พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51


    ตอนที่ ๕๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ในขณะที่พระสูตรจะไม่ได้กล่าวถึงจิตโดยละเอียด แต่เมื่อเข้าใจพระอภิธรรมแล้ว อ่านพระสูตรก็สามารถจะให้ความเข้าใจที่เกิดจากพระอภิธรรมไปเข้าใจสภาพธรรมที่แม้ไม่ได้กล่าวในพระสูตรก็มี

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันขณะที่เห็นเป็นธรรมอย่างไรก็ยังไม่รู้ แล้วไปถามเรื่องปสาทรูป สักพักหนึ่งพอลืมไปผมก็กลับไปคิดอยากจะรู้ลักษณะของปสาทรูปอีก เป็นการที่ศึกษาเกินฐานะ หรือไม่ ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาเมตตาอีกสักครั้ง

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ศึกษาธรรมแล้วก็รู้จักตัวเองว่าเราสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ระดับไหน อย่างในเรื่องของญาณกถาปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาของเราจะถึงระดับไหน หรือว่าเป็นปัญญาหลากหลายที่แสดงไว้โดยครบถ้วนโดยประการทั้งปวง เพื่อให้เห็นว่าความต่างของปัญญามีมากมายเหลือเกิน แม้แต่การเริ่มศึกษาธรรมเราก็ต้องเข้าใจที่ว่าถ้าเราศึกษาพระวินัยไม่ดีก็จะประพฤติผิดเพราะว่ามีความเข้าใจว่าสิ่งที่ได้ทรงบัญญัติไว้นั้นไม่ถูกต้อง หรือว่าไม่เป็นไปตามนั้น โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าแม้ท่านพระสารีบุตรก็ไม่สามารถที่จะบัญญัติสิกขาบทให้พระภิกษุปฏิบัติได้ ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทรงรู้กิจน้อยใหญ่ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มอกุศลให้เจริญขึ้น หรือว่าจะเป็นการที่ทำให้กุศลเจริญขึ้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และก็ต้องมีความเคารพจริงๆ ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาธิคุณว่าเมื่อทรงบัญญัติข้อใดก็ต้องมีเหตุผลพร้อมมูลที่จะให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้เหตุผล ที่ท่านยกตัวอย่างก็มีพระภิกษุที่ท่านไม่เห็นด้วย และท่านก็ประพฤติผิด เพราะท่านคิดว่าไม่น่าจะเป็นโทษ

    ผู้ฟัง กระผมฟังที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายเรื่องธรรมรส อรรถรส และวิมุตตรส ในขณะที่เรียน และศึกษานั้น ในขณะที่เข้าใจธรรมรสแล้ว ส่วนอรรถรสหมายความว่าถ้าหากผู้นั้นสติปัฏฐานไม่เกิดเลย ก็จะไม่เข้าใจคำว่าอรรถรส

    ท่านอาจารย์ เวลานี้คุณประทีปก็มาติดอยู่ที่คำ อีก ๓ คำ ซึ่งความจริงที่เราต้องเรียนตลอดชีวิตแล้วก็มากมาย เดี๋ยวเราเรียนตรงนั้น เดี๋ยวเราเรียนตรงนี้ แต่ถ้าเราเรียนตามลำดับค่อยๆ เข้าใจ แม้แต่คำว่า “รสะ” หรือ “รส” จะมีกี่รส รสอะไรบ้าง ก็ทรงแสดงไว้ครบถ้วน เพราะฉะนั้น เราคงจะไม่ไปหยิบตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แต่ว่าศึกษาตามลำดับจะเป็นประโยชน์กว่า ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ให้เป็นความเข้าใจของเราที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง กระผมเคยฟังท่านอาจารย์ว่า ถึงแม้ว่าเราจะศึกษาธรรม จำชื่อได้ จำหัวข้อได้ จำตัวเลขได้ จำได้หลายนัยก็ตาม แต่ถ้าขณะใดก็ตามที่ทางกาย ทางวาจา ที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด นี้เป็นความจริงใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลก็มี ระดับขั้นทาน ขั้นศีลก็ได้ แต่ข้อสำคัญก็คือว่าศึกษาธรรมมานาน บางท่านก็หลายสิบปี สภาพธรรมก็ปรากฏแต่ก็ยังไม่เคยที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ นี่ก็เป็นเรื่องของการอบรม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของโลภะซึ่งจะติดตามมาว่าอยากจะรู้ แต่เป็นผู้ที่ตรง เวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดหลงลืมสติก็จะรู้ได้ว่าเป็นความเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะทำให้มีพื้นฐานความมั่นคงว่า สิ่งที่ได้เรียนทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย มีเป็นปกติในชีวิตประจำวันทั้งหมด เมื่อสักครู่กล่าวเรื่องชาติขณะนี้ก็มี กล่าวเรื่องภูมิ ขณะนี้ก็ใช่ กล่าวเรื่องเห็น กล่าวเรื่องได้ยิน กล่าวเรื่องโลภะ เราไม่แยกออกไปเป็นส่วนต่างหาก เหมือนกับเราไปเรียนเรื่องอะไร เราจะสามารถเข้าใจจุดประสงค์ได้ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อให้รู้สิ่งที่มี และกำลังมีให้ถูกต้อง เช่น เห็นมีกำลังมี เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม และก็เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่เรา คือทุกอย่างที่มีทั้งหมด เวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดก็จะเป็นเราทั้งหมด แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดแม้นิดเดียวก็จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับ ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด "สติ" ในที่นี้หมายความถึงสติปัฏฐาน ไม่ได้หมายความถึงระดับอื่น

    เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ความต่าง และค่อยๆ เข้าใจความต่างของความรู้ขั้นฟัง ความรู้ขั้นคิด กับความรู้ขั้นประจักษ์แจ้ง โดยการที่สติสัมปชัญญะเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม มิฉนั้นชาวพุทธจะเข้าใจผิด คิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไตร่ตรองธรรม แม้แต่บุคคลในอดีตซึ่งเป็นภิกษุก็เข้าใจว่าทั้งหมดที่ทรงแสดงนั้นถูกต้องสมบูรณ์ แต่มาจากการคิดไตร่ตรอง คือไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ความจริงมีอย่างนี้ กำลังเป็นอย่างนี้ ผู้ใดสามารถทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมที่เป็นอย่างนี้ในขณะนี้ได้โดยละเอียด เช่น จิตเห็นขณะนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วทำกิจนี้ จะทำกิจได้ยิน หรือทำกิจคิดนึกไม่ได้เลย ในขณะที่จิตได้ยินเกิดขึ้นก็ต่างขณะ เป็นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเช่นเดิมแต่เป็นธาตุที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่ธาตุเห็น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้นั้นฟังพระธรรมอย่างไตร่ตรองก็จะเข้าใจว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงไตร่ตรอง แต่ทรงแสดงตามที่ได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าสภาพธรรมมีอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ และการประจักษ์แจ้งต้องเป็นความจริงอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่สามารถที่จะรู้ความต่างของสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรม จนกว่าจึงระดับซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งยังไม่ถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ยังไม่ถึงโลกุตตรจิตเลย เป็นแต่กามาวจรจิต จิตระดับที่กำลังเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรมเพิ่มขึ้น จนประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าศึกษาจริงๆ จะไม่เข้าใจผิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามการไตร่ตรองการคิดนึก บางท่านก็กล่าวว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงประจักษ์แต่ท่านอื่นประจักษ์อย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงประจักษ์แจ้ง นี่ก็ผิด ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญาที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลกับบุคคลอื่น ไม่ใช่เฉพาะพระองค์เองที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม แต่ทรงประกอบด้วยพระญาณต่างๆ ที่สามารถจะแสดงธรรมที่มีในขณะนี้โดยประการหลากหลายเพื่อที่จะให้ผู้ฟังค่อยๆ ไตร่ตรองค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เห็นถูก จนกระทั่งมีผู้ที่รู้แจ้งประจักษ์แจ้งตามพระองค์เป็นพระอริยสาวกมากมาย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเป็นการที่ตรงต่อตัวเองว่าในชาตินี้เราได้ฟังมามากเหลือเกิน แล้วเราก็จะจากโลกนี้ไปโดยสติสัมปชัญญะเกิด หรือไม่เกิด แต่ไม่ใช่เพราะอยากให้เกิด แต่ไม่ใช่เพราะคิดว่าไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะเกิด หรือว่าคิดว่าจะเกิดไม่ได้ แต่ตามความจริงต้องทราบว่าที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็ต่อเมื่อสติระลึกตรงลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจนกว่าจะเห็นถูก เพราะฉะนั้น ก็เป็นการตระเตรียมปัญญาที่พร้อมที่จะรู้ความจริงเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดที่จะอบรมต่อไปโดยที่ไม่กังวลว่าชาตินี้จะมีสติสัมปชัญญะเกิดกี่ครั้ง จะเกิดมาก จะเกิดน้อย ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ความเข้าใจถูกความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งพร้อมที่จะเข้าใจ และพร้อมที่จะละความเป็นตัวตน แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็หวังไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ถูกต้องเพราะเหตุว่าหวังอย่างไร ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าจะอบรมเจริญสติปัฏฐานทางตา ควรจะระลึกที่เวทนาใดเพราะว่ามีหลายๆ เวทนา

    อ.ธิดารัตน์ ถ้ากล่าวถึงสติระลึกรู้สภาพธรรมขณะที่เป็นเวทนาไม่ได้คำนึงถึงเลยว่าจะเป็นเวทนาทางใด และก็อย่างไร แต่ในขณะนั้นมีลักษณะของเวทนาใดปรากฏ แล้วระลึกรู้ลักษณะของเวทนานั้นตามความเป็นจริงว่าเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ขอถามคุณเรืองชัยเพื่อให้คิด ที่คุณเรืองชัยกล่าวว่ามีเวทนาหลายเวทนา แล้วจะระลึกรู้เวทนาอะไร นั้น ลองคิดว่า ถ้าเป็นผู้ที่รู้ว่าสติเป็นอนัตตา สติเกิดเมื่อไหร่เรารู้ได้ หรือไม่ เช่น ขณะต่อไปจะรู้ไม่ได้เลยว่าสติสัมปชัญญะสติปัฏฐานจะเกิด หรือไม่เกิด เพราะรู้ไม่ได้ แต่ว่าสติเมื่อมีปัจจัยก็เกิด เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่าเวทนามีหลายเวทนา แล้วจะระลึกรู้เวทนาอะไร ลองคิดไตร่ตรองถึงคำพูดประโยคนี้ก่อน แล้วก็จะตอบเองได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตามีสภาพธรรม ๒ อย่างคือรูปธรรม..

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เรากำลังกล่าวเรื่องเวทนา ความรู้สึกนี่มีแน่นอนไม่เคยขาดไปเลย และสติสัมปชัญญะก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะนั้นจะเป็นเวทนาอะไรก็ไม่รู้ด้วยใช่ หรือไม่ เราจะไปรู้ล่วงหน้าต่อไปว่าเวลานี้เวทนาจะเกิด แล้วต่อไปสติสัมปชัญญะจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่เวทนาอะไรจะเกิดก็ไม่รู้ สติสัมปชัญญะจะเกิด หรือไม่ ก็ไม่รู้ด้วย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเรื่องของการศึกษาธรรมเป็นเรื่องละเอียด บางทีเราก็เผลอ แล้วก็อยากจะเป็นทฤษฎีต่างๆ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ เป็นเวทนาอะไร แต่ถ้าเราเข้าใจว่า ขณะนี้มีเวทนา แต่สติสัมปชัญญะเกิด หรือไม่ ไม่ทราบ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะไม่รู้ลักษณะของเวทนานั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดไม่ใช่เพราะเราคิดว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงเกิด ไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด แล้วเวทนาก็เกิดดับไปตลอดเวลาสลับกันไปเรื่อยๆ สลับกันไปเรื่อยๆ ทุกเวทนา แล้วแต่ว่าขณะต่อไปเวทนาอะไรจะเกิด และขณะต่อไปสติสัมปชัญญะจะเกิด หรือไม่ เพราะฉะนั้นคำถามนี้ทบทวนอีกสักนิด แล้วก็จะตอบได้

    ผู้ฟัง คือคิดปัญหานี้ขึ้นมาเพราะบางท่านยังไม่เข้าใจ คิดว่าเวทนาปรากฏเพียงทางมโนทวาร ผมเลยกล่าวว่าเวทนาปรากฏทางปัญจทวารก็มี อย่างตาเห็นรูปแล้วเกิดชอบดอกไม้สวย เพราะขณะนั้นโลภมูลจิตเกิดทางปัญจทวาร ๗ ขณะ แล้วทางมโนทวารก็จะต่ออีก ๗ ขณะเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้โดยการศึกษาทราบว่าหลังจากปัญจวิถีวาระหนึ่งวาระใดดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิต ก็เกิดต่อในอารมณ์เดียวกัน นี่คือโดยการศึกษา แต่จะรู้อย่างนี้เมื่อใด โดยที่ว่าเรายังไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย เป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าไม่มีพื้นฐานความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ว่าหนทางเป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เป็นตัวเรา ที่สามารถจะกระทำได้ แต่ต้องเป็นเพราะเหตุว่ามีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วแต่ว่าธรรมใดปรากฏ แม้ว่าธรรมใดปรากฏ เช่น กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่ใช่ว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของเห็น หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องซึ่งเราไม่สามารถจะเลือกได้เลยว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดแล้วจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาอะไร โดยที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเลือก เราไม่รู้ว่าเวทนาต่อไปจะเป็นอะไร เมื่อสักครู่นี้ก็มีท่านที่ไม่สบายใจ แล้วเวทนานั้นก็หมดไปแล้ว สติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจะไปเลือกรู้ได้ หรือไม่ เมื่อเวทนาที่รู้สึกไม่สบายดับไปแล้ว ถ้าเกิดสบายขึ้นแล้วตอนนี้ แล้วสติสัมปชัญญะก็จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สบายใจขึ้น ก็เป็นไปได้อีก เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าเวทนามีหลายอย่าง แล้วสติสัมปชัญญะจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาอะไร ก็คงจะพิจารณาตอบได้

    ผู้ฟัง ถามว่าให้ระลึกตรงเวทนานั้น ที่เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีแข็งปรากฏทางกายทวาร ภวังค์คั่น และทางมโนทวารก็รู้แข็งนั้นต่อ สืบต่ออย่างเร็วมาก จนไม่มีใครสามารถจะแยกได้ว่าทางกายทวาร หรือทางมโนทวาร การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ให้ไปรู้ว่าทางกายทวาร หรือทางมโนทวาร ขณะนั้นคือคิด แต่สติจะระลึกเพื่อรู้ให้ถูกต้องว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงทวารเลย แต่ว่าจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าลักษณะของรูปธรรมไม่ใช่ลักษณะของนามธรรม ต้องมีความรู้ขั้นต้นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ไปแยกทวาร

    เรื่องของพยัญชนะเป็นเรื่องที่กว่าเราจะไตร่ตรองให้เข้าใจถูกตามที่ทรงแสดง เช่น สติเป็นโสภณเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทั้งหมด และสติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะก็คือขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี้คือความต่างแล้ว ซึ่งจากการฟังที่จะรู้ว่า แต่ก่อนนี้เราไม่เคยรู้เลยว่าที่กำลังให้ทานไม่ใช่เรา แต่เพราะโสภณเจตสิก เช่น สติ หิริ โอตตัปปะเกิดไปในกุศล คือการให้ในขณะนั้น การให้ขณะนั้นจึงมีได้ ขณะนี้คือหลังจากที่ฟังแล้ว แต่ก่อนฟังไม่เคยรู้อย่างนี้ ถึงแม้ฟังแล้วก็ใช่ว่าเราสามารถจะรู้ลักษณะของสติขั้นทาน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดระลึก เพราะฉะนั้นแล้วเราจะรู้ได้ หรือไม่ ขณะที่กำลังให้ทาน เวทนาก็มี แล้วสภาพธรรมหลายอย่างก็มี รูปก็มี แล้วก็สติสัมปชัญญะจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดย่อมได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เราที่สามารถจะบังคับบัญชาได้ นี่คือขั้นการฟัง แล้วเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ทุกคนรู้ว่าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์โดยชื่อ แต่เรารู้ หรือไม่ว่าขณะนั้นมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพียงแค่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ มองไม่เห็นเลยใช่ หรือไม่ เพราะว่าปัญญาที่สติปัฏฐานเริ่มที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรรม ไม่ใช่ขั้นที่สะสมอบรมจนคม จนชัด จนรู้แจ้ง จนประจักษ์

    เพราะฉะนั้น โดยการศึกษาทราบว่าขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ นี้คือเทียบเคียงปัญญาต่างขั้นว่าขั้นฟังต้องเป็นมหากุศลแน่นอน และต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย เพระเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นปัญญาอะไร สงสัย หรือไม่ แค่ไหน มี หรือไม่ ขณะที่สติระลึก เพราะลักษณะของสติปรากฏ เพราะเป็นสภาพที่กำลังระลึกจะใช้คำว่ารู้ลักษณะที่กำลังปรากฏด้วยความเข้าใจในลักษณะนั้น แต่ว่าจะต้องเริ่มจากขั้นที่ว่าแม้ขณะนั้นมหากุศลญาณสัมปยุตต์เริ่มมีตรงไหน ตรงที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงที่เคยได้ยินได้ฟังว่าสติระลึกได้ ไม่ใช่ไประลึกอื่น

    บางท่านอาจจะไปท่อง อย่างนั้นแสดงว่าไม่ได้เข้าใจเลยว่าสติสัมปชัญญะไม่ใช่ไปนั่งท่องถึงเรื่องราวของสภาพธรรม แต่มีความเห็นถูก เพราะฉะนั้นต่างกันแล้ว กำลังท่องกับความเห็นถูกไม่ใช่ท่อง ขณะนี้คือความต่างระดับหนึ่ง ไม่ใช่ท่องเพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมปรากฏ เช่น แข็ง ไม่ต้องไปนั่งท่องว่าแข็ง ไม่ต้องไปนั่งคิดว่าแข็งเป็นรูปธรรม ไม่ต้องไปคิดว่าแข็งเป็นอนัตตา ไม่ต้องคิดว่าสภาพที่รู้แข็งเป็นนามธรรม แต่ก็ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะเริ่มเห็นความต่างกันของสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะที่แข็งนิดหน่อย แล้วคิดต่อยาว แต่คนนั้นก็จะรู้ว่าคิดขณะนั้นไม่ใช่การรู้ความเป็นอนัตตา ความเป็นสภาพคิด เพราะเหตุว่าทันทีที่สติสัมปชัญญะที่ระลึกที่แข็งหมด ความคิดนั้นเป็นเรา เพราะยังไม่ชินต่อการที่จะรู้ว่าแม้ความคิดที่เกิดต่อก็คือนามธรรมชนิดหนึ่ง จากที่เคยได้ฟังมาแล้วทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ความละเอียดก็คือว่า ปัญญามีในขณะนั้นเพราะรู้ว่าสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่สติระลึกได้ เป็นสิ่งที่เมื่อสติระลึกก็จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ จากความเข้าใจ จากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ได้ปรากฏ ตราบใดที่ปัญญายังไม่อบรมพอที่จะปรากฏได้ แต่ให้รู้ว่าแม้ปัญญาที่เกิดพร้อมมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม รู้อะไร แค่ไหน อย่างไร ผู้นั้นก็รู้ตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น

    คุณอุไรวรรณ ขออนุญาตอ่านข้อความตรงนี้ที่บอกว่า จิตชื่อว่าปัณฑระเพราะหมายความว่าบริสุทธิ์นั้น ตรัสหมายเอาภวังคจิต ซึ่งบริสุทธิ์เพียงชั่วขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น ขณะที่หลับสนิททุกคนดูเหมือนบริสุทธิ์ ไม่รู้สึกชอบ ไม่รู้สึกชัง

    ท่านอาจารย์ ตรงนี้ไม่ใช่ความหมายของ ปัณฑระ แต่ตรงนี้เป็นความหมายของ ประภัสสร เพราะฉะนั้นจะมีอยู่ ๒ คำ คือคำว่า "ปัณฑระ" และ"ประภัสสร" ถ้ากล่าวว่า "ประภัสสร" หมายความถึงภวังคจิตกับกุศลจิต แต่ถ้ากล่าวว่า "ปัณฑระ" หมายความถึงจิตทุกประเภท ประภัสสรํ หมายความถึงภวังคจิตกับกุศลจิต นี่มีข้อความชัดเจน และก็ปัณฑระก็มีข้อความชัดเจนว่า หมายถึงจิตทุกประเภท นี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขด้วย

    สิ่งใดที่บกพร่องแก้ได้แต่ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวด้วยความสามัคคีที่จะเห็นประโยชน์แก่พระธรรม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัวที่จะเห็นว่า ตรงนี้บุคคลนี้ทำบกพร่อง หรืออะไรๆ ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนบกพร่องได้ โดยเฉพาะในเรื่องของพระธรรมเป็นเรื่องที่กว้างขวางสุดปัญญาที่ใครสามารถที่จะไปรู้ตามปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างมากที่สุดที่เป็นประโยชน์ที่สุดก็คือว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว มีความเข้าใจสภาพธรรม นี้เป็นประโยชน์สูงสุด ถ้าเราเรียนตำราแล้วเราไม่สามารถที่จะรู้ว่าแท้ที่จริงสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมดก็คือสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เกิดแล้วดับแล้วอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

    เพราะฉะนั้น เราซึ่งเป็นผู้ที่เห็นความห่างไกลของปัญญาของเรากับปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เริ่มที่จะฟัง พิจารณาได้ประโยชน์ ได้สาระ คือได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ส่วนเรื่องของพยัญชนะที่มากมายน้้นเราเทียบได้ว่าเรารู้ หรือไม่ เรารู้แค่ไหน เราจะรู้ได้ หรือไม่ กับสิ่งที่กำลังมี และเราก็มีคำอธิบายภาษาของเราซึ่งเราใช้ตั้งแต่เกิดที่จะทำให้เราเข้าใจในสภาพธรรมนั้นได้ หรือไม่ ถ้าสามารถจะเข้าใจได้ นั่นคือประโยชน์ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายให้ผู้ฟังได้เกิดความเห็นถูก ความรู้ถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นการจำชื่อ หรือจำเรื่องราว หรือเข้าใจว่าอ่านมาก รู้มาก ยิ่งอ่านจะรู้ได้ว่ารู้ หรือไม่ รู้ตามนั้นจริงๆ ได้ หรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงคำเท่านั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ