใช้คำว่าย่อมสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี คำว่า “สั่งสม” ท่านจะมีใช้อยู่ในธัมมสังคณี และจะมีอยู่ในอรรถกถา และก็ทั่วไปจะพบได้ในพระไตรปิฎก

    ท่านอาจารย์ ก็ขอกล่าวถึงคำภาษาบาลี เพราะว่าบาลีไม่มีแน่ “สั่งสม” เป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับผู้แปลว่าผู้แปลคัมภีร์นั้นจะใช้คำอะไร ถ้าผู้แปลคัมภีร์ในยุคนั้นจะใช้คำว่า “สะสม” และเราก็เข้าใจได้ กับผู้แปลอีกท่านหนึ่งจะใช้คำว่า “สั่งสม” ก็เข้าใจได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความจำกัดว่า เมื่อผู้แปล แปลจากอรรถสาลินีซึ่งเป็นภาษาบาลีแล้ว ใช้คำว่าสั่งสมแล้ว เราจะใช้คำอื่นไม่ได้ ที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจได้ หรือว่าไม่จำเป็น ตายตัวว่าทุกครั้งที่พูดเรื่องลักษณะของจิตจะใช้คำว่าสะสมไม่ได้ ต้องใช้คำว่าสั่งสม อันนั้นก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าภาษาบาลีไม่มีคำว่าสั่งสม ขึ้นอยู่กับผู้แปล ขอเรียนเชิญอาจารย์สมพรอธิบาย

    อ.สมพร เรื่องสั่งสม กับสะสม ซึ่งก็ไม่แปลกกัน เพราะว่าบางคนชำนาญมาในคำว่าสั่งสม บางคนชำนาญมาในคำว่าสะสม ก็คือจิตนั่นเอง สั่งสม หรือสะสม หมายความว่าที่อาจารย์กล่าวว่าสั่งสมสันดาน ถูกแล้ว คือว่าแม้พระองค์ก็ไม่ทรงละเลยคำพูดของประชาชน ไม่ใช่เอาแต่คำของพระองค์อย่างเดียว สิ่งใดที่รู้ได้ด้วยอำนาจบัญญัติพระองค์ก็อนุโลมตามในที่นี้คำว่า “สะสม” “สั่งสม” คือสะสมของจิต หรือสั่งสมของจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราชำนาญอย่างไหน แต่เราเข้าใจว่าจิตนั้นเป็นธรรมชาติสะสมจริงๆ เพราะว่าสันดานของเราถ้ามีโลภะมากก็สั่งสมโลภะมากเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในภายใน ถ้าเราสะสมโทสะมากเราก็โกรธง่าย เพราะฉะนั้นสะสม หรือสั่งสมขอให้ละ โลภะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นใจความอย่างสำคัญ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ขณะนี้ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ จะปราศจากปัจจัยไม่ได้เลย และก็มีปัจจัยมากด้วย แต่ว่ายังไม่ถึงกาละที่เราจะกล่าวถึงปัจจัยโดยละเอียด เพราะมีเหตุว่าเราจะต้องมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้มั่นคง เพราะฉะนั้น เวลานี้มีปัจจัย แต่เพียงเรายังไม่ได้กล่าวชื่อของปัจจัยเท่านั้นเอง เช่น ขณะที่กำลังเห็น จะไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาต้องมีเมื่อจิตเห็น จะกล่าวว่ามีจิตเห็นโดยที่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตประเภทนี้เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้จิตประเภทอื่นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในลักษณะนี้เราก็จะเข้าใจความหมาย แม้ว่าเรายังไม่ได้กล่าวว่าเป็นอารัมมณปัจจัย เพียงแต่เรารู้ว่าเวลาที่มีจิตเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ สิ่งที่ถูกจิตรู้ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นปัจจัยโดยที่เป็นอารัมมณปัจจัย คือเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น และสำหรับจิตเห็นก็ยังต้องมีจักขุปสาทด้วย เราไม่ได้กล่าวชื่อปัจจัย แต่เราเข้าใจถูกต้องว่า เวลาที่มีจิตเกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ และสิ่งที่ถูกจิตรู้ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นปัจจัยที่โดยอารัมมณปัจจัย คือเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น และสำหรับจิตเห็นก็ยังต้องมีจักขุปสาทด้วย เราไม่ได้กล่าวชื่อปัจจัย แต่เราเข้าใจถูกต้องว่า ถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือเราจะได้ทราบมาแล้วว่า ก่อนที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น ปัญจทวาราวัชชนจิตคือวิถีจิตแรกต่อจากภวังคุปัจเฉทะต้องเกิดก่อน และเมื่อวิถีจิตแรกคือปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้วจิตเห็นจึงเกิดขึ้น ความเป็นปัจจัยของปัญจทวาราวัชชนะที่มีต่อจิตเห็นที่เกิดก็เป็นโดยอนันตรปัจจัย คือเราไม่ได้ใส่ชื่อเท่านั้นเอง แต่ว่าเราจะมีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมก่อน และภายหลัง "ชื่อ" ก็เป็นสิ่งที่เราได้เข้าใจมาแล้วนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ภาษาไทยที่กล่าวสั้นๆ บุคคลนี้นิสัยเป็นอย่างไร เราก็หมายความถึง โลภะ โทสะ หรือโกรธ หรือฉลาด หรือมีปัญญา หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นนิสัยของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ว่าเกิดได้เองโดยที่ไม่มีการสั่งสม หรือว่าไม่เคยเกิดมาก่อน เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลมีโลภะ บางคนมาก บางคนน้อย บางคนมีในรูปทางตา บางคนมีในเสียง บางคนมีในกลิ่น บางคนมีในรส บางคนมีในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็เป็นสิ่งซึ่งเราสามารถที่จะรู้ได้ว่าแต่ละคนมีอัธยาศัยต่างกันในภาษาไทย เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ จนกระทั่งมีปัจจัยที่จะเกิดอีก เกิดอีก เรื่อยๆ ตามการสั่งสม อย่างนี้เราก็นำคำมาใช้ว่า "นิสัย" แต่ถ้าเราจะพูดตามภาษาบาลีที่เป็นปัจจัยคือ "อุปนิสสยปัจจัย" แต่ก็ยังไม่ต้องกล่าวถึงก็ได้ เพียงแต่ว่าให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก่อน และชื่อของปัจจัยก็จะมาตามลำดับที่ละเอียดขึ้นกว่านี้

    ผู้ฟัง ความแตกต่างในขณะที่เห็นของพระอริยะกับปุถุชนธรรมดา ซึ่งเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ในขณะที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต การเห็นเกิดขึ้น ปุถุชนก็เห็น พอถึงมโนทวารแล้วก็จะเห็นเป็นคน แต่อย่างของพระอริยะที่ท่านเห็นถูกต้อง ท่านจะเห็นเป็นคนก่อน หรือไม่ ถึงจะมีความเข้าใจว่าไม่ใช่คน สัตว์ สิ่งของ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงก็เป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตตามลำดับซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ จิตของพระอริยบุคคล จิตของปุถุชนก็ตามแต่ จิตต้องเกิดดับสืบต่อตามลำดับ เพราะฉะนั้น เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ขณะนี้กล่าวถึงทางตา ที่คุณรัชดากล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ หรือไม่ คือหลังจากภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ต้องเกิด เพราะว่ารูปกระทบกับจักขุปสาท จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นแบบนี้

    ท่านอาจารย์ จิตของพระอรหันต์

    ผู้ฟัง เช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ จิตของพระอริยะ

    ผู้ฟัง เช่นดียวกัน

    ท่านอาจารย์ จิตของปุถุชน

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถึงกาละที่จักขุทวารวิถีดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อแล้ว ไม่ว่าจะจิตของพระอรหันต์ หรือของใครก็อย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำถามนี้จะเป็นอย่างไร หลังจากนั้นแล้วก็คือไม่ว่าใครก็สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรเหมือนกันหมด

    ผู้ฟัง สิ่งที่เห็นเป็นบุคคลชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่ความเข้าใจของพระอริยะจะต่างกับปุถุชน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ปัญญาก็ดับกิเลสไปตามลำดับ แต่ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการเกิดดับสืบต่อของจิตได้

    ผู้ฟัง แสดงว่าอยู่ที่ความเข้าใจใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ปัญญาที่ได้ดับกิเลสแล้ว กับที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นดับกิเลส

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ที่กล่าวถึงจิตของพระอรหันต์ที่ว่าได้ละอกุศลวิบากในปวัตติกาลได้ ขณะนี้ก็เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมพระอริยะขั้นโสดาบัน ท่านก็รับผลในปวัตติกาล ได้โดยอเหตุกอกุศลวิบาก แต่อเหตุกอกุศลวิบากที่เป็นสันตีรณะ เหตุใดจึงไม่ให้ผลในปฏิสนธิกาล จึงขอความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าปฏิสนธิกาลกับปวัตติกาล ปฏิสนธิกาลกี่ขณะ

    ผู้ฟัง ๑ ขณะ

    ท่านอาจารย์ ต่อจากนั้นเป็น ปวัตติกาล เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าปุถุชน หรือพระอริยะทั้งหลาย ขณะที่เกิดเป็นปฏิสนธิกาล ต่างกันใช่ หรือไม่ ปฏิสนธิจิตในขณะที่เป็นปฏิสนธิกาล อย่างจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่ประสูตรเป็นเจ้าชายสิทธัตถะขณะนั้นเป็นขณะที่เป็นปฏิสนธิกาล เป็นอุเบกขาสันตีรณะได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ปฎิสนธิจิตของบุคคลนั้น ปฏิสนธิกาลเป็นสันตีรณอกุศลวิบากได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง คือเราเรียนรู้ก็ไม่ได้ แต่ทำไมปวัตติกาลให้ผลได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กรรมมีทั้งให้ผลขณะปฏิสนธิกาล และขณะปวัตติกาล คือหลังจากปฏิสนธิแล้วจึงให้ผลได้ ไม่อย่างนั้นแล้วจะทำอย่างไร ให้ผลปฏิสนธิ ๑ ขณะ แล้วจะให้กรรมอื่นไปทำปฏิสนธิกาลอีกก็ไม่ได้ แต่ว่าสามารถที่จะให้ผลหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้วเป็นปวัตติกาล กรรมอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะให้ผลหลังจากนั้น อย่างนี้พอที่จะเห็นได้ หรือไม่ว่า สันตีรณะที่เป็นวิบากให้ผลเกิดขึ้นได้หลังปฏิสนธิคือในปวัตติกาล สำหรับผู้ที่ไม่ได้ปฏิสนธิในอบายภูมิ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิสนธิในอบายภูมิ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในขณะที่เป็นปฏิสนธิกาล และก็ยังให้ผลในปวัตติกาลด้วย

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจตรงนี้ว่าพระโสดาบันท่านปิดประตูอบายภูมิทั้ง ๔ เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณะก็ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

    ผู้ฟัง สติขั้นฟัง กับสติขั้นระลึกรู้ขณะนั้น จะเกิดขึ้นอย่างไร หรือว่าเวลาฟังทุกครั้งก็จะทราบว่าสิ่งที่เราฟังคืออะไร แต่ว่าในเทปก็จะกล่าวว่าให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่าเห็น ได้ยิน เมื่อไหร่เราก็ได้ยินสิ่งที่ว่าเป็นธรรมที่เราฟัง ไม่ทราบว่าเราทำถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วเคยได้ยิน หรือไม่ว่าธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัย เคยได้ยิน เพราะฉะนั้น สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยจะเกิดขึ้นได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ หรือไม่ ถ้าไม่เกิด ก็หมายความว่าไม่มีปัจจัยจะให้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ทีนี้ในเทปก็กล่าวว่า สติต้องระลึกรู้ ไม่แน่ใจว่าเมื่อสติเป็นอนัตตา เกิดตามเหตุปัจจัย แล้วในขณะเดียวกันก็กล่าวให้สติระลึกรู้ ก็เลยไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่สั่งสติ สั่งสติไม่ได้ แต่ลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึก เพราะฉะนั้นระลึกตั้งแต่ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา จิตสงบ หรือว่าขั้นสติปัฏฐาน สติมีหลายระดับ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราต้องฟังให้เป็นสติขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ให้ระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง และเราก็มีแค่สติขั้นฟังต่อๆ ไป ใช่ หรือไม่ แล้วก็สะสมต่อๆ ไป

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เราไปให้เกิด หรือสั่งให้เกิด แต่เมื่อมีปัจจัย เช่นเดียวกับได้ยินขณะนี้ ถ้าไม่มีปัจจัย ได้ยินก็เกิดไม่ได้ ฉันใด ถ้าไม่มีปัจจัยพอที่สติจะระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม สติก็จะรู้ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ ก็เป็นเพียงขั้นสติขั้นฟัง

    คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์ย้ำเตือนเรื่องความเข้าใจสภาพธรรม ท่านอาจารย์กล่าวว่า ขณะที่เราศึกษา แล้วเราศึกษามากๆ ศึกษาไปๆ แล้วเราก็จะไปหลงติดอยู่กับทะเลชื่อ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ