พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47


    ตอนที่ ๔๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เมื่อกล่าวถึงจิต ต้องรู้เรื่องชาติของจิต เพราะว่าจิตที่เกิด "ชา-ติ คือ เกิด" เกิดแล้วต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ อย่าง ชาติของจิต มี ๔ เท่านั้น คือ กุศล ๑ เกิดเป็นกุศล เมื่อเกิดเป็นกุศลแล้วดับ จะไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เกิดเป็นอกุศล เมื่อเกิดเป็นอกุศลแล้วก็ดับ จะไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ กุศล และอกุศลเป็นเหตุ เมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี และผลก็คือจิตที่เป็นวิบาก สุกงอมเมื่อไหร่ เพราะว่ากรรมมีมากมาย สะสมมานานแสนนาน แล้วแต่ว่ากรรมไหนพร้อมสุกงอมที่จะให้ผล ก็เกิดขึ้นโดยวิบากจิต คือทำให้จิตนั่นแหล่ะเกิด แต่จิตประเภทนี้ไม่ใช่เหตุ เป็นจิตที่เป็นผลจึงเป็นวิบากจิต สำหรับกิริยาจิต ไม่ใช่ทั้งกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิต แต่มีปัจจัยที่จะทำให้กิริยาจิตแต่ละประเภทนั้นเกิดขึ้นตามควร ถ้าเรื่องชาติไม่มีข้อสงสัยเลย เราก็อาจจะพิจารณาว่า เดี๋ยวนี้ จิตชาติอะไร แต่ถ้ายังไม่รู้ ยังไม่ได้ฟังตอนต้นที่ว่าตั้งแต่ปฏิสนธิมีอะไรบ้าง จนกระทั่งถึงขณะนี้ ตั้งแต่หลับจนกระทั่งตื่น จนกระทั่งหลับอีก ตื่นอีก จนกว่าจะตายนั้นเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าถ้าศึกษาไปเรื่อยๆ ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น แต่สำหรับเรื่องชาติของจิตขอให้ทุกคนรู้ว่า เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ อย่าทิ้ง ถ้าพูดถึงจิตแล้วบอกว่าไม่รู้ว่าชาติอะไร ตั้งต้นใหม่ ไปไหนไม่ได้ ก็ต้องกลับมารู้ตั้งแต่ต้น

    ผู้ฟัง สิ่งจำเป็นคือ ต้องรู้ชื่อของจิต ชาติของจิต ที่เกิดของจิต อารมณ์ของจิต ทวาร และกิจของจิต เหล่านี้นี้จำเป็นต้องรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าในขณะนี้เอง ก็มีจิตทุกชาติ แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เรียนเรื่องอื่นเลย แต่เราเรียนทุกๆ ขณะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ถ้าเราเข้าใจถูก ก็จะรู้ว่า ไม่ขาดชาติหนึ่งชาติใดเลยใน ๔ ชาติ แต่ขอละไว้ก่อน ขอกล่าวถึง ภูมิของจิต ขณะใดที่เป็นไปกับสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราวของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นอกุศล เป็นระดับของจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกามภูมิ ไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ยังไม่ตาย ถึงเดี่ยวนี้ มีใครมีจิตภูมิอื่นบ้าง ต้องเป็นความเข้าใจของเราเอง แม้แต่ในเรื่องของกามาวจรจิต หรือจิตที่เป็นระดับขั้นกามภูมิ ต้องรู้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย มีจิตภูมิอื่นบ้าง หรือยัง ยังใช่ไหม นี่คือจากความเข้าใจถูก ถ้าไม่เข้าใจก็เลยไม่รู้ว่าภูมิอะไร รูปาวจรจิตเป็นอย่างไร อรูปาวจรจิตเป็นอย่างไร โลกุตตรจิตเป็นอย่างไร แต่ขั้นนี้เป็นขั้นที่เราก็อยู่ตรงนี้ คือ กามาวจรจิต เป็นกามภูมิ

    มีคำถามว่า จะมีความติดข้องในอนิฏฐารมณ์ได้อย่างไร คำถามนี้ก็น่าคิดใช่ไหม เพราะว่าอารมณ์ที่กล่าวถึง ถ้าใช้คำว่าอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ หมายความถึงรูป ที่เป็นอารมณ์ ลักษณะของรูป ถ้าจะแยกโดยประเภทก็มี ๒ อย่าง คือ รูปที่น่าพอใจ กับรูปที่ไม่น่าพอใจ เวลาฟังธรรมต้องพิจารณาว่าจริงไหม รูปก็เป็นเพียงรูปเท่านั้นเอง แต่แม้กระนั้นลักษณะของรูปก็ต่างกัน รูปที่พอใจ ก็มีแน่นอน รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็มี มิฉะนั้นเราก็ไม่ต้องมีโทสมูลจิตใช่ไหม ก็จะต้องมีแต่โลภมูลจิตเพราะว่ามีแต่รูปที่น่าพอใจ แต่เมื่อลักษณะของรูปมี ๒ อย่าง คือ รูปที่น่าพอใจก็มี รูปไม่น่าพอใจก็มี เพราะฉะนั้นจิตของเรา ก็จะหวั่นไหวไปตามรูปซึ่งเป็นอารมณ์ เช่น ถ้าเห็นสีสันวัณณะที่สวยงาม น่าพอใจ ติดข้อง หรือว่าปกติแล้วเราก็อาจจะพิจารณาตัวเราว่า เรากำลังชอบอะไร และก็สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าชอบไหม ถ้าเป็นสิ่งที่น่าชอบ ลักษณะโดยทั่วไปก็จะเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่คนส่วนใหญ่ชอบ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่กล่าวถึงชื่อเลย เมื่อสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็เป็นผลของกุศลกรรม จิตที่เป็นผลของกุศลคือวิบากจิต เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุมี ๒ คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรม ผลก็ต้องมี ๒ ดังนั้น กุศลกรรม แม้ว่าจะได้ทำไปนานแล้วก็ตาม ดับไปแล้วก็ตาม แต่แรงกรรมก็ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวเรื่องชาติของจิต จึงได้กล่าวเรื่องกิจการงานของจิตด้วย หลากหลาย เช่น เวลาที่ผลของกรรมเกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ ซึ่งเราเลือกไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้วแต่ว่าจะเป็นในสุคติภูมิ หรือทุกคติภูมิ แล้วก็จะมาถึงอารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตปราศจากอารมณ์ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจิตก็จะมีการรู้อารมณ์ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ที่เราเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดในสวรรค์เป็นผลของกรรมทำให้จิตรู้อารมณ์ที่ดีซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันที่ว่า ถ้าเราจะเข้าใจอะไร เราก็ต้องเข้าใจต่อเนื่องกันด้วย เช่น ขณะเกิด ไม่ใช่ขณะนี้ และก็เป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก แต่จิตต้องมีอารมณ์ แต่อารมณ์ไม่ปรากฏ จนกว่ากุศลกรรมจะให้ผล เห็นสิ่งที่ดีเมื่อไหร่ นั่นก็เป็นผลของกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ดีขณะไหน นั่นก็เป็นผลของกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ดีก็เป็นผลของกุศลกรรม แสดงให้เห็นว่ารูปต่างกัน เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ สำหรับผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกรรมดีด้วยกุศลจิต ก็จะต้องรู้อิฏฐารมณ์ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าลักษณะของรูปเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือที่เป็นอิฏฐารมณ์ก็ต้องต่างกับที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ข้อนี้ก็คงจะไม่มีใครไม่เห็นด้วย ถ้ามีก็เชิญเพราะว่าเป็นการสนทนาธรรม

    ผู้ฟัง คือทรงแสดงไว้เลยว่ามี ที่ชาวบ้านไม่ชอบกันแต่คนนั้นชอบ มีคนจำพวกนี้ เช่น รสเผ็ด มีกลุ่มคนที่ชอบอย่างนั้น แต่บางอย่างกลุ่มคนไม่ชอบ แต่คนนั้นชอบเป็นอารมณ์ที่เป็นปริกัปป

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าลักษณะของอารมณ์ที่เราจะกล่าวว่าเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง นอกจากพระพุทธองค์

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเกิดก่อนชวนจิต เกิดก่อนโลภะ เกิดก่อนโทสะ เกิดก่อนการชอบ หรือไม่ชอบ เพราะเหตุว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ที่เป็นเสียง เกิดแล้วกระทบกับโสตปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตคือวิถีจิตขณะแรกเกิด ยังไม่ได้ยิน แต่รู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทางโสตปสาท เรียกว่า รู้อารมณ์ที่กระทบโดยที่ยังไม่ได้ได้ยิน เมื่อดับไปแล้วโสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยิน เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ใครเปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของอิฏฐารมณ์ให้เป็นอนิฏฐารมณ์ หรือลักษณะของอนิฏฐารมณ์ให้เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นอย่างนั้น แต่จะเห็นได้ว่าเราสามารถจะรู้เพียงแค่ว่าเมื่อเป็นผลของกุศลกรรม อารมณ์นั้น ที่โสตวิญญาณได้ยิน เป็นอิฏฐารมณ์ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลกรรม เราสามารถที่จะรู้อย่างนี้ แต่เราไม่สามารถที่จะบอกว่าเสียงไหน เพราะว่ายังไม่เกิดโลภะ โทสะอะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่กระทบกับโสตปสาท และจิตได้ยินก็เกิด แม้สัมปฏิจฉันนะซึ่งเกิดต่อ ก็ยังไม่ได้มีความชอบไม่ชอบ เพียงแต่ว่ารับอารมณ์นั้นต่อจากโสตวิญญาณ เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ ก็ยังไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ จริงๆ แล้วไม่ใช่การรู้ แต่เป็นการรับอารมณ์ หรือรู้อารมณ์ ไม่ใช่เป็นการรู้อารมณ์ว่าเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ แต่เป็นการรู้อารมณ์ตามปกติของจิต เพราะฉะนั้นเมื่อสัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนะจิตก็มีอารมณ์นั้นอารมณ์เดียว ต้องมีอายุ ๑๗ ขณะ แล้วก็ยังไม่ดับไป ซึ่งก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่วิสัยของเรา ที่พอชอบ เราก็บอกเป็นอิฏฐารมณ์ พอเราไม่ชอบก็ไปบอกเป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะเหตุว่าเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ แต่การสะสมของจิตทำให้เราพอใจในสิ่งซึ่งคนทั่วไปพอใจก็เป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าเราพอใจในสิ่งซึ่งคนส่วนน้อยไม่ทั่วไปพอใจ ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ แต่จริงๆ ไม่มีใครจะบอกได้เลย นอกจากกายวิญญาณเท่านั้น ที่เราบอกได้รู้ว่าขณะใดเป็นทุกขเวทนาเกิดขึ้น ขณะนั้นอารมณ์ที่กระทบเป็นอนิฏฐารมณ์แน่ๆ เพราะว่าถ้าเป็นอารมณ์ที่ดีเป็นอิฏฐารมณ์ ทุกขเวทนาจะเกิดไม่ได้เลย ต้องเป็นสุขเวทนา

    นี่ก็เป็นเรื่องการศึกษาสภาพธรรมที่แสดงให้เห็นว่า แม้เราจะเรียน แต่เราไม่ใช่ระดับปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรียนตามที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น อารมณ์ต้องมี ๒ อย่าง คือ เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ไม่ปะปนกัน เป็นผลของกุศลกรรมเมื่อใด กุศลวิบากก็รู้อิฏฐารมณ์เมื่อนั้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมเมื่อใด อกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรู้อนิฏฐารมณ์เมื่อนั้น

    เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า จะมีการติดข้องในอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ได้อย่างไร อารมณ์นั้นก็เป็นอนิฏฐารมณ์ไม่เปลี่ยน แต่จิตที่รู้อารมณ์นั้นแล้วแต่ว่าเคยชอบเคยพอใจในสิ่งนั้น หรือเปล่า ด้วยเหตุนี้ โลภมูลจิต หรือโลภเจตสิกสามารถจะติดข้องแม้ในอนิฏฐารมณ์ได้ คืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ นี่แสดงให้เห็นว่าโลภะไม่ได้เว้นเลย ไม่เว้น ไม่ใช่ว่าพอใจแต่เฉพาะอิฏฐารมณ์ ซึ่งใครๆ ก็บอกก็น่าจะพอใจเพราะว่าอารมณ์นั้นน่าพอใจ โลภะก็ติดข้อง แต่แม้อย่างนั้นแม้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ที่น่าพอใจไม่ใช่อิฏฐารมณ์ โลภะก็ติดได้

    ผู้ฟัง ตอนที่กระทบกับอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ สภาพนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นที่ชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจ แล้วใครไปประเมินตรงนั้นเป็นอิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครประเมิน ร้อนใครต้องประเมินว่าร้อนไหม เย็นใครต้องประเมินว่าเย็น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ร้อนกับเย็นคือกระทบสภาพนั้นแล้วก็เรียกเพื่อสื่อความหมาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นลักษณะของรูปเราก็เรียกว่าอิฏฐารมณ์ เมื่อรูปมีลักษณะ ๒ อย่างที่ต่างกัน คือบางรูปน่าพอใจ บางรูปไม่น่าพอใจ

    ผู้ฟัง เพราะเห็นใช้คำว่าอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ

    ท่านอาจารย์ สภาพของรูปนั้นเอง เปลี่ยนไม่ได้เลย รูปใดที่เป็นอิฏฐารมณ์ใครจะชอบ หรือไม่ชอบ รูปนั้นก็เป็นอิฏฐารมณ์ ส่วนอนิฏฐารมณ์ รูปที่ไม่น่าพอใจ ใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็เปลี่ยนลักษณะของอนิฏฐารมณ์ไม่ได้ มีใครจะบอกไหมว่าขณะไหน รูปไหนเป็นอิฏฐารมณ์ รูปไหนเป็นอนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นรูปหยาบ ถ้าเป็นรูปเสมอๆ ก็บอกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เราพูดโดยประเภท แต่เวลารูปนั้นปรากฏ

    ผู้ฟัง บอกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อศึกษาธรรมจะรู้ความต่างของปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับปัญญาของคนธรรมดา

    ผู้ฟัง ผมจะยกตัวอย่างที่หยาบๆ หน่อย ซากสุนัขก็เป็นอนิฏฐารมณ์แน่ๆ เราไม่เอานก เอาไก่ ก็เป็นโลภะของนกของอะไรก็ได้

    ท่านอาจารย์ แต่นี้พูดโดยชื่อ ถ้าพูดโดยทวารแยกอีกแล้ว ลองไปกระทบสัมผัส แข็ง หรือเปล่า สุขเวทนาเกิด หรือทุกขเวทนาเกิด ทุกอย่างหมด ต้องแยกเป็นแต่ละทวาร เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นสี ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นรส ไม่ว่าจะโผฏฐัพพะ เกิดแล้วดับมีอายุแค่ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารูปนั้นจะมาจากวัตถุที่ตั้งอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อรูปนั้นกระทบกับทวารนั้น ลักษณะนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์เฉพาะแต่ละทวาร ทองใครๆ ก็ว่าสวยใช่ไหม แข็งไหม บางคนก่อนจะนอนอาจจะถอดถ้าเขาใส่แล้วไม่สบาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ควรจะเอาคำที่เราสมมติ แล้วก็คิดว่านี่ต้องเป็นอิฏฐารมณ์ แต่ลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ใข่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ความคิดเห็นของใคร แต่เป็นสภาวธรรมที่เป็นอย่างนั้นของแต่ละทวาร เป็นเรื่องของการรู้อารมณ์ของแต่ละทวารจริงๆ ตอนนี้ก็คงพอเข้าใจความหมายของอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์แล้วว่าต้องมีทั้ง ๒ อย่าง เพราะว่ากรรมมี ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ชอบ กับลักษณะของธรรมที่รังเกียจ ทั้ง ๒ อย่างนี้ แม้กระผมเองฟังดูแล้วก็คล้ายๆ กัน แต่ฟังๆ แล้ว ลักษณะไม่ชอบนี่เป็นอกุศล ลักษณะที่รังเกียจคล้ายๆ กับจะเป็นกุศล ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาเพิ่มเติมรายละเอียดด้วย

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของภาษาซึ่งจะต้องเข้าใจว่า เวลาที่เรากล่าวถึงสภาวธรรม เราใช้ภาษาที่สามารถจะส่องถึงลักษณะที่แท้จริงของคำนั้นได้แค่ไหน ในแต่ละภาษา สำหรับภาษามคธคือภาษาบาลีแน่นอน เป็นภาษาที่สมบูรณ์ที่สุด ที่สามารถจะส่องให้เข้าใจอรรถนั้นกระจ่าง เพราะว่าลักษณะนั้นแม้แต่เพียงลักษณะเดียวก็สามารถที่จะใช้คำหลายๆ คำ ที่จะให้เข้าใจในลักษณะนั้น แต่ภาษาไทยเรา ที่ใช้คำว่าจิต เราเข้าใจว่าอย่างไร ก็ต้องมีคำอธิบาย ถ้ายิ่งเป็นภาษาอื่น เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาต่างๆ ซึ่งไม่มีความเข้าใจ หรือความคิดในเรื่องของสภาพธรรม แล้วจะไปเอาคำที่จะส่องถึงอรรถนั้นได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำที่คุณประทีปกล่าวถึง เช่นรังเกียจ หิริ-ละอาย โอตตัปปะ-รังเกียจ ไม่ใช่โทสะ แต่รังเกียจที่นี่ ภาษาไทย เราก็บอกว่าเรารังเกียจคนนั้น ขณะนั้นเป็นโทสะ เราไม่ชอบ ไม่ชอบขนาดมากถึงกับรังเกียจ ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าถ้าสำหรับคำว่าโอตตัปปะ ถ้าจะใช้คำว่าเกรงกลัว ก็ไปคิดว่าเรากลัวผี เรากลัวอะไรต่อไปอีกใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องภาษาที่จะมากั้นไม่ให้เราเข้าใจคำนั้นโดยที่ว่าเราชินกับความหมายในภาษานั้น แต่ว่าเราต้องเปลี่ยนความคิดที่เคยใช้ภาษานั้นโดยที่ไม่มีคำอื่นที่จะใช้แต่ก็ต้องใช้ แต่ต้องให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าใช้โดยความต่างจากการที่เราเคยใช้นั้น เช่น คำว่ารังเกียจ ถ้าจะบอกว่าเราไม่อยากจะเข้าใกล้ สิ่งที่เรารังเกียจ ถ้าเกิดโอตตัปปะ เราก็ไม่อยากจะเข้าใกล้อกุศลธรรม เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าเวลาที่เป็นโอตตัปปะ แม้จะใช้คำว่ารังเกียจ หรือจะมีคำอื่นซึ่งอาจจะดีกว่านั้นก็ได้ถ้าใครคิดออก หรือใครสามารถที่จะใช้คำที่คิดว่าจะทำให้คนเข้าใจความหมายของคำว่าโอตตัปปเจตสิก จะใช้คำว่ากลัว จะใช้คำว่าเกรง จะใช้คำว่าเห็นโทษ อะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เกิดความต่างของ หิริ กับโอตตัปปะ

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเราได้ศึกษาความหมายจริงๆ แล้วก็ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เราก็จะไม่ต้องไปคิดถึงคำ แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏ ลักษณะนั้นเราก็จะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ผู้ที่ละกิเลสได้โดยไม่ขุ่นใจมีบ้างไหม เป็นคำเล็กๆ น้อยๆ ที่ฟังแล้วสะดุดใจว่า ท่านอาจารย์จะต้องการเตือนผู้ฟัง หรือเปล่าว่า ในขณะที่ฟังธรรม หรือจะทำอะไร ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น มีความขุ่นใจไหม ลักษณะของขุ่นใจก็จะเป็นภาษาอีก ความขุ่นใจนี่แค่ไหน ระดับไหน ท่านอาจารย์จะเพิ่มเติมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องพูดถึงพื้นฐานของปรมัตถธรรม หรือพื้นฐานของพระอภิธรรม เพื่อที่จะทำให้เรามีความเข้าใจที่มั่นคง เป็นปัญญาของเราเองที่สามารถที่จะวินิจฉัย หรือเข้าใจสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังต่อไปข้างหน้า เช่น ถ้าเข้าใจว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เวลานี้ก็คงไม่ต้องกล่าวถึงนิพพานแน่นอน กล่าวเฉพาะจิต เจตสิก รูป ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจถูกจริงๆ ว่าปรมัตถธรรมเป็นสภาวธรรมมีลักษณะเฉพาะอย่าง แม้ว่าจะไม่เรียกชื่ออะไรเลย ใครก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาวธรรมนั้นได้เลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ก็จะมีคำจำกัดความที่ว่า ขณะใดก็ตาม ที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ ชีวิตประจำวันเห็นเลย ว่าเรามีบัญญัติเป็นอารมณ์มากแค่ไหน ปรมัตถธรรมมีอายุที่สั้นมาก ถ้าเป็นรูปก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้าเป็นจิตก็แสนเร็วคือชั่วขณะอุปาทะเกิดขึ้น ฐีติขณะ แล้วก็ภังคขณะที่ดับไป เร็วมาก

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ก็มี แน่นอน มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีเสียงจริงๆ ลักษณะของเสียง แน่นอน ปรากฏ แต่ความคิดนึกเรื่องราวที่ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากมายสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็สามารถจะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ มีบัญญัติเป็นอารมณ์มาก หรือว่ามีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์มาก เพราะเหตุว่าเราเข้าใจถูกต้องแล้วว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ความเข้าใจเบื้องต้นก็พอจะรู้ความจริงว่าธรรมเมื่อปรากฏจะต้องปรากฏต่ออะไร และเมื่อไหร่ อย่างไร ผู้นั้นก็จะเริ่มรู้เองได้ เป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานที่กระผมมาทบทวนกับท่านอาจารย์ จึงขอบพระคุณท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งที่รู้ได้แค่ไหนแต่ละคนก็คงทราบ แต่สามารถฟังได้ และก็เข้าใจได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ