พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41


    ตอนที่ ๔๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีคำอื่นที่ได้ฟังเพิ่ม เช่น กาม กิเลสกาม และ วัตถุกาม "กาม" เป็นความหมายหนึ่ง และ"กิเลสกาม" ได้แก่นามธรรมซึ่งติดข้อง รูปจะไม่ไปติดข้องในอะไรเพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ และสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของความติดข้อง เป็นที่ตั้งของกิเลสกามใช้คำว่า "วัตถุกาม" หมายความถึงสิ่งนั้นเป็นที่ตั้ง เป็นที่น่าพอใจของความยินดีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้นที่โลภะสามารถจะติดข้องได้ สิ่งนั้นเป็นวัตถุกาม และขณะใดที่มีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ก็ใช้คำว่า “กามารมณ์” นี่คือการที่เราจะศึกษาธรรมไปตามลำดับจริงๆ ตามความเป็นจริงว่า แม้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะเป็นกาม เป็นวัตถุกามก็จริง แต่ขณะที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น เช่น รูป จะมีลักษณะที่ต่างกันอยู่สองอย่าง คือเป็นรูปที่น่าพอใจ "อิฏฐารมณ์" คือรูปที่ดี กับ "อนิฏฐารมณ์" คือรูปที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น แม้ว่าเป็นกาม แต่ก็มีลักษณะของรูปที่ต่างกันเป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ธรรมเป็นสิ่งที่เราควรจะฟังด้วยความเข้าใจ เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจของเราให้ถูกต้องในสิ่งที่มี แต่เรื่องภาษา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราสามารถเข้าใจธรรมได้ ภาษาที่ใช้ต้องตรงตามความหมายของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าเราคิดว่าคำนี้มีความหมายอย่างนี้ สภาพธรรมขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าเราไม่สามารถจะเข้าใจได้ ก็ยังไม่ตรง

    ผู้ฟัง อารมณ์มีทั้งดีไม่ดี แต่ถ้าเป็นวัตถุกามแล้วต้องดีเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่โลภะสามารถจะติดข้องได้

    ผู้ฟัง ติดข้องคือพอใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่จะพอใจ หรือไม่พอใจก็อีกเรื่องหนึ่ง เช่นสิ่งที่โลภะสามารถจะติดข้องได้ที่เป็นวัตถุกาม ได้แก่ ทั้งหมดเลยเว้นนิพพาน และโลกุตตรธรรม คือมรรคจิต ผลจิต และนิพพาน

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นวัตถุกามก็เป็นทั้งอารมณ์ที่ดี และไม่ดี แต่เราก็คงจะไม่ไปติดข้องอารมณ์ที่ไม่ดีแน่

    ท่านอาจารย์ อยากเป็นพรหม หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าปัญญาถึงก็อยาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโลภะติดข้องแล้ว สิ่งใดก็ตามที่โลภะสามารถติดข้องได้ สิ่งนั้นเป็นวัตถุกาม เป็นที่ตั้งของความติดข้องของความยินดี

    ผู้ฟัง คำว่าวัตถุกามไม่ใช่รูปอย่างเดียวเท่านั้น หมายถึงนามธรรมด้วย ใช่ หรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ วัตถุกามได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้งสาม ทั้งกามวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ เพราะไม่พ้นจากการเป็นวัตถุคือเป็นที่ตั้งของกิเลสกาม เพราะฉะนั้นก็รวมทั้งหมดเว้นโลกุตตรภูมิ

    ผู้ฟัง หมายถึงนามธรรมก็เป็นวัตถุกาม แล้วอาจารย์วิชัยก็กล่าวว่าส่วนมากจะป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้คือส่วนมาก แต่ความจริงแล้วเป็นนามธรรมทั้งหมดที่โลภะรู้อะไรสิ่งนั้นเป็นวัตถุกาม

    อ.ธิดารัตน์ แม้แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นบัญญัติก็เป็นที่ตั้งของความยินดีของโลภะได้

    ผู้ฟัง ที่เว้นโลกุตตรธรรม ๙ ถึงมรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และนิพพาน ๑ โลภะไม่สามารถจะรู้เป็นอารมณ์ได้ จึงพ้นจากกาม

    อ.ธิดารัตน์ เพราะเป็นภูมิที่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โลกุตตรภูมิคือภูมิที่สูง โลภะไม่สามารถที่จะยินดี ดังที่มีอุปมาว่า เหมือนกับแมลงวันที่ไม่เกาะเหล็กที่มีความร้อน

    ผู้ฟัง เจตสิก ๕๑ เว้นโลภะ ๑ ตัวโลภะก็เป็นวัตถุกาม ก็รู้โลภะด้วย จะกล่าวอย่างนี้ก็ได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยกเว้นทำไม อย่างไร เพราะอะไรจึงยกเว้น

    ผู้ฟัง ตอนที่เรากล่าวถึงว่าเป็นวัตถุกาม ก็ยกเว้นโลภะไว้ก่อน

    ท่านอาจารย์ โลภะก็ชอบโลภะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะเข้าใจความหมายหนึ่งความหมายใด ขอให้เข้าถึงแก่นแท้ หรือสภาวะธรรมนั้น แล้วจะไม่หลงประเด็น คือว่าบางแห่งบางกาล จะทรงยกเว้น เพราะทรงแสดงความเป็นเหตุ และเป็นผล แต่ที่ยกเว้น ไม่ได้หมายความว่า โลภะไม่สามารถจะมีโลภะเป็นอารมณ์ หรือไม่ได้ยกเว้นโดยฐานะที่ว่าโลภนั่นชอบโลภะใช่ หรือไม่ แต่ต้องเข้าใจด้วย เช่น เวลาที่กล่าวว่า วัตถุกาม ได้แก่สิ่งใดก็ตาม สภาพธรรมใด หรืออะไรก็ตามทั้งหมดซึ่งเป็นที่ยินดีเป็นที่พอใจก็เป็นวัตถุกาม เพราะฉะนั้นเหตุผลก็คือ ยกเว้นโลกุตตรธรรมซึ่งไม่เป็นที่ยินดีพอใจซึ่งไม่สามารถที่จะเป็นอารมณ์ของโลภะได้ แต่ถ้าจะให้ไปยกเว้นโลภะด้วย ก็คงจะต้องไปกล่าวถึงอะไรๆ อีกหลายตอน แต่ว่าจริงๆ แล้วเมื่อศึกษาคำไหนขอให้เข้าใจคำนั้นชัดเจน เช่นคำว่า "กาม" ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความหมายของ"กามอารมณ์" และ "กาม" ซึ่งเป็นกิเลส ขณะใดที่ติดข้องยินดี ลักษณะนั้นชื่อว่า "กาม" ส่วน"วัตถุกาม" คือสิ่งที่โลภะยินดีพอใจในสิ่งนั้น สามารถที่จะเกิดความพอใจยินดีในสิ่งนั้นได้ ซึ่งได้หมดเว้นโลกุตตรธรรม ๙ เพราะฉะนั้นนอกจากโลกุตตรธรรม ๙ แล้วนอกนั้นเป็นวัตถุกาม ค่อยๆ เข้าใจไปตามลำดับทีละเล็กทีละน้อย

    อ.ธีรพันธ์ ความจริงเราอาจจะคิดว่าวัตถุเป็นรูปเท่านั้น แต่วัตถุนี้หมายถึงเป็นที่ตั้ง เช่น "วัตถุกาม" หมายถึงเป็นที่ตั้งของโลภะ เป็นที่ตั้งให้เกิดความยินดี ในความหมายของคำว่า "วัตถุ" มีความหมายกว้างมาก ไม่ใช่คิดว่าจะต้องเป็นวัตถุที่เป็นรูป แต่ในที่นี้หมายถึงเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ

    ผู้ฟัง จิตที่เป็นทุกขกายวิญญาณ หรือโทมนัส โลภะไม่ชอบ แต่ก็เป็นวัตถุกาม เพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าชอบจิตที่รู้กาม คือ สิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว

    ผู้ฟัง แต่เขาก็ไม่ชอบที่จะเจ็บปวด และโทมนัสเขาก็ไม่ชอบด้วย แต่เขาก็เป็นวัตถุกามด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ก็เป็นวัตถุกาม เพราะเหตุว่าโลภะชอบ และก็ต้องแยกอีก ในลักษณะของอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ แต่จริงๆ แล้วก็คือ ชอบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ชอบที่จะมีความรู้สึก ชอบที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นมี แต่ชอบสิ่งที่ดีๆ ไม่ชอบสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดต่อไปอีก

    ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นวัตถุกาม หรือไม่ เป็น เป็นกิเลสกาม หรือไม่ เราศึกษาคำสามคำนี้แล้ว เราก็ต้องเข้าใจจริงๆ โดยการที่มีการสนทนากัน ถามกันให้แน่ใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตามี เป็นวัตถุกามแน่นอน เป็นกาม และเป็นวัตถุกาม เป็นที่ตั้งของกามด้วย แต่เป็นกิเลสกาม หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น เพราะกิเลสกามเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาแล้วก็ต้องเข้าใจให้ถูกในสิ่งนั้นตลอดไป "กาม" คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นกาม เป็นที่ตั้งของความยินดีเป็นวัตถุกาม แต่เป็นกิเลสกาม หรือเปล่า ไม่เป็น ต้องมีความมั่นใจ คือฟังแล้วก็ต้องเข้าใจ และก็ไม่เปลี่ยน ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น "กิเลสกาม" ได้แก่โลภเจตสิก ต้องชัดเจน เพราะฉะนั้นจะเป็นอื่นไม่ได้ ความรู้สึกทุกคนมี เป็นวัตถุกาม หรือไม่ เป็น เป็นกิเลสกาม หรือไม่ ไม่เป็น เพราะว่ากิเลสกามได้แก่โลภเจตสิก ถามอย่างนี้ก็เข้าใจได้หมด ถ้าเข้าใจแล้วก็เข้าใจตลอด

    ผู้ฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่อง "กาม" และ"วัตถุกาม" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแยกธรรมโดยใช้โลภะเป็นอารมณ์ได้ กับโลภะเป็นอารมณ์ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ "กาม" และ"วัตถุกาม" หมายความถึง"กิเลสกาม" และ"วัตถุกาม" เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการไตร่ตรอง การคิด การเข้าใจ ถึงแม้จะพูดสั้น พูดอย่างไรก็ตามแต่ เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า คำว่า "กาม" หมายความถึงอะไรในที่นั้น และก็"กาม" อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่าอย่างไร เช่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นกาม ในเวลานี้มีใครไม่มีกามบ้าง เพราะตอนนี้ถามก็ตอบได้ หัวเราะได้เลยใช่ หรือไม่ ถ้าเป็นตอนอื่นที่เราไม่เข้าใจ เราก็ชักลังเล มี หรือเปล่า แต่ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ มีแน่นอน ถูกต้อง หรือไม่ กำลังเห็นนี่ก็เป็นกามอารมณ์ สิ่งที่เป็นกามที่กำลังปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง รูปเป็นวัตถุกาม เช่น ขณะที่เห็น มีรูปารมณ์ รูปารมณ์นั้นเป็นวัตถุกามทางตา เพราะเป็นอารมณ์ของจิตให้จิตรู้ แต่สงสัยนามที่เป็นวัตถุกาม ขอให้ยกตัวอย่าง

    ท่านอาจารย์ อยากมีปัญญา อยากมีสติ โลภะชอบ หรือไม่ ปัญญาของเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คุณธนากรอยากมีปัญญา หรือไม่

    ผู้ฟัง อยากมี

    ท่านอาจารย์ อะไรอยาก เพราะไม่มีตัวคุณธนากรเลย เป็นแต่สภาพธรรม เพราะฉะนั้นอะไรที่อยากมี มีจิต มีเจตสิก มีรูป ขณะที่กำลังอยากมีปัญญา ลักษณะที่ “อยาก” เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ลักษณะที่อยากก็เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกอะไร

    ผู้ฟัง เป็นโลภเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะ และปัญญาที่ถูกเจตสิกอยาก เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิกเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ และก็เป็นอะไรด้วย โลภะกำลังอยากสิ่งนั้น กำลังต้องการสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นวัตถุกาม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ โลภะเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตเป็นโลภะ หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตไม่ใช่โลภะ

    ท่านอาจารย์ จิตทำกิจโลภะได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ โลภะทำกิจของจิตได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมแต่ละชนิดก็มีกิจเฉพาะของตนๆ ด้วย โลภะไปทำหน้าที่ของโทสเจตสิกได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตทำหน้าที่ของโทสะได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าในหนึ่งขณะจิต มีสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิก จิตก็ยังคงเป็นจิตไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยมากน้อยเท่าไร ชาติอะไรก็ตาม แต่จิตก็คือจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ส่วนเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต ก็ทำหน้าที่ของตนๆ เฉพาะเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกก็ไปทำหน้าที่ของโลภเจตสิกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงโลภะสภาพที่ติดข้อง ก็ให้ทราบว่าเป็นลักษณะของนามธรรมที่เป็นเจตสิกเท่านั้น และเจตสิกอื่นก็ไม่ใช่โลภเจตสิก ด้วยเหตุนี้เจตสิกจึงมีถึง ๕๒ ประเภท และก็ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะของเจตสิกนั้นๆ แม้ว่าจะมีสภาพที่ใกล้กัน คล้ายกัน เช่น ฉันทะเจตสิก และโลภเจตสิก แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เจตสิกเดียวกัน ซึ่งมีกิจต่างกันด้วย

    จิตจำแนกโดยภูมิ หมายความถึงขั้น หรือระดับของจิตซึ่งต่างกัน เป็นระดับขั้นต้นคือ กามาวจรจิต จิตที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฎฐัพพะ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปได้ เพราะเหตุว่า วันหนึ่งๆ เราติดในรูปเท่าไร ติดในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฎฐัพพะ ยากที่จะเห็นว่าเป็นโทษที่จะทำให้เราติดแล้วติดอีก สละไม่ได้เลย เพราะความติดข้อง ก็จะเห็นได้ว่ากว่าจิตระดับที่สูงกว่านี้จะเกิดขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญาอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้ายังเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ก็เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้สละ ยังไม่ได้เห็นโทษ ยังไม่ได้อบรมความสงบของจิตจนกระทั่งไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ เพราะว่าปกติธรรมดา มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง โลภะเกิดร่วมกับจิต ๘ ดวงเท่านั้น แล้วก็ทำชวนกิจ เรียนถามว่าในขณะที่เขาเกิดร่วมกัน เราใช้คำว่าจิตทำชวนกิจ โลภะก็ทำชวนกิจด้วย แต่ขณะนั้นอารมณ์ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เกิดร่วมกัน ต่างคนก็ต่างทำกิจของตนๆ ภูมิของจิตเปลี่ยนไม่ได้ หมายความถึงระดับขั้นของจิต เหตุที่จิตจำแนกเป็นหลายๆ ประเภทก็แล้วแต่ว่ามีเจตสิกประกอบในขั้นใด ภูมิใด จิตเป็นกามภูมิ ผัสสเจตสิกก็เป็นกามวจร เป็นกามภูมิด้วย แต่ถ้าผัสสเจตสิกนั้นเกิดขึ้นกับรูปพรหมบุคคล คือผู้ที่ได้อบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งมีความมั่นคงเป็นสมาธิถึงขั้นฌาณตามลำดับขั้น บุคคลเหล่านั้นไม่เกิดในกามภูมิเพราะเป็นผลของรูปาวจรกุศลจิตที่เป็นไปในความสงบมั่นคง ก็จะมีภูมิซึ่งเป็นที่เกิด ซึ่งไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่สวรรค์หกชั้น และก็ไม่ใช่อบายภูมิสี่

    ด้วยเหตุนี้ถ้ากล่าวถึงภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตว์ บุคคล มี ๓๑ ภูมิ ก็จะได้พิจารณาว่าเราจะไปภูมิไหน ถามว่ารูปพรหมภูมิเราไปได้ หรือไม่ ไม่มีทาง ตราบใดที่ยังไม่ได้เจริญความสงบ มั่นคง ถึงขั้นฌาณจิต อรูปพรหมยิ่งไม่ได้ เพราะว่าต้องได้รูปพรหมบุคคลก่อน จิตต้องถึงระดับของรูปาวจรกุศล แล้วถึงจะต่อไปถึงอรูปาวจรกุศล ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่เสื่อม บุคคลนั้นก็เกิดในอรูปพรหมภูมิ มีอายุยืนยาวมาก เป็นกัปป์ๆ ด้วยอำนาจของกุศลที่ถึงระดับขั้นนั้น แต่จะเปลี่ยนสภาพของจิตไม่ได้ เช่น โลภะมูลจิตเป็นกามภูมิ จะเป็นรูปาวจรกุศล หรือเป็นรูปพรหมไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าโลภะมูลจิตจะเกิดที่ไหน โดยความเป็นภูมิต้องเป็นกามาวจรจิต อรูปพรหมมีโลภะมูลจิต เพราะอรูปพรหมนั้นไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังคงมีกิเลส ยังมีความยินดีติดข้องในภพภูมิที่เป็นในความเป็นอรูปพรหม โลภะมูลจิตของรูปพรหม และอรูปพรหมเป็นภูมิอะไร กามภูมิ เป็นชาติอะไร โลภะมูลจิต เป็นชาติอกุศล คือไม่เปลี่ยนเลย ชาติก็ไม่เปลี่ยน และภูมิก็ไม่เปลี่ยนด้วย

    ผู้ฟัง ผมเคยฟังคำกล่าวของพระอาจารย์ท่านหนึ่ง มรณภาพไปแล้วบอกว่า ภูมิของสัตว์โลกจะมี ๓๒ ภูมิ คือ โลกุตตรภูมิเป็นภูมิที่ ๓๒ ผมก็ไม่ได้แย้ง แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงนับเป็นภูมิ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีกล่าวในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่า ภูมิมี ๔ โดยระดับของจิต และภูมิมี ๓๑ โดยเป็นที่เกิด โลกุตตรจิตเป็นโลกุตตรภูมิ แต่ไม่ใช่เป็นภูมิที่เกิด เพราะว่าโลกุตตรจิตจะเกิดในภูมิที่เป็นสุคติได้ทุกภูมิ ถ้าเป็นอรูปพรหมภูมิบุคคลต้องเป็นพระโสดาบันก่อนเพราะว่าจะต้องมีการละความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจึงจะสามารถเป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ในภูมิที่มีแต่จิตโดยไม่มีรูปในขณะนั้นก็จะไม่มีการอบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าบุคคลใดเป็นพระโสดาบันแล้วได้อรูปฌาณ เพราะอรูปฌาณให้ผล พระโสดาบันนั้นก็เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล

    ผู้ฟัง เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้ในชีวิตชาติหน้าเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา และก็มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา

    อ.อรรณพ ก็สะสมความมั่นคงในขณะนี้ โดยการฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม ในชาตินี้เกิดมาแล้ว ขณะนี้เรามานั่งอยู่ที่นี่ได้ฟังธรรม แสดงว่าผลของกรรมในอดีตได้เป็นปัจจัยแล้วที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลนี้ยังเป็นได้ ซึ่งยืนยันได้เพราะขณะนี้เราอยู่ในกามภูมิ แล้วก็มีจิตที่เป็นกามาวจรภูมิเกิดขึ้นเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นจิตชาติต่างๆ เพราะฉะนั้นการที่เราสะสมเหตุในอดีตมาแล้วฉันใด เจริญกุศลมาแล้วฉันใด มีฉันทะในพระศาสนานี้ก็เป็นปัจจัยให้เราเกิดเป็นบุคคลนี้ได้ฉันใด ถ้าเรามีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีการเห็นประโยชน์ในพระธรรม มีการศึกษาพิจารณาธรรม ถ้ากุศลนั้นให้ผลก็สามารถที่จะเกิดในภพภูมิที่มีพระธรรมให้ได้ฟัง แต่ว่าก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ติดข้องต้องการ

    ท่านอาจารย์ อย่าเพียงปรารถนาโดยไม่กระทำเหตุ ถ้าปรารถนาจะได้ฟังพระธรรมชาตินี้ก็ฟังเลย ไม่ใช่ว่าคอยชาติหน้า หวังว่าชาติหน้าจะได้ฟัง แต่ชาตินี้ก็ฟัง และกุศลที่เป็นไปในการที่เราจะได้ยินได้ฟังธรรมก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    ผู้ฟัง คือให้ปฏิบัติ ณ ขณะนี้ ตรงนี้ ตอนนี้เลย

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเจริญกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เช่น ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้ ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินได้ฟัง และได้เข้าใจเพิ่มขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง ระลึก คือ ตาเห็นสี หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส กายได้กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว การระลึกในแต่ละทาง ระลึกสภาพธรรมที่ถูกต้อง ขอทราบว่าจะต้องระลึกอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ เป็นสิ่งที่ผู้ใหม่กังวลว่าจะปฏิบัติถูก หรือไม่ แต่ถ้าฟัง แล้วเริ่มเข้าใจ ก็จะทราบว่า ความคิดที่จะปฏิบัติจะค่อยๆ หายไปตามความเข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วไม่มีแม้กระทั่งตัวเราที่จะปฏิบัติ แต่มีเพียงสภาพธรรมที่ทำกิจแล้วก็ปฏิบัติในขณะนั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ท่านอาจารย์อบรมอยู่เป็นประจำก็คือ ความเป็นเรา และก็ความหวังที่ว่าจะได้เข้าใจ หรือว่าจะได้รู้นั้น จะมาเป็นเครื่องกั้น โลภะ เมื่อใดที่คิดว่าต้องการแม้กระทั่งหนทาง ตรงนั้นก็จะทำให้เราคลาดเคลื่อนไปด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็ละความเป็นเรา เมื่อเข้าใจขึ้น สภาพธรรมนั้นก็จะปรากฏตามความเป็นจริงขึ้นเองโดยที่ว่าไม่ต้องหวัง ไม่ต้องรอ หรือว่าจะต้องพยายามทำขึ้น แต่สภาพธรรมนั้นจะเกิดขึ้นเองตามความเข้าใจ

    ผู้ฟัง หมายความว่าไม่ใช่เรากระทำ เป็นการอบรมของเรา ซึ่งไม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ครั้งใดที่มีสติ จะเกิดการกระทบสัมผัส เราจะมีสติขึ้นเองโดยอัตโนมัติเลย แต่พอได้ครั้งเดียว แล้วก็หายไป นานๆ ก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ สติเกิดแล้วก็ดับ เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ แม้ในขณะนี้กำลังเห็น ก็รู้ว่าขณะนี้มีสภาพธรรม และสติกำลังรู้ลักษณะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ